ผลสำรวจชี้ Gen Z และ Millennial ให้ค่า DEI แต่กังวลเรื่องค่าครองชีพมากที่สุด

• เจนซีและมิลเลนเนียลในประเทศไทยพึงพอใจกับเรื่อง Work/Life Balance และให้ความสำคัญขององค์กรในด้านความหลากหลาย ความเสมอภาคและการมีส่วนร่วม (Diversity, Equity and Inclusion : DEI) สูงกว่าคนในเจเนอเรชั่นเดียวกันทั่วโลก

• คนทั้งสองเจเนอเรชั่นมีความกังวลเรื่องค่าครองชีพมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง ตามมาด้วยการว่างงานและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ

• เจนซีและมิลเลนเนียลในไทยที่ใช้ชีวิตแบบเดือนชนเดือน มีจำนวนสูงกว่าค่าเฉลี่ยของคนในช่วงวัยเดียวกันทั่วโลก ทำให้ต้องทำงานเสริม แต่ยังให้ความสำคัญกับการสร้างสมดุลให้ชีวิตและการทำงาน  (Work/Life Balance)

• การต้องตอบอีเมลล์หรือข้อความนอกเวลางานบ่อยครั้งส่งผลให้ไม่สามารถแยกชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวออกจากกันได้ ทำให้คนทั้งสองกลุ่มนี้มีภาวะหมดไฟในการทำงาน (Burnout) เมื่อประกอบกับแรงกดดันอื่น ๆ ได้แก่ ความมั่นคงทางการเงิน และสุขภาพในครอบครัว ทำให้คนรุ่นใหม่ในไทยมองหาองค์กรที่ใส่ใจกับเรื่องสุขภาพจิตที่ดีของพนักงาน

• ในช่วงเวลา 3 ปีที่ผ่านมา (2021-2023) ความพึงพอใจกับบทบาทขององค์กรต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมของคนรุ่นใหม่ทั้งสองกลุ่มลดลง โดยคนไทยรุ่นใหม่ทั้งสองกลุ่มเชื่อว่าตนมีพลังในการขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลง สูงกว่าคนในช่วงวัยเดียวกันทั่วโลกอย่างมาก

• คนไทยรุ่นใหม่ทั้งสองกลุ่มมีแนวโน้มที่จะปฏิเสธงานที่ได้รับมอบหมาย หรือเลือกที่จะไม่สมัครงานที่ขัดกับความเชื่อและจริยธรรมส่วนบุคคล เป็นสัดส่วนที่สูงที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

• งานหลักยังเป็นสิ่งที่สะท้อนตัวตนของคนไทยรุ่นใหม่มากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาด้วยเพื่อนและครอบครัว และงานเสริม ตามลำดับ

• คนไทยรุ่นใหม่ทั้งสองกลุ่มชื่นชมคนในวัยเดียวกันที่ใช้ชีวิตตามแนวทางของตัวเอง หาแนวทางการรักษาสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงานที่เหมาะสมกับตนเองได้ และมีความกระตือรือร้นในการเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ

• เจนซีและมิลเลนเนียลในไทยประมาณร้อยละ 80 ยอมซื้อสินค้าหรือบริการที่มีราคาแพงกว่า หากสินค้าหรือบริการนั้นส่งเสริมแนวคิดความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม

 


ดีลอยท์ ประเทศไทย เผยผลสำรวจ Global 2023 Gen Z and Millennial Survey ซึ่งเป็นผลการศึกษา สะท้อนมุมมองของเจนซี และมิลเลนเนียลในประเทศไทยที่มีต่อเศรษฐกิจ สังคม และ สิ่งแวดล้อม เมื่อเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยในปีเดียวกันของคนในเจเนอเรชั่นเดียวกันทั่วโลก 

 

