จุดร่วมดราม่าสมาคมแท็กซี่ไทย - คนจนมีสิทธิไหมคะ? ท้องถิ่นVSเมือง
เริ่มต้นจากข่าวที่สมาคมแท็กซี่ไทย แนะนำผู้ขับแท็กซี่ไม่ให้พูดภาษาอีสาน เพื่อยกระดับการบริการ และสร้างภาพลักษณ์คนขับในการให้บริการอย่างมืออาชีพ ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าเบื้องหลังสามสี่ประโยคเบื้องต้นนั้น มาด้วยเจตนาอย่างไร .. เพราะคำว่ามืออาชีพตีความได้หลายแง่มุม
ในประเด็นความเป็นมืออาชีพ หากมองว่าสำหรับลูกค้าบางรายอาจไม่เข้าใจภาษาถิ่น และเกิดการสื่อสารผิดพลาด ก็เป็นสิ่งที่ฟังขึ้นอยู่บ้าง เพราะการใช้ภาษากลางในการสื่อสารส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะชาติไหน ก็เพื่อการสื่อสารที่เข้าใจตรงกัน แต่ถ้าอย่างนั้นก็ควรเหมาไปถึงภาษาถิ่นท้องถิ่นอื่นเช่น เหนือ หรือ ใต้ ซึ่งก็ฟังยากเช่นกัน!
แต่ในเมื่อเน้นแค่ภาษาอีสาน และสามสี่ประโยคนั้นไม่มีการอธิบาย แถมบอกว่าเป็นการสร้าง ‘ภาพลักษณ์’ คำว่าภาพลักษณ์นี่แหละจึงเป็นตัวจุดชนวนให้คนท้องถิ่นทัวร์ลงอย่างเสียไม่ได้ ... โดยเฉพาะในยุคที่ความหลากหลายและเท่าเทียมได้รับการยอมรับและถูกพูดถึง การกดทับอัตลักษณ์เช่นนี้ในสังคมไทย ทำไมยังคงอยู่?
ภาษาถิ่นถูกกด ต้นเหตุคืออำนาจ
ย้อนไปในสมัยก่อนที่กรุงเทพมหานครจะเป็นเมืองหลวงเฉกเช่นปัจจุบัน ประเทศไทยมีเมืองหลวงคือกรุงศรีอยุธยา ซึ่งมีสำเนียงที่เรียกว่า ‘สำเนียงหลวง’ เป็นสำเนียงคล้ายสุพรรณบุรีกับหลวงพระบาง ส่วนสำเนียงของชาวบางกอก หรือชาวกรุงเทพฯ นั้น ก็ถูกเรียกว่า ‘บ้านนอก’ เช่นกัน
ต่อมาเมื่อกรุงแตก และย้ายราชธานีมาที่ธนบุรี สำเนียงกรุงเทพฯ หรือบางกอกก็ถูกยกเป็น ‘สำเนียงหลวง’ และสำเนียงหลวงที่เคยมีมาก็กลายเป็นว่าถูกกดว่า ‘เหน่อ’ แทน .. ทำให้เห็นว่าการกำหนดว่าสำเนียงไหนเป็นสำเนียงหลักนั้นขึ้นอยู่กับว่าตั้งราชธานีที่เมืองไหน เมืองใดขึ้นมาเป็นใหญ่ และอำนาจอยู่ที่ใคร!
เช่นเดียวกับการกำหนด ‘ภาษากลาง’ ของแต่ละประเทศในเวลาต่อมา
ภาษากลาง หมายถึง ภาษาที่ใช้ในการสื่อสารระหว่างกลุ่มคนที่พูดภาษาต่างกัน ภาษากลางอาจเป็นภาษาที่ใช้สื่อสารกันระหว่างประเทศ .. บางครั้งก็ถูกเรียกว่าเป็น ‘ภาษาทางการค้า’ หมายถึงไว้ใช้ติดต่อกันเพื่อค้าขายระหว่างประเทศนั่นเอง อย่างเช่น ภาษาอังกฤษ ก็แน่ล่ะถ้าหากว่าจะติดต่อค้าขายกับทางสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นมหาอำนาจของโลก คุณก็ต้องพูดภาษาอังกฤษได้ หรือตอนนี้ถ้าหากอยากจะค้าขายกับจีน ก็ต้องพูดภาษาจีนให้ได้ เพราะน้อยครั้งที่พี่จีนจะยอมใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสาร เพราะก็ใหญ่ไม่แพ้ฝั่งตะวันตก!
ความเป็นมหาอำนาจนั้นผูกติดกับการใช้ภาษากลาง ..
ประเทศไทยก็เช่นกัน การเลือกใช้ภาษาไทยเป็นภาษากลางในการสื่อสารแทนที่จะใช้ภาษาท้องถิ่นใดๆ ก็เพราะว่าศูนย์กลางการปกครองยังคงพูดภาษาไทย แม้จะมีพื้นที่ขนาดเล็กมาเมื่อเทียบเท่ากับภาคอื่นๆ ก็ตาม!
