ดื่มด่ำกาแฟ เสพงานศิลปะที่ Le Space คาเฟ่อาร์ตแอนด์คราฟต์ย่านเอกมัย

Le Space Cafe คาเฟ่คอนเซปต์อาร์ตแอนด์คราฟต์ ในย่านเอกมัย ที่อยากให้คนได้มานั่งดื่มกาแฟและเสพผลงานศิลปะของศิลปินระดับพิพิธภัณฑ์ได้อย่างใกล้ชิด

Focus

  • Le Space Cafe คาเฟ่คอนเซปต์อาร์ตแอนด์คราฟต์ที่อยากให้คนได้มานั่งดื่มกาแฟและเสพผลงานศิลปะของศิลปินระดับพิพิธภัณฑ์ได้อย่างใกล้ชิด
  • Le Space Cafe เกิดจากแพสชันของ เฮง-วธันน์ อาเถียน ดีไซเนอร์และนักสะสมเฟอร์นิเจอร์ รวมถึง ฝน-ไภศวรรย์ คำคอนสาร Co-founder ที่รักในกาแฟและเพิ่งคว้าแชมป์การแข่งขันดริปจากเวที Drip Aroi Challenge 2024 มาหมาดๆ 
  • ไม่เพียงแต่ดีไซน์ของร้านแต่เมนูขนมและเครื่องดื่มของที่นี่ยังมาในรูปแบบอาร์ตแอนด์คราฟต์เช่นกัน

ท่ามกลางความจอแจของการสัญจรบนถนนสุขุมวิท แวะเข้าไปในซอยเอกมัย 4 ลึกเข้าไปเล็กน้อยคุณจะพบกับบ้านหลังสีขาวอันเป็นที่ตั้งของ Le Space Cafe หลบมุมอยู่ ที่นี่ไม่ใช่แค่คาเฟ่ แต่เป็นทั้งบ้านอยู่อาศัย อดีต Airbnb และโชว์รูมเฟอร์นิเจอร์วินเทจอันเป็นหมุดหมายของนักสะสมในชื่อ Back in Time 94’s 

เฮง-วธันน์ อาเถียน

หากนับเวลาเข้าจริงๆ บ้านหลังนี้ก่อร่างอย่างมีเสน่ห์มาแล้วกว่า 50 ปี แต่ Le Space ที่เรากำลังจะพูดถึงนี้เพิ่งครบรอบ 1 ปีได้ไม่นาน เราไปเยี่ยมเยือนที่แห่งนี้ในบ่ายวันพฤหัสบดี มีผู้คนผลัดเปลี่ยนกันมาไม่ขาด แต่บรรยากาศยังคงสงบ อบอุ่นและเรียบง่าย ขณะเดียวกันกลับแฝงความสนุกเอาไว้ในดีเทลที่คิดมาแล้วอย่างดี และใครจะรู้หากยังไม่เคยมาว่าที่แห่งนี้เปลี่ยนองค์ประกอบการจัดวางเฟอร์นิเจอร์มาแล้วกว่า 7 ครั้ง นั่นทำให้แต่ละคราวที่คุณมา บรรยากาศอาจต่างกันออกไป ประจวบพอดีที่ เฮง-วธันน์ อาเถียน ดีไซเนอร์และนักสะสมผู้อยู่เบื้องหลังมีเวลามานั่งพูดคุยกับเรา Sarakadee Lite เลยอยากชวนทุกคนมาผ่อนจังหวะหายใจ จิบกาแฟและฟังเรื่องราวเหล่านี้ไปพร้อมกันเลย

Le Space ตั้งอยู่บนชั้นสองด้วยพื้นที่ขนาดกระทัดรัดราว 35 ตารางเมตร แต่นั่นก็ทำให้สเปซแห่งนี้น่าสนุกว่าจะเป็นอะไรได้บ้าง แน่แหละเริ่มจากคาเฟ่ก่อนเพราะนี่คือแพสชันที่ก่อตัวในใจมานานของทั้งเฮงและพี่สาวอย่าง ฝน-ไภศวรรย์ คำคอนสาร Co-founder ที่รักในกาแฟและเพิ่งคว้าแชมป์การแข่งขันดริปจากเวที Drip Aroi Challenge 2024 มาหมาดๆ 

