ตำนานสีรุ้ง Queen of Drag สู่เสรีภาพ LGBTQIAN+
ตำนานสีรุ้ง Queen of Drag สู่เสรีภาพ LGBTQIAN+
ธงสีรุ้งโบกสะบัดท่ามกลางสีสันและรอยยิ้มของผู้คนในยุคคำว่า “เพศสภาพ” ลดการกำหนดบทบาทของสถานภาพฐานันดรของตัวบุคคลลงไปทุกขณะ แต่กว่าจะถึงวันนี้ที่ LGBTQIAN+ ยืนหยัดในสังคมไม่ต่างจากหญิงหรือชาย พวกเขาต้องผ่านเหตุการณ์ที่โลกควรจดจำ
Stonewall Riots
เช้าตรู่ของวันที่ 28 มิถุนายน 1969 ตำรวจนิวยอร์กบุกเข้าไปในบาร์แห่งหนึ่งชื่อ “สโตนวอลล์อินน์” (Stonewall Inn) ในย่านกรีนวิชวิลเลจ บนถนนคริสโตเฟอร์ เขตแมนฮัตตัน อ้างว่าบาร์แห่งนี้ขายเหล้าเถื่อน
ขั้นตอนการจับกุมเป็นไปอย่างดิบเถื่อน ตำรวจสั่งให้คนในร้านที่แต่งกายเหมือนหญิงทุกคนเข้าไปในห้องน้ำ จับถอดเสื้อผ้าเพื่อตรวจดูอวัยวะเพศว่าเป็นหญิงแท้หรือไม่ ถ้าไม่ใช่ก็ใส่กุญแจมือ
13 คนถูกกุมตัวขึ้นรถ มีทั้งลูกค้าและพนักงาน ทั้งหมดล้วนเป็นเกย์
ผู้ต้องหาที่เป็นเกย์คนหนึ่งถูกทุบหัวเพราะขัดขืนที่จะขึ้นรถ เขาร้องขอความช่วยเหลือ ผู้คนย่านนั้นพากันฮือเข้าทุบรถตำรวจ ตะโกนและขว้างปาข้าวของใส่ตำรวจ มีทั้งอวัยวะเพศชายปลอม ขวด หิน นาทีจากนั้นถัดมาก็เกิดการปะทะจนลุกลามกลายเป็นเหตุการณ์จลาจล
Photographer: Joseph Ambrosini of the New York Daily News รูปถ่ายเพียงภาพเดียวที่บันทึกคืนแรกของเหตุจลาจล STONEWALL โดยโจเซฟ อัมโบรซินี ช่างภาพอิสระ แสดงให้เห็นการต่อสู้ของชาวเกย์และตำรวจ
สื่อพาดหัวเหตุการณ์นี้ว่า Stonewall Riots นี่คือวันจุดชนวนขบวนการเรียกร้องสิทธิทางเพศสภาพที่สำคัญที่สุดในสหรัฐอเมริกา หลังจากการออกมาชุมนุมต่อต้านเป็นระยะ ๆ ในช่วงทศวรรษ 60 อันเนื่องจากมหานครนิวยอร์กออกกฎหมายห้ามประชาชนแต่งตัวผิดเพศสภาพ ห้ามเปิดบาร์เกย์ และยังกระพือให้เกิดกระแสสังคมการรังเกียจคนหลากหลายทางเพศ (ว่าเป็นพวกคนบาป) การเป็นเกย์ถูกสังคมบูลลีไม่แพ้การเหยียดผิวในช่วงก่อนหน้านี้
"Say it loud, gay is proud"
เพื่อเป็นการรำลึกเหตุจลาจลสโตนวอลล์ ในปีถัดมา มีการจัดตั้งคณะกรรมการวันแห่งเสรีภาพบนถนนคริสโตเฟอร์ โดยถือเอาเสาร์สุดท้ายของเดือนมิถุนายน เป็นวันจัดงาน “วันแห่งเสรีภาพบนถนนคริสโตเฟอร์” (Christopher Street Liberation Day) มีการเดินรณรงค์เพื่อรำลึกเหตุการณ์ดังกล่าว เพื่อนำไปสู่การเรียกร้องสิทธิ เป็นการสำแดงพลังในพื้นที่สาธารณะครั้งแรก (ปี 1970) เหล่าคนข้ามเพศพากันตะโกนก้องว่า “Say it loud, gay is proud.”
