ย้อนประวัติศาสตร์ตำรวจ จากจับโจรสู่เกมการเมือง

ตำรวจไทย เริ่มต้นจากเชื้อสายและตระกูลที่ทำความดี

 

‘ตำรวจ’ คำนี้มาจากภาษาเขมร แปลว่า ‘ตรวจ’ หากย้อนประวัติศาสตร์ประเทศ กิจการที่คล้ายคลึงกับการเป็นตำรวจที่เก่าแก่ที่สุดเกิดขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา บนแผ่นดินของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ  ซึ่งแม้จะชื่อกรมตำรวจ แต่แตกต่างจากคำว่า ‘ตำรวจ’ ในปัจจุบัน ตำรวจในกรมเหล่านี้ จะทำหน้าที่เป็นทหารรักษาพระองค์ ต้องนอนประจำเวรในพระบรมมหาราชวัง เมื่อพระมหากษัตริย์เสด็จพระราชดำเนินไปที่ไหน พนักงานในกรมพระตำรวจ มีหน้าที่ประจำการในที่ใกล้เคียง โดยสามารถมีอาวุธเข้าท้องพระโรงได้ นอกจากจะทำหน้าที่ดูแลความปลอดภัยของพระมหากษัตริย์แล้ว ก็ยังทำหน้าที่เป็นศาลรับชำระคดีความ เสมือนว่าพระมหากษัตริย์เป็นผู้พิพากษาเอง

 

โดยการคัดเลือกกรมพระตำรวจนั้นจะต้องมีผู้สืบเชื้อสายจากตระกูลที่ประกอบความดีมาก่อนจึงจะได้รับความไว้วางใจ  และเนื่องจากมีการบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์ จึงต้องได้รับความไว้วางใจจากกษัตริย์ ซึ่งเป็นผู้ปกครองประเทศในสมัยดังกล่าวเป็นสำคัญ และมีการปฏิบัติหน้าที่ในวงจำกัด

 

จะเห็นได้ว่าคนในสมัยก่อนก็มองว่าตำรวจนั้น ‘ต้องเป็นคนดี’ และได้รับความไว้วางใจเป็นสำคัญ จึงจะสามารถเข้ามารักษาความปลอดภัยได้

 

องค์กรตำรวจตามแบบตะวันตก.. รักษาความสงบ แต่กลับถูกล้อเลียน

 

องค์กรตำรวจถูกล้อเลียนมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4  พระองค์ได้จัดตั้งกองตำรวจสำหรับรักษาความสงบเรียบร้อยในพระนครตามแบบตะวันตกครั้งแรกในปี 2403 โดยเหตุผลสำคัญคือ  ‘เพื่อทำหน้าที่ระงับเหตุจากโจรผู้ร้ายที่ก่อความเดือดร้อนให้กับประชาชน’ โดยสามารถเข้าไประงับเหตุต่างๆ ได้ ไม่เหมือนกับก่อนหน้านี้ที่มีเพียง ข้าหลวงกองจับ ซึ่งจะทำหน้าที่คอยช่วยเหลือตุลาการในการพิพากษาคดี หรือลงโทษโบยหวายลงหลัง โดยไม่มีหน้าที่ไประงับเหตุต่างๆ

 

การตั้งกองตำรวจครั้งนี้ พระองค์ได้ทรงจ้างกัปตัน เอส.เจ.เบิด เอมส์ ซึ่งเป็นชาวอังกฤษ มีอาชีพเดิมคือเป็นกัปตันเรือที่เข้ามาค้าขายในสยาม เพราะกัปตันส์เอมสามารถวางกฎระเบียบการควบคุมเรือ การเดินเรือได้อย่างเข้มงวด มีลำดับชั้นการปกครองที่ดี จึงทรงเห็นว่าทักษะนี้น่าจะมาช่วยวางโครงสร้างการบริหารกรมกองตำรวจได้  กัปตันเอมส์จึงเข้ามาวางโครงสร้างกองตำรวจ และตั้งเป็น ‘กองโปลิศคอนสเตเบิล’ โดยผันตัวเองมาเป็นผู้บังคับกอง

 

 

ตำรวจไทยคนแรกแบบทางการนั้นจึงไม่ใช่คนไทย

 

