เรียนจบแล้วแต่ชีวิตยังเคว้ง รู้จัก Post-Graduate Blues : ภาวะซึมเศร้าในบัณฑิตจบใหม่

เด็กน้อยคนหนึ่งที่เติบโตมาท่ามกลางความรัก ความใส่ใจ การซัพพอร์ตของผู้เป็นพ่อและแม่ ตั้งแต่แบเบาะจนเข้าอนุบาล ประถม มัธยม กระทั่งมหาลัย เด็กน้อยคนนี้ได้รับการใส่ใจไปทุกๆการเติบโต หลังจากใช้เวลาหลายปีไปกับการศึกษา ในที่สุดวันนี้ก็เดินทางมาถึง

“ยินดีด้วยนะบัณฑิต” เจ้าหน้าที่ทะเบียนมหาวิทยาลัยกล่าวด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้มพร้อมกับยื่นกระดาษหนึ่งแผ่นให้เธอ เด็กน้อยปรายตามองไปที่กระดาษในมือ ใบหน้าค่อยๆเปลี่ยนสี จากที่นิ่งเฉยกลายเป็นฉีกยิ้ม แววตาที่ว่างเปล่าเปลี่ยนมาสดใส แสดงให้เห็นว่าตัวเธอนั้นมีความสุขอย่างเห็นได้ชัด หลังจากที่ดิ้นรนอยู่ในระบบการศึกษามานานเกือบ 19 ปี ในวันนี้ก็เดินทางมาถึงบทสรุปสุดท้าย กระดาษในมือที่รับรองว่าเธอทำสิ่งนี้เสร็จสิ้นแล้ว ‘จบการศึกษา’

ทว่ายังชื่นชมกับความสำเร็จทางการศึกษาและใบปริญญาได้ไม่เท่าไหร่ ทุกอย่างค่อยๆก่อตัวขึ้น ในหัวของเธอมีคำถามมากมายวนเวียนเต็มไปหมด “แล้วจะเอาไงต่อ?” “หลังจากนี้ทำอะไรดี?” และอีกหลายสิบคำถามที่วิ่งวนอยู่ในหัวของเธอตอนนี้

เพราะหลายปีที่ผ่านมาเธอใช้ชีวิตอยู่กับการเรียนมาโดยตลอด มีเพื่อน มีครอบครัวคอยซัพพอร์ต เมื่อช่วงเวลานั้นสิ้นสุดลง หากต้องรับผิดชอบชีวิตของตนเอง นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เธอรู้สึกเคว้งคว้าง และตั้งคำถามกับตนเองมากมายว่าจะต้องทำอย่างไรต่อไปดี?

เพราะสำหรับบางคน ‘งาน’ ไม่ใช่สิ่งที่จะได้มาง่ายๆ ยื่นใบสมัครไปนับไม่ถ้วนแต่อีเมลปฏิเสธกลับมีมากมายเช่นกัน ดูเหมือนว่าสิ่งที่พยายามมาตลอดก็เริ่มดูไร้ความหมาย ใจของเธอเริ่มถดถอยลงทุกวัน คำถามเกี่ยวกับสิ่งที่เธอวางแผนจะทำหลังจากเรียนจบยังคงไม่ได้รับคำตอบ หรือแม้แต่คำสัญญาที่เธอบอกกับตัวเองอย่างแน่วแน่ว่าจะหางาน ‘ดีๆ’ ให้ได้ก็ดูยังไม่เป็นผล

ความรู้สึกหลายอย่างประดังประเดเข้ามาไม่หยุด ยิ่งเวลาเห็นเพื่อนที่จบมาพร้อมกันชีวิตกำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งทำให้เธอตั้งคำถามกับตัวเองมากขึ้นว่าทำไมจุดหมายปลายของเธอไม่ได้เป็นไปอย่างที่ฝันสักที ทั้งสับสนเคว้งคว้าง เหมือนคนหลงทางที่ไม่รู้จะเดินต่อไปทางไหนดี ซึ่งสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นเหล่านี้อาจเป็นอาการหนึ่งของ Post-Graduation Depression หรือ Post-Graduate Blues ภาวะซึมเศร้าในบัณฑิตจบใหม่ ก็เป็นได้

