ไขปริศนาไอยคุปต์ กับ 7 เทพเจ้าอียิปต์โบราณ
ชวนตีตั๋วท่อง อียิปต์โบราณ ย้อนเวลาไปราว 5,000 ปีก่อนกับเรื่องราวของ 7 เทพเจ้าอียิปต์โบราณ องค์สำคัญที่เกี่ยวเนื่องกับการสร้างโลกและการปกครองโลกหลังความตาย และทำให้ประวัติศาสตร์อียิปต์สนุกยิ่งขึ้น
Focus
- อียิปต์โบราณนั้นมีความเชื่อเรื่องเทพเจ้าอวตารมายังโลกมนุษย์คลับคล้ายกับความเชื่อแบบฮินดูของชาวอินเดีย เช่น “เทพโอซิริส” อวตารลงมาเป็นมนุษย์และเป็นกษัตริย์ปกครองอียิปต์จนรุ่งเรืองร่มเย็น
- ตามตำนานเชื่อว่า เทพเจ้าอียิปต์โบราณ เกี่ยวเนื่องกับการสร้างโลกและการปกครองโลกหลังความตาย
ปริศนาไอยคุปต์มีมนต์ขลังเสมอ เพราะไม่ว่าจะผ่านมากี่พันปี แม้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีจะก้าวไปไกลเพียงใด แต่ความลับของดินแดนอียิปต์โบราณ แห่งลุ่มน้ำไนล์ก็ยังไม่ถูกเปิดเผยเสียหมด หลายความเชื่อและตำนานยังคงถูกส่งต่อ คลุมเครือ และบ้างก็ยังไม่ได้รับการไขคำตอบ เช่นเดียวกับตำนานแห่ง เทพเจ้าอียิปต์โบราณ ที่เกี่ยวเนื่องกับการสร้างโลกและการปกครองโลกหลังความตาย
ในตำนาน เทพเจ้าอียิปต์โบราณ นั้นมีความเชื่อว่า เทพเจ้าอวตารมายังโลกมนุษย์คลับคล้ายกับความเชื่อแบบฮินดูของชาวอินเดีย เช่น “เทพโอซิริส” อวตารลงมาเป็นมนุษย์และเป็นกษัตริย์ปกครองอียิปต์จนรุ่งเรืองร่มเย็น แต่ถูก “เทพเซธ” น้องชายขี้อิจฉาทำอุบายฆ่าและตามไปหั่นศพทิ้งทั่วอียิปต์ ส่วนเทพองค์สุดท้ายที่อวตารมาเป็นมนุษย์ปกครองอียิปต์คือ “เทพฮอรัส” ซึ่งทำสงครามยาวนานกับ “เทพเซธ” เพื่อกู้อาณาจักรอียิปต์ และหลังสิ้นสุดยุครุ่งเรืองของเทพฮอรัส บรรดาทวยเทพก็ปล่อยให้มนุษย์ปกครองอียิปต์กันเอง
Sarakadee Lite ขอชวนตีตั๋วท่อง อียิปต์โบราณ ย้อนเวลาไปราว 5,000 ปีก่อน กับเรื่องราวของ 7 เทพเจ้าอียิปต์โบราณ องค์สำคัญที่จะทำให้ประวัติศาสตร์อียิปต์สนุกยิ่งขึ้น
เทพีไอซิส (Isis)
ลักษณะเด่น : รูปร่างเป็นสตรี สวมหมวกเป็นรูปบัลลังก์ (มีทั้งรูปเก้าอี้บัลลังก์บนศีรษะ บ้างก็เป็นวงกลมคือดวงอาทิตย์อยู่กลางเขาวัว)
ความหมาย : เทพีแห่งเวทมนตร์
บทบาท: เป็นเทพีผู้ปกป้องกษัตริย์อียิปต์และพระโอรส “ฮอรัส”เปรียบเสมือนเทพีแห่งมารดาผู้มีพลังในการเยียวยารักษา