By Rhododendrites - Own work, CC BY-SA 4.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=49720738สโตนวอลล์อินน์ ตั้งอยู่ในย่านกร Greenwich Village เป็นสถานที่เกิดเหตุการณ์จลาจลสโตนวอลล์ ในเดือนมิถุนายน ปี 1969 เหตุการณ์ครั้งนี้ในประวัติศาสตร์ของชาว LGBTQ+ นิวยอร์ค ได้กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ
การเดินรณรงค์ตามท้องถนนเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าว กลายเป็นวันสำคัญสากลที่ขยายผลไปถึงยุโรป ในปี 1978 สวิตเซอร์แลนด์เริ่มเดินรณรงค์เรียกร้องสิทธิ์ ตั้งต้นในเมืองซูริก ปี 1979 เยอรมนีจัดงานเพื่อชาวเกย์ในเมืองเบอร์ลินและเมืองเบรเมน
มิถุนายน-เดือนคนคู่ จึงกลายเป็นช่วงเดือนแห่งการเฉลิมฉลองและรณรงค์ถึงสิทธิของกลุ่มบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศเรื่อยมา และเรียกว่าเป็น Pride Month
ธงสีรุ้ง-สัญลักษณ์เพื่อการรวมใจ
ในการเดินรณรงค์วัน Gay Freedom Day ในปี 1978 ศิลปินชาวอเมริกัน กิลเบิร์ต เบเกอร์ (Gilbert Baker) ออกแบบธงสัญลักษณ์ เรียกว่า “ธงสีรุ้ง” (Rainbow Flag) เพื่อเป็นการรวมใจชาวเกย์ สีแดง หมายถึง ชีวิต, สีส้ม-การเยียวยาทางจิตใจ, สีเหลือง-แสงอาทิตย์, สีเขียว-ธรรมชาติ, สีน้ำเงิน-ความกลมกลืน และสีม่วง หมายถึง จิตวิญญาณ
ก่อนธงสีรุ้งมี 6 สี เคยเป็นธง 8 สีมาก่อน กิลเบิร์ต เบเกอร์ ให้เหตุผลว่าการปรับเปลี่ยนนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความหมายของธง แต่เกิดขึ้นจากความจำเป็นด้านวัสดุผ้าและการจัดการ ตลาดขาดแคลนผ้าสีชมพูอย่างมาก
แท้จริงแล้วนั่นเกิดจากเหตุการณ์ที่ตอกย้ำให้ธงสีรุ้งทรงอิทธิพลมากขึ้น
ในปีเดียวกับธงสีรุ้งกำเนิด ฮาร์วีย์ มิลค์ (Harvey Milk) นักต่อสู้เพื่อสิทธิชาวรักร่วมเพศ เขาคือชายรักร่วมเพศคนแรกที่ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาเทศบาลเมืองซานฟรานซิสโก เขาบุกเบิกก่อตั้ง "ย่านคาสโทร" (Castro District) ย่านชุมชนเกย์ที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา เพื่อสนับสนุนธุรกิจที่เป็นของ LGBTQ+ ก่อตั้งองค์กรต่างๆ ที่ช่วยเหลือ LGBTQ+ และต่อสู้เพื่อสิทธิของพวกเขา
แต่รับตำแหน่งได้เพียง 8 เดือน ฮาร์วีย์ มิลค์ ถูกนายตำร;จลอบสังหาร สร้างความโศกเศร้าและความโกรธแค้นให้กับชุมชน LGBTQ+ ทั่วโลก ธง 7 แถบสี เป็นที่ต้องการเท่าทวี เป็นที่มาของปัญหาด้านวัตถุดิบ
