3 สัญญาณเตือน "ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด" การรักษา พร้อมวิธีป้องกัน

ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด หรือที่เรียกกันว่า Septicemia นั้น ถือเป็นภาวะที่อันตรายและต้องรีบรักษาอย่างเร่งด่วน เป็นภาวะที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา หรือไวรัส ซึ่งแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือดและทำให้เกิดการอักเสบทั่วร่างกาย หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องและทันท่วงที อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง เช่น อวัยวะล้มเหลว ภาวะช็อก และเสียชีวิตได้ ซึ่งคณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดโดยมีรายละเอียดดังนี้

อะไรคือ “ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด” ???

“ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด” คำนี้หลายคนคงเคยได้ยินอยู่บ่อยๆแต่ทราบหรือไม่ว่าการติดเชื้อในกระแสเลือดเป็นอย่างไร ติดเชื้อได้อย่างไร และมีวิธีแก้ไขปัญหาภาวะนี้อย่างไรบ้าง รวมถึงมีวิธีการป้องกันการติดเชื้อในกระแสเลือดได้อย่างไร คอลัมน์ Health Station ฉบับนี้ได้รับเกียรติจาก รศ.พญ.ศศิโสภิณ เกียรติบูรณกุล สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล มีคำตอบมาฝากกันครับ

การติดเชื้อในกระแสเลือดคืออะไร

การติดเชื้อในกระแสเลือดคือ การติดเชื้อที่เกิดขึ้นที่ตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งของร่างกาย ซึ่งเชื้อดังกล่าวได้แก่ จุลชีพต่างๆ เช่น เชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา โดยการติดเชื้อที่อวัยวะต่างๆ ของร่างกายสามารถทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดได้ เมื่อมีการติดเชื้อในกระแสเลือดแล้ว ร่างกายของเราจะมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อการติดเชื้อหรือต่อพิษของเชื้อโรค ซึ่งจะทำให้เกิดการอักเสบขึ้นทั่วบริเวณของร่างกาย หากมีความรุนแรงมากอาจพัฒนาไปสู่ภาวะช็อกและทำให้การทำงานของอวัยวะภายในต่างๆ ล้มเหลว มีอันตรายถึงชีวิตได้ จึงจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

เชื้อโรคสามารถเข้าสู่ร่างกาย ได้ทางใดบ้าง

เชื้อโรคสามารถเข้าสู่ร่างกายได้หลายทาง ไม่ว่าจะเป็นทางผิวหนัง  ทางเดินหายใจ ทางเดินปัสสาวะ ทางเดินอาหาร หรือทางบาดแผล เป็นต้น โดยเฉพาะในช่วงที่ร่างกายอ่อนแอ เชื้อโรคก็จะเข้าสู่ร่างกายได้โดยง่าย

มีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด

ปัจจัยที่ทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดนั้นมี 3 ปัจจัย ดังนี้   

1) ความเจ็บป่วย เมื่อร่างกายอ่อนแอและภูมิต้านทานต่ำ ก็จะทำให้ไม่สามารถต่อสู้กับเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกายได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

2) ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคตับแข็ง เนื่องจากตับจะเป็นตัวกรองเชื้อโรคไม่ให้เข้าสู่ร่างกาย เมื่อตับไม่สามารถทำงานได้ เชื้อโรคก็จะสามารถผ่านเข้าไปในกระแสเลือดได้ง่ายขึ้น หรือเป็นโรคเบาหวาน เนื่องจากภาวะน้ำตาลในเลือดสูงในผู้ที่เป็นเบาหวานจะทำให้มีการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันที่มีหน้าที่ต่อสู้กับเชื้อโรคเสียไป นอกจากนี้ในเด็กเล็กและในผู้สูงอายุจะมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อในกระแสเลือดได้มากกว่าคนหนุ่มสาวแม้ว่าไม่มีโรคประจำตัว เนื่องจากมีภูมิคุ้มกันต่ำ

3) สาเหตุอื่นๆ เช่น การรักษาผู้ป่วยโดยการใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ เข้าสู่ร่างกายผู้ป่วย ได้แก่การสวนทวาร การสวนปัสสาวะ และการใช้สายสวนหลอดเลือด ทำให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายขึ้น

ลักษณะอาการของการติดเชื้อในกระแสเลือดเป็นอย่างไร

อาการของการติดเชื้อในกระแสเลือดนั้น แบ่งเป็น 3 ลักษณะคือ

1) อาการเฉพาะที่หรือเฉพาะอวัยวะที่ติดเชื้อ เช่น หากมีอาการไอและเจ็บหน้าอกเมื่อหายใจ อาจพบว่ามีการติดเชื้อที่ปอดหรือเยื่อหุ้มปอด หรือมีอาการปวดหลังและปัสสาวะบ่อย แสดงว่าอาจเกิดจากการติดเชื้อที่กรวยไต เป็นต้น