ตำนาน : ธิดาของเทพรา มเหสีเทพโอซิริส อียิปต์เคยมีความเชื่อเรื่องเทพอวตารมาปกครองโลกมนุษย์ โดยเทพีไอซิส อวตารมาเป็นมนุษย์และเป็นน้องสาวแท้ๆ ของเทพโอซิริสในภาคมนุษย์ ทั้งสองครองคู่กันปกครองอาณาจักรอียิปต์เจริญรุ่งเรือง และมีพระโอรสคือ เทพฮอรัส ผู้เป็นเทพอวตารมาเช่นกัน
วีรกรรมของเทพีไอซิสภาคมนุษย์ คือการตามกอบกู้ร่างพระสวามี เทพโอซิริสภาคกษัตริย์อียิปต์ที่ถูกน้องชาย(เทพเซธ) ล่อลวงฆ่าถ่วงน้ำแถมตามสับร่างเป็นชิ้นเพื่อโค่นอำนาจแย่งราชบัลลังก์ ก่อนจะนำร่างของเทพโอซิริสในตอนเป็นกษัตริย์อียิปต์กลับมาประกอบพิธีกรรมเพื่อส่งวิญญานของโอซิริสเข้าสู่ดินแดนมรณะหลังความตาย และเทพโอซิริสก็กลายเป็นราชันหลังความตายผู้ทำหน้าที่พิพากษาความดี-ความชั่วของมนุษย์ ส่งมนุษย์ที่ตายแล้วไปสู่ดินแดนชีวิตนิรันดร์
ในภาพวาดที่เล่าเรื่องชีวิตหลังความตายตามความเชื่อของอียิปต์ เทพีไอซิส เป็นผู้รอรับร่างคนตายต่อจากเทพอนูบิส และพาร่างนั้นขึ้นเรือล่องข้ามแม่น้ำไปสู่ดินแดนมรณะ เพื่อเข้าสู่กระบวนการพิพากษา ที่เทพโอซิริสจะจับหัวใจของคนตายรายนั้นชั่งตวงเทียบกับขนนก ถ้าหัวใจคนนั้นเบากว่าขนนก ก็จะได้สิทธิฟื้นคืนชีพ วิญญาณกลับเข้าร่าง และได้อยู่ในดินแดนชีวิตนิรันดร์
วิหารบูชาเทพไอซิส: วิหารที่ถูกสร้างอุทิศให้แก่เทพไอซิส คือ วิหารฟิเล (Philae) ซึ่งเคยถูกจมน้ำ หลังจากอียิปต์สร้างเขื่อนอัสวาน (เขื่อนกักน้ำแห่งแรกของโลก) ต่อมาวิหารฟิเลถูกรื้อไปสร้างใหม่ที่เกาะฟิเล
เทพเจ้าอนูบิส (Anubis)
ลักษณะเด่น : ศีรษะเป็นหมาในสีดำ ร่างกายเป็นมนุษย์ผู้ชาย
ความหมาย : เทพแห่งความตาย เจ้าแห่งดินแดนศักดิ์สิทธิ์
บทบาท: ต้อนรับผู้ตายและปกป้องร่างกายไม่ให้เน่าเปื่อย เป็นเทพองค์แรกที่มนุษย์จะได้พบหลังความตาย
ตำนาน : เดิมทีอนูบิสเป็นเทพที่เกี่ยวกับความตายเฉพาะในส่วนของฟาโรห์เท่านั้น ต่อมาจึงเป็นเทพที่ดูแลโลกหลังความตายของชาวไอยคุปต์ทั่วไปด้วย และในภาพสลักเกี่ยวกับการทำมัมมี่ก็มักจะมีรูปเทพอนูบิสเป็นผู้ทำหน้าที่ดองศพทำมัมมี่แต่อันที่จริงหน้าที่หลักของเทพอนูบิส คือต้อนรับผู้ตาย เข้าสู่โลกหลังความตาย และการดูแลรักษาศพไม่ให้เน่าเปื่อย ก่อนที่จะส่งต่อร่างนั้นให้เทพไอซิส ซึ่งจะพาร่างคนตายนั่งเรือข้ามแม่น้ำไปสู่แดนมรณะ เพื่อพบกับเทพเจ้าโอซิริส ผู้พิพากษาว่าวิญญาณของใครจะขึ้นสู่สวรรค์