ไม่เพียงแต่ดีไซน์ของร้านแต่เมนูขนมและเครื่องดื่มของที่นี่ยังมาในรูปแบบอาร์ตแอนด์คราฟต์เช่นกัน ทั้งเมล็ดกาแฟที่คัดสรรมาจากหลายประเทศ รวมถึงตำบลเทพเสด็จ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ในส่วนของขนมปรับเปลี่ยนไปทุกสัปดาห์แบบไม่ซ้ำ โดยมีเบเกิล เค้กสตรอเบอรีครีมชีสและท็อฟฟีเค้กที่อยากให้ทุกคนได้ลองชิม

“ทั้งตัวเฮงและพี่สาวต่างก็มีแพสชันตั้งแต่เด็กว่าอยากจะทำคาเฟ่ร่วมกัน แต่เราไม่ใช่แค่คนชอบคาเฟ่แล้วมาเปิดเลย พี่สาวของเฮงเขาอยู่ในวงการกาแฟมาสิบกว่าปี ฉะนั้นก่อนที่เราจะเปิดเราต้องมั่นใจในเรื่องคุณภาพของรสชาติกาแฟรวมถึง Sourcing ที่มาด้วย และจริงๆ เฮงไม่ได้มีความรู้เรื่องกาแฟเลย เราสองคนค่อนข้างมีความชอบที่ต่างกัน แต่สามารถมาเบลนด์อยู่ด้วยกันได้” 

จาก Airbnb ขนาด 2 ห้อง 1 ห้องน้ำ ทีม Le Space ใช้เวลาหลักปีในการค่อยๆ ปรับเปลี่ยนและก่อร่างพื้นที่แห่งนี้ขึ้นมาใหม่โดยเฉพาะในส่วนของงานดีไซน์และการสื่อสารตัวตนที่ชัดเจนในแบบของ Le Space ด้วยความที่เฮงชื่นชอบและสะสมเฟอร์นิเจอร์อยู่แล้วเป็นทุนเดิม เขาเลยสนุกในการจัดร้านให้เหมือนกับบ้านและอยากให้ลูกค้าสนุกไปกับบรรยากาศใหม่ๆ ในทุกครั้งที่มา อีกอย่างนี่ก็เป็นโอกาสอันดีในการนำของสะสมส่วนตัวออกมาให้คนภายนอกได้ชมอย่างใกล้ชิด

“เราเป็นเหมือนกึ่งคาเฟ่กึ่งอาร์ตสเปซ อยากให้คนได้มานั่งดื่มกาแฟและชมผลงานของศิลปินที่เป็นระดับพิพิธภัณฑ์ ในไทยเชื่อว่ายังไม่มีใครเปิดกว้างในเรื่องของการกล้าที่จะเอาของระดับพิพิธภัณฑ์มาให้คนได้ชมกันอย่างใกล้ชิดขนาดนี้ มันเป็นความต้องการของเราเลยเกิดคำว่า Le Space ตรงนี้ขึ้นมา ส่วนทำไมต้อง Le Space เพราะตัวเบเกิลรวมถึงขนมของเราทำโดยเชฟฝรั่งเศส ฉะนั้นเราเลยไม่ได้ใช้คำว่า The Space และคำว่า Space มาจากการที่เรามาดูพื้นที่ข้างบนตรงนี้ แล้วรู้สึกว่ามันยากมากๆ กับการที่เราจะทำพื้นที่แค่ 30-35 ตารางเมตรให้เกิดเป็นคาเฟ่และมีนิทรรศการบนนี้ได้ แต่ก็เกิดขึ้นแล้ว”

