เมื่อผู้ปกครองเปิดกว้าง เด็กยุคใหม่จึงเมิน “สายวิทย์” ไปซบ “สายศิลป์”
ช่วงมัธยมปลายที่เด็ก ๆ หลายคนต้องเลือกว่าจะเรียนอะไรดีระหว่างสายวิทย์หรือสายศิลป์ ถือเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อในการตัดสินอนาคตของพวกเขาเช่นกันว่าจะได้เดินตามความฝันของตัวเองหรือไม่ แม้จะเป็นอนาคตของเด็ก ๆ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าพ่อแม่ผู้ปกครองหลายท่านมักจะเข้ามามีส่วนร่วมในการเรียนของลูก ๆ ด้วย และบางท่านอาจหนักถึงขั้นตัดสินใจให้เองเลยว่าลูกควรเรียนสายใด
ยิ่งถ้าลูกหัวดี เรียนหนังสือเก่ง ก็หนีไม่พ้นต้องไปทางสายวิทย์-คณิตก่อนเป็นลำดับแรก เพราะผู้ปกครองส่วนใหญ่มองว่าสามารถปูทางไปสู่อนาคตที่ดี และมีโอกาสเลือกเรียนคณะต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยได้มากกว่าการเรียนสายศิลป์
แต่ปัจจุบันจะเห็นได้ว่าผู้ปกครองรุ่นใหม่เปิดกว้างมากขึ้น และให้โอกาสลูก ๆ ได้เลือกเรียนในสิ่งที่ชอบและสนใจด้วยตัวเอง พร้อมทั้งสนับสนุนให้ก้าวไปสู่อาชีพเหล่านั้นด้วยความเต็มใจ
เมื่อเด็ก ๆ ไม่ได้ถูกบังคับเหมือนแต่ก่อน ทำให้พวกเขาเทใจไปเรียนสายศิลป์กันมากขึ้น ได้เลือกเรียนในสิ่งที่ตัวเองอยากเรียนมากขึ้น ขณะที่บางคนรู้ตัวว่าหากเรียนสายวิทย์ก็คงไปไม่รอด เพราะเรียนหนักกว่าและยากกว่า จึงเลือกมาทางสายศิลป์แทน ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องของความชอบส่วนตัว
บ้างก็มองว่าอาชีพที่กำลังได้รับความนิยมอยู่ในเวลานี้ อย่างการเป็น Blogger, YouTuber, Streamer หรือ Influencer ที่ได้ทั้งชื่อเสียงและเงินทองนั้น ล้วนเป็นอาชีพที่ไม่จำเป็นต้องอาศัยความรู้ในเชิงวิชาการอย่างสายวิทย์แต่อย่างใด
ด้วยเหตุนี้ ฐานข้อมูลในระบบการสมัครคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย (TCAS) ประจำปี 2563 จึงพบว่ากลุ่มสาขาวิชาที่มีจำนวนการรับนิสิตนักศึกษาตามแผนมากที่สุด คือกลุ่มสาขาวิชาที่มาจากสายศิลป์อย่างมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ซึ่งที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ชี้ว่าการที่มหาวิทยาลัยรับเด็กสายสังคมเข้ามามากที่สุดนั้นเป็นความต้องการของผู้เรียนเอง
อย่างไรก็ตาม การเรียนทั้งสายวิทย์และสายศิลป์นั้น ล้วนมีวิชาที่เรียนเฉพาะด้านและใช้ความถนัดต่างกันไป อีกทั้งในปัจจุบันก็มีหลายอาชีพที่พบว่าเด็ก ๆ ไม่ได้เรียนมาตรงสายตั้งแต่แรก แต่ไปต่อยอดจากความชอบความสนใจของตัวเองในภายหลัง อีกทั้งการแบ่งแยกสายในระดับมัธยมก็มักสร้างปมในใจให้กับเด็กสายศิลป์อยู่พอสมควร ด้วยค่านิยมที่ฝังหัวกันมานานว่าเด็กสายศิลป์คือเด็กที่หัวไม่ดี เรียนไม่เก่ง เกรดเฉลี่ยไม่ถึงเกณฑ์ที่จะเรียนสายวิทย์ได้ จึงไม่มีทางเลือกอื่นใดนอกจากการเรียนสายศิลป์
ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีการเรียกร้องให้มีการปรับหลักสูตรการศึกษาใหม่มาโดยตลอด เพราะไม่ต้องการให้มีการแบ่งสายวิทย์หรือสายศิลป์ในระดับมัธยมศึกษาอีกต่อไป ซึ่งเรื่องนี้ ดร.พีระพงศ์ ตริยเจริญ ผู้ช่วยเลขาธิการทปอ. ระบุว่าทปอ.ได้มีการหารือและเห็นว่าควรเรียนทั้งสายวิทย์และศิลป์ควบคู่กันไป และหลักสูตรการเรียนการสอนในอนาคตจะต้องไม่แยกเป็นสายวิทย์และสายศิลป์อีกต่อไป ยกเว้นผู้ที่ต้องการเรียนเฉพาะด้านจริง ๆ
ขณะที่มหาวิทยาลัยเองจะต้องมีการปฏิรูปการจัดการเรียนการสอนใหม่ ที่เน้นทั้งวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์คู่กันด้วย เพราะมองว่าเมื่อนิสิตนักศึกษาจบจากมหาวิทยาลัยแล้ว จะต้องใช้ความรู้ทั้งด้านวิทย์และศิลป์ในการทำงานด้วยกันทั้งคู่ แต่จะได้เห็นแนวคิดนี้เกิดขึ้นจริงเมื่อไร คงต้องรอติดตามกันยาว ๆ ต่อไป
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.