เลี้ยงลูกในยุคดิจิทัล ต้องปลูกฝังสิ่งใดบ้าง

การเลี้ยงลูกในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตอย่างมากนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการมาของเทคโนโลยีทำให้วิถีชีวิตของครอบครัวแตกต่างออกไปจากเมื่อก่อน เมื่อสมาชิกในบ้านทุกคนต่างก็มีสมาร์ทโฟนเป็นของตัวเอง และมือถือเพียงเครื่องเดียวก็สามารถตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ได้แทบทุกอย่าง ลองจินตนาการให้เห็นภาพชัด ๆ ก็คือ เมื่อก่อนถ้าแม่ลูกทะเลาะกัน พอถึงเวลากินข้าวก็ต้องมานั่งร่วมโต๊ะกินข้าวกันแม้ว่าจะไม่พูดกันสักคำก็ตาม ในขณะเดียวกันในบ้านก็เปิดทีวีดูข่าวช่วงหัวค่ำไปด้วย แต่ทุกวันนี้ถ้าแม่ลูกทะเลาะกัน ลูกสามารถเดลิเวอรี่อาหารผ่านมือถือมาแล้วนำเข้าไปกินในห้องของตัวเองได้ พร้อมเปิดยูทูบหรือแอปฯ สตรีมมิ่งดูซีรีส์ที่อยากดู ไม่ต้องออกมานั่งกินข้าวดูข่าวที่ไม่อยากดู

ตัวอย่างที่ยกมาให้เห็นข้างต้น เราอาจเห็นได้ในบ้านที่มีลูกวัยวัยรุ่น แต่ในอนาคตอีกไม่ไกล เด็ก ๆ ที่กำลังจะเติบโตขึ้นมาเป็นวัยรุ่นก็อาจจะมีพฤติกรรมในแบบเดียวกันได้เหมือนกัน จะเห็นว่าเทคโนโลยีมีส่วนที่ทำให้ครอบครัวออกห่างจากกันไม่มากก็น้อย การนั่งร่วมโต๊ะกินข้าวเดียวกันอย่างน้อยก็ยังได้เห็นหน้ากัน และมีโอกาสที่จะเริ่มต้นพูดคุยปรับความเข้าใจกันได้ แต่เทคโนโลยีที่ทำให้สมาชิกในบ้านต่างก็ก้มหน้าอยู่เฉพาะกับหน้าจอมือถือของตัวเองเท่านั้น นั่งแยกมุมกันมุมใครมุมมัน ทำให้พวกเราออกห่างกันทุกที ๆ

เพราะการเปิดประตูสู่โลกกว้างแห่งการเรียนรู้ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่ที่พ่อแม่เพียงเท่านั้น เด็ก ๆ สามารถที่จะเลือกรับรู้สิ่งต่าง ๆ ได้ด้วยตนเอง โดยเฉพาะผ่านสื่อออนไลน์ ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่ทุกสิ่งอย่างรอบตัวเป็นดิจิทัลเกือบทุกอย่างแล้ว พ่อแม่จึงต้องสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับ “การเลี้ยงลูกในยุคดิจิทัล” ว่าต้องทำอย่างไรให้เด็ก ๆ มีพัฒนาการและเติบโตได้สมวัย รวมถึงมีภูมิคุ้มกันสิ่งยั่วยุต่าง ๆ ในโลกดิจิทัลด้วย

เตรียมความพร้อมเกี่ยวกับตัวเด็ก
แม้ว่าโลกดิจิทัลอาจจะทำให้เด็ก ๆ อยู่ใกล้กับโทรศัพท์มือถือมากกว่าอ้อมกอดของพ่อแม่ มากกว่าหนังสือ มากกว่าธรรมชาติ แต่พ่อแม่สามารถปลูกฝังเรื่องการรู้จักเวลาในการใช้งานโทรศัพท์มือถือได้ โดยต้องพยายามเข้าไปมีส่วนร่วมทำกิจกรรมกับลูก ๆ เสมอ อย่างการเล่านิทานให้ฟัง พาลูกเล่นกีฬา พาลูกอ่านหนังสือ พาลูกเข้าสังคม เป็นต้น พ่อแม่ต้องลองสังเกตดูว่าลูกมีความสามารถด้านไหน ชอบทำอะไร มีความถนัดอะไร จากนั้นจึงมุ่งส่งเสริมให้ลูกทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ เพื่อให้เติบโตอย่างมีคุณภาพในทุกด้าน ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สมองและความคิดมีการเรียนรู้ที่สมวัย