“เราไม่ได้มองภาพตรงนี้เป็นร้านกาแฟที่แมสตั้งแต่ต้น เราอยากให้คนที่มาที่นี่ได้มาเสพอาร์ต ดื่มด่ำกับบรรยากาศ คุณจะมาในรูปแบบไหนก็ได้เลย แต่เรายังคงคอนเซปต์อาร์ตแอนด์คราฟ์ทั้งขนม เครื่องดื่มและสเปซตรงนี้ เราคิดว่าสิ่งที่จะทำให้ร้านอยู่ต่อไปได้คือคอนเซปต์ที่ชัด เราเชื่อว่าทุกร้านมีตัวตนของแบรนด์ของแต่ละร้านอยู่แล้วว่าคุณจะขายจุดไหนให้ลูกค้ามา ซึ่งอันนี้อาจจะเป็นโจทย์ที่หนักสำหรับคนที่เปิดร้านกาแฟขึ้นมาใหม่ๆ เพราะตอนนี้คนเสพร้านกาแฟเปลี่ยนไป” 

เมื่อถามถึงสไตล์การออกแบบของร้าน เฮงเล่าว่าได้หยิบองค์ประกอบเล็กๆ น้อยๆ ของสถาปนิกและนักออกแบบชาวสวิสเซอร์แลนด์ เลอ กอร์บูซีเย (Le Corbusier) มาปรับใช้อย่างการเลือกนำสีที่เรียบง่าย อาทิ สีแดง สีเหลืองหรือสีน้ำเงินมาเบลนด์เข้าไว้ด้วยกัน แต่ท้ายที่สุดเขาเองไม่ได้อยากจำกัดว่าเป็นสไตล์ไหนและอยากสนุกไปกับการดีไซน์รูปแบบจัดวางผลงานมากกว่า อย่างตอนที่เราไปเป็นช่วงที่ Le Space จัดดิสเพลย์ผลงานของคุณ ดีเทอร์ แรมส์ (Dieter Ram) ดีไซเนอร์ชาวเยอรมันผู้อยู่เบื้องหลังชิ้นงานที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับนักออกแบบทั่วโลก

“คุณดีเทอร์ แรมส์ สร้างผลงานไอคอนิคออกมาเยอะมากๆ จนคุณ โจนาธาน ไอฟ์ (Jonathan Ive) ซึ่งเป็นเฮดดีไซเนอร์ของแอปเปิลในยุคก่อน เขาได้นำอินสไปร์จากคุณดีเทอร์ แรมส์ มาปรับใช้กับ Apple ด้วยเหมือนกันอย่างเช่นเครื่องคิดเลขของคุณดีเทอร์ แรมส์ก็ถูกพัฒนาดีไซน์ต่อมาอยู่ในไอโฟนที่เราใช้จนถึงทุกวันนี้ ตัวไอพอดเครื่องแรกของ Apple ก็ได้อินสไปเรชันมาจากสปีกเกอร์ของคุณดีเทอร์ แรมส์ ผมยกให้เขาเป็นอีกหนึ่งคนที่เรียกได้ว่าเป็นตำนานในการออกแบบ สำหรับสายออกแบบมักจะรู้จักและนำโควทด้านการออกแบบของเขามาปรับใช้ในการพัฒนาผลงานจนถึงปัจจุบันนี้ด้วย” เฮงกล่าว ขณะพูดถึงดิสเพลย์ด้านหลังที่เต็มไปด้วยผลงานของคุณดีเทอร์ แรมส์ทั้งหมด ไม่ว่าเป็นเครื่องเสียงตระกูล SK ที่สร้างชื่อให้กับแบรนด์ BRAUN หรือถัดลงมาหน่อยก็เป็นเครื่องเสียงรุ่น 358 และ 350 จากงานดีไซน์ยุค 1970 ที่ถือว่าเป็นยุคเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ Mass Production ของ BRAUN ทำให้ผู้คนสามารถจับต้องได้มากขึ้นจากยุคก่อนๆ 