ส่วนตำรวจชุดแรกที่ปฏิบัติงานก็ไม่ใช่คนไทย แต่ได้ว่าจ้างแขกมลายูมาทำหน้าที่ ... การที่ตำรวจเป็นชาวต่างชาติก่อให้เกิดปัญหาตั้งแต่เริ่มต้นเพราะชาวบ้านไม่กลัว พูดคุยก็ไม่รู้เรื่อง จนนำไปสู่การล้อเลียนและกลั่นแกล้ง นอกจากนี้ยังมีคำนินทาจากชาวบ้านหลายประการต่อตำรวจในยุคนั้น เช่น การไม่ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ กลัวมีดที่โจรเอามาขู่ หยิบกล้วยน้ำหว้าของชาวบ้านไปกิน จับผู้ร้ายไม่ทัน นอนหลับขณะเข้าเวรตอนดึก เป็นต้น  ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะโดนชาวบ้านล้อเลียนถึงประสิทธิภาพการทำงาน ว่าจับโจรได้ไม่ทันใจ!

 

อย่างไรก็ตาม กองตำรวจของกัปตันเอมส์นั้นก็ทำให้มิจฉาชีพลดน้อยลงอย่างมาก และได้ทำหน้าที่ปราบโจรในกรณีสำคัญๆ ไม่ว่าจะเป็นการปราบอั้งยี่ซ่องโจรชาวจีน การระงับเหตุวิวาทของกลุ่มมาเฟียในพื้นที่ จนทำให้เกิดการส่งตำรวจไปประจำตามต่างจังหวัดเพื่อระงับเหตุอย่างเช่นในพระนครบ้าง

 

 

เมื่อกิจการตำรวจขยายตัวจึงมีการเปิดรับสมัครบุคคลภายนอกเข้ามาเป็นตำรวจ คราวนี้จึงได้เห็นชาวไทยเข้ามารับราชการเพิ่มขึ้นแทนที่ชาวต่างชาติ โดยเฉพาะในยุคที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในฐานะเสนาบดีมหาดไทย ถือว่าเป็นยุคที่มีการพัฒนาไปมาก เนื่องจากในช่วงนั้นเป็นช่วงของการขยายตัวของเมืองในสมัยรัชกาลที่ 5 จึงทำให้มีความจำเป็นต้องขยายกำลังพลตำรวจสู่ท้องถิ่นมากขึ้น  นอกจากนี้ยังได้ยกฐานะตำรวจไทยให้มีฐานะเป็นข้าราชการ มีการก่อตั้งโรงเรียนนายร้อยตำรวจอีกด้วย

 

 

ตำรวจภูบาล ... ตำรวจบนเกมการเมือง

 

ตำรวจบนเส้นทางการเมืองนั้นอาจพูดได้ว่าเริ่มต้นหลังจากที่กระแสการเมืองเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครองพุ่งสูงขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 เมื่อเกิดกลุ่มคนที่อยากจะเปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ระบอบอื่นที่ไม่ใช่สมบูรณาญาสิทธิราชย์ และคิดก่อการกบฎ

 

ครานั้นสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพในฐานะเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้ทรงจัดตั้งกรมภูบาลขึ้น เพื่อดูแลสอดส่องกลุ่มที่มีความเคลื่อนไหวทางการเมือง เรียกได้ว่า เป็นตำรวจที่ทำงานทางการเมืองโดยตรง แต่ปฏิบัติงานไป 2 ปีก็ถูกยุบ

 

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 7 ได้มีการรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้งด้วยเหตุผลความจำเป็นทางการเมือง คือกระแสการเรียกร้องประชาธิปไตยในกลุ่มต่างๆ ทั่วโลก โดยสำนักงานตำรวจภูบาลได้รวบรวมนายตำรวจชั้นเยี่ยมและเก่งที่สุดไว้หลายคน ... ภารกิจสำคัญคือการสอบสวนหาความเคลื่อนไหวของกลุ่มที่จะยึดอำนาจการปกครอง

 

ความสำคัญของตำรวจภูบาลซึ่งเปลี่ยนเป็นกองตำรวจสันติบาลในภายหลังเหตุการณ์ 2475 พุ่งสูงขึ้นเนื่องจากเป็นตำแหน่งที่รับผิดชอบต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองการปกครอง จนสมัยก่อนมีคำกล่าวที่ว่าตำแหน่งผู้การสันติบาล ให้คุณให้โทษได้!  และการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและภารกิจของหน่วยงานนี้ล้วนมีผลเกี่ยวโยงกับประวัติศาสตร์การเมืองไทยแทบทั้งสิ้น

