หนี้ท่วมหัวอย่าเพิ่งท้อ มาจัดการหนี้อย่างมืออาชีพกัน!

หากรายจ่ายไม่สมดุลกับรายรับ อีกทั้งยังเริ่มเกินขีดความสามารถที่จะพยายามใช้ชีวิตแบบเดือนชนเดือนหรือชักหน้าไม่ถึงหลังกับเงินที่มีเหลืออยู่ ก็เป็นธรรมดาที่ใครหลายคนมักจะหาทางออกให้กับตัวเองด้วยการ “เป็นหนี้” เพราะความจำเป็น เพื่อให้พอมีเงินมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการรูดบัตรเครดิตไปก่อน ทำรายการกดเงินจากบัตรกดเงินสด เดินเข้าธนาคารเพื่อทำเรื่องขอสินเชื่อบุคคล หรือแม้แต่การหยิบยืมจากบุคคลใกล้ตัว และยอมเป็นหนี้นอกระบบ ด้วยการโทรไปขอกู้เงินด่วนจากสติกเกอร์หรือใบปลิวที่ติดเอาไว้ตามเสาไฟฟ้า หากสามารถจ่ายหนี้ได้ครบตรงตามเวลามันก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าไม่ หนี้สินก็จะพอกพูนขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ยากจะหาทางออก

ถึงอย่างนั้น การเป็นหนี้ท่วมหัวก็ไม่ใช่สิ่งที่ต้องหลีกเลี่ยงหรือหนี เพราะถ้าวางแผนและจัดการดี ๆ ก็สามารถลดภาระหนี้ที่มีได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพียงแต่ต้องใช้เวลาและความอดทน รวมถึงวินัยในตนเอง ซึ่งการแก้ปัญหาหนี้ก็ไม่จำเป็นต้องใช้วิธีเดียวเสมอไปด้วย สามารถนำวิธีต่าง ๆ มาปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสมของสถานการณ์ โดยวิธีต่าง ๆ เหล่านี้ สามารถช่วยแบ่งเบาภาระหนี้ที่มีอยู่ได้แบบมืออาชีพเลยล่ะ!

หนี้ในระบบ

การเป็นหนี้ในระบบ คือ หนี้ที่กู้ยืมจากสถาบันการเงิน มีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นหนี้บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด สินเชื่อบุคคล ไปจนถึงหนี้รถ หนี้บ้าน ปัญหาหนี้ที่พบก็คือ การทำรายการกู้ยืมจนยอดหนี้ที่มีนั้นสูงเกินความสามารถในการจ่ายคืน ในแต่ละเดือนรายรับที่หาได้ต้องนำไปจ่ายหนี้จนหมด เมื่อถึงที่สุดแล้วจึงขาดสภาพคล่อง รายรับมีใช้แค่เดือนชนเดือนจนถึงไม่พอใช้ จากนั้นก็เริ่มจ่ายขั้นต่ำ เริ่มต้องหาเป็นหนี้จากแหล่งอื่น ๆ มาโปะวนไปจนติดกับดักหนี้ เริ่มผิดนัดชำระ ไปจนถึงค้างชำระในที่สุด ถึงอย่างนั้น หนี้ในระบบก็ยังมีแนวทางในการจัดการที่ไม่ยากจนเกินไป

1. รวมหนี้หลายบัญชีให้เป็นบัญชีเดียว

การมีหนี้หลายที่หลายบัญชีอาจทำให้จัดการลำบาก อีกทั้งยังต้องเผชิญกับการแบกดอกเบี้ยสูงด้วย การรวมหนี้ไว้เป็นก้อนเดียวจึงอาจช่วยลดภาระดอกเบี้ยได้ อย่างการรวมหนี้บัตรเครดิตหรือหนี้ที่มีดอกเบี้ยสูง มาอยู่ในสินเชื่อที่ดอกเบี้ยต่ำกว่า จะช่วยให้บริหารจัดการหนี้ได้ง่ายขึ้นและช่วยให้จ่ายดอกเบี้ยถูกลง โดยคุณอาจสมัครสินเชื่อส่วนบุคคลเพื่อกู้เงินก้อนมาปิดหนี้บัตรเครดิตให้หมด แล้วทำการชำระหนี้ใหม่แค่ก้อนเดียว หรือคุณอาจทำการรีไฟแนนซ์บัตรเครดิตก็ได้เช่นกัน