2) อาการแสดงทางผิวหนัง เกิดจากการที่เชื้อโรคหรือพิษของเชื้อโรคที่อยู่ในกระแสเลือด กระจายมาสู่บริเวณผิวหนัง ทำให้เกิดรอยขึ้นที่บริเวณผิวหนัง ซึ่งในบางรอยนั้นอาจมีลักษณะที่ไม่จำเพาะ อย่างเช่นเป็นตุ่มหนองธรรมดา และในบางรอยนั้นมีลักษณะจำเพาะที่สามารถบอกได้ถึงชนิดของเชื้อ

3) อาการที่เกิดจากการที่ร่างกายมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อการติดเชื้อ หรือเป็นกลุ่มอาการตอบสนองต่อการอักเสบทั่วร่างกาย เช่น มีไข้ขึ้นสูงกว่า 38 องศาเซลเซียส ในบางรายอาจมีอาการหนาวสั่นร่วมด้วย มีชีพจรเต้นเร็วขึ้นเกิน 90 ครั้งต่อนาที  และหายใจเร็วเกิน 20 ครั้งต่อนาทีเป็นต้น

ความรุนแรงของอาการเป็นอย่างไร แบ่งเป็นกี่ระดับ

ความรุนแรงของการติดเชื้อในกระแสเลือดแบ่งได้เป็น 3 ระดับคือ

1) การติดเชื้อในกระแสเลือดแบบทั่วไป

2) การติดเชื้อในกระแสเลือดแบบรุนแรงมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้อวัยวะต่างๆ เริ่มทำงานผิดปกติ

3) ระดับการติดเชื้อในกระแสเลือดที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการช็อกได้ ซึ่งเกิดขึ้นในรายที่มีภูมิต้านทานต่ำมาก

การรักษาอาการติดเชื้อในกระแสเลือด

แพทย์จะวินิจฉัยจากลักษณะและอาการของผู้ป่วยเป็นลำดับแรก จากนั้นจะทำการเจาะเลือดและตรวจสิ่งคัดหลั่งจากอวัยวะที่สงสัยว่ามีการติดเชื้อด้วยการเพาะหาเชื้อ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 3-5 วัน แต่เนื่องด้วยการติดเชื้อในกระแสเลือดเป็นภาวะฉุกเฉิน แพทย์จึงต้องอาศัยการวินิจฉัยเบื้องต้นและเลือกให้ยาต้านจุลชีพที่ครอบคลุมเชื้อไว้ก่อน ซึ่งหากผู้ป่วยได้รับยาต้านจุลชีพหรือยาปฏิชีวนะที่ตรงกับเชื้อในช่วง 1-2   ชั่วโมงแรก ผู้ป่วยจะมีโอกาสรอดชีวิตสูงมากขึ้น ในทางตรงกันข้าม หากได้รับยาที่ไม่ตรงกับเชื้อหรือได้รับยาช้าเกินไป ก็จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากขึ้นเช่นกัน

เมื่อได้รับยาต้านจุลชีพแล้ว แพทย์จะทำการรักษาแบบประคับประคองไปพร้อมๆ กัน เช่น ถ้ามีภาวะไตวายก็ทำการฟอกไต ถ้าผู้ป่วยหายใจเองไม่ได้ก็จะมีการให้ออกซิเจนหรือการใช้เครื่องช่วยหายใจ หรือถ้าผู้ป่วยมีภาวะซีดก็จะมีการให้เลือด โดยพิจารณาตามลักษณะอาการของผู้ป่วย

วิธีการป้องกันไม่ให้เกิดการติด เชื้อในกระแสเลือด 

หากทราบว่าตัวเองมีปัจจัยเสี่ยงที่จะติดเชื้อหรือถ้าติดเชื้อแล้วจะมีอาการรุนแรง สิ่งสำคัญคือเราจะต้องรักษาสุขภาพของตัวเองให้แข็งแรงอยู่เสมอรวมถึงรักษาโรคประจำตัวที่เป็นความเสี่ยงต่อการติดเชื้อในกระแสเลือด เช่น ผู้ที่เป็นเบาหวานก็ควรควบคุมระดับน้ำตาลให้ดี ดูแลในเรื่องของอาหารการรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ รวมทั้งรักษาสุขอนามัยกินร้อนช้อนกลาง ล้างมือ หากมีอาการไข้สูง หนาวสั่น หรือมีอาการซึม หายใจเร็วผิดปกติ หรือพบความผิดปกติที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ให้รีบมาพบแพทย์ และควรหลีกเลี่ยงการไปยังสถานที่ที่มีเชื้อโรคเยอะ สถานที่แออัด มีการระบายอากาศไม่ดี

ผู้เขียน : ดนัย อังควัฒนวิทย์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

  • ติดเชื้อในกระแสเลือด คืออะไร? อันตรายแค่ไหน?
  • "ติดเชื้อในกระแสเลือด" อันตรายถึงชีวิต เกิดขึ้นได้อย่างไร?

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.