การกระจายข่าวของ Fake News น่ากังวลมากแค่ไหน
ในยุคที่ผู้คนมีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงอยู่ในมือตลอดเวลา ทำให้ทุกคนมีสถานะเป็นได้ทั้งผู้ผลิตสาร ผู้ส่งสาร และผู้รับสารในเวลาเดียวกัน ในฐานะผู้ผลิตสาร อาจเกิดขึ้นเมื่อคุณเห็นอุบัติเหตุเกิดขึ้นตรงหน้า คุณจึงถ่ายรูปอุบัติเหตุนั้นเพื่อแชร์ให้เพื่อน ๆ ในโซเชียลมีเดียของคุณได้รับรู้ว่าวันนี้คุณเจอเหตุการณ์อะไรมาบ้าง พร้อมด้วยแคปชันโดน ๆ ที่เขียนขึ้นจากสิ่งที่คุณเห็นจากเหตุการณ์นั้น โดยที่คุณก็ไม่ได้ตรวจสอบก่อนว่าสิ่งที่คุณเห็นและกำลังจะกดโพสต์นั้น เป็นข้อเท็จจริงของเหตุการณ์อุบัติเหตุมากน้อยแค่ไหน
ในฐานะผู้รับสาร เกิดขึ้นได้เป็นปกติ เมื่อคุณกำลังใช้งานโซเชียลมีเดียหรือท่องอินเทอร์เน็ต ข้อมูลบางชุด คุณเห็นผ่านตาแล้วก็ผ่านเลยไป แค่รับทราบข้อมูลชุดนั้น แต่กับข้อมูลที่คุณสนใจเป็นพิเศษ คุณอาจจะเก็บไว้กับตัวเพื่ออ่านอย่างละเอียดอีกครั้งหรือนำข้อมูลนั้นไปใช้ประโยชน์ หรือคุณอาจจะรับมาแล้วแชร์ต่อ เพื่อให้เพื่อน ๆ ที่ติดตามคุณอยู่ได้รับทราบถึงข้อมูลชุดนี้ด้วย คุณก็จะกลายเป็นผู้ส่งสารไปในทันที
การที่ข้อมูลต่าง ๆ สามารถสืบค้นได้ผ่านอินเทอร์เน็ต และคุณสามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านั้นได้วันละเป็นสิบเป็นร้อยชุดข้อมูล จึงไม่ต่างอะไรกับการแหวกว่ายอยู่ในมหาสมุทรของข้อมูลข่าวสารที่ไหลท่วมโลกออนไลน์อยู่ตลอดเวลา ข้อมูลที่มีอยู่อย่างมหาศาลนั้น มีทั้งข้อเท็จจริงที่มีประโยชน์ เนื้อหาที่เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียน และยังรวมไปถึงข้อมูลที่บิดเบือน ข้อมูลที่นั่งเทียนคิดเองเออเอง ข้อมูลเท็จที่มีเจตนาหลอกลวง โฆษณาชวนเชื่อที่เกินจริง ข้อมูลที่มีเจตนาใส่ร้ายโจมตีฝ่ายตรงข้ามเพื่อให้เกิดความเกลียดชัง ฯลฯ ส่วนหนึ่งสามารถตรวจสอบได้ไม่ยากว่าเป็นข้อมูลจริงหรือไม่ แต่ก็มีข้อมูลจำนวนไม่น้อยที่ยากจะตรวจสอบหรือหาต้นตอของความบิดเบือน
สำหรับข้อมูลที่ไม่ใช่ความจริงทั้งหมด จะถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มของ “ข่าวปลอม” หรือ Fake News ซึ่งการที่ข่าวปลอม ที่มักถูกสร้างขึ้นมาด้วยวัตถุประสงค์บางอย่าง ถูกรับมาแล้วแชร์ต่อออกไปเรื่อย ๆ ถือเป็นเรื่องที่น่ากลัวมากในยุคที่เราสามารถรับข้อมูลข่าวสารได้อย่างรวดเร็ว เพราะข่าวปลอมนั้นเดินทางเร็วกว่าข่าวจริงหลายเท่า รวมถึงกลวิธีการนำเสนอข่าวปลอมหลายข่าวใช้หลักจิตวิทยาเข้ามาช่วย ทำให้คนแยกไม่ค่อยออกว่าข่าวจริงหรือข่าวปลอม หรือถ้าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตัวเองโดยตรง ก็อาจพร้อมที่จะเชื่อโดยไม่ตรวจสอบเลยก็ได้ ดังนั้น การแชร์ข่าวปลอมกันเป็นทอด ๆ ส่งต่อข้อมูลผิด ๆ กันไปเรื่อย ๆ เป็นเรื่องที่น่ากังวลแค่ไหน
สร้างความเข้าใจผิดในเรื่องต่าง ๆ เป็นวงกว้างไปเรื่อย ๆ
จากรายงานของ MIT ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาและวิจัยที่มีชื่อเสียงระดับโลก พบว่า “การเดินทางของข่าวปลอมนั้นรวดเร็วกว่าข่าวจริงถึง 6 เท่าในทวิตเตอร์ (แพลตฟอร์ม X ปัจจุบัน)” เนื่องจากข่าวปลอมที่เกิดจากความพยายามปั่นกระแส จะกลายเป็นไวรัลได้ง่ายกว่าข่าวอื่น เมื่อผู้คนจำนวนมากรับรู้ข่าวปลอมนั้น ๆ แล้ว ก็มีความเชื่อที่ผูกพันต่อข่าวปลอมนั้น ที่ไม่เพียงแต่ยังคงแชร์ต่อไปสู่บุคคลอื่นเป็นวงกว้าง แต่จะปฏิเสธการรับสารที่