ดราม่าคนอีสาน มีมานาน และไม่เคยเลือนหาย
คำว่าภาพลักษณ์ที่ทางสมาคมแท็กซี่ไทยใช้นั้น สะท้อนให้เห็นภาพของคนอีสาน ที่ยังคงปรากฎอยู่ในทัศนคติของผู้คนบางกลุ่ม .. อันที่จริงเรื่องว่าคนอีสานถูกเหยียดนั้นมีมาหลายต่อหลายครั้ง ... อีสานถูกมองว่าเป็นคนชนบท เป็นชนชั้นรากหญ้าที่ใช้แรงงานแลกเงิน! โดยไม่เปิดช่องให้พูดถึงความเป็นจริงได้อย่างเท่าเทียม
ถามว่าการที่คนอีสานต้องดิ้นรนนั้น พวกเขาผิดอะไร?
หากย้อนกลับไปดูในยุคของเมืองการปกครองที่มีการทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจเกิดขึ้น จะพบว่าแผนพัฒนาเหล่านี้มุ่งแต่ที่จะพัฒนาในเมืองเป็นส่วนใหญ่ ... จะว่าไปแล้วการพัฒนาในประเทศไทยเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สองและการเริ่มต้นของสงครามเย็น ในช่วงเวลานั้นการพัฒนาถูกนำเข้ามาในฐานะเครื่องมือต่อสู้ทางการเมืองกับพรรคคอมมิวนิสต์ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ภายใต้การสนับสนุนของสหรัฐอเมริกา ผ่านหน่วยงานต่างๆ ระดับโลกที่สนับสนุนการพัฒนาที่เรียกว่า ‘การพัฒนากระแสหลัก’
การเติบโตของการพัฒนากระแสหลัก ขึ้นอยู่กับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับมหภาค การลงทุนจากต่างประเทศ และการพัฒนาอุตสาหกรรม ซึ่งแน่นอนว่าเน้นไปที่ศูนย์กลางของเมืองและอุตสาหกรรม จนเกิดความไม่สมดุลในการดูแลประเทศไทย และหลังจากนั้นจึงเกิดความเหลื่อมล้ำและการกระจายรายได้ที่ไม่ทั่วถึง ... จนถึงปัจจุบัน ความเหลื่อมล้ำนั้นก็ยิ่งชัดเจน
ผลพวงจึงตกไปอยู่กับชาวอีสาน หลังจากที่คนในศูนย์กลางทอดทิ้งพวกเขามานานหลายสิบปี จนต้องอพยพมาหางานทำในตัวเมืองที่เติบโตด้วยอุตสาหกรรม และพร้อมที่จะอ้าแขนรับแรงงานราคาถูก .. พวกเขามาเพื่อหารายได้ ในขณะที่กลายเป็นภาพจำให้กับคนไทยในช่วงเวลาหนึ่งว่าพวกเขานั้น อยู่คนละชนชั้น!
ปัจจุบันพบว่า จากสถิติความมั่งคั่งของคนในภาคอีสานกระจุกอยู่กับคนแค่ใน 4 จังหวัด คือ นครราชสีมา ขอนแก่น อุบลราชธานี และอุดรธานี ซึ่งรวมแล้วมีมูลค่าเศรษฐกิจเกือบ 50% ของทั้งภาคอีสาน ส่งผลให้คนต้องโยกย้ายจากถิ่นฐานของตนมาทำงานในเมืองใหญ่ หรือไม่ก็ในกรุงเทพฯ ทั้งๆ ที่เป็นภาคที่มีปริมาณแรงงานสูง มีพรมแดนอยู่ติดกับ 2 ประเทศ ซึ่งควรจะเป็นภูมิภาคทางการค้าได้ ..
