WWF ประเทศไทย ดึงภาคธุรกิจร่วมขับเคลื่อนการลดใช้พลาสติกอย่างยั่งยืน

องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล สำนักงานประเทศไทย (WWF Thailand) ผนึกกำลังภาคเอกชนร่วมลดการรั่วไหลของพลาสติกสู่ธรรมชาติ หวังขับเคลื่อนการปรับรูปแบบและกระบวนการดำเนินธุรกิจให้มีการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้โครงการลดพลาสติกขององค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากลอย่าง Plastic ACTion (PACT) พร้อมประกาศความร่วมมือครั้งแรกกับองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ LINE MAN Wongnai และ foodpanda มุ่งส่งเสริมการลดใช้พลาสติกในอุตสาหกรรมฟู้ดเดลิเวอรี ภายใต้แนวคิด ‘ลด-เพิ่ม-แลกเปลี่ยน’ เดินหน้าขยายผลโครงการฯ จากธุรกิจท้องถิ่นใน 4 เมืองทางภาคใต้  สู่การสร้างความเปลี่ยนแปลงระดับประเทศ ตั้งเป้าต่อยอดความร่วมมือกับภาคธุรกิจอื่นๆ และสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายระยะยาวระดับโลกขององค์การฯ ในการลดขยะพลาสติกลงร้อยละ 30 ภายในปี 2030

นายรัฐพล พิทักษ์เทพสมบัติ รองผู้อำนวยการฝ่ายอนุรักษ์ WWF ประเทศไทย เปิดเผยว่า “ขยะพลาสติกเป็นประเด็นปัญหาระดับโลกที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของเราทุกคน ทุกปีมีการผลิตพลาสติกถึง 430 ล้านตันทั่วโลก ในประเทศไทย มีขยะพลาสติกถึงร้อยละ 75 หรือราว 1.5 ล้านตันต่อปี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบรรจุภัณฑ์อาหารแบบใช้ครั้งเดียว ไม่มีการนำกลับไปใช้ประโยชน์ใหม่[1]  ซึ่งเสี่ยงต่อการรั่วไหลสู่ธรรมชาติและสามารถตกค้างอยู่ในมหาสมุทรได้เป็นเวลาหลายร้อยปี ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเล อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ความมั่นคงทางอาหาร รวมถึงความเป็นอยู่ของมนุษย์ การแก้ไขปัญหามลพิษจากขยะพลาสติกเป็นภารกิจที่ WWF ให้ความสำคัญ และมุ่งผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการผลิตและบริโภค รวมถึงกระบวนการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพที่ครอบคลุมตลอดวัฏจักรชีวิต (Life Cycle) ของพลาสติก”

โครงการ Plastic ACTion (PACT) ริเริ่มขึ้นโดยองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล สำนักงานประเทศสิงคโปร์ (WWF Singapore) ภายใต้โครงการ ‘No Plastic in Nature Initiative’ เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจในการแก้ไขปัญหาพลาสติกอย่างยั่งยืน ผ่านการแบ่งปันองค์ความรู้ นวัตกรรม และแนวปฏิบัติต่าง ๆ ในการผลิตและบริโภคอย่างรับผิดชอบ เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคเพื่อลดการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวที่ไม่จำเป็น โดยในประเทศสิงคโปร์ WWF ได้จับมือกับองค์กรธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่ในปี 2019 ในการริเริ่มฟีเจอร์ ‘ไม่รับช้อนส้อมพลาสติกแบบอัตโนมัติ’ บนแอปพลิเคชัน และสามารถลดปริมาณขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งได้มากกว่า 1 ล้านชิ้นต่อสัปดาห์