ข้อมูลตรงข้ามกับข่าวปลอมนั้นด้วย
พูดง่าย ๆ ก็คือ ถ้าใครสักคนเชื่อข่าวปลอมอย่างสนิทใจไปแล้ว ก็จะจำเฉพาะข้อมูลนั้นไปกระจายต่อ ซึ่งต่อให้มีความพยายามจะแก้ไขความเข้าใจผิดโดยการบอกว่าข่าวก่อนหน้านี้เป็นข่าวปลอม คนส่วนมากก็ไม่ได้สนใจจะเปิดรับข้อมูลใหม่ว่าข่าวนั้นเป็นข่าวปลอม ข่าวปลอมที่เป็นไวรัลในครั้งแรกจึงสร้างความเข้าใจที่คาดเคลื่อนออกไปเรื่อย ๆ ไม่รู้จบสู่สังคมวงกว้าง อาจเกิดการตัดสินใจที่ผิดพลาด และมีผลกระทบด้านลบที่ส่งผลเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินตามมา
เสียความน่าเชื่อถือ
ข่าวปลอมจะเป็นข่าวเกี่ยวกับอะไรก็ได้ โดยต้นตอของข่าวปลอมอาจมีที่มาจากความเข้าใจผิด ความไม่เข้าใจ การเล่าต่อแบบปากต่อปากที่สอดแทรกด้วยความคิดเห็นของหลายปาก หรือสารค่อย ๆ ถูกแปลงเพราะส่งต่อกันมาหลายทอด หรือแม้แต่ถูกสร้างขึ้นด้วยเจตนาบางอย่าง การที่ตัวเราเอง คนดัง/คนมีชื่อเสียงในสังคม หรือสื่อมวลชน ทั้งสื่อหลักและสื่อใหม่ ฯลฯ หากเข้าร่วมเป็น 1 ในผู้ร่วมแชร์ข่าวปลอมนั่น แล้วมาทราบทีหลังว่าแชร์ข่าวปลอม จะทำให้ความน่าเชื่อถือลดลงทันที ทั้งยังอาจเกิดผลกระทบต่อตนเอง บุคคลอื่น กลุ่มบุคคล หรือสังคมโดยรวมด้วย
ความแตกแยกและความเกลียดชัง
ข่าวปลอม อาจเป็นจุดเริ่มต้นแรก ๆ ของความขัดแย้ง ไม่ว่าจะเริ่มขึ้นมาจากความเข้าใจผิด เข้าใจไม่ตรงกัน หรืออาจเกิดจากการที่ผู้ไม่หวังดีสร้างข่าวโคมลอยขึ้นมา ใส่สีตีไข่ สุมเชื้อเพลิงลงไปมากขึ้น เมื่อข่าวปลอมกระจายไปยังกลุ่มคนที่มีความคิดความเชื่อต่าง ๆ ที่ไม่เหมือนกัน จะทำให้เกิดเป็นรอยร้าวและความแตกแยกของผู้คนในสังคม มีการแบ่งกลุ่มแบ่งก๊กของคนที่มีความคิดความเชื่อเหมือน ๆ กัน คนหัวอ่อนก็จะยิ่งถูกคนสุดโต่งล้างสมองด้วยข้อมูลปลอมที่เปรียบดั่งเชื้อไฟ ทำให้ในกลุ่มเดียวกันฝังหัวกับความคิดความเชื่อเดิม และต่อต้านข้อมูลที่ตรงกันข้ามอย่างรุนแรง หากถูกปั่นมาก ๆ จะทำให้ความแตกแยกยิ่งหยั่งรากลึก นำไปสู่ความโกรธเกลียดเคียดแค้นอีกฝ่ายอย่างรุนแรง
สร้างความปั่นป่วน โกลาหล ชุลมุน เพราะถูกทำให้ตื่นตระหนก
ข้อมูลเท็จบางข้อมูลอาจไม่ได้ตั้งใจจะปั่นให้กลายเป็นข่าวปลอมตั้งแต่แรก แต่อาจเริ่มมาจากการล้อเล่นหรือแกล้งกันในกลุ่มเล็ก ๆ มากกว่า อย่างไรก็ดี พอข่าวปลอมจุดติดและลุกลามอย่างรวดเร็ว มันก็เกินที่จะควบคุม โดยเฉพาะข่าวปลอมที่เกี่ยวกับภัยพิบัติ โรคระบาด การก่อการร้าย หรือเรื่องที่ไม่ปลอดภัยแก่ชีวิตและทรัพย์สิน เมื่อถูกปั่นขึ้นมาจนคนกลุ่มใหญ่เชื่อ สังคมจะเริ่มปั่นป่วน มีความชุลมุนวุ่นวาย ความโกลาหล ขึ้นมาจากการที่ผู้คนต่างแตกตื่นกับข่าวปลอมที่ได้รับ ยิ่งถ้าเป็นข่าวที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ยาก ชนิดที่แม้แต่สื่อมวลชนยังรายงานข่าวไม่ตรงกัน ก็จะยิ่งตื่นตระหนก เพราะไม่รู้ว่าจะเชื่อข่าวจากแหล่งไหนได้บ้าง
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.