2. การขอเจรจากับธนาคาร

สำหรับลูกหนี้ในระบบที่แบกภาระหนี้อยู่ค่อนข้างเยอะ จริง ๆ แล้วหากลองหันหน้าไปพึ่งธนาคาร คุณจะได้รับความช่วยเหลือค่อนข้างมากเลยทีเดียว เพราะอย่างน้อยที่สุด มันแสดงให้เห็นว่าคุณไม่ได้เจตนาจะหนีหนี้ หรือไม่ได้ต้องการให้มันเป็นหนี้เสีย เพียงแต่ตอนนี้ภาระคุณเยอะจนจ่ายไม่ไหว ดังนั้น แม้ว่าคุณจะจ่ายทีละน้อย ใช้เวลาจ่ายนาน แต่ธนาคารก็ยังได้เงินคืน เพราะฉะนั้น หลายธนาคารจึงมีโครงการช่วยเหลือลูกค้าที่เป็นหนี้สินและไม่สามารถชำระหนี้ได้ทันตามกำหนด เพียงแค่คุณติดต่อไปขอเจรจากับธนาคารโดยตรงเพื่อขอปรับโครงสร้างหนี้ ประนอมหนี้ หรือขอขยายระยะเวลาการผ่อนชำระ ก็จะช่วยลดภาระลงได้ เพียงแต่จะมีเงื่อนไขบางอย่างในระหว่างเข้าร่วมโครงการ

3. การทยอยจ่ายด้วยขั้นต่ำไม่ใช่เรื่องแย่ และให้ชำระหนี้ที่ดอกเบี้ยสูงก่อน

แม้ว่าการจ่ายหนี้แบบขั้นต่ำ จะเสี่ยงต่อการเผชิญกับดอกเบี้ยที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ แต่ไม่ได้หมายความว่าการจ่ายขั้นต่ำเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำเสมอไป เพราะในกรณีที่คุณมีความจำเป็นต้องจ่ายขั้นต่ำจริง ๆ ก็สามารถทำได้ เพื่อคงสภาพคล่องทางการเงินไว้ก่อน และเพื่อไม่ให้หนี้ที่มีการเป็นหนี้เสีย จากการผิดชำระและค้างชำระ ทั้งนี้ แนะนำให้คุณจ่ายค่าหนี้ในยอดที่สูงกว่ายอดขั้นต่ำที่ธนาคารกำหนดมาสักเล็กน้อย เพื่อให้เงินในส่วนที่เกินขั้นต่ำนั้นไปหักกับยอดเงินต้นให้น้อยลง ซึ่งจะทำให้การคำนวณดอกเบี้ยในรอบบิลถัดไปน้อยลง และหากคุณมีหนี้หลายประเภท ให้คุณชำระหนี้ที่ดอกเบี้ยสูงที่สุดก่อน เพราะการจ่ายหนี้ดอกเบี้ยสูงจะช่วยลดภาระดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นรายเดือน ช่วยให้หนี้ลดลงเร็วขึ้น

4. ทำรายรับรายจ่าย ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น และพิจารณาหารายได้เสริม

เมื่อต้องแบกภาระหนี้ไว้จนหลังแทบหัก คุณจำเป็นต้องสร้างแผนการเงินให้ดี เพื่อให้สะดวกต่อการบริหารจัดการหนี้ ทั้งในส่วนของรายรับ รายจ่าย และยอดหนี้ การจัดทำรายรับและรายจ่ายออกมาอย่างชัดเจน เป็นวิธีการพื้นฐานที่จะทำให้คุณได้เห็นตัวเลขเหล่านั้น เมื่อเห็นตัวเลขทั้งหมดแล้ว ให้ลองลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออกให้หมด เพื่อให้มีเงินเหลือมาชำระหนี้มากขึ้น และเพื่อให้มีเงินมาจ่ายหนี้มากขึ้น คุณอาจจำเป็นต้องพิจารณาหารายได้เสริมจากงานพิเศษ หรืออาชีพที่สามารถทำได้เพิ่มเติม เป็นการเพิ่มรายได้ให้สามารถนำไปใช้จ่ายหนี้ได้มากขึ้น

5. สมัครเข้าร่วมโครงการช่วยเหลือจากภาครัฐ

ในหลาย ๆ โอกาส รัฐบาลจะมีโครงการพิเศษเพื่อช่วยเหลือคนเป็นหนี้ เช่น โครงการแก้หนี้ โครงการพักชำระหนี้ หรือโครงการลดดอกเบี้ย คุณอาจจะต้องคอยติดตามข่าวสารเรื่องความช่วยเหลือจากภาครัฐอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้พลาดโอกาสดี ๆ แบบนี้ เนื่องจากโครงการเหล่านี้มักจะมีระยะเวลาในช่วงเวลาหนึ่งสั้น ๆ ในการรับสมัครผู้เข้าร่วมโครงการ นอกจากนี้ก็ต้องลองหาข้อมูลต่าง ๆ เพื่อดูว่ามีโครงการใดที่เหมาะกับสถานการณ์ของคุณ