ภาพวาดเทพอนูบิสจะปรากฏอยู่ในภาพวาดเล่าเรื่องชีวิตหลังความตาย ทั้งในสุสานของฟาโรห์ ที่หุบผากษัตริย์ และในภาพวาดบนกระดาษปาปิรุส ชื่อ Hunefer, Book of the Dead ซึ่งพบหลักฐานในเมืองธีบส์ อียิปต์ วาดช่วง 1,290 ปีก่อนคริสตกาลปัจจุบันเป็นคอลเลกชันที่ตั้งแสดงที่พิพิธภัณฑ์บริทิช พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติของอังกฤษ ปัจจุบัน
เทพเจ้าฮอรัส (Horus)
ลักษณะเด่น : ศีรษะเป็นเหยี่ยวร่างกายเป็นมนุษย์ผู้ชาย ดวงตาข้างซ้ายคือดวงสุริยะ ดวงตาข้างขวาคือดวงจันทร์
ความหมาย : เทพเจ้าแห่งท้องฟ้า ตามพระนามแปลว่า เทพผู้อยู่เบื้องบน
บทบาท: ตัวแทนองค์ฟาโรห์ เชื่อมโยงถึงกษัตริย์ และมีความเชื่อว่าเป็นผู้กอบกู้อาณาจักรอียิปต์จากอธรรมในยุคเทพเจ้าปกครอง
ตำนาน : มีตำนานที่เล่าว่า กษัตริย์ผู้ปกครองอียิปต์ในสมัยดึกดำบรรพ์ (ก่อนเกิดอาณาจักรอียิปต์โบราณเมื่อ 5,000 ปีมาแล้ว) เป็นเทพเจ้า และเทพฮอรัสเป็นเทพองค์สุดท้ายที่อวตารมาเป็นมนุษย์ปกครองอียิปต์ช่วยกู้อาณาจักรอียิปต์จากเทพเซธ ผู้มีศักดิ์เป็นอา (น้องชายเทพโอสิริสภาคอวตาร พระบิดาของเทพฮอรัส) แย่งราชบัลลังก์ เทพฮอรัสกู้อียิปต์คืนจากเทพเซธได้และปกครองอียิปต์เจริญรุ่งเรือง เมื่อสิ้นสุดการปกครองของเทพฮอรัส บรรดาทวยเทพก็ปล่อยให้มนุษย์ปกครองอียิปต์กันเอง
วิหารบูชาเทพฮอรัส: วิหารฮอรัสเป็นวิหารที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในอียิปต์ สร้างสมัยราชวงศ์ทอเลมีที่ 3 ยุคสุดท้ายของอาณาจักรอียิปต์ ช่วงราว 237 ปีก่อนคริสตกาล (ผู้ก่อตั้งราชวงศ์ทอเลมี คือนายพลปโตเลมี ชาวกรีกหลังกองทัพพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชของกรีกยึดอียิปต์ได้สำเร็จ พระนางคลีโอพัตราผู้โด่งดังเป็นฟาโรห์องค์สุดท้ายของราชวงศ์ทอเลมี และอาณาจักรอียิปต์)
เทพีฮาเธอร์ (Hathor)
ลักษณะเด่น : รูปร่างเป็นสตรี บนศีรษะมีเขาวัวและดวงอาทิตย์อยู่ตรงกลาง (มีความคล้ายกับเทพีไอซิส)
ความหมาย : เทพแห่งความรัก ความเป็นแม่ ศิลปะและดนตรี
บทบาท: เทพแห่งความรัก ความเป็นแม่ และเป็นเทพีแห่งสตรีทั้งมวล เป็นเทพแห่งการเจริญพันธุ์และการให้กำเนิด รวมทั้งเรื่องสุขภาพ ความงาม โดยมีนักบวชที่บูชาเทพฮาเธอร์มีทั้งนักบวชชายและหญิงมีงานเทศกาลต่างๆ ที่เฉลิมฉลองเพื่อบูชาเทพฮาเธอร์ อีกทั้งยังเป็นเทพผู้คุ้มครองฟาโรห์