สอนคิดให้ได้แก้ปัญหาให้เป็น
การเข้าถึงสื่อออนไลน์ที่ไม่มีคุณภาพได้ง่าย ๆ อาจทำให้เด็กได้รับสารและเรียนรู้สิ่งที่ไม่เหมาะสมมาได้ตลอดเวลา ซึ่งก็เป็นธรรมดาด้วยที่พ่อแม่ยุคใหม่อาจไม่สามารถควบคุมดูแลการใช้สื่อของลูกได้ เพราะฉะนั้น ต้องสอนให้ลูกคิดให้ได้ แยกแยะผิดถูก ดีชั่วให้ได้ และแก้ปัญหาให้เป็นจะดีที่สุด เป็นตัวอย่างให้เห็นว่าการแก้ปัญหาอย่างมีสติ มีปัญญา และมีเหตุผลต้องทำอย่างไร พาคิดนอกกรอบ และเปิดโอกาสให้ได้ลองผิดลองถูก ลองตัดสินใจด้วยตัวเอง พ่อแม่ก็มีหน้าที่คอยให้คำแนะนำและช่วยเหลืออยู่ห่าง ๆ ก็พอ เด็กรุ่นใหม่ต้องสอนให้คิดให้เป็นให้เร็ว จะเป็นภูมิคุ้มกันได้

ใช้สื่อให้เป็น
นอกจากจะมาคอยควบคุมกำกับตลอดเวลาไม่ได้แล้ว พ่อแม่ไม่มีทางจับลูกแยกออกจากโลกออนไลน์ได้อย่าง 100 เปอร์เซ็นต์ด้วยในสังคมยุคดิจิทัลแบบนี้ เพราะฉะนั้น ต้องสอนให้พวกเขาใช้สื่อให้เป็น ใช้ไปในทางที่เป็นประโยชน์มากที่สุดจะดีที่สุด ไม่จำเป็นต้องควบคุมเข้มงวด แต่ควรต้องใส่ใจเช็กเสมอ จึงจำเป็นต้องสอนให้เด็กใช้งานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และอินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัย เริ่มต้นจากการคัดกรองคอนเทนต์ต่าง ๆ ให้เด็กเสพด้วยตนเอง หูตาไวว่าลูกเปิดอะไรดูบ้าง เมื่อเห็นลูกเปิดอะไรที่ไม่เหมาะสม ต้องสอนด้วยว่ามันไม่ดี ไม่เหมาะสมอย่างไร

เสริมสร้างจินตนาการและความรู้สร้างสรรค์
ข้อดีของโลกยุคดิจิทัล คือโลกไร้พรมแดน ที่มีความ “ถึงกันไปทั่วโลก” ซึ่งถ้าพ่อแม่ปลูกฝังการใช้สื่อของเด็ก ๆ ให้รู้จักใช้ไปในทางที่สร้างสรรค์ตั้งแต่แรก ๆ ความน่ากังวลก็จะลดลง เพราะเด็ก ๆ จะรู้ว่าพวกเขาสามารถเสพคอนเทนต์อะไรได้บ้างที่มีประโยชน์ ตรงนี้พ่อแม่ก็ต้องคัดกรองให้ตั้งแต่แรกว่าคอนเทนต์แบบไหนที่จะช่วยเสริมสร้างจินตนาการและความรู้สร้างสรรค์ให้กับพวกเขาได้ รายการสำหรับเด็กของต่างประเทศมีเยอะมากที่ช่วยสนับสนุนในด้านนี้ ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องควบคุมระยะเวลาในการใช้งานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของพวกเขาด้วย

รู้จักสิทธิ หน้าที่ และบทบาทของตัวเอง
การสอนให้เด็กรู้จักสิทธิของตัวเอง เป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็นในยุคดิจิทัลแบบนี้ เพราะพวกเขามีโอกาสที่จะโดนละเมิดสิทธิ โดนคุกคาม โดนกลั่นแกล้งทางออนไลน์ (หรือแม้แต่ออฟไลน์) การรู้จักสิทธิ คือการที่จะไม่ยอมนิ่งเฉยให้ตนเองตกเป็นเหยื่อ ต้องรู้จักที่จะรักษาสิทธิของตัวเอง ส่วนเรื่องของหน้าที่และบทบาท มันคือการปลูกฝังความรับผิดชอบต่อหน้าที่ที่เหมาะสมกับช่วงวัยของตัวเอง รู้ว่าตัวเองต้องทำอะไรเวลาไหน ไม่ต้องให้ใครเตือน เพื่อที่จะได้รับผิดชอบตัวเองได้เป็นอย่างดี การวินัยในตัวเองเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งต่อตัวเองและการเข้าสังคม

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.