ที่ผ่านมา WWF ประเทศไทย ได้ร่วมกับภาคีในพื้นที่ นำร่องโครงการ Plastic ACTion ผ่านความร่วมมือกับผู้ประกอบการท้องถิ่น 38 รายในอุตสาหกรรมอาหารและบริการ ใน 4 เมือง ได้แก่ สุราษฎร์ธานี เกาะสมุย สงขลา และหาดใหญ่ ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายของโครงการ Plastic Smart Cities โดยมุ่งเน้นให้คำปรึกษา สนับสนุนเครื่องมือและทักษะในการวัดและประเมินผลข้อมูล สนับสนุนด้านการสื่อสารเพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม และสร้างเครือข่ายให้แก่ธุรกิจตลอดห่วงโซ่เพื่อดำเนินมาตรการ PACT อย่างเป็นรูปธรรม

“ภาคธุรกิจของไทยมีความมุ่งมั่นและความพร้อมในการขับเคลื่อนการพัฒนาสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน โดย WWF  ประเทศไทย เล็งเห็นถึงศักยภาพของธุรกิจในกลุ่มผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม อาทิ ฟู้ดเดลิเวอรี ซึ่งสามารถเข้าถึงและสร้างการเปลี่ยนแปลงในกลุ่มผู้บริโภคและผู้ประกอบการรายย่อยจำนวนมากทั่วประเทศ เราจึงรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ LINE MAN Wongnai และ foodpanda เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Plastic ACTion โดยเราจะทำงานร่วมกันเพื่อขยายผลของกิจกรรมด้านการลดใช้พลาสติก และผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับอุตสาหกรรมต่อไป” นายรัฐพล กล่าวเสริม

ความร่วมมือครั้งนี้ LINE MAN Wongnai และ foodpanda ร่วมส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านสู่แนวทางการใช้พลาสติกอย่างยั่งยืนใน 3 ด้าน

  1. ลด: สนับสนุนการลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวในระบบการจัดส่งอาหาร
  2. เพิ่ม: ส่งเสริมการใช้วัสดุที่ยั่งยืน บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และบรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ เพื่อทดแทนการใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง
  3. แลกเปลี่ยน: แบ่งปันข้อมูลที่เกี่ยวข้อง การดำเนินงานตามนโยบาย กรณีศึกษาและแนวปฏิบัติต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน

ที่ผ่านมา ทั้ง LINE MAN Wongnai และ foodpanda ได้เปิดใช้บริการฟีเจอร์ “ไม่รับช้อนส้อมพลาสติก” บนแอปพลิเคชัน โดยสามารถลดปริมาณขยะพลาสติกในระบบไปแล้วกว่า 2,000 ตัน รวมถึงสนับสนุนให้ร้านค้าบนแพลตฟอร์มหันมาใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมผ่านการจับมือกับผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์รายใหญ่ของไทย โดยตั้งเป้าว่าความร่วมมือภายใต้โครงการ Plastic ACTion จะเป็นอีกแรงขับเคลื่อนสำคัญในการขยายผลการแก้ปัญหาพลาสติกในธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรีได้อย่างยั่งยืน

ในประเทศไทย โครงการ Plastic ACTion มีการดำเนินกิจกรรมคู่ขนานไปกับโครงการ Plastic Smart Cities ซึ่งมุ่งแก้ไขปัญหามลพิษจากขยะพลาสติกที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศชายฝั่งและความหลากหลายทางชีวภาพใน 4 เมืองนำร่อง ผ่านการร่วมมือกับเทศบาลนคร โรงเรียน และชุมชนในท้องถิ่น โดยมีกิจกรรม เช่น โรงเรียนปลอดพลาสติก ธนาคารขยะชุมชน ศูนย์คัดแยกขยะ และจุดรับคืนบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น

โครงการ Plastic ACTion ของ WWF ทำงานภายใต้วิสัยทัศน์ No Plastic in Nature โดยมีเป้าหมายระดับโลกในการลดขยะพลาสติกลง ร้อยละ 30 ภายในปี 2030 มุ่งเน้นการกำจัดพลาสติกที่ไม่จำเป็นทั้งหมด พร้อมส่งเสริมการใช้บรรจุภัณฑ์ที่นำกลับมาใช้ใหม่และรีไซเคิลได้ เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน และกำจัดปัญหาขยะพลาสติกในธรรมชาติ

[1] สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.