ตำนาน : หนึ่งในเทพเก่าแก่ที่อยู่คู่ชาวไอยคุปต์มานาน เทพราสร้างเทพีฮาเธอร์มาจากน้ำตาของพระองค์ การบูชาเทพฮาเธอร์ปรากฏมาตั้งแต่ในสมัยอาณาจักรเก่า หรือยุคที่แผ่นดินอียิปต์รวมกันและมีฟาโรห์เป็นเจ้าปกครองอาณาจักรเป็นครั้งแรก เมื่อราว 3,000 ปีก่อนคริสตกาล ให้การเคารพบูชาเทพฮาเธอร์ในฐานะเทพของอียิปต์บน (เทพอียิปต์ล่างคือ บาสต์) และยังได้รับการเคารพบูชาเรื่อยมาจนถึงสมัยราชวงศ์ทอเลมีปกครองอียิปต์ ยุคสุดท้ายการมีฟาโรห์ เทพฮาเธอร์ เป็นเทพแห่งเดือน เฮทารา (Hethara) เดือนที่ 3แห่งปีตามปฏิทินอียิปต์
เทพเจ้ารา (Ra/Re)
ลักษณะเด่น : ศีรษะเป็นเหยี่ยว มีสัญลักษณ์รูปดวงอาทิตย์อยู่เหนือศีรษะ
ความหมาย : เทพแห่งความเป็นอมตะ
บทบาท: เทพเจ้ารา หรือ เร ถือเป็นสุริยเทพ หรือเทพเจ้าแห่งดวงอาทิตย์ เป็นเทพสูงสุดอียิปต์ อียิปต์โบราณเชื่อว่า ฟาโรห์ เจ้าผู้ปกครองอาณาจักร เป็นโอรสแห่งสุริยเทพที่ถูกส่งลงมาปกครองโลกมนุษย์ เทพเจ้าราเป็นตัวแทนแห่งการฟื้นคืนชีพ เสมือนพระอาทิตย์ที่ขึ้นใหม่ในทุกเช้าของชีวิตบนโลกมนุษย์
ตำนาน : การบูชาเทพเจ้าเร หรือ เทพเจ้ารา ปรากฏหลักฐานเก่าแก่ที่สุดในยุคราชวงศ์ที่ 2 แห่งอาณาจักรเก่า ต่อมาในยุคราชวงศ์ที่ 5 จึงค่อยปรากฏความเชื่อที่เชื่อมโยงกับฟาโรห์ กล่าวว่าฟาโรห์เป็นโอรสของเทพเจ้าแห่งดวงอาทิตย์หรือ เทพเจ้ารา ส่งผลให้ชื่อของฟาโรห์ทุกพระองค์จะมีคำว่า เร หรือ รา ผสมอยู่
เทพรา เป็นเทพเจ้าที่ได้รับการบูชาในสมัยอาณาจักรเก่า ก่อนที่ชาวอียิปต์จะหันมาบูชา เทพอามุน-รา (Amon-Ra) ในยุคอาณาจักรกลาง ซึ่งเทพเจ้าอามุน-รา เป็นการรวมเทพอามุน (Amun) เทพแห่งเมืองธีบส์ เมืองหลวงของอาณาจักรอียิปต์ยุคกลาง กับเทพรา มารวมเป็นเทพองค์เดียวกัน
แต่เมื่อการบูชาเทพเจ้าอามุนต้องผ่านนักบวช จนนักบวชมีอิทธิพลร่ำรวยและมีอำนาจมากกว่าฟาโรห์ ต่อมาในยุคอาณาจักรใหม่ ฝ่ายฟาโรห์จึงยกเทพเจ้าราขึ้นสูงสุด และปลูกฝังความเชื่อว่าฟาโรห์สืบเชื้อสายมาจากเทพเจ้าแห่งดวงอาทิตย์โดยเฉพาะในยุคของฟาโรห์ทุตโมซิส (Thuthmosis) และ ฟาโรห์แอเมนโฮเทปที่ 3 (Amenhotep III) ต่อมาฟาโรห์แอเคนาเทน (Akhenaten) ก็ได้หันมาบูชาเทพเจ้าแห่งแสงอาทิตย์ ในชื่อของเทพเจ้าอาเทน (Aten) เป็นเทพสูงสุดองค์เดียวและยกเลิกการบูชาเทพอามุน หรือเทพอามุน-รา โดยสิ้นเชิง และการบูชาเทพเรหรือเทพรา ก็รุ่งเรืองอย่างที่สุดในยุคอาณาจักรใหม่นี่เอง