ปี 1979 สถานการณ์บังคับให้ต้องปรับเปลี่ยนธงอีกครั้ง เมื่อแขวนธงตั้งตรงกับเสาไฟบนถนนมาร์เก็ตสตรีทของซานฟรานซิสโก แถบสีตรงกลางจะถูกเสาบดบัง แถบสีเทอควอยส์จึงถูกตัดออก ส่งผลให้กลายเป็นธงสีรุ้ง 6 สี ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน gilbertbaker ก่อนธงสีรุ้งมี 6 สี เคยเป็นธง 8 สีมาก่อน
LGBT เปิดกรอบ LGBTQIAN+
ในช่วงทศวรรษ 1990 มีการกำหนดอักษรย่อเพื่อเรียกคนข้ามเพศ ที่เดิมเรียกแต่เกย์กับเลสเบียนว่า LGBT เพื่อให้กว้างขวางขึ้น โดยดึงจากคำว่า เลสเบียน (Lesbian), เกย์ (Gay), ไบเซ็กชวล (Bisexual) และ ทรานส์เจนเดอร์ (Transgender) ต่อมาเพิ่ม Q ต่อท้าย มาจาก Queer หรือ Questioning หมายถึง ยังไม่ชัดเจนว่าจะข้ามเพศไหน และเพิ่มเครื่องหมาย+ เป็น “LGBTQ+” หมายถึงอื่น ๆ ที่มากกว่านี้
กระทั่งปัจจุบันใช้คำว่า LGBTQIAN+ เพิ่ม อินเตอร์เซ็กซ์ (Intersex) หมายถึง ผู้ที่มีภาวะเพศกำกวม ระบุเพศไม่ได้ มีลักษณะทางกายภาพแตกต่าง อะเซ็กซวล (Asexual) หมายถึง Asexual ผู้ที่ไม่มีแรงดึงดูดทางเพศ แต่มีรักโรแมนติกและเพศสัมพันธ์ได้ และ นอน-ไบนารี่ (Non-Binary) หมายถึง ผู้ที่ไม่ต้องการระบุเพศของตัวเอง ไม่จำกัดอยู่ที่เพศชายหรือหญิง
ชัยชนะแห่งความเท่าเทียม
26 มิถุนายน 2015 (พ.ศ. 2558) ประธานาธิบดีบารัค โอบามา (Barack Hussein Obama) แถลงว่า ศาลสูงสหรัฐฯ มีคำตัดสินเห็นชอบให้คู่รักที่เป็นเพศเดียวกัน สามารถแต่งงานกันได้ทั่วทั้ง 50 รัฐในสหรัฐฯ
ปีถัดมา ประธานาธิบดีโอบามา อีกเช่นกัน อนุมัติการสร้างอนุสาวรีย์เพื่อเป็นเกียรติแก่เหตุการณ์การเรียกร้องสิทธิของกลุ่มหลากหลายทางเพศดังกล่าวตรงบริเวณถนนคริสโตเฟอร์
แต่เหตุการณ์ที่นับเป็นชัยชนะที่สุดที่สุดของชาว LGBT+ หลังจากต่อสู้เพื่อให้ได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันมานานกว่าครึ่งศตวรรษ คือ การที่อธิบดีกรมตำรวจของมหานครนิวยอร์ก ออกมาแถลงขอโทษอย่างเป็นทางการ ในนามของกรมตำรวจนิวยอร์ก สำหรับการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เป็นตัวจุดชนวนเหตุจลาจลสโตนวอลล์เมื่อปี 1969
ไม่มีสิ่งใดงดงามสำหรับมนุษย์ ยิ่งไปกว่าการขอโทษและให้อภัย
นักแสดงชายผิวสีแต่งเป็นผู้หญิง สัญลักษณ์ของดอร์ซีย์ สวอนน์ Queen of Drag
wellcomecollection.org ภาพถ่ายโปรการ์ดพิมพ์สี ในปี 1903 แสดงให้เห็นนักแสดงผิวดำสองคน เกรกอรีและบราวน์ คนหนึ่งแต่งกายเป็นผู้หญิง เต้นรำเค้กวอล์กในปารีส
ดอร์ซีย์ สวอนน์ : Queen of Drag
Stonewall Riots ไม่ใช่ตำนานการต่อสู้ครั้งแรกชองชาว LGBT+