6. จัดทำแผนการชำระหนี้ระยะยาว

วางแผนการชำระหนี้ในระยะยาว เป็นแผนการจัดการหนี้ที่ช่วยให้เราสามารถจ่ายหนี้ทั้งหมดได้โดยไม่สร้างภาระหนักในทันที วิธีนี้เป็นการวางแผนชำระหนี้อย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยกระจายการชำระหนี้ออกไปในระยะยาว เพื่อให้สามารถจ่ายหนี้ได้ตามกำลังโดยไม่เสียสมดุลทางการเงิน โดยตั้งเป้าหมายชำระหนี้ในแต่ละเดือน และปรับแผนตามสภาพการเงินที่เปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ เพื่อไม่ให้กระทบต่อชีวิตประจำวัน

หนี้นอกระบบ

จริง ๆ แล้ว เมื่อเราจัดลำดับการใช้หนี้ โดยให้ความสำคัญกับหนี้ที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงก่อน หนี้นอกระบบจะเป็นหนี้ลำดับต้น ๆ ที่เราต้องรีบจัดการให้หมด เพราะหนี้นอกระบบเป็นหนี้ที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงมาก (และน่าจะสูงที่สุดด้วย) ที่สำคัญ หนี้นอกระบบยังมักเป็นปัญหาที่ยุ่งยาก เนื่องจากไม่มีการควบคุมอย่างเป็นทางการ เสี่ยงต่อการถูกข่มขู่คุกคาม จึงอาจสร้างภาระให้หนักขึ้นได้หากไม่รีบจัดการ ดังนั้น หากหลวมตัวเป็นหนี้นอกระบบไปแล้ว ต้องรีบปลดหนี้นอกระบบให้จบโดยเร็วที่สุด ดังนี้

1. ขอเจรจากับเจ้าหนี้ เพื่อขอลดดอกเบี้ยและปรับระยะเวลาชำระหนี้

หากรู้สึกว่าเริ่มจะชำระหนี้ที่มีอยู่ไม่ไหว แรกเริ่มจะต้องลองเจรจากับเจ้าหนี้ดูก่อน เพราะบางครั้งก็สามารถเจรจาได้หากแสดงความตั้งใจที่จะชำระคืน การพูดคุยอย่างเปิดเผยและตรงไปตรงมาอาจช่วยลดภาระได้ โดยอาจขอยืดระยะเวลาชำระหนี้ออกไปก่อน ขอให้คงอัตราดอกเบี้ยเท่าเดิม หรือขอลดดอกเบี้ยบางส่วนลงมา ร่วมกับการรับปากจะไม่ผิดนัดและจ่ายเงินที่เหลือตามเวลาที่กำหนด อย่างไรก็ตาม การเจรจากับเจ้าหนี้ก็ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ของคุณกับเจ้าหนี้และประวัติการชำระหนี้ของคุณ แต่ในหลาย ๆ กรณีก็ไม่สามารถที่จะเจรจากันดี ๆ ได้

2. จัดการรายรับ-รายจ่าย ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น และพยายามหาเงินมาโปะหนี้

ต้องเริ่มสร้างแผนการเงินและวางแผนการชำระหนี้ให้เป็นระบบ เพื่อให้คุณรู้ว่าต้องจ่ายหนี้เท่าไร และจะมีเหลือเงินใช้จ่ายเท่าไร วิธีนี้ก็จะย้อนกลับไปที่การจัดทำรายรับรายจ่ายให้ชัดเจน ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นเพื่อให้มีเงินเหลือชำระหนี้มากขึ้น หาวิธีเพิ่มรายได้เพื่อนำมาโปะยอดหนี้ มีของมีค่าอะไรที่พอจะนำมาขายหาเงินจ่ายหนี้ได้บ้าง ถ้าพยายามทำทุกวิถีทางแล้วแต่ก็ยังปลดหนี้ไม่ได้ ให้ลองขอคำปรึกษาจากธนาคารหรือสถาบันการเงินดู จะเป็นทางออกที่เหมาะสมที่สุด เพราะในปัจจุบัน มีอยู่หลายแห่งที่มีแนวทางช่วยเหลือผู้เป็นหนี้นอกระบบ