วิหารบูชาเทพเจ้ารา :มีในสมัยอาณาจักรเก่า และพบหลักฐานภายในวิหารอาบูซิมเบล ที่สร้างหลายสมัยจนเสร็จสิ้นในสมัยฟาโรห์รามเสสที่ 2 เป็นวิหารบูชาเทพอามุน-รา แต่ในห้องศักดิ์สิทธิ์ชั้นใน มีทั้งรูปปั้นเทพเจ้ารา หรือเรียกว่า ราแห่งเฮียราโพลิส และเทพอามุน-ราอยู่ด้วย
ภายในสุสานฟาโรห์แห่งสมัยอาณาจักรใหม่ที่ตั้งอยู่ใน หุบผากษัตริย์ (Valley of the Kings) มักจะมีภาพสลักและภาพวาด เล่าเรื่องราวการเดินทาง 12 ชั่วโมงหรือ 12 ยาม ในโลกแห่งความตาย เล่าถึงการเสียชีวิตในยามที่ 5 ก่อนจะได้รวมตัวกับเทพโอซิริสในดินแดนแห่งความตายนั้น และกลับมาฟื้นคืนชีพเป็นแมลงทับ หรือ สคารับ (Scarabหรือ Khepri) ในชั่วโมงสุดท้าย
ในสมัยราชวงศ์ทอโลมีของชาวกรีกที่เข้ามาสถาปนาราชวงศ์ปกครองอียิปต์ยุคหลังพระเจ้าอเล็กซานเดอร์พิชิตอียิปต์ ก็ยังบูชาเทพเจ้ารา แต่เมื่อราชวงศ์นี้สิ้นสุดลงในยุคของพระนางคลีโอพัตรา ความเชื่อและการบูชาเทพราก็เสื่อมไปด้วย
เทพอามอน/อามุน (Amon/Amun/Amen)
ลักษณะเด่น : ศีรษะเป็นมนุษย์ สวมกระโปรงแบบฟาโรห์และสวมหมวกมงกุฎขนนกคู่
ความหมาย : จอมราชันแห่งปวงเทพ
บทบาท: เทพสูงสุดของทวยเทพอียิปต์ทั้งมวล ตามประวัติบอกว่าเทพอามุนได้รับการเคารพบูชาในอาณาจักรโบราณและขยายไปถึงดินแดนเอธิโอเปีย นิวเบีย ลิเบีย และปาเลสไตน์ ทั้งยังเป็นเทพแห่งสุริยะและสายลม
ตำนาน : หนึ่งในแปดเทพเจ้าสำคัญยุคอียิปต์โบราณที่มีชื่อจารึกอยู่ในคัมภีร์ Pyramid Texts ทั้งยังได้รับการยกย่องให้เป็นจอมราชันแห่งปวงเทพที่เกี่ยวเนื่องกับตำนานการสร้างโลก (เมืองHermopolite) เทพอามุนถือเป็นเทพประจำเมืองหลวงของอาณาจักรอียิปต์โบราณ ยุคอาณาจักรใหม่นั่นก็คือ “เมืองธีบส์”มีพระมเหสีคือ เทพีอมุเนต (Amunet)แต่พออีกยุคสมัยที่เทพอามุนถูกนำมารวมกับเทพราเป็น อามุน-รา และได้รับการยกย่องจากชาวกรีกให้เทียบเท่าเทพซุส
วิหารบูชาเทพอามุน : เทพอามุนเป็นมหาเทพที่มีมหาวิหารใหญ่โตที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยสร้างมา ได้แก่