Deloitte Global 2023 Gen Z and Millennial Survey จัดทำขึ้นโดยดีลอยท์ ต่อเนื่องกันมาเป็นปีที่ 12 ทำการสำรวจมุมมองแนวคิดเชิงลึกของคนในเจนซี และมิลเลนเนียลมากกว่า 22,000 คนจาก 44 ประเทศทั่วโลก มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะติดตามความเปลี่ยนแปลงด้านแนวคิดและมุมมองต่าง ๆ ของกลุ่มเจนซีและมิลเลนเนียลที่เป็นกำลังสำคัญในตลาดแรงงานทั่วโลก  ในผลสำรวจฉบับนี้ เจนซีหมายถึง ผู้ที่มีอายุ 19-28 ปีและมิลเลนเนียลหมายถึงผู้ที่มีอายุระหว่าง 29-40 ปี สำหรับประเทศไทยนั้น ดีลอยท์ได้ทำการสำรวจเจนซี 200 คน และมิลเลนเนียล 100 คน ในประเทศไทย โดยพบว่าผลการสำรวจสะท้อนมุมมองเชิงลึกคนในเจเนอเรชั่นดังกล่าวที่มีต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ดังต่อไปนี้

 

 

ด้านเศรษฐกิจ

จากผลสำรวจพบว่า คนในเจนซีและมิลเลนเนียลในประเทศไทยพึงพอใจกับการสร้างสมดุลให้ชีวิตและการทำงาน  (Work/life Balance) และความหลากหลาย ความเสมอภาคและการมีส่วนร่วม (Diversity, Equity and Inclusion : DEI) สูงกว่าคนในเจเนอเรชั่นเดียวกันทั่วโลก โดยร้อยละ 51 และร้อยละ 41 ของเจนซี และมิลเลนเนียล พอใจมากกับการสร้างสมดุลให้ชีวิตและการทำงาน (Work/life Balance) สูงกว่าคนในวัยเดียวกันทั่วโลกที่ร้อยละ 34 และร้อยละ 31 ของคนในเจนซีและมิลเลนเนียลทั่วโลกตามลำดับ และร้อยละ 45 ของเจนซี และร้อยละ 24 ของมิลเลนเนียลในไทยพอใจกับการที่องค์กรให้ความสำคัญกับเรื่องความหลากหลาย ความเสมอภาคและการมีส่วนร่วม (Diversity, Equity, and Inclusion) สูงกว่าคนในช่วงวัยเดียวกันทั่วโลกที่ร้อยละ 33 และร้อยละ 28 ตามลำดับเช่นกัน

 

ประเด็นที่คนไทยรุ่นใหม่ทั้งสองเจเนอเรชั่นกังวลมากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ 1) ค่าครองชีพสูง 2) การว่างงาน และ 3) ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ซึ่งนำไปสู่ความกังวลในการบริหารจัดการเงินส่วนบุคคล โดยเจนซี ร้อยละ 67 และมิลเลนเนียล ร้อยละ 62 บอกว่ามีการบริหารจัดการเงินแบบเดือนชนเดือน ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงกว่าคนในเจเนอเรชั่นเดียวกันทั่วโลกที่ร้อยละ 51 และร้อยละ 52 ตามลำดับ

 

จากข้อกังวลดังกล่าวข้างต้น ส่งผลให้เจนซีและมิลเลนเนียลในประเทศไทย ร้อยละ 66 และมิลเลนเนียล ร้อยละ 71 ตามลำดับ ต้องทำงานเสริมเพื่อให้มีแหล่งรายได้ที่สองโดยเจนซีนิยมทำงานเป็นกะ เช่น การเป็นพนักงานส่งอาหาร และการเป็น Social Media Influencer และContent Creator มากที่สุด ในขณะที่กลุ่มมิลเลนเนียลส่วนใหญ่นิยมขายสินค้าและบริการผ่านช่องทางออนไลน์

 

แม้ว่าจะต้องเผชิญกับแรงกดดันทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 86 ของเจนซี และ ร้อยละ 65 ของมิลเลนเนียลในไทย มีแนวโน้มจะเปลี่ยนงานใหม่ หากบริษัทผู้ว่าจ้างต้องการให้พนักงานกลับไปทำงานเต็มเวลาที่ออฟฟิศ และเกือบร้อย 70 ของทั้งคนไทยรุ่นใหม่ทั้งสองเจเนอเรชั่น มีแนวโน้มที่จะขอให้บริษัทมีนโยบายการทำงานที่ยืดหยุ่น ที่มุ่งส่งเสริมแนวคิดการสร้างสมดุลให้ชีวิตและการทำงาน (Work/life Balance) ครอบคลุม 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1) มีทางเลือกในการทำงานร่วมกันได้มากขึ้น 2) ควรหาวิธีทำให้พนักงานพาร์ทไทม์ (part-time) มีโอกาสที่จะก้าวหน้าในอาชีพ และ 3) เปลี่ยนรูปแบบการทำงานเป็นทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ เป็นต้น