 

นอกจากนี้  ยังมีข่าวลือว่ากำลังตำรวจจากที่เคยเป็นหนึ่งเดียวกัน เริ่มแบ่งฝักแบ่งฝ่าย จากข้อเขียนของพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจในเวลาต่อมาได้บันทึกไว้

 

อำนาจเงิน + อำนาจการเมือง

 

อำนาจที่ตำรวจได้รับ  กำลังพลที่ขยายไปทั่วประเทศ ประกอบกับฐานะของผู้บังคับใช้กฎหมายส่งผลให้ ‘ตำรวจ’ เป็นกลุ่มคนที่ทรงอิทธิพลในประเทศเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะภายหลังการปฏิวัติ 2475 ตำรวจได้เข้ามายุ่งเกี่ยวในเชิงของการเมืองมากยิ่งขึ้น ในฐานะฐานอำนาจทางการเมือง

 

อย่างเช่นในช่วงปี 2490 เกิดกรณีการสังหาร 4 อดีตรัฐมนตรี ซึ่งอยู่ขั้วตรงข้ามกับ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้แก่ นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ อดีตผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี พรรคสหชีพ และเป็นอดีตรัฐมนตรีถึง 6 สมัย นายถวิล อุดล อดีตผู้แทนราษฎรจังหวัดร้อยเอ็ด พรรคเดียวกัน เป็นอดีตรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาลทวี บุณยเกตุ นายจำลอง ดาวเรือง อดีตผู้แทนราษฎรจังหวัดมหาสารคาม ซึ่งระหว่างการจับตัวนั้นญาติไม่ได้เดือดร้อนใจ เพราะทั้งสี่คนถูกจับตัวมาอยู่ก่อนบ้างแล้วและมักจะถูกปล่อยตัวออกมา อย่างไรก็ตามค่ำวันที่ 3 มีนาคม 2492 หลังจากที่ตำรวจได้เคลื่อนย้ายผู้ต้องหา ก็ปรากฏร่างของคนทั้ง 4 ที่บริเวณใกล้กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดนยิงเสียชีวิตทั้งหมด ในขณะที่ตำรวจให้การว่ามีกลุ่มโจรมลายูพยายามชิงตัวผู้ต้องหา แต่ตำรวจที่ไปด้วยไม่ได้รับบาดเจ็บแต่อย่างใด

 

 

ประชาชนล้วนแต่เห็นตรงกันว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้ลงมือ และน่าจะมีตำรวจเองอยู่เบื้องหลัง ซึ่งคนๆ นั้นกลับได้เป็นรองอธิบดีกรมตำรวจในเวลาต่อมา  สุดท้ายคดีนี้ถูกรื้อฟื้นในสมัยจอมพลสฤษดิ์ แต่กลับจับกุมตำรวจชั้นผู้น้อย ซึ่งไม่ได้รู้เห็นแทน มีหลายคนเชื่อว่าการกระทำดังกล่าวเพราะจอมพลสฤษดิ์ต้องการอำนาจของตำรวจผู้อยู่เบื้องหลังที่แท้จริงค้ำจุนตัวเอง!

 

เหตุการณ์นี้นับว่าได้สร้างความมัวหมองสู่วงการตำรวจไทยเป็นอย่างมากเหตุการณ์หนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย และทำให้ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าอำนาจทางการเมืองกับตำรวจเป็นเรื่องคู่กันเสมอมา

 

อย่างไรก็ตามในยุคปัจจุบันไม่ใช่แค่อำนาจทางการเมือง ที่สังคมยืนยันให้เกิดการ ‘ปฏิรูปตำรวจ’ ให้ได้ แต่อำนาจของเงินทอง ที่ทำให้ตำรวจบางส่วนเถลไถลออกจากความดีงาม และความตั้งใจจริงนั้นมีอยู่มาก และมีอยู่หลายช่องทางภายใต้ระบบที่ชื่อว่า ‘อุปถัมภ์’

 

