ไม่คาดหวัง จึงไม่ผิดหวัง: เราสามารถไม่คาดหวังได้จริง ๆ หรอ?

‘ครั้งหน้าเอาใหม่’ ‘รอบนี้จะสอบให้ดีขึ้น’ ‘งวดนี้มาแน่’ หากพูดถึงความหวัง หรือความคาดหวัง เรียกได้ว่าเป็นสิ่งที่ทุกคนมีไม่ว่าจะตั้งแต่วัยเด็ก จนถึงวัยผู้ใหญ่ หลายล้านความหวังที่เราตั้งขึ้นในจิตใจ ทั้งเรื่องเล็กและเรื่องใหญ่ ต่างพาให้เรามีเป้าหมายที่จะทำมัน

ความหวังคืออะไร ทำไมเราถึงมี

ความหวัง หรือ ἐλπίς (elpis) มีมาตั้งแต่ในยุคกรีกโบราณ เช่น หนังสือ Works and Days โดยกวี เฮสิโอด (Hesiod) ได้บอกเล่าเรื่องราวความหวังเทพกับมนุษย์ผ่านกล่องปริศนาที่รู้จักกันในนาม Pandora’s Box

โดยเริ่มจาก โพรมีธีอุส (Prometheus) ได้ขโมยไฟจากเทพเจ้าเตาไฟอย่าง เฮสเตีย (Hestia) มาให้กับเหล่ามนุษย์เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายในการใช้ชีวิต เช่น ใช้หุงต้ม ให้แสงสว่าง จนเกิดความเฉื่อยชาในการใช้ชีวิต เทพเจ้าซุสจึงเกิดความขุ่นเคืองได้มอบสิ่งตอบแทนในการกระทำนี้เป็นกล่องปริศนา และสร้างผู้หญิงคนแรกนาม ‘แพนดอร่า’ ขึ้นมาให้กับ เอพิมีเทียส (Epimetheus)น้องชายของโพรมีธีอุส และเป็นสามีของแพนดาร่าในที่สุด

เทพเจ้าซุสได้สร้างความอยากรู้อยากเห็นลงไปในตัวของแพนดอร่า จนเปิดกล่องปริศนาที่มีทั้งความชั่วร้ายและความทุกข์ในกล่องได้ออกสู่โลกภายนอก เหลือทิ้งไว้แต่ความหวังที่จะทำให้ความชั่วร้ายเหล่านี้หายไป

ได้มีการตีความแตกต่างกันออกไปในแต่ละผู้อ่านถึงความหวัง ว่าแท้จริงแล้ว ความหวังคืออะไร ในปี 1986 หนังสืออย่าง The Revolution of Hope: Toward a Humanized Technology เอริช ฟรอมม์ (Erich Fromm) นักจิตวิทยาและจิตวิทยาสังคมชาวเยอรมัน กล่าวไว้ว่า

“ความหวังเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกันไม่ใช่การรอคอยและไม่ใช่การบังคับให้เกิดได้

การมีความหวังหมายถึงการเตรียมพร้อมทุกขณะสำหรับสิ่งที่ยังไม่เกิด และยังคงไม่หมดหมดหวังถ้าสิ่งเหล่านั้นยังไม่เกิด”

หรืออธิบายได้ว่า ความหวัง คือ สิ่งที่คาดหวังว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต เช่นการทำสิ่งหนึ่งเพื่อหวังให้เกิดอีกสิ่งหนึ่ง ความหวังประกอบไปด้วยการมีอิสระในการตัดสินใจในเส้นทางที่จะไปให้ถึงสิ่งที่หวัง และเป็นธรรมดาที่จะเจออุปสรรค แต่คนที่มีความหวังมักมั่นใจในตัวเอง มองเห็นวิธีการบรรลุเป้าหมายเพื่อก้าวข้ามผ่านอุปสรรคไปได้

ถ้าไม่มีความหวัง ความผิดหวังจึงไม่เกิดจริงหรือ?

เป็นไปได้ไหมที่เราจะไม่มีความหวังเลยแม้แต่เรื่องเดียว หากมองย้อนกลับไปตั้งแต่จำความได้ ความหวังก็เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต อยู่ติดตัวกันมาตั้งแต่เด็ก ๆ ไม่ว่าจะหวังอยากได้ของเล่น อยากกินขนมอร่อย ๆ หรือได้เล่นกับเพื่อน ปฏิเสธไม่ได้ว่าชีวิตเราดำเนินไปพร้อม ๆ กับการมีหวัง

นักจิตวิทยาเชิงบวกชาวอเมริกัน ชาร์ลส์ ริชาร์ด สไนเดอร์ (Charles Richard Snyder) ได้คิดค้นทฤษฎีเกี่ยวกับความหวัง Hope Theory ที่บอกเล่าถึงความคิดทางปัญญาและอารมณ์ที่ก่อให้เกิดและนำไปสู่ความหวัง คือ

  • การมีเป้าหมายในการทำสิ่งต่าง ๆ ที่ชัดเจน (Goals Thinking)
  • ความสามารถในการสร้างกลยุทธ์ที่จะช่วยบรรลุเป้าหมาย (Pathways Thinking)
  • ความสามารถในการสร้างและรักษาแรงจูงใจในการทำตามกลยุทธ์ให้ลุล่วง (Agency Thinking)

ซึ่งเป็นแนวทางการปรับใช้ความหวังอย่างมีเป้าหมายให้สำเร็จไปได้ และยังคงรักษาไว้ซึ่งความหวังที่ดี มองในอีกแง่หนึ่งคือเราไม่มีความหวังไม่ได้ แต่เราสามารถมีความหวังที่ไม่คาดหวังจนนำมาสู่ความผิดหวังได้

การใช้ทฤษฎีความหวังมาช่วยในการจัดการความหวังให้ไปในทิศทางที่ดี เป็นอีกตัวช่วยที่ทำให้เราตั้งเป้าหมายเพื่อสำเร็จความหวังนั้น ๆ และถึงแม้ความผิดหวังจะเกิด หากเราสร้างกลยุทธ์เพื่อบรรลุเป้าหมายได้อย่างอิสระ เราก็สามารถหาทางใหม่เพื่อไปสู่ความหวังได้อย่างไร้กังวล

เราสามารถมีความหวังได้ ตราบใดที่เรายังคงดำเนินชีวิตต่อไป การมีความหวังไม่ใช่ความผิด มีสิทธิที่จะมีเท่าไหร่ก็ได้ตามใจเราหวัง

ความหวังไม่ได้นำมาซึ่งความผิดหวังหรือความสำเร็จเท่านั้น แต่ระหว่างทางทำให้เราได้เรียนรู้ประสบการณ์ของชีวิต การจะทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้สำเร็จ แลกมาด้วยความตั้งใจเป็นหลัก และสามารถมองเรื่องความผิดพลาดให้เป็นเรื่องปกติที่จะเกิด พร้อมนำมาเป็นบทเรียนในครั้งต่อไป

ไม่ใช่ไม่คาดหวังจึงไม่ผิดหวัง แต่เพราะผิดหวัง จึงมีความหวัง

อย่ากลัวที่จะมีความหวังหรือผิดหวัง แต่ควรรู้จักหวังให้ไม่เจ็บ หรือถึงแม้จะบอบช้ำแต่ให้หวังไว้ว่าพรุ่งนี้จะดีขึ้น การก้าวข้ามความผิดหวังให้ไปสู่บทเรียนชีวิต ถือว่าเป็นความผิดหวังที่สมบูรณ์

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.