“การออกแบบของคุณดีเทอร์ แรมส์ คือ Less Is More บวกกับฟังก์ชันและไทม์เลส ไม่ว่าจะอยู่ยุคไหน เราเชื่อว่าผลงานของเขาจะสามารถไปอยู่ในสเปซและทุกยุคได้จริงๆ เราอยากให้คนได้มาสัมผัสเรื่องงานดีไซน์ ซึ่งสำหรับเราคิดว่าประสบความสำเร็จมากๆ เพราะน้องๆ ที่เขาเรียนออกแบบได้มาดู ตอนนี้เราจัดดิสเพลย์นี้มาเข้าเดือนที่สี่แล้ว จริงๆ เราจัดเต็มกว่านี้มากๆ ทุกมุมในร้านเลย น้องๆ นักศึกษาบางคนอาจจะเคยได้เห็นผลงานแค่ในรูปหรืออินเตอร์เน็ต วันที่ผมเปิดเป็น Public Space ตรงนี้ น้องๆ เอาสมุดมานั่งสเก็ตซ์ มานั่งดูผลงาน เขาบอกว่าเคยเห็นแต่ภาพ วันนี้มาเห็นของจริงดีใจมากที่เพิ่งเคยเห็นในไทย และเราไม่ได้มีค่าใช้จ่ายอะไรด้วยครับ” เฮงกล่าว ก่อนที่เราจะถามถึงความสนใจในเฟอร์นิเจอร์ของเขา 

“ส่วนตัวเฮงเลือกที่จะลงทุนและสะสมเฟอร์นิเจอร์เพราะเรารู้สึกว่าเฟอร์นิเจอร์เป็นผลงานศิลปะที่จับต้องได้ เราสามารถใช้งานเขาได้จริงๆ เฟอร์นิเจอร์เหล่านี้สามารถกลับมาให้เราได้ศึกษาต่อว่าแรงบันดาลใจของดีไซเนอร์คนนี้เขาทำเพื่ออะไร ทำไมในยุคนั้นเขาถึงใช้วัสดุแบบนี้ได้ การดูถึงการ Sourcing และเทคนิคต่างๆ ของเขาในยุคนั้นมันทำให้เราได้มาศึกษาต่อว่าในยุคนั้นๆ สามารถทำแบบนี้ได้ด้วยเหรอ เฟอร์นิเจอร์ทำให้เราได้สัมผัสและสามารถคิดต่อไปได้ สำหรับผมรู้สึกสนุกแต่ก็สะสมควบคู่กันไปกับงานศิลปะอื่นๆ” 

เป็นอย่างที่เขากล่าวเพราะหากมองไปรอบๆ ยังคงมีผลงานศิลปะอื่นๆ เบลนด์อยู่ในสเปซแห่งนี้ รวมถึงผลงานภาพวาดของศิลปินไทย Tua Pen Not (ตัวเป็นน็อต) ศิลปินชาวจังหวัดเชียงใหม่ หรือภาพโมนาลิซ่าในเวอร์ชัน Pop Art ผลงานของ วธูสิริ จันสิน หรือ Artsaveworld แขวนอยู่ที่ผนัง เคียงกันกับเก้าอี้เชคโกผลงานการออกแบบของคุณ ไมเคิล โทเน็ต (Michael Thonet) ผู้เปลี่ยนโลกของเฟอร์นิเจอร์ด้วยเทคนิคการดัดไม้ เหนือสิ่งอื่นใดที่นี่ยังคงเปิดกว้างให้กับศิลปะอีกหลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะศิลปินรุ่นใหม่ที่ต้องการพื้นที่ในการแสดงศักยภาพของตัวเอง เรียกว่าน่าสนใจและชวนให้ติดตามว่าจะมีอะไรใหม่ๆ เกิดขึ้นในสเปซแห่งนี้อีกบ้าง แต่เชื่อว่าไม่ว่าใครจะเป็นนักสะสมหรือไม่แค่ได้มาใช้เวลาก็สามารถเอ็นจอยไปกับขนม เครื่องดื่มและบรรยากาศของที่นี่ได้ หรือหากใครสนใจเฟอร์นิเจอร์และเครื่องเสียงวินเทจเป็นพิเศษอยากเยี่ยมชมที่ชั้น 1 ก็สามารถนัดหมายเวลาล่วงหน้าผ่าน Back in time 94’s ได้เลย เพื่อที่พวกเขาจะได้จัดเตรียมสิ่งที่ตรงกับความสนใจของแต่ละคนมากที่สุด

Fact File 

  • Le Space Cafe ซอยเอกมัย 4 เปิดทำการวันพุธ-วันจันทร์ (ปิดวันอังคาร) ตั้งแต่เวลา 09:00-18:00 น. 
  • ช่องทางติดตาม :  www.instagram.com/le.space.cafe

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.