 

ทั้งนี้รูปแบบการทำงานที่ไม่สามารถสร้างสมดุลให้กับชีวิตส่วนตัวและการทำงานนั้นยังเป็นสิ่งที่เจนซีและมิลเลนเนียลในไทยกังวลอย่างมาก จากผลสำรวจ ร้อยละ 40 ของมิลเลนเนียล ต้องตอบข้อความ หรืออีเมลล์นอกเวลางานทุกวัน ในขณะที่ร้อยละ 32 ของเจนซีต้องตอบข้อความหรืออีเมลล์ 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์ ส่งผลให้คนในทั้งสองเจเนอเรชั่นเกิดความเครียดจากการทำงานหนัก และร้อยละ 72 ของเจนซีและร้อยละ 63 ของมิลเลนเนียลรู้สึกเบื่อ อยู่ในภาวะหมดไฟในการทำงาน (Burnout) จากปริมาณงานและความต้องการด้านอื่น ๆ 

 

นอกจากนั้นยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลให้เกิดความเครียดมากยิ่งขึ้น 3 อันดับแรก ได้แก่ 1) การเงินในอนาคต 2) การเงินในชีวิตประจำวัน และ3) สุขภาพและความเป็นอยู่ของครอบครัว ทำให้มากกว่าร้อยละ 90 ของทั้งเจนซีและมิลเลนเนียลในประเทศไทย สนใจร่วมงานกับองค์กรที่มีนโยบายใส่ใจและส่งเสริมสุขภาพจิตที่ดีของพนักงาน ซึ่งสูงกว่าคนในช่วงวัยเดียวกันทั่วโลกอย่างมีนัยสำคัญที่มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 80

 

 

ด้านสังคม

เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลด้านความพึงพอใจของทั้งเจนซี และมิลเลนเนียล กับบทบาทขององค์กรต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม จากผลการสำรวจ พบว่าความพึงพอใจของคนทั้งสองกลุ่มมีแนวโน้มที่ลดลงในระยะเวลาสามปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2021-2023 โดยคนไทยรุ่นใหม่สองกลุ่มนี้ มองว่า นักการเมือง กลุ่มนักเคลื่อนไหวทางสังคม และผู้สื่อข่าว มีบทบาทสำคัญในการชี้นำประเด็นทางสังคมมากกว่านักแสดง ผู้นำทางศาสนาหรือนักกีฬา

 

ร้อยละ 82 ของเจนซี และ ร้อยละ 85 ของมิลเลนเนียลในไทย เชื่อว่าตัวเองมีพลังในการขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลง ซึ่งสูงกว่าคนในช่วงวัยเดียวกันทั่วโลกที่ร้อยละ 58 และ ร้อยละ 55 ตามลำดับ 


โดยร้อยละ 75 ของเจนซีและร้อยละ 52 ของมิลเลนเนียลปฏิเสธที่จะทำงานที่ได้รับมอบหมาย หากงานนั้นขัดกับความเชื่อและจริยธรรมส่วนบุคคล และร้อยละ 63 ของเจนซี และร้อยละ 52 ของมิลเลนเนียลปฏิเสธการร่วมงานกับองค์กรที่มีแนวคิดขัดกับความเชื่อและจริยธรรมส่วนบุคคล ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

ทั้งนี้สิ่งที่คนไทยทั้งสองเจเนอเรชั่น ถือเป็นความภาคภูมิใจในการบอกอัตลักษณ์ความเป็นตัวตน 3 อันดับแรก ได้แก่ 1) งานหลัก 2) เพื่อนและครอบครัว และ 3) งานเสริม นอกจากนี้สิ่งที่คนไทยทั้งสองเจเนอเรชั่นให้คุณค่าในการชื่นชมความสำเร็จของผู้อื่น 3 อันดับแรก ได้แก่ 1) การใช้ชีวิตตามแนวทางของตัวเองโดยไม่ขึ้นหรืออิงกับความคาดหวังของสังคม 2) ความสามารถในการสร้างสมดุลให้กับชีวิตและการทำงาน และ 3) ความกระตือรือร้นในการเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ

 




 

ด้านสิ่งแวดล้อม

เมื่อถามถึงความรู้สึกต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมาร้อยละ 78 ของเจนซี และ 81 ของมิลเลนเนียล กล่าวว่ารู้สึกกังวลกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ โดยร้อยละ 80 ของเจนซีและ 83 ของมิลเลนเนียลยอมจ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้าและบริการที่ส่งเสริมความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม ซึ่งทั้ง 2 คำตอบของคนไทยสูงกว่าคนในเจเนอเรชั่นเดียวกันทั่วโลกที่ประมาณร้อยละ 60 นอกจากนี้ร้อยละ 30 ของคนไทยทั้ง 2 เจเนอเรชั่น เชื่อว่าบริษัทขนาดใหญ่มีการดำเนินการปกป้องสิ่งแวดล้อม  ซึ่งสูงกว่าคนในเจเนอเรชั่นเดียวกันทั่วโลก ที่ประมาณร้อยละ 18

 

คนไทยรุ่นใหม่มองว่าสิ่งที่สามารถลงมือทำด้วยตนเองเพื่อช่วยลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม คือการลดการใช้สินค้าฟาสต์แฟชั่น (Fast Fashion) เป็นอันดับแรกและสิ่งที่คนไทยรุ่นใหม่ตั้งใจจะลงมือทำในอนาคตเพื่อช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ 1) ปรับปรุงบ้านให้ประหยัดพลังงาน และ 2) เปลี่ยนมารับประทานมังสวิรัติหรือวีแกน (Vegan)


นอกจากนี้คนไทยรุ่นใหม่ทั้ง 2 เจเนอเรชั่นยังมีข้อเสนอแนะว่าองค์กรควรที่จะลงทุนเพิ่มเพื่อจัดการกับความท้าทายในด้านเปลี่ยนแปลงด้านสภาพอากาศ 3 อันดับแรกได้แก่ 1) การส่งเสริมให้ชุมชนโดยรอบอาคารสำนักงานเป็นพื้นที่สีเขียว 2) การอบรมพนักงานในเรื่องความยั่งยืน และ 3) ให้เงินสนับสนุนแก่พนักงานให้ใช้เลือกสินค้าและบริการที่ส่งเสริมความยั่งยืน

 

คุณอริยะ ฝึกฝน กรรมการบริหาร ดีลอยท์ คอนซัลติ้ง กล่าวว่า “จากผลสำรวจพบว่าคนไทยรุ่นใหม่มีมิติความคิดที่แตกต่างจากคนในเจเนอเรชั่นเดียวกันของประเทศเพื่อนบ้านและโลกอย่างมีนัยสำคัญ และคนไทยทั้งสองเจเนอเรชั่นเองก็มีความเห็นที่แตกต่างกันในหลายประเด็นเชิงลึกลงไปอีก ดังนั้นการบริหารและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์จึงเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องบริหารจัดการด้วยความละเอียดอ่อนมากขึ้น”

 

ดร. โชดก ปัญญาวรานันท์ ผู้จัดการ Clients & Markets ดีลอยท์ ประเทศไทย กล่าวเสริมว่า “การพิจารณาข้อมูลของประเทศไทยเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในปีเดียวกันและข้อมูลเปรียบเทียบของประเทศไทยเองในแต่ละปี จะสะท้อนภาพรวมการเปลี่ยนแปลง และแนวโน้มต่าง ๆ ที่จะนำไปสู่การวางแผนบริหารจัดการและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น”

คุณอริยะ กล่าวทิ้งท้ายว่า “ดีลอยท์ ได้ทำการสำรวจคนในกลุ่มเจนซีและมิลเลนเนียล ติดต่อกันเป็นปีที่ 12 และจะทำการสำรวจคนกลุ่มนี้ต่อไป เพื่อติดตามแนวโน้มและความเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ยังไม่มีทางเลือกใดที่ตอบโจทย์แก้ปัญหาได้อย่างเหมาะสม ต้องคำนึงถึงบริบทของแต่ละองค์กรนั้นด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่แต่ละองค์กรต้องพิจารณาต่อไป”

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.