Hugely แบรนด์ที่เปลี่ยนสายดับเพลิงเก่ามาเป็นกระเป๋าคู่ใจใบใหม่
- Hugely แบรนด์ที่ต่อยอดจากโปรเจคต์ทีซิสของ ภัทร-ชณันภัสร์ สิทธิธนันภัสร์ นำสายดับเพลิงเก่าที่ไม่ใช้แล้วมา Upcycle เพิ่มมูลค่ากลายเป็นสินค้าใหม่
- โปรดักต์ของ Hugely มีตั้งแต่กระเป๋าใบเล็กอย่างกระเป๋าสตางค์ไปจนถึง Tote Bag ที่ติดอันดับขายดีมาเสมอ
- นอกจากการเพิ่มมูลค่าให้กับของเก่า กระเป๋าของ Hugely ยังมีคุณสมบัติที่แข็งแรงทนทาน กันน้ำและมีความเหนียวป้องกันการโดนกรีด
Hugely เป็นคำกริยาวิเศษณ์ที่ให้ความหมายว่า อย่างมาก มหาศาล ในประโยคภาษาอังกฤษ แต่สำหรับ ภัทร-ชณันภัสร์ สิทธิธนันภัสร์ Hugely มีความหมายเท่ากับความตั้งใจเต็มร้อยในการปลุกปั้นแบรนด์ของตัวเอง ยิ่งไปกว่านั้นคือการพัฒนาโปรดักต์ที่สามารถเพิ่มคุณค่าให้กับสิ่งของใกล้ตัวและเพิ่มโอกาสการใช้งานในรูปแบบใหม่ นั่นทำให้เกิดแบรนด์ที่ชื่อ Hugely ขึ้นมาเพื่อเป็นพื้นที่ให้ สายดับเพลิงเก่า ได้กลับมาเฉิดฉายอีกครั้ง กลายเป็นกระเป๋าที่แสนแข็งแรงทนทาน ดีไซน์เรียบง่ายและใช้งานได้จริง
ถึงจะบอกว่าเรียบง่าย แต่กระบวนการระหว่างทางไม่ได้ง่ายอย่างนั้น เดิมที Hugely เกิดจากโปรเจกต์ทีซิส สมัยที่ภัทรเรียนโปรดักต์ดีไซน์ ในตอนนั้นเธอเพียงมองหาวัสดุที่แปลกใหม่และแตกต่างจากท้องตลาดมาดีไซน์เป็นกระเป๋าแบบที่ชอบ มองไปมองมาสายตาก็พาไปเจอสายดับเพลิงสีแดงอันเก่านอนเฉยๆ ในบ้านอยู่สองม้วนจากหมู่มวลของเก่าที่คุณพ่อไปประมูลมาเป็นงานอดิเรก นำมาลองผิดลองถูกอยู่นาน ในที่สุด 3 เดือนผ่านไปโปรเจกต์ทีซิสของภัทรก็เสร็จสิ้น พร้อมความตื่นเต้นปนประหลาดใจของอาจารย์และเพื่อนๆ เมื่อเห็นผลลัพธ์ที่ออกมาชวนให้หยิบจับนำไปใช้งานเข้าจริงๆ แต่ความถูกใจยังไม่ใช่ทุกอย่าง ทำให้การจะต่อยอดออกมาเป็นแบรนด์ตอนนั้น มีโจทย์ให้ภัทรต้องแก้อยู่มากทีเดียว
“เราพยายามหาทิศทางใหม่และหาวัสดุจากที่อื่นด้วย การจะทำแบรนด์มันไม่ได้ง่ายเหมือนตอนที่เราเรียนแล้ว เราต้องรีเสิร์ชข้อมูลและทดลอง คิดว่าจะหาวัสดุอย่างไร จากที่ไหนได้บ้าง ภัทรหาช่างนานมาก เรื่องการตัดเย็บและการทำความสะอาดเป็นเรื่องหลักเลย พอเป็นแบรนด์จะมีความเซนซิทิฟหลายๆ เรื่อง อย่างสายดับเพลิงก็ด้วย เราจะเอาสายเก่าจนพังมากมาทำก็ไม่ได้” ภัทรย้อนไปถึงก้าวแรกที่เริ่มทุกขั้นตอนมาด้วยตัวเอง เธอเฟ้นหาช่างมาร่วมทีมอยู่นานจนในที่สุดก็เจอคนที่ถูกใจมาช่วยตัดเย็บและให้คำปรึกษาเรื่องแพตเทิร์น จากเดิมทีที่ทดลองเองในโรงงานตัดเย็บของคุณอา
