อัปเดตการนำ Power Bank ขึ้นเครื่องบิน มีเงื่อนไขอะไรบ้าง

ในยุคที่สมาร์ตโฟนกลายเป็นทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตที่ใคร ๆ ก็ต้องใช้งาน Power Bank หรือ “แบตเตอรี่สำรอง” ก็เลยกลายเป็นอีกหนึ่งในแกดเจ็ตที่นักเดินทางมักจะมีติดตัวไว้ใช้ชาร์จสมาร์ตโฟนในยามฉุกเฉิน โดยเฉพาะการเดินทางไกล ๆ ที่ต้องข้ามน้ำข้ามทะเล อยู่ในสถานที่ที่ไม่มีเต้าปลั๊กไฟเสียบชาร์จนาน ๆ การพก Power Bank ไว้ก็ช่วยให้อุ่นได้ไม่น้อย หากเกิดฉุกเฉินขึ้นมา โทรศัพท์ของเราก็ยังคงใช้งานได้นานขึ้น

ทว่าการเดินทางโดยเครื่องบินนั้นมีกฎระเบียบที่เกี่ยวกับ Power Bank อยู่ เนื่องจากเป็นอุปกรณ์สำรองไฟที่บรรจุพลังงานไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก หากเกิดความร้อนสูงหรือมีการลัดวงจร อาจทำให้เกิดระเบิดหรือไฟไหม้ได้ สายการบินจึงต้องเข้มงวดกับการพกพา Power Bank ขึ้นเครื่องบินของผู้โดยสารมากขึ้นเพื่อความปลอดภัยส่วนร่วม ในขณะเดียวกัน นักเดินทางอย่างเราก็จำเป็นต้องรู้ว่า Power Bank แบบไหนนำขึ้นเครื่องได้ และแบบไหนนำขึ้นเครื่องไม่ได้ มิเช่นนั้นอาจถูกยึดที่ด่านตรวจ และต้องทิ้งไว้ที่สนามบิน ไม่สามารถนำขึ้นเครื่องบินได้

Power Bank ยังนำขึ้นเครื่องบินได้ปกติ แต่…!

เรายังสามารถถือ Power Bank ขึ้นเครื่องบินกันได้เหมือนเดิม เพียงแต่จะมีกฎข้อบังคับที่เข้มงวดขึ้นตามมาตรฐานความปลอดภัยเพื่อหลีกเลี่ยงสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้น โดยการนำ Power Bank ขึ้นเครื่องบิน จะมีเงื่อนไขดังนี้

  • พาวเวอร์แบงค์ ขึ้นเครื่องไปต่างประเทศ พกได้ไม่เกินกี่มิลลิแอมป์ กี่ก้อน ปี 2024

1. จำกัดขนาดความจุไฟฟ้า

ทุกสายการบิน ไม่ว่าจะเป็นสายการบินในประเทศหรือระหว่างประเทศ ระบุความจุไฟฟ้าของ Power Bank ที่นำขึ้นเครื่องบินได้ไว้อย่างชัดเจน ซึ่งตามระเบียบสากลที่อิงจากสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (International Air Transport Association หรือ IATA) กำหนดไว้ดังนี้

  • แบตเตอรี่สำรองที่มีความจุของกระแสไฟฟ้าน้อยกว่า 20,000 mAh (น้อยกว่าหรือเท่ากับ 100 Wh) สามารถนำขึ้นเครื่องได้โดยไม่จำกัดจำนวน (กี่ก้อนก็ได้)
  • แบตเตอรี่สำรองที่มีความจุของกระแสไฟฟ้า 20,000-32,000 mAh (มากกว่า 100 Wh ถึง 160 Wh) สามารถนำขึ้นเครื่องได้ไม่เกิน 2 ก้อน (ได้แค่ 2 ก้อนเท่านั้น)
  • แบตเตอรี่สำรองที่มีความจุของกระแสไฟฟ้ามากกว่า 32,000 mAh (มากกว่า 160 Wh) ไม่สามารถนำขึ้นเครื่องได้ในทุกกรณี (ห้ามนำขึ้นเครื่องโดยเด็ดขาด)

2. นำขึ้นเครื่องด้วยการถือขึ้นพร้อมผู้โดยสารเท่านั้น

แบตเตอรี่สำรองที่ได้รับอนุญาตให้นำขึ้นเครื่อง ไม่ว่าจะความจุเท่าไรก็ตาม จะต้องถือขึ้นเครื่องด้วยตนเองเท่านั้น “ห้าม” นำใส่ในกระเป๋าใบใหญ่ที่โหลดใต้เครื่องบินโดยเด็ดขาด เนื่องจากแบตเตอรี่เกิดความร้อนได้ง่ายมาก อาจทำให้เกิดการระเบิดและไฟไหม้ได้ทุกเมื่อ ถ้านำไปโหลดเป็นสัมภาระใต้เครื่องที่ไม่มีคนเฝ้า จะไม่มีใครรู้หากเกิดเรื่องไม่คาดฝัน แต่เมื่อนำขึ้นมาที่ห้องโดยสาร จะสามารถสังเกตเห็นได้ง่าย หากมีควันหรือประกายไฟ จะได้แก้ปัญหากันได้ทันท่วงที

3. เป็นแบตเตอรี่ที่มีมาตรฐาน มีฉลากระบุรายละเอียดชัดเจน

Power Bank ที่สายการบินอนุญาตให้นำขึ้นเครื่องได้ จะต้องเป็นอุปกรณ์ที่ได้มาตรฐาน กรณีที่เป็นแบตเตอรี่สำรองแฟชั่นหรือของเลียนแบบ (ของปลอม) ที่ไม่ได้มาตรฐาน จะไม่สามารถนำขึ้นเครื่องได้โดยเด็ดขาด นอกจากนี้ ให้พิจารณา

  • ความน่าเชื่อถือของแบรนด์
  • โรงงานผ่านการรับรองมาตรฐานสากล เช่น CE, FCC เเละ RoHS
  • ผ่านการรับรองมาตรฐาน มอก. ไม่ว่าจะเป็นสินค้าในประเทศหรือแบตสำรองนำเข้า
  • มีฉลากระบุความจุกระแสไฟฟ้า วัตต์-ชั่วโมง (Watt-Hour) หรือขนาดบรรจุลิเธียม (Lithium Content) ชัดเจน
  • ความเหมาะสมในการใช้งาน หากความจุมากน้ำหนักแบตสำรองก็มากตาม
  • ตรวจสอบอยู่เสมอว่าการทำงานผิดปกติหรือไม่ เช่น ความร้อนสูงผิดปกติ หรือมีรูปร่างผิดปกติไปจากเดิม เพื่อความปลอดภัยของตนเอง ผู้โดยสารท่านอื่น และการเดินทางโดยเครื่องบิน

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.