3. รวมหนี้เข้าสู่ระบบผ่านธนาคารหรือสถาบันการเงิน

การเป็นหนี้นอกระบบ อย่างไรก็จัดการได้ง่ายกว่าหนี้นอกระบบ ซึ่งปัจจุบัน มีธนาคารหรือสถาบันการเงินหลายแห่งที่มีแนวทางช่วยเหลือผู้เป็นหนี้นอกระบบ และการสมัครสินเชื่อก็ไม่ได้ยากขนาดนั้น ลองศึกษาวิธีสมัครสินเชื่อจากธนาคารที่มีดอกเบี้ยต่ำกว่าเพื่อรวมหนี้นอกระบบมาไว้ในที่เดียว ซึ่งจะทำให้การชำระหนี้อยู่ในระบบที่ปลอดภัยและจัดการง่ายขึ้น ลดความเสี่ยงจากการโดนทวงหนี้อย่างไม่เป็นธรรม ทั้งการขอกู้สินเชื่อส่วนบุคคล หรือขอกู้สินเชื่อแบบที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ลองปรึกษาธนาคารหรือสถาบันการเงิน แล้วพิจารณาวิธีที่เหมาะกับคุณที่สุด

4. หาคนกลางมาช่วยไกล่เกลี่ยประนอมหนี้ เช่น องค์กรที่ช่วยจัดการหนี้นอกระบบ

ปัจจุบันมีหลายองค์กรที่ให้คำปรึกษาและช่วยเหลือผู้เป็นหนี้นอกระบบ เช่น สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือสำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน (สคช.) สำนักงานอัยการสูงสุด สายด่วน 1157 โดยคณะอนุกรรมการไกล่เกลี่ยประนอมหนี้นอกระบบประจำจังหวัด จะช่วยเป็นตัวกลางในการเจรจาไกล่เกลี่ยประนอมหนี้ระหว่างลูกหนี้กับเจ้าหนี้นอกระบบ ให้เกิดความเป็นธรรมกับทั้ง 2 ฝ่าย สำหรับลูกหนี้ที่มีความสามารถในการชำระหนี้น้อย จะมีคณะอนุกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการหารายได้ของลูกหนี้นอกระบบในทุกจังหวัด ช่วยฝึกอบรมอาชีพ ฝีมือแรงงาน และให้ความรู้ทางการเงิน

  • นอกจากนี้ ยังสามารถขอคำปรึกษาและร้องเรียนปัญหาหนี้นอกระบบได้ที่หน่วยงานราชการ ดังนี้
  • ศูนย์รับแจ้งการเงินนอกระบบ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง โทร. 1359
  • ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด และศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ กระทรวงมหาดไทย โทร. 1567
  • ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กระทรวงยุติธรรม โทร. 02 575 3344

5. ป้องกันตัวเองจากการถูกข่มขู่หรือใช้วิธีทวงหนี้ไม่เป็นธรรม

การเป็นหนี้นอกระบบ คุณมีความเสี่ยงที่จะถูกข่มขู่คุกคามจากเจ้าหนี้ จากวิธีการทวงหนี้ที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งถ้าคุณถูกข่มขู่หรือทวงหนี้อย่างไม่เหมาะสม ให้แจ้งความหรือปรึกษาสำนักงานกฎหมายท้องถิ่น คุณควรทราบว่าหนี้นอกระบบนั้น แม้จะกฎหมายควบคุมในเชิงดอกเบี้ยอาจจะไม่ครอบคลุม ส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับการตกลงกันเองก่อนที่จะกู้ยืม แต่มีกฎหมายควบคุมการทวงถามหนี้ด้วยวิธีที่ไม่เป็นธรรม

6. เปลี่ยนพฤติกรรมการใช้เงิน และพยายามไม่ก่อหนี้ใหม่

ในอนาคตควรหลีกเลี่ยงการกู้เงินนอกระบบ เพราะดอกเบี้ยสูงและมีความเสี่ยงในการจัดการ ควรปรับพฤติกรรมการใช้เงินและวางแผนการเงินให้รัดกุมยิ่งขึ้น นี่จะเป็นวิธีที่ยั่งยืนที่จะทำให้คุณสามารถค่อย ๆ ปลดหนี้ได้ในระยะยาว และยังช่วยให้ไม่กลับมาเป็นหนี้อีกครั้ง เริ่มต้นง่าย ๆ จากการจัดทำรายรับ-รายจ่าย เพื่อให้รู้ตัวเลขการใช้จ่ายของตัวเอง เห็นชัดเจนว่าเป็นค่าใช้จ่ายจำเป็นหรือฟุ่มเฟือย เพื่อที่จะตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป และนำเงินส่วนนี้ไปใช้หนี้แทน นอกจากนี้ ต้องปรับพฤติกรรมการใช้จ่ายด้วย โดยเฉพาะพฤติกรรมการใช้จ่ายเกินตัว เพราะนั่นเป็นพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการก่อหนี้สินรุงรังมากที่สุด

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.