ทำไมคนโกหกถึงชอบหงุดหงิด ทั้ง ๆ ที่เราต่างหากที่ควรโกรธ?

โดยเฉลี่ยคนเราจะโกหกอย่างน้อย 1-2 ครั้งต่อวันเป็นปกติไม่ว่าจะเรื่องเล็กไปจนถึงเรื่องใหญ่ และมักเกิดขึ้นได้ในทุกความสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเพื่อน ครอบครัว หรือในคู่รัก

ซึ่งการโกหกที่มักพบเจอปัญหาได้บ่อยและคุ้นเคยกันมากที่สุดคงหนีไม่พ้นในความสัมพันธ์ของคู่รัก 1 ในเหตุผลของการทะเลาะกันมักมาจากสาเหตุของการโกหก จนนำไปสู่ trust issue และหลายคนมักประสบปัญหาเมื่อเวลาเราจับได้หรือรู้ทันการโกหก และเริ่มพูดถึง กลับกลายเป็นคนที่ถูกหงุดหงิดใส่ซะงั้น ทำไมเป็นเราล่ะ?

เราทุกคนล้วนโกหก

เหตุผลของการโกหกมีตั้งแต่เพื่อผลประโยชน์ทั้งด้านการเงิน การเรียน หรือการใช้ชีวิต เพื่อความสะดวกสบาย เพื่อปกปิดความผิดหรือสิ่งที่ได้ทำ เพื่อปกป้องตนเองและผู้อื่น หรือโกหกแบบไม่มีเหตุผลเลยก็ได้ เช่น วันนี้มาสาย ทั้งที่ความจริงแล้วเราตื่นสาย แต่กลับบอกว่ารถติด หรือบอกเพื่อนว่าวันนี้เราไม่ว่าง แต่จริง ๆ เราแค่อยากนอนอยู่เฉย ๆ เป็นต้น ซึ่งเหตุผลการโกหกของแต่ละคนก็จะแตกต่างกันไป

ใช่ว่าการโกหกจะเป็นสิ่งไม่ดี เพราะบางครั้งเราก็โกหกเพื่อสีสันในชีวิต ไม่ได้ซีเรียสในผลของการโกหก เพราะไม่ได้มีเจตนารุนแรงแอบแฝงแต่อย่างใด แต่ในบางความสัมพันธ์และในบางเรื่อง การโกหกกลับเป็นประเด็นที่ค่อนข้างซีเรียสมาก ๆ ก็อยู่ที่ว่าคนโกหกทำไปเพื่ออะไร แล้วมีเหตุผลอะไร

คนโกหกกลายเป็นคนที่ใส่อารมณ์จากความผิด

การโกหกในเรื่องที่ทำผิดมา ปฏิกิริยาการปกป้องตัวเองจากปัญหาที่จะเกิด หรือไม่ยอมที่จะเป็นฝ่ายผิดในเรื่องนั้น ๆ จะเริ่มทำงานออกมาในรูปแบบของการแสดงพฤติกรรมต่อต้านว่าเราโกหก Dr. Lillian Glass นักวิเคราะห์พฤติกรรม ได้ให้เหตุผลในปฏิกิริยาของคนโกหกที่มักแสดงออกมา คือ การแสดงความก้าวร้าวเพื่อเบี่ยงเบนประเด็นความสนใจในเรื่องที่ถูกกล่าวหา

Dr. Leanne ten Brinke นักจิตวิทยาด้านนิติวิทยาศาสตร์มหาลัยในแคลิฟอร์เนีย ก็ได้กล่าวว่า คนโกหกมักจะก้าวร้าว แสดงความโมโหออกมาพร้อมที่จะเป็นศัตรูกับคุณอยู่ตลอด พวกเขาจะรู้สึกกระวนกระวาย อยู่ไม่สุข จนอาจส่งเสริมให้เขาพลิกจากฝ่ายผิดมาเป็นฝ่ายโกหกเราแทนได้

เมื่อมีความรู้สึกกลัวว่าจะถูกจับได้ว่าโกหก คนเราจะมีสัญญาณความกลัวที่แสดงออกมา

เช่น พูดด้วยน้ำเสียงที่สูงกว่าปกติ พูดเร็ว และดังกว่าปกติ พูดติดขัด พูดผิดบ่อย ๆ สัญญาณดังกล่าวจะยิ่งชัดเจนขึ้นหากผู้พูดคาดว่าและกลัวว่าจะถูกจับได้ จึงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลว่าทำไมคนที่โกหก กลายเป็นคนที่ก้าวร้าวใส่คนที่จับผิดได้ซะงั้น ทั้ง ๆ ที่ควรพูดคุยกันด้วยความใจเย็น และอธิบายด้วยเหตุผล แต่ต่อมความรู้สึกในความกลัวนั้น ทำให้การแสดงออกตรงข้ามกับที่ควรได้รับ

‘ใจดีกับคนอื่น ใจร้ายกับคนใกล้ตัว’

‘หันกลับมาเมื่อไหร่ก็เจอ’

คนเรามักแสดงพฤติกรรมที่แท้จริงเมื่ออยู่ในที่ ที่รู้สึกปลอดภัย หรือกับคนที่เรารู้สึกว่า เราทำอะไรไปสุดท้ายเขาก็จะอยู่กับเราอยู่ดี บวกกับความคาดหวังจากในตอนที่รู้จักกันในตอนแรก ที่เต็มไปด้วยความสุภาพ ความเกรงใจ ที่เราต่างสร้างความประทับใจให้กัน แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งของชีวิต เมื่อมีความสนิทใจกันมากพอ การแสดงตัวตนที่แท้จริงก็ค่อย ๆ ออกมาเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในเรื่องของอารมณ์ที่มักปลดปล่อยกับคนใกล้ตัวมากกว่าคนไกลตัว จนบางครั้งอาจทำให้อีกฝ่ายคิดว่าตนเป็นสนามอารมณ์ไปซะแล้วหรือเปล่า

ในความสัมพันธ์ของคู่รัก ด้วยความคาดหวังที่จะให้เขาเป็นคนอารมณ์เย็นเหมือนช่วงแรกที่ความเกรงใจมันเอ่อล้นจนหาความหงุดหงิดไม่เจอ แต่เมื่อถึงช่วงเวลาหนึ่งที่ความรู้สึกถูกปลดให้เผยนิสัยที่แท้จริง การใส่อารมณ์ต่อกัน จะสามารถเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าเดิม ความเย็นที่มีค่อย ๆ กลายเป็นไอน้ำ

ด้วยพฤติกรรมของมนุษย์ที่แตกต่างกันไป วิธีการโกหกและการตอบโต้ต่อสถานการณ์ที่ถูกจับได้ก็ต่างกัน ถึงแม้โดยส่วนใหญ่จะถูกหงุดหงิดกลับมาแต่ก็ไม่ใช่กับทุกคน ด้วยพื้นฐานของมนุษย์และสถานการณ์ที่เจอมาแตกต่างกัน การปรับตัวและความเข้าใจ โดยเฉพาะความเกรงใจต่อกันนั้นเป็นสิ่งสำคัญ สำหรับใครที่เจอสถานการณ์เหล่านี้อยู่ลองคุยกันด้วยเหตุผลมากกว่าอารมณ์ หรือจับเข่ากันอย่างจริงจังในปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาไปด้วยกัน

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.