คนจนมีสิทธิ์มั้ยคะ? ภาพสะท้อนของคนอีสานที่รุนแรงในความคิดบางคน
“คนจนมีสิทธิ์ไหมคะ? ปริญญาไม่มี แต่มีxxนะคะ”
คือเนื้อหาในบทเพลงซึ่งกลายเป็นไวรัลดราม่ากันยกใหญ่ รับไม้ต่อจากดราม่าแท็กซี่ห้ามพูดภาษาอีสาน แม้จะคนละข่าวกัน แต่ทั้งสองเรื่องมีสิ่งที่คล้ายคลึงกันอยู่ โดยแรกเริ่มนั้นมาจากเนื้องเพลง สมองจนจน ซึ่งไถ่ถามสังคมว่าคนจนนั้นมีสิทธิ์มีเสียงหรือไม่ในสังคม หลังจากนั้นคณะลำซิ่งทิวลิปก็นำมาร้องแปลงกันเป็นอย่างที่ได้ฟัง
เราคงไม่สามารถบอกว่าใครถูกผิดในดราม่านี้ได้ เพราะต่างก็พูดในเจตนาที่ต่างกัน ฝั่งหนึ่งมองเรื่องความสุภาพของการใช้ภาษา ส่วนอีกฝั่งหนึ่งมองถึงเรื่องเนื้อหาและบริบทของสังคมที่แฝงไว้จนต้องกลายเป็นคำเหล่านี้
แต่หากมองลึกถึงเจตนาในเพลง เราจะพบว่าการนำเอาความจริงมาตีแผ่อย่างตลกขบขำ เป็นค่านิยมที่ ‘คนไทย’ ส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะชนชั้นที่ไม่ใช่กระแสหลักเลือกจะทำหากย้อนไปในบริบทของเพลงนี้คือเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ... ส่วนหนึ่งเป็นเพราะตั้งแต่สมัยนมนาม เราไม่มีสิทธิที่จะพูดเรียกร้องอย่างตรงไปตรงมาในสิทธิของตนเฉกเช่นสมัยปัจจุบัน ที่มีช่องทางมากมายที่เราจะเรียกร้องสิทธิของตนเอง .. นอกจากนั้นยังเป็นการระบายสิ่งที่คับคั่งในใจในรูปแบบดังกล่าว .... การเล่าเรื่องของตนแบบหัวเราะปนคราบน้ำตา จึงเป็นวิธีการที่เพลงนี้อาจจะอยากนำเสนอ
และทำไมเพลงนี้ถึงเข้าถึงผู้คน และกลับมาเป็นไวรัลได้อีกใน 30 ปีให้หลัง .. ปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะความสนุกและตลกขบขัน แต่อีกส่วนหนึ่งก็อยากจะให้ความไวรัลนี้ช่วยส่งเสียงว่า ความตลกของภาษาดังกล่าวคือการเรียกร้องของคนจนในสังคมไทยที่ไม่เคยมีสิทธิมีเสียง พวกเขาจนมุมถึงขั้นว่า .. ถ้าจะอยากได้ดีก็คงต้องใช้แรงงานในวิธีต่างๆ แลกมา .. ความเป็นจริงค่านิยม ‘เต้าไต่’ แม้จะไม่ถูกต้องนัก แต่ก็ต้องยอมรับความจริงว่ามันไม่เคยหายไป ได้แต่หวังว่าคนในยุคปัจจุบันจะช่วยกันดูแล รณรงค์ และส่งเสริมไม่ให้เกิดระบบ 'คนของใคร' นอกเหนือไปจากการส่งเสริมจากส่วนกลางทั้งในเรื่องเศรษฐกิจ และโอกาสในชีวิตให้กระจายสู่พื้นที่อื่นๆ ที่นอกเหนือไปจากตัวเมืองโดยเร็ว
เราต้องการการพัฒนาที่นอกเหนือไปจากกระแสหลัก
อีกหนึ่งสิ่งที่มีการพูดถึงมานานในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา คือ 'การพัฒนากระแสทางเลือก' ซึ่งแตกต่างจากการพัฒนากระแสหลักที่เน้นการลงทุนระดับมหภาค กระจุกในตัวเมืองหรือแค่ในหัวเมืองใหญ่
คงต้องย้อนกลับไปที่ว่า จุดมุ่งหมายของการพัฒนาประเทศคืออะไร?
ความมั่งคั่งร่ำรวย รายได้ของรัฐและปากท้องของประชาชน แค่นั้นหรือ? การพัฒนาทางเลือกเป็นการพัฒนาจากข้างล่าง ที่ให้ความสําคัญกับผู้กระทําการหรือศักยภาพของมนุษย์ในการเปลี่ยนแปลงสังคม โดยยึดเอาประชาชนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา เน้นการพัฒนาคน ชุมชน กลุ่มเล็ก ๆ และให้ความสำคัญต่อความหลากหลายและความแตกต่าง เช่น เศรษฐกิจพอเพียง การพัฒนาบนความยั่งยืน บางคนเคยมองว่ามันอยู่ขั้วตรงกันข้ามกับการพัฒนากระแสหลัก แต่บางคนกลับมองว่ามันสามารถไปด้วยกันได้ ซึ่งเราก็เห็นผ่านนโยบายสำคัญๆ ต่างๆ ในยุคหลังๆ ที่มีการให้ความสำคัญกับท้องถิ่นและคนตัวเล็กตัวน้อยมากยิ่งขึ้นทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งเป็นการพัฒนาจากมุมของการยอมรับในความหลากหลายและเท่าเทียม
อย่างไรก็ตาม แม้ยังมีเส้นทางอีกยาวไกลที่เราจะต้องช่วยกันพัฒนาประเทศให้เป็นของคนทุกกลุ่มอย่างแท้จริง แต่การมีดราม่าทั้งสองเรื่องดังกล่าว ก็แสดงให้เห็นว่า คนปัจจุบันไม่ได้ยินยอมต่อการถูกเพิกเฉยหรือละเลยความสำคัญอีกต่อไป .. และนั่นคือสิ่งที่ผู้ออกนโยบายทุกคนต้องพึงคิดเสมอ
มิฉะนั้น เราคงจะได้มาถกเถียงกันถึงประเด็นแบบนี้อีก ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปอีกกี่สิบปีก็ตาม.
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.