ชม ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เรือพระราชพิธีที่สืบทอดจากสมัยสุโขทัย

ชม ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เรือพระราชพิธีที่สืบทอดจากสมัยสุโขทัย การจัดรูปขบวนประกอบด้วยเรือพระราชพิธีจํานวน 52 ลํา กำลังพลฝีพาย 2,200 นาย และแบ่งออกเป็น 5 ริ้ว 3 สาย ความยาว 1,280 เมตร และ กว้าง 90 เมตร เริ่มต้นจากท่าวาสุกรี ตีตั๋วชม 22 และ 27 ตุลาคม 2567 นี้

Focus

  • นับเป็นครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 สำหรับพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ จัดขึ้น ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ในวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2567
  • สำหรับประชาชนทั่วไปสามารถรับชมการซ้อมใหญ่แบบแต่งชุดและมีริ้วขบวนเรือแบบเต็มพิธีได้ในวันที่ 22 ตุลาคม 2567 ตลอดสองฝั่งเจ้าพระยา ตั้งแต่บริเวณสะพานพระราม 8 ไปจนถึงวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร รวมระยะทาง 4.2 กิโลเมตร

นับถอยหลังความยิ่งใหญ่ของ ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เรือพระราชพิธีที่สืบทอดมาจากสมัยสุโขทัยและนี่นับเป็นครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 สำหรับพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ ที่จะจัดขึ้น ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ในวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2567 

  • แนะนำ 6 ท่าเรือ จุดชมขบวนพยุหยาตราทางชลมารค 2567

สำหรับประชาชนทั่วไปสามารถรับชมการซ้อมใหญ่แบบแต่งชุดและมีริ้วขบวนเรือแบบเต็มพิธีได้ในวันที่ 22 ตุลาคม 2567 ตลอดสองฝั่งเจ้าพระยา ตั้งแต่บริเวณสะพานพระราม 8 ไปจนถึงวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร รวมระยะทาง 4.2 กิโลเมตร โดยมีขบวนเรือทั้งสิ้น 52 ลำ จัดขบวนเป็น 5 ริ้วขบวน และใช้กำลังพลประจำเรือทั้งสิ้น 2,200 นาย ส่วนจุดชมขบวนที่มีการจัดที่นั่งไว้ได้แก่ ใต้สะพานพระราม 8 ฝั่งธนบุรี สวนสันติชัยปราการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ สวนเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา โรงพยาบาลศิริราช (อุทยานสถานภิมุข) นอกจากนี้ร้านรวงริมแม่น้ำเจ้าพระยาก็เปิดให้จองโต๊ะเพื่อชมขบวนพยุหยาตราทางชลมารคทั้งในวันจริงและวันซ้อมใหญ่ด้วยเช่นกัน

สำหรับ ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค หมายถึงริ้วขบวนเรือพระราชพิธีที่จัดขึ้นสำหรับพระเจ้าอยู่หัวในการเสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ เพื่อการต้อนรับทูตานุทูตประเทศต่างๆ หรือประกอบในพระราชพิธีสำคัญ เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน เป็นต้น โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารคมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยและสืบทอดต่อกันมาถึงปัจจุบัน ทว่าก่อนหน้านี้การจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคถูกเว้นไปนานกว่า 25 ปี

ทั้งนี้นับตั้งแต่มีการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคเพื่อฉลองพระนครครบ 105 ปี เมื่อพ.ศ. 2475 ก็ไม่ได้มีการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคอีกเลยจนกระทั่งในพ.ศ.2500 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ฟื้นฟูพระราชประเพณีขึ้นมาใหม่ และบูรณะเรือพระราชพิธีลำเก่ารวมทั้งสร้างขึ้นมาใหม่ ประกอบกับเป็นปีที่ทางราชการได้จัดงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษขึ้นจึงได้มีการจัด ขบวนพุทธพยุหยาตรา อัญเชิญพระพุทธรูป พระไตรปิฎก และพระสงฆ์แห่ไปตามแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นการเฉลิมฉลอง โดยการจัดรูปขบวนเรือคล้ายรูปขบวนพยุหยาตราน้อยแต่ไม่ครบเนื่องจากเรือพระราชพิธีชำรุดเสียหายไปบ้าง

ในสมัยรัชกาลที่ 9 ได้มีการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคตั้งแต่ พ.ศ. 2500-2555  รวมทั้งสิ้น 17 ครั้ง โดยครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์คือการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค (ใหญ่) ในพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี โดยมีการจัดริ้วขบวนอย่างสวยงามพร้อมเรือพระราชพิธีลำใหม่ คือ เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 ซึ่งกองทัพเรือและกรมศิลปากรร่วมกันสร้างขึ้นเพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายด้วยการนำโขนหรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณที่สร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) มาเป็นแม่แบบ

สำหรับพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน โดย ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในวันที่ 27 ตุลาคม 2567 นั้น การจัดรูปขบวนประกอบด้วยเรือพระราชพิธีจํานวน 52 ลํา กำลังพลฝีพาย 2,200 นาย และแบ่งออกเป็น 5 ริ้ว 3 สาย ความยาว 1,280 เมตร และ กว้าง 90 เมตร เริ่มต้นจากท่าวาสุกรี  ไปสิ้นสุดที่วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร โดยฝีพายเรือพระราชพิธีทั้ง 52 ลำ จะพายพร้อมกันกับกาพย์เห่เรือซึ่งประพันธ์ขึ้นใหม่ จำนวน 4 บท บทที่ 1 เป็นบทสรรเสริญพระบารมี  บทที่ 2 ชมเรือกระบวน บทที่ 3 บุญกฐิน และบทที่ 4 ชมเมือง ประพันธ์โดย พลเรือตรีทองย้อย แสงสินชัย ศิลปินแห่งชาติ ถือเป็นเหตุการณ์ครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ที่ห้ามพลาดปักหมุด

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.