เสริมแกร่งอาชีพหญิงชายแดนใต้ สร้าง “เสาหลัก” ให้ครอบครัวผ่านโครงการเชฟรอน-ทุนเพื่อชีวิต
“หลังจากที่สามีเสียชีวิต ลูกๆ ยังเพิ่งเข้าเรียน ตอนนั้นเองที่ทางมูลนิธิรักษ์ไทยและบริษัทเชฟรอนยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือให้เราได้ทำขนมเพื่อหารายได้เลี้ยงครอบครัวต่อ จนตอนนี้ลูกคนสุดท้องกำลังจบแล้ว ในฐานะแม่เลี้ยงเดี่ยวที่มีลูก 5 คนจึงภูมิใจมากๆ ที่ส่งลูกทุกคนให้เรียนจบได้ด้วยน้ำพักน้ำแรงเรา”
นางสาวแวลีเมาะ สาแล หนึ่งในสตรีกลุ่มเจาะหู บ้านปาหนัน อำเภอมายอ จังหวัดปัตตานี ที่ได้รับการสนับสนุนอุปกรณ์อาชีพจากโครงการเชฟรอน-ทุนเพื่อชีวิตของบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ร่วมกับมูลนิธิรักษ์ไทย กล่าวด้วยน้ำเสียงที่เต็มไปด้วยความภาคภูมิใจกับการได้ลุกขึ้นมาเป็น “เสาหลัก” ของครอบครัวในวันที่ชีวิตต้องนับหนึ่งใหม่จากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และฝ่าฟันอุปสรรคด้วยความความรู้ความสามารถของตนสู่ความสำเร็จของชีวิตในวันนี้ที่สามารถส่งลูกๆ เรียนจบ
จากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้สร้างบาดแผลและพรากโอกาสชีวิตแก่ผู้คนจำนวนมาก โดยสำหรับหลากหลายครอบครัว ผู้หญิงต้องแบกรับหน้าที่เสาหลักเพื่อหล่อเลี้ยงทุกชีวิตในบ้านท่ามกลางความท้าทายด้านค่าครองชีพที่สูงขึ้นกับรายได้ที่ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย ทำให้เกิดความเสี่ยงที่สมาชิกครอบครัวในวัยเรียนจะหลุดออกจากระบบการศึกษา รวมถึงกระทบคุณภาพชีวิตโดยรวมของครอบครัว เพราะ “โอกาส” คือทุนที่สานต่อ “ชีวิต” ดังนั้นบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ในฐานะบริษัทที่เชื่อมั่นในพลังคนจึงได้สนับสนุนงบประมาณโครงการ “เชฟรอน-ทุนเพื่อชีวิต” ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 ให้มูลนิธิรักษ์ไทยที่ทำงานด้านการส่งเสริมอาชีพผู้หญิงมากว่า 12 ปี ได้ดำเนินกิจกรรมพัฒนาอาชีพและสนับสนุนอุปกรณ์อาชีพให้กับสตรีกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส เพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้ผู้หญิงมีทางเลือกในชีวิตทั้งจากการสร้างอาชีพใหม่ และพัฒนาอาชีพเดิมให้มีรายได้เพิ่มขึ้น พร้อมต่อยอดสู่การเป็นเจ้าของธุรกิจและฐานที่มั่นของครอบครัว
