ชวนรู้จัก ‘Seasonal Affective Disorder’ โรคซึมเศร้าตามฤดูกาล

ในวันที่ท้องฟ้ามืดครึ้มตั้งแต่เช้าจรดเย็น ราวกับมีม่านสีเทาปกคลุมทุกสิ่ง บวกกับฝนที่ตกกระหน่ำลงมาอย่างต่อเนื่อง ตอกย้ำบรรยากาศให้หนาวเย็นและเงียบเหงา

ไม่นานความรู้สึกเศร้าก็ผุดขึ้นมาในใจของคุณโดยไม่มีเหตุผล ทั้งๆที่ไม่มีเรื่องให้หนักใจ ไม่มีงานให้ต้องรีบทำ ไม่มีสิ่งใดรบกวนจิตใจ มีเพียงเสียงฝนโปรยปรายไม่หยุด และเสียงลมที่พัดมากระทบหน้าต่างดังก้องเป็นระยะ ราวกับเสียงกระซิบเบาๆ ของความเหงาที่แผ่วลึกเข้ามาในใจ

เมื่อรู้ตัวอีกที ความเศร้าก็เหมือนกับละอองฝนที่เริ่มซึมซับเข้ามาในหัวใจทีละนิด จนคุณอดคิดไม่ได้ว่า หรืออาจจะมีอะไรบางอย่างผิดปกติทางจิต? ความเครียดที่สะสมโดยไม่รู้ตัวหรือเปล่า? แต่ไม่ว่าอย่างไร ก็ยังไม่สามารถค้นหาที่มาของความรู้สึกหม่นหมองนี้ได้

ไม่นานฝนที่ตกกระหน่ำลงมาอย่างต่อเนื่องก็ค่อยๆซาลง แสงแดดเล็กๆก็สาดส่องทะลุผ่านกลุ่มเมฆหนาทึบให้พอเห็นแสงสว่างอยู่บ้าง เสียงนกที่เคยเงียบเหงากลับมาเจื้อยแจ้วอีกครั้ง และความเศร้าที่เกาะกินใจนั้นก็ค่อยๆ มลายหายไปเหมือนเมฆฝนที่จางหายไปเมื่อแสงแดดส่องถึง

หากใครเคยมีความรู้สึกดังที่ผู้เขียนได้กล่าวไปข้างต้น อาจเป็นไปได้ว่าคุณกำลังเผชิญกับโรคที่มากับฝน หรือที่หลายคนรู้จักในชื่อ โรคซึมเศร้าตามฤดูกาล (Seasonal Affective Disorder) อยู่ก็เป็นได้

  • โรคซึมเศร้าตามฤดูกาล (Seasonal Affective Disorder ; S.A.D) คืออะไร?
  • โรคซึมเศร้าตามฤดูกาล หรือ Seasonal Affective Disorder (S.A.D) คือโรคซึมเศร้าที่จะเกิดขึ้นในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งของปี แปลง่ายๆคือเป็นภาวะซึมเศร้าประเภทหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลหรือสภาพอากาศ
  • ผู้ที่ป่วยเป็น Seasonal Affective Disorder (S.A.D) จะมีอาการเศร้า หดหู่ รู้สึกเหนื่อยล้าและง่วงนอนตลอดทั้งวัน โดยอาการเหล่านี้มักเกิดขึ้นในช่วงฤดูกาลที่มีแสงแดดน้อยอย่างฤดูหนาวหรือฤดูฝน ซึ่งความรู้สึกเศร้าหมองจะค่อยๆ หายไปเมื่อฤดูกาลนั้นสิ้นสุดลง

สาเหตุของโรคซึมเศร้าตามฤดูกาล (Seasonal Affective Disorder ; S.A.D)

แม้ว่าความเชื่อมโยงระหว่าง “อาการซึมเศร้า” และ “สภาพอากาศ” จะยังไม่ได้รับการสรุปแน่ชัดว่าสาเหตุหลักคืออะไร แต่หลายงานวิจัยบ่งชี้ว่าอาจเกี่ยวข้องกับการรับแสงและสารเคมีในสมองเป็นหลัก เพราะแสงสว่างเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการควบคุมนาฬิกาชีวภาพ (Biological Clock) ที่คอยควบคุมการทำงานของระบบต่างๆในร่างกาย อย่างการตื่นนอน การนอนหลับ และการหลั่งฮอร์โมนบางชนิด

หากในหนึ่งวันร่างกายรับแสงไม่เพียงพอจะทำให้ระบบต่างๆในร่างกายเกิดการแปรปรวน จึงอาจกล่าวได้ว่า ในช่วงฤดูฝนทำให้แดดส่องลงมาได้น้อย ร่างกายจะได้รับแสงสว่างน้อยกว่าปกติ ส่งผลให้สมดุลในร่างกายถูกรบกวน และนำไปสู่การเกิดภาวะ S.A.D ได้