“พอเริ่มทำแบรนด์ เราต้องไปหาช่างของเราเอง จะไปรบกวนคุณอาไม่ได้แล้ว เพราะอันนั้นเป็นธุรกิจเขา เราต้องไปหาช่องทางของเรา การตัดเย็บเป็นไปได้ยากด้วย เราลองส่งไปที่โรงงานอุตสาหกรรมเหมือนกัน แต่เขาก็เย็บให้ไม่ได้ อีกอย่างการจะส่งไปเย็บที่องค์กรใหญ่ๆ ที่มีอุปกรณ์ครบ เราเองก็เป็นแบรนด์เล็กๆ วัสดุที่ใช้ก็ไม่ได้เพียงพอที่จะผลิตออกมาเป็นหลักพันใบ ด้วยต้นทุนเราด้วย เราค่อยๆ เริ่มหาข้อมูลจนไปเจอช่างที่เกษียณจากโรงงาน กลับไปอยู่บ้าน เขามีฝีมือและใจดีช่วยเย็บให้เรา เราเลยได้เริ่มต้นทีละนิดละหน่อย 20-50 ใบ” ภัทรเล่าถึงระหว่างทางที่ใช้เวลาอยู่ราว 3 ปี
ปัจจุบัน Hugely มีกระเป๋าหลากหลายรูปแบบตั้งแต่ใบเล็กอย่างกระเป๋าสตางค์ที่เธอกล่าวว่ายิ่งเล็กยิ่งทำยาก ไปจนถึง Tote Bag ที่ติดอันดับขายดีมาเสมอ โดยทั้งหมดล้วนตัดเย็บจากสายดับเพลิงที่ผ่านการใช้งานมาแล้ว แตกต่างเล็กน้อยตรงที่เลือกใช้สายดับเพลิงเก่าของประเทศญี่ปุ่นเป็นหลัก โดยมีฟังก์ชันคู่ตัวคือความทนทาน กันน้ำ แข็งแรง และป้องกันการโดนกรีด
“ตอนทำทีซิสเราทำกระเป๋าจากสายดับเพลิงของบ้านเราทั้งหมด แต่เหตุผลที่ตอนนี้ต้องใช้ของญี่ปุ่น เพราะเขาทิ้งสายดับเพลิงตามอายุการใช้งานจริงๆ สมมุติมีกำหนด 5-10 ปีต้องเปลี่ยนสายใหม่ เขาก็จะทิ้งแม้จะใช้หรือไม่ได้ใช้งาน ทำให้ส่วนใหญ่ยังอยู่ในสภาพที่โอเคพอใช้งานได้ จะแตกต่างจากบ้านเราเรื่องของการใช้งานที่อาจจะใช้จนพังแล้วไม่สามารถเอามาทำต่อได้”
ไม่เพียงแค่ดีเทลและความสมบูรณ์เรียบร้อยของการตัดเย็บที่ภัทรและทีมช่างยังคงเรียนรู้และแก้ปัญหาอยู่ตลอด แต่สิ่งสำคัญที่ภัทรและทีมยึดถือคือ การใช้งานได้จริง ขั้นตอนการทำความสะอาดเลยเป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญที่ต้องลงทั้งแรงและเวลาก่อนนำมาผลิตเพื่อส่งถึงมือลูกค้า
“สายญี่ปุ่นจะมีความหนาบางไม่เท่ากัน สายของบางแบรนด์จะมียางด้านในที่หนามากๆ เย็บไปอาจจะมีการแตกออก บางอันที่บางจะเย็บง่าย เราก็แก้ปัญหาไปเรื่อยๆ ไม่ได้หยุดเลยค่ะ เรื่องทำความสะอาดนี่ทดลองอยู่นาน จะทำอย่างไรให้มันขาว เราต้องแช่ประมาณ 2-3 วัน แล้วนำมาแปรงด้วยมือจนคราบออกหมดและตาก ตอนนี้ก็ยังทำแบบนี้อยู่ สิ่งที่ช้าที่สุดของกระบวนการทั้งหมดคือการทำความสะอาด เพราะถ้าเราเตรียมไว้พร้อม ถึงเวลาผลิตช่างก็สามารถรันต่อได้เลย”
หากเสน่ห์ของของเก่าคือเรื่องราวที่อยู่ในนั้น เสน่ห์ของ Hugely ก็คือความไม่แน่นอนที่ทำให้ผลงานแต่ละชิ้นมีเรื่องราวของตัวเอง จนกลายเป็นอีกหนึ่งจุดเด่นที่เข้าตาทั้งกลุ่มคนรุ่นใหม่ และกลุ่มลูกค้าหลักที่ภัทรเองยังเซอร์ไพรส์ว่าเป็นกลุ่มวัยผู้ใหญ่ตั้งแต่อายุ 40-60 ปีเลยก็มี