วิลเลียม ดอร์ซีย์ สวอนน์ (William Dorsey Swann) คือผู้ปักธงนี้คนแรก ตั้งแต่ยุคที่เกย์ยังไม่เป็นคำที่อุบัติขึ้น
สวอนน์เกิดในครอบครัวทาสในรัฐแมรีแลนด์ หลังสงครามกลางเมืองในสหรัฐอเมริกาจบลงพร้อมการเลิกทาส สวอนน์เริ่มสัมพันธ์สวาทกับอดีตทาสชายหลายคน หลังจากค้นพบว่าตัวเองเป็นชายรักชาย และชอบแต่งหญิง
การเปิดเผยตัวแบบลับๆ ในกลุ่มอดีตทาสเริ่มตอนที่นางจัดปาร์ตี้ที่รู้กันในหมู่ เพื่อรับอดีตทาสที่มีรสนิยมทางเพศคล้ายกันให้มาร่วมสนุกสนาน นางเรียกตนเองว่า “Queen of Drag”
คำว่า Drag มาจาก “Dressed Resembling A Girl” เป็นคำเรียกชายที่แต่งกายเลียนแบบหญิง
สวอนน์ถูกตำรวจจับกุมและคุมขังหลายครั้งตั้งแต่ปี 1888-1896 นานสุด 10 เดือน ทางการยัดข้อหาก่อความไม่สงบ และซ่องสุมหรือตั้งซ่อง คงไม่ต้องนึกภาพว่าระหว่างอยู่ในที่คุมขัง สวอนน์จะลำเค็ญทั้งกายและจิตใจเพียงใด สำหรับยุคแห่งการเหยียดผิว และเหยียดคนข้ามเพศ
สวอนน์เคยทำเรื่องเรียกร้องสิทธิเกย์ถึง ประธานาธิบดีโกรเวอร์ คลีฟแลนด์ (Stephen Grover Cleveland) และก็ถูกปฏิเสธตามคาด ถึงอย่างนั้น สวอนน์ก็ได้ชื่อว่าเป็น “อเมริกัน” รายแรกที่ต่อสู้เรื่องสิทธิการเป็น LGBTQ
หลังยุคของสวอนน์ กลุ่มอดีตทาสที่มีรสนิยมรักร่วมเพศก็ยังสืบสานปาร์ตี้ Drag ต่อไป ไม่ใช่แค่เพื่อความบันเทิง แต่เพื่อแสดงให้เห็นว่าพวกเขามีตัวตน
เรื่องราวของสวอนน์ได้รับการถ่ายทอดในสื่อหลายแขนงโดยใช้ภาพชายผิวสีในชุดเดรสหญิงสื่อถึงตัวตน จนคนส่วนใหญ่เข้าใจผิดว่าภาพดังกล่าวคือ สวอนน์ Queen of Drag แต่แท้จริงแล้ว คือนักแสดงในการเต้นรำ Cake-Walk ในปารีสเมื่อปี 1902
เมื่อสืบค้นถึงที่มาของภาพถ่ายดังกล่าว แม้ไม่พบภาพQueen of Drag ตัวจริง แต่เห็นชัดว่ามีการบันทึกภาพชายแต่งหญิงอยู่ไม่น้อยในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 ยุคที่เทคโนโลยีการถ่ายภาพเริ่มแพร่หลาย ทั้งในบทบาทนักแสดงละครและชีวิตจริง
ราวกับแสงสว่างเริ่มสาดส่อง จากเงาที่ผู้คนเหยียบย่ำ ปรากฏให้เห็นตัวตนไร้ข้อจำกัดให้โลกได้เห็นวิญญานเสรีที่แท้จริง
ข้อมูลประกอบการเขียน
- https://www.awarenessdays.com/awareness.../pride-month-2021/
- https://www.history.com/.../gay-rights/the-stonewall-riots
- https://en.wikipedia.org/wiki/William_Dorsey_Swann
- https://qspirit.net/william-dorsey-swann-queer/
- https://wellcomecollection.org/
- https://gilbertbaker.com/
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.