นางสาวแวลีเมาะ กล่าวเสริมว่า “จากที่เริ่มทำขนมเจาะหูจนถึงตอนนี้ก็ผ่านมา 25 ปีแล้ว จุดเริ่มต้นมาจากที่เราอยากทำอาชีพค้าขาย จึงได้เรียนรู้และคิดค้นสูตรขนมเจาะหูแบบโบราณเพื่อนำไปขาย พอมีกำไรน้อยๆ ก็สามารถเริ่มซื้อเตาอบได้ แต่ต่อมาหลังจากที่สามีเสียชีวิต เราต้องรับภาระหน้าที่หารายได้เพื่อประคองครอบครัวให้ลูกๆ ทุกคนได้เรียนหนังสือ เลยได้รู้จักมูลนิธิรักษ์ไทยและเชฟรอน ทางมูลนิธิจึงสนับสนุนเครื่องทองพับมาให้ หลังจากที่ทำต่อได้ปีกว่าและมีเตาอบเครื่องใหม่มา ทำให้มีรายได้มากขึ้นและส่งลูกทั้ง 5 คนเรียนจบได้ ในวันนี้รู้สึกภูมิใจมากที่ความตั้งใจของเราเป็นจริง และอยากให้คนอื่นๆ ได้มีโอกาสแบบนี้เหมือนกัน”
แม้จะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ “ทุนเพื่อชีวิต” สามารถช่วยต่อยอดรายได้และสร้างโอกาสมากมาย ไม่เพียงแต่ผู้หญิงกลุ่มเปราะบางเท่านั้น แต่ยังส่งต่อไปถึงคนในครอบครัวได้อย่างแท้จริง โดยนางสาวเพ็ญนภา คงดี เจ้าหน้าที่มูลนิธิรักษ์ไทย สำนักงานปัตตานี กล่าวถึงกระบวนการสนับสนุนกลุ่มสตรีและการเปลี่ยนแปลงที่ได้เห็นว่า “จากการที่เป็นคนในชุมชนอยู่แล้ว เราเห็นถึงอุปสรรคของผู้หญิงในชายแดนใต้ โดยการทำงานของเราคือไม่ใช่เข้าไปช่วยเท่านั้น แต่ต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัย และดูความพร้อมรวมถึงความต้องการของแต่ละกลุ่มที่จะเข้าไปสนับสนุนด้วย โดยนอกจากอุปกรณ์แล้ว เราต้องคอยสอบถามว่าแต่ละกลุ่มยังขาดอะไร พร้อมทั้งช่วยเสริมทักษะอาชีพตามจุดแข็งของกลุ่ม เช่น หาครูมาสอนเย็บผ้า โดยหลังจากทำโครงการมาได้ระยะหนึ่งเราเริ่มเห็นว่ากลุ่มผู้หญิงเหล่านี้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีเงินเก็บ มีรายได้ส่งให้ครอบครัวได้เรียนหนังสือ รวมถึงยังมีเพื่อนฝูงคอยแลกเปลี่ยนความรู้ด้วยกันอีกด้วย พอรู้สึกว่าตนเองดีขึ้น เขาก็เข้าใจคนที่ต้องการความช่วยเหลือและยื่นมือไปช่วยคนอื่นต่อ ยกตัวอย่างเช่นผู้หญิงที่มาเล่าให้ฟังบ่อยๆ ก่อนหน้านี้ต้องเผชิญปัญหาเรื่องการเงิน เราจึงสนับสนุนรถเข็นเพื่อให้ขายปาท่องโก๋และขายดีขึ้นเรื่อยๆ จนตอนนี้สามารถพัฒนาสูตรและขายเป็นแฟรนไชส์ให้พื้นที่อื่นได้อีกด้วย ซึ่งนอกจากจะหารายได้เลี้ยงครอบครัวได้แล้ว เขายังภูมิใจที่ได้ฝ่าฟันความยากลำบากและประสบความสำเร็จด้วยมือของตนเอง”
ด้านนางสาวกิติมา มะสูละ หนึ่งในสตรีกลุ่มผ้าบาติกบ้านกูยิ อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส ได้เล่าถึงการขยายธุรกิจเพื่อเพิ่มรายได้ว่า “เราชอบการทำผ้าบาติกอยู่แล้ว โดยช่วงแรกเริ่มจากทำให้ครอบครัวใส่ หลังจากนั้นพอมีคนสนใจมากขึ้นจึงตั้งกลุ่มกับเพื่อนและรวบรวมคนที่สนใจอยากทำเป็นอาชีพ ซึ่งตอนแรกเราใช้จักรเย็บผ้าแบบถีบ แต่กว่าจะผลิตได้แต่ละตัวต้องใช้เวลา พอทางโครงการฯ มาสนับสนุนจักรอุตสาหกรรมเราเลยสามารถแปรรูปสินค้าได้หลากหลาย ทั้งกระเป๋า ซองใส่โทรศัพท์ ผ้าพันคอ ทำให้ผลิตสินค้าได้เร็วแถมมีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย นอกจากนี้ยังได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์แปรมาเป็นผลิตภัณฑ์ได้จริง จนในตอนนี้กลุ่มผ้าบาติกบ้านกูยิของเราได้พัฒนาจนชนะการประกวดในนามกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรเป็นอันดับหนึ่งของจังหวัด และกำลังจะประกวดในระดับประเทศต่อไป”
อีกหนึ่งหัวใจหลักที่ต่อยอดความสำเร็จของโครงการฯ คือการผสานความเข้มแข็งระหว่างทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และเครือข่ายชุมชน โดยนายปฏิเวธ บุณยะผลึก รองประธานกรรมการบริหาร ฝ่ายสุขภาพ ความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อม บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ได้กล่าวถึงความมุ่งมั่นของเชฟรอนที่ให้ความสำคัญกับการยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนว่า “ในฐานะบริษัทพลังงานระดับโลกที่เชื่อมั่นในพลังคนที่ดำเนินธุรกิจและเป็นพันธมิตรที่ดีกับสังคมไทยมากว่า 60 ปี หนึ่งในพันธกิจสำคัญของเชฟรอนคือการส่งเสริมโอกาสและศักยภาพของชุมชนให้แข็งแกร่งเพื่อขับเคลื่อนประเทศอย่างยั่งยืน โดยความมุ่งมั่นนี้ได้สะท้อนผ่านโครงการเชฟรอน-ทุนเพื่อชีวิต ที่สร้างโอกาสและเครือข่ายอันแข็งแกร่งแก่กลุ่มอาชีพสตรีให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นโครงการระยะยาวที่เราดำเนินงานมาต่อเนื่องถึง 9 ปี จนถึงปัจจุบัน โครงการฯ ได้สนับสนุนอุปกรณ์ให้กลุ่มอาชีพกว่า 116 กลุ่ม รวมถึงมีผู้รับประโยชน์โดยตรงมากกว่า 1,500 คน อีกทั้งโดยอ้อมสำหรับสมาชิกในครอบครัวอีกกว่า 20,000 คน ซึ่งทางเชฟรอนรู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่ได้สร้างโอกาสให้ผู้หญิงที่ต้องรับผิดชอบรายจ่ายในครอบครัวมีอาชีพเป็นของตัวเองและมีรายได้เพิ่ม ซึ่งนับเป็นตัวอย่างของความสำเร็จผ่านศักยภาพพลังคนอย่างแท้จริง”
ตลอด 9 ปีที่ผ่านมา โครงการเชฟรอน-ทุนเพื่อชีวิต ได้คืนโอกาสและรอยยิ้มของกลุ่มสตรีชายแดนใต้ให้กลับมาสดใสอีกครั้งด้วยความภาคภูมิใจจากน้ำพักน้ำแรงของตนเอง โดยความสำเร็จดังกล่าวไม่เพียงแต่สะท้อนผ่านรายได้ที่เพิ่มขึ้นและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนในครอบครัวเท่านั้น แต่ยังตามมาด้วยการสานสัมพันธ์ในกลุ่มสตรีด้วยกัน พร้อมเปลี่ยนบทบาทสู่ “ผู้มอบโอกาส” ที่ส่งต่อความช่วยเหลือแก่ผู้หญิงที่กำลังเผชิญอุปสรรคแบบเดียวกันให้สามารถลุกขึ้นเป็น “เสาหลัก” ผ่านพลังของตนเอง
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.