ไม่ว่าจะเป็นคนกระทำความผิดที่ขออุปถัมภ์ตำรวจ ไม่ว่าจะบ่อน พนันออนไลน์ ส่วยทางหลวง การยกเว้นการปฏิบัติหน้าที่ต่อคดีที่ผู้กระทำความผิดเป็นคนร่ำรวยในสังคม ซึ่งปรากฏตามข่าวตลอดหลายปีที่ผ่านมา

 

 

รวมไปถึงเรื่องตำรวจชั้นผู้ใหญ่ที่อุปถัมภ์ตำรวจชั้นผู้น้อย ตำรวจชั้นผู้น้อยก็ไม่กล้ากับตำรวจชั้นผู้ใหญ่แม้จะรู้ว่าทำผิด ซึ่งเกี่ยวโยงกับการโยกย้ายตำแหน่ง ที่ไม่ได้เป็นไปตามความสามารถของบุคคล สิ่งเหล่านี้ล้วนยึดโยงอยู่ภายใต้คำที่ว่า ‘ผลประโยชน์’ และ 'ระบบอุปถัมภ์' ที่ไม่ได้เอื้อต่อการสร้างความสงบสุขให้แก่บ้านเมืองแม้แต่น้อย

 

ดูเหมือนว่าวงการตำรวจลืมเลือนอุดมการณ์แรกของการก่อตั้งกรมกองของตน!! นั่นคือการดูแลความสงบสุขของบ้านเมือง!! และเป็นที่พึ่งของประชาชน ... นายตำรวจหลายคนบอกว่า เข้ามาอย่างมีอุดมการณ์ แต่อยู่ไปอยู่มาอุดมการณ์เหล่านั้นกลับหายไป!

 

สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ส่งผลกระทบต่อหลายฝ่าย ไม่ใช่แค่ประชาชนที่ขาดที่พึ่งแต่ตำรวจเองก็เดือดร้อน

 

ในระดับบุคคลจากสถิติการฆ่าตัวตายระหว่างปี 2551-2564 พบว่า มีนายตำรวจต้องเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายมากถึง 443 นาย และมีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จสูง เนื่องจากใกล้ชิดกับอาวุธ

 

ส่วนในระดับสถาบัน วงการสีกากีทุกวันนี้ทำให้นึกย้อนไปถึงการก่อตั้งตำรวจในช่วงแรกที่ถูกประชาชนล้อเลียนถึงการปฏิบัติงาน และนั่นไม่ได้เปลี่ยนไปเลยจาก 100 ปีที่แล้ว!

 

 

ท้ายนี้ ล่าสุดได้มีการประกาศแต่งตั้ง ผบ.ตร.คนใหม่ คือ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล นอกจากการรักษาความสงบของบ้านเมือง ก็คงจะขอฝากเรื่องระบบภายในวงการสีกากีเอง ที่น่าจะกลายเป็นการบ้านสำคัญของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ภายใต้การกุมบังเหียนของ ผบ.ตร.คนใหม่

 

รวมไปถึงคดีการเข้าไปจับกุมผู้ใกล้ชิด ‘บิ๊กโจ๊ก’ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นคู่ชิงหลัก และกลายเป็นข้อกังขาของสังคมว่าการจับกุมครั้งนี้มีเรื่องของการเมืองร่วมอยู่หรือไม่ หากไม่ก็ควรให้กระจ่างว่าทุกขั้นตอนถูกต้องตามกฎหมายและเป็นไปเพื่อบ้านเมือง และใช้โอกาสนี้ในการเด็ดหัวราชสีห์ ให้เห็นว่าแม้ตำรวจด้วยกันหากทำผิด ก็ต้องเป็นไปตามกฎหมายอย่างถึงที่สุด  รวมไปถึงข้อสงสัยต่อคดีกำนันนกว่าใครอยู่เบื้องหลังตัวจริง!

 

ทั้งหมดจะเป็นบทพิสูจน์ชิ้นสำคัญของตำรวจไทยยุคใหม่ ..

 

เพราะเอาเข้าจริงแล้ว คนไทยก็ไม่ได้อยากสูญสิ้นศรัทธาในตำรวจ และหวังที่จะพึ่งพิงกำลังของตำรวจ อย่างที่ควรจะเป็นมานานแล้ว!

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.