-
มหาวิหารคาร์นัค (Karnak) และลักซอร์ (Luxor) ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำไนล์ สร้างเพื่อบูชาเทพอามุนมีถนนสฟิงซ์เชื่อมวิหารทั้งสองหลัง ความยาวเกือบ 3 กิโลเมตร มหาวิหารคาร์นัคถือเป็นวิหารเทพเจ้าที่ใหญ่โตที่สุดในโลกที่มนุษย์เคยสร้างมามีป้อมปราการหนาทึบสูงเกือบเท่าตึก 20 ชั้น หนาหลายสิบฟุต และเสาหินหนาสูงใหญ่ทั้งหมด 10 เสา ภายในมีวิหารเล็กซ้อนอยู่ข้างในอีกหลายแห่งวิหารคาร์นัคสร้างสืบต่อกันมาหลายสมัย เสร็จสิ้นสมบูรณ์ในสมัยของฟาโรห์รามเสสที่ 2 ซึ่งมีรูปปั้นของรามเสสที่ 2 ขนาดมหึมา ยืนอยู่ปากทางเข้าวิหารเทพอามุน-ราและภายในมีภาพสีนูนสูงนูนต่ำ เล่าเรื่องราวทวยเทพของอียิปต์ รวมทั้งรูปฟาโรห์รามเสสที่ 3 บนรถศึกกำลังทำสงครามกับศัตรู ความใหญ่โต เฉพาะห้องโถงภายในมหาวิหารคาร์นัคใหญ่เทียบเท่ากับโบสถ์เซนต์ปอลในลอนดอนรวมกับโบสถ์เซนต์ปีเตอร์ในโรม
- วิหารอาบูซิมเบลตั้งอยู่ที่เมืองอัสวาน เป็นเทวสถานแห่งเดียวที่ไม่จมอยู่ใต้เขื่อนอัสวานเป็นวิหารบูชาเทพสูงสุดอามุน-รา สร้างสมัยฟาโรห์รามเสสที่ 2 เป็นวิหารที่เจาะเข้าไปในภูเขาหินทราย ด้านหน้าแกะสลักผาหินเป็นรูปฟาโรห์รามเสสที่ 2 ในท่านั่ง 4 รูป ตรงปากทางเข้าห้องเล็กๆ ด้านในสุดของวิหารอาบูซิมเบล เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุด มีรูปปั้นเทพอามุน-รา และเทพอีก 2 องค์ คือเทพทาห์แห่งเมมฟิส เทพรา-ฮอรัคตี แห่งเฮลิโอโปลิส (Heliopolis)และฟาโรห์รามเสสที่ 2
เทพเจ้าโอซิริส(Osiris)
ลักษณะเด่น : รูปร่างเป็นมนุษย์มีเครา ถือแส้และคฑาหัวขอ
ความหมาย : เทพแห่งแม่น้ำไนล์
บทบาท: เป็นผู้พิพากษา ดวงวิญญาณของมนุษย์หลังความตายว่าใครจะได้ขึ้นสวรรค์-ขั้นตอนการพิพากษา จะนำก้อนเนื้อหัวใจของผู้ตายที่ติดอยู่ในร่างมัมมี่นั้น (ในการทำมันมี่อวัยวะภายในที่ไม่ถูกดูดออกคือหัวใจ) มาชั่งบนตาชั่ง เทียบกับ น้ำหนักของขนนกหากหัวใจเบากว่าขนนก ถือว่าคนนั้นเป็นคนดี สมควรได้ขึ้นสวรรค์ หรือ เป็นการฟื้นคืนชีพ เกิดใหม่ในดินแดนที่ชีวิตเป็นนิรันดร์