และนอกจากแสงแดดที่ลดลงแล้ว ยังมีฮอร์โมนสำคัญหลายชนิดที่มีการเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาล ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดอาการ S.A.D ได้เช่นกัน อย่างเช่น

การหลั่งฮอร์โมนที่ผิดปกติของเซโรโทนิน (Serotonin) หรือฮอร์โมนควบคุมกระบวนการคิด พฤติกรรม และอารมณ์ในเชิงบวก ซึ่งถ้าเซโรโทนินอยู่ในระดับปกติ จะทำให้รู้สึกสงบ มีความสุข มีสมาธิ อารมณ์คงที่ ทว่าหากปริมาณเซโรโทนินลดต่ำลง ก็จะส่งผลในทางตรงกันข้าม นำไปสู่สภาวะซึมเศร้า

นอกจากนี้ การรับแสงที่ไม่เพียงพอและการหลั่งฮอร์โมนที่ผิดปกติยังส่งผลกระทบต่อเมลาโทนิน (Melatonin) หรือฮอร์โมนที่ทำหน้าที่ควบคุมการตื่นและการนอนในร่างกายของเรา เปรียบเสมือนนาฬิกาที่บอกเวลานอนของเรา ในยามค่ำคืน

โดยปกติสมองจะกระตุ้นการสร้างเมลาโทนินในเวลากลางคืนหรือเมื่อมีแสงสว่างลดลง เพื่อทำให้รู้สึกง่วงและเข้าสู่โหมดพักผ่อน ซึ่งระดับเมลาโทนินจะอยู่ในกระแสเลือดของเราเป็นเวลา 12 ชั่วโมง ก่อนลดลงเมื่อร่างกายได้รับแสงสว่างหรือแสงอาทิตย์ ซึ่งหากท้องฟ้ามืดครึ้มตลอดทั้งวันหรืออยู่ในที่แสงสว่างน้อย ร่างกายจะหลั่งเมลาโทนินออกมาเรื่อยๆ ส่งผลให้เรารู้สึกง่วงซึม อ่อนเพลีย และรู้สึกไม่กระปรี้กระเปร่าตลอดทั้งวัน

หากใครที่กำลังเผชิญกับโรคนี้ก็ไม่ต้องกังวลใจไป เพราะการรักษาภาวะ Seasonal Affective Disorder ; S.A.D สามารถทำได้หลายวิธี ดังนี้

1.การรับประทานยา

สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการหนัก แพทย์จะแนะนำให้ใช้ยารักษาโรคซึมเศร้า เช่น ฟลูออกซิทีนหรือบูโพรพิออน ซึ่งจะช่วยปรับสารเคมีในสมองให้สมดุลขึ้น บางกรณีแพทย์อาจแนะนำให้เริ่มรับประทานยาก่อนถึงช่วงที่ภาวะซึมเศร้ากำเริบ ทั้งนี้การใช้ยาควรอยู่ภายใต้คำแนะนำอย่างเคร่งครัดเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด

2.การทำจิตบำบัด

วิธีนี้จะช่วยให้ผู้ป่วยเรียนรู้ที่จะปรับวิธีคิดและพฤติกรรมในการจัดการกับภาวะซึมเศร้า นักบำบัดจะช่วยให้ผู้ป่วยเข้าใจความคิดและพฤติกรรมที่อาจกระตุ้นอาการซึมเศร้า พร้อมแนะนำวิธีรับมือและวิธีดูแลตนเองเมื่ออาการเกิดขึ้น ซึ่งช่วยให้ผู้ป่วยสามารถรับมือกับอาการได้ด้วยตนเอง

3.การบำบัดด้วยแสง

เป็นการให้ผู้ป่วยเข้ารับการฉายแสงที่จำลองมาจากแสงอาทิตย์หลังจากตื่นนอน เพื่อปรับระดับสารเคมีในสมองให้สมดุล โดยผู้ป่วยบางรายอาจฉายแสงด้วยตนเองที่บ้าน แต่วิธีนี้อาจส่งผลข้างเคียงต่อร่างกายได้ ผู้ป่วยจึงควรปรึกษาแพทย์ถึงข้อดีข้อเสียของการฉายแสง และขอคำแนะนำเกี่ยวกับการใช้เครื่องฉายแสงอย่างถูกต้อง

นอกจากนั้น การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตและการทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย เช่น การเลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อร่างกาย การออกกำลังกาย นอนหลับให้เพียงพอ นั่งสมาธิ ฟังเพลง หรือทำกิจกรรมที่ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย อย่างการพาตัวเองไปอยู่ในพื้นที่ที่มีแสงสว่างมากๆ หรือออกไปเดินเล่นข้างนอกเพื่อรับแสงแดดอ่อนๆ ตลอดจนขยับโต๊ะทำงานไปยังจุดที่เราจะได้รับแสงอาทิตย์มากขึ้น ก็สามารถช่วยบรรเทาอาการ Seasonal Affective Disorder ; S.A.D ได้เช่นกัน

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.