“ข้อดีของสายญี่ปุ่นที่เป็นเอกลักษณ์คือมีลวดลาย แต่เราต้องแรนด้อมสายเข้ามาอยู่แล้ว เลือกไม่ได้ รอบนี้มีลายแบบหนึ่งมา รอบหน้าก็อาจจะไม่มีลายเดิมแล้ว จะมาอีกทีในอีกหลายเดือนหรือ 2 ปี เราเองที่เป็นคนทำก็ไม่รู้ว่าเราจะได้อะไรมา ถ้าในปัจจุบันและมองถึงอีกประมาณ 3 ปี ภัทรคิดว่าเรามีวัสดุเพียงพอ เพราะยังมีสายดับเพลิงมาเรื่อยๆ แต่เราไม่ได้เป็นคนสั่งจากญี่ปุ่นเข้ามาโดยตรง มีธุรกิจเชียงกงขายวัสดุจำพวกอะไหล่รถยนต์ รถตักดิน รถกอล์ฟ แล้วเขาจะมีสายดับเพลิงมาด้วยในทุกตู้คอนเทนเนอร์ ธุรกิจเชียงกงก็ยังอยู่อีกนานเลยและญี่ปุ่นก็ยังใช้สายดับเพลิงแบบนี้อยู่ แต่ปัจจุบันถ้าลองสังเกตในบ้านเราจะเริ่มเปลี่ยนเป็นสายยางสีแดงแล้ว”
จากวันแรกถึงปัจจุบัน ภัทรเล่าว่ายังคงเรียนรู้อยู่ตลอดพร้อมกับสะสมประสบการณ์ทำให้จัดการกับขั้นตอนต่างๆ ได้ดีขึ้น จากที่มองหาสิ่งแปลกใหม่ สนุกๆ ก็อยากจุดประกายและส่งเสริมเกี่ยวกับการสร้างคุณค่าให้กับวัสดุเหลือใช้ใกล้ๆ ตัว ซึ่งเธอเองก็ยังแอบคิดไอเดียเพิ่มเติมอยู่เช่นกัน
“เราจบโปรดักต์ดีไซน์มา ตอนเรียนก็จะเป็นเฟอร์นิเจอร์ซะส่วนใหญ่ เลยเริ่มมองเป็นเฟอร์นิเจอร์ ของตกแต่งหรือโคมไฟ เพราะตอนนี้หัวสายดับเพลิงที่เรามีอยู่ก็เยอะมาก อาจจะนำมาต่อยอดทำเป็นโคมไฟในอนาคต”
“ภัทรว่าในอนาคตจะมีอีกหลายแบรนด์เกิดขึ้นเลยแหละที่ทำจากวัสดุของเหลือใช้ คงไม่ได้เป็นแค่กระแสที่ผ่านมาและผ่านไปแล้ว เพราะตอนนี้องค์กรใหญ่ๆ ก็ปรับเปลี่ยนกันหมดแล้ว หรือแม้แต่เด็กจบใหม่ก็อาจจะอยากมาทำแบรนด์ที่เป็นธุรกิจรักษ์โลกด้วย เราเองก็อยากทำอะไรให้ทันโลกทันสมัยมากขึ้น อาจจะไม่ใช่แค่กระเป๋าแล้ว แต่ยังเป็นอะไรที่คนสามารถใช้งานได้จริงในชีวิตประจำวัน เราอยากให้สิ่งที่ทำเป็นแรงบันดาลใจให้กับหลายๆ คนทั้งในเรื่องของการทำแบรนด์ เริ่มจากสิ่งข้างๆ ตัวก็สามารถทำแบรนด์ได้” ภัทรให้ความเห็นและเล่าถึงจุดหมายที่ตั้งเป้าไปทีละขั้น ระหว่างการพาแบรนด์ของเธอเดินทางไปพบผู้คนใหม่ๆ ตามวาระต่างๆ โดยยังมีช่องทางสื่อสารและจำหน่ายหลักอยู่บนเพจเฟซบุ๊ก ซึ่งเชื่อว่าตอนนี้หลายคนจะยังติดตามและรอที่จะได้เห็น Hugely ทำอะไรสนุกๆ อยู่เช่นเดียวกัน
Fact File
- ช่องทางการติดตาม www.facebook.com/HUGELYBAGS และ www.instagram.com/hugely_bags
ขอบคุณสถานที่ : Lespace Cafe เอกมัย ซอย 4
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.