ตำนาน : เทพโอซิริสเป็นเทพเจ้าที่อวตารลงมาเป็นมนุษย์และได้เป็นกษัตริย์ปกครองอียิปต์และมีพระชายาคือ เทพีไอซิส ซึ่งเป็นน้องสาวแท้ๆ ทั้งคู่ให้กำเนิดเทพฮอรัส ในยุคสมัยของโอซิริสปกครองอียิปต์บนผืนโลกนั้น มีความรุ่งเรืองร่มเย็น ทำให้น้องชายแท้ๆ ชื่อ เทพเซธ เกิดความอิจฉาริษยา และวางแผนกำจัดพี่ชาย ด้วยการออกอุบายให้จัดงานเลี้ยงและล่อลวงเทพโอซิริสให้ลงไปนอนในโลงศพ และปิดฝาโลงเอาไปถ่วงแม่น้ำไนล์ ก่อนที่เทพเซธจะสถาปนาตัวเองขึ้นมาเป็นกษัตริย์อียิปต์องค์ใหม่
ส่วนเทพีไอซิส พระชายาได้ออกตามหาพระศพของเทพโอซิริสเพราะเชื่อว่าหากไม่มีการประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อ ดวงวิญญาณของเทพโอซิริสภาคอวตารเป็นกษัตริย์นี้จะไม่ได้ขึ้นสวรรค์ในที่สุดเทพีไอซิสก็ตามหาโลงศพของโอซิริสพลที่เมืองบิบลอส (ปัจจุบันคือเลบานอน)แต่เทพเซธก็ตามล่าล้างบางเช่นกัน และจับร่างโอซิริสหั่นเป็น 14 ชิ้น และเอาไปโยนทิ้งทั่วอียิปต์ เทพีไอซิสยังตามไปเก็บชิ้นส่วนร่างเหล่านั้นกลับมาจนครบ แม้จะใช้เวลาหลายปีขาดเพียงชิ้นส่วนอวัยวะเพศ ที่ถูกทิ้งแม้น้ำไนล์และถูกปลากัดกิน
เมื่อนำชิ้นส่วน 13 ชิ้นของกษัตริย์โอซิริมาประกอบพิธีกรรม และเทพีไอซิสร่ายพระเวทย์เรียกอวัยวะเพศกลับมาใหม่จนครบ 14 ชิ้นแล้ว ได้มีการประกอบพิธีฝังศพบนเกาะฟิเล ซึ่งถือเป็นเกาะศักด์สิทธิ์ ส่งให้ดวงวิญญานของกษัตริย์เข้าสู่แดนมรณะ และกลายเป็นเทพเจ้าผู้ทำหน้าที่ตัดสินการกลับคืนฟื้นชีพของมนุษย์ทุกผู้ทุกนาม หลังยุคของกษัตริย์โอซิริสและเทพีไอซิสแล้ว เทพเจ้าที่อวตารลงมาเป็นกษัตริย์อียิปต์คนต่อมาคือ เทพฮอรัส ซึ่งได้กอบกู้อาณาจักรคืนจากเทพเซธ
หลักฐานการบูชาเทพโอซิริส : มีภาพวาดสีภายในสุสานของฟาโรห์ทุตโมซิสที่ 4 มีเทพโอซิริสใส่ชุดขาว และอนูบิส เทพแห่งความตาย (ซึ่งมีศีรษเป็นรูปสุนัขและร่างกายเหมือนคน)มารับฟาโรห์ไปสู่ปรโลกและมีภาพสลักเทพโอซิริสบนฝาโลงศพชั้นในสุดที่ทำด้วยทองคำแท้หนักกว่า 100 กิโลกรัม ของฟาโรห์ตุตันคาเมน -ตำนานของเทพโอซิริสและครอบครัว (เทพไอซิสและเทพฮอรัส) เป็นตำนานยอดนิยม ถูกนำมาทำเป็นรูปปั้นและภาพวาดของที่ระลึกวางขายให้นักท่องเที่ยวที่มาอียิปต์ยุคศตวรรษที่ 21
อ้างอิง
- https://ancientegyptonline.co.uk/ra/
- ตำนานเทพเจ้าอียิปต์ โดย ณัฐพล เดชขจร สำนักพิมพ์ gypzy
- www.britannica.com
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.