Post-Graduate Blues : ภาวะซึมเศร้าในบัณฑิตจบใหม่

Post-Graduate Blues หรือ เรียกอีกชื่อว่า Post-Graduation Depression ภาวะนี้เป็นอาการซึมเศร้าและวิตกกังวลสามารถเกิดได้ทั้งก่อนและหลังจบการศึกษา โดย Post-Graduate Blues อาจเกิดขึ้นหลังเรียนจบไม่กี่เดือน ยกตัวอย่างเช่น

บัณฑิตจบใหม่กำลังประสบกับความเครียดในการหางานที่เต็มไปด้วยการแข่งขันค่อนข้างสูง ,เกิดความคาดหวังถึงอนาคต ,แรงกดดันจากสังคม หรือแม้แต่การนำตัวเองไปเปรียบกับเพื่อนในช่วงวัยเดียวกันที่อาจประสบความสำเร็จมากกว่า ปัจจัยดังกล่าวล้วนส่งผลให้เกิด Post-Graduate Blues ได้ทั้งสิ้น

โดยผลสำรวจจาก City Mental Health Alliance องค์กรที่ให้การสนับสนุนด้านปัญหาสุขภาพจิต ระบุว่ามากกว่า 49% ของเด็กจบใหม่ในสหรัฐอเมริกามักเผชิญกับภาวะนี้

ก้าวผ่านช่วงเวลานี้ไปได้อย่างไร?

หากคุณกำลังเผชิญกับ Post-Graduate Blues หรือภาวะซึมเศร้าหลังจบการศึกษา โปรดรู้ไว้ว่า ‘คุณไม่ได้โดดเดี่ยว’ เพราะยังมีเพื่อนๆอีกหลายคนที่กำลังตกอยู่ในสภาวะเดียวกัน ซึ่งคุณสามารถป้องกันและรับมือได้ ดังนี้

หาเพื่อนคุยแลกเปลี่ยนความรู้สึก

British Association for Counselling and Psychotherapy (BACP) แนะนำว่า สำหรับใครก็ตามที่รู้สึกกังวลเกี่ยวกับภาวะซึมเศร้าหลังเรียนจบ อย่าเก็บความรู้สึกเหล่านั้นไว้คนเดียว พยายามพูดคุยกับใครสักคนอย่างคนใกล้ตัว ครอบครัว เพื่อน หรือลองแลกเปลี่ยนกับคนที่กำลังประสบปัญหาเดียวกัน เมื่อมีคนที่เข้าใจอยู่ข้างๆ จะช่วยเอาชนะความเครียดและความรู้สึกโดดเดี่ยวได้

ไม่เอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับใคร

มันง่ายมากที่คุณจะตกอยู่ในกับดักของการมองเห็นผู้คนรอบตัวคุณและคิดว่า ‘ทำไมชีวิตของฉันถึงไม่เป็นแบบนั้น’

ดร.ซูซาน เบียลี ฮาส (Susan Biali Haas) แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต กล่าวว่า การนำชีวิตตัวเองไปเปรียบกับบุคคลอื่นเป็นเหมือนกับดักแห่งความอิจฉา ควรหลีกเลี่ยงการเปรียบเทียบที่บั่นทอนจิตใจ หันมาให้ความสำคัญในการค้นหาสิ่งที่ชอบและอยากทำจริงๆจะดีกว่า

ให้เวลาเยียวยาจิตใจ

แน่นอนว่าการก้าวเข้าสู่ชีวิตวัยทำงานคือการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ การใช้เวลาปรับตัวจึงเป็นอะไรที่เหมาะสม อย่าเร่งรีบและกดดันตัวเองมากเกินไป ลองพาตัวเองออกไปหาอะไรทำ พักสมองจากเรื่องเครียดๆ ทำในสิ่งที่ชอบ ก็สามารถช่วยผ่อนคลายได้

โดยปกติอาการ Post-Graduate Blues จะค่อยๆ หายไปเองหลังเวลาผ่านไประยะหนึ่ง หรือเมื่อได้งานตามความตั้งใจ สุดท้ายขอเป็นกำลังใจให้เด็กจบใหม่ทุกคน เผชิญกับทุกเรื่องได้อย่างราบรื่น และก้าวเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ในแบบที่ตัวเองอยากจะเป็นได้

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.