บริติช เคานซิล ผนึก กระทรวง อว. เดินหน้ายุทธศาสตร์ความร่วมมือไทย – สหราชอาณาจักร

บริติช เคานซิล ร่วมกับ กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เดินหน้าสานต่อความร่วมมือ ไทย – สหราชอาณาจักร ผ่านโครงการ ‘Thai-UK World-class University Consortium’ ในการพัฒนาและส่งเสริมทางด้านการศึกษาในระดับอุดมศึกษาผ่านการสร้างเครือข่ายในระดับนานาชาติและปฏิรูปแนวทางการบริหารการเรียนการสอนเชิงวิชาการ และวิจัยขั้นสูง ตลอดจนพัฒนาสถาบันอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อยกระดับการศึกษานำไปสู่การผลิตบัณทิตคุณภาพสูงที่ถือเป็นกลไกลสําคัญในการขับเคลื่อนความมั่นคงของประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยในปี 2567 มีจำนวนมหาวิทยาลัยในประเทศไทยเข้าร่วมทั้งสิ้น 7 มหาวิทยาลัย ใน 15 สาขาวิชา ได้แก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยนเรศวร พร้อมวางเป้าหมายเร่งเครื่องผลักดัน เสริมสร้างขีดความสามารถให้สถาบันอุดมศึกษาไทยเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ และมุ่งสู่ Ranking 100 อันดับมหาวิทยาลัยโลกในอนาคตอันใกล้นี้ต่อไป

มร.แดนนี ไวท์เฮด ผู้อำนวยการ บริติช เคานซิล ประเทศไทย กล่าวว่าโครงการ Thai-UK World-class University Consortium จะดึงเอาสุดยอดความรู้และความเชี่ยวชาญของไทยและสหราชอาณาจักร ทั้งในมุมของนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย นักการศึกษาและมหาวิทยาลัย เพื่อส่งเสริมการทำงานร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยไทยและสหราชอาณาจักรเพื่อรับมือกับปัญหาและความท้าทายที่ทั่วโลกต้องเผชิญ ไม่ว่าจะเป็น การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การเกษตรแบบยั่งยืน สันติภาพและความปลอดภัย รวมไปถึงด้านสุขภาพและสาธารณสุข ความร่วมมือเหล่านี้จะช่วยผลักดันการพัฒนาทางเศรฐกิจ รวมไปถึงสร้างความเชื่อมั่นและความเข้าใจระหว่างกันของคนไทยและสหราชอาณาจักร


ทั้งนี้ความสำเร็จตลอดระยะเวลา 3 ปีของโครงการ สะท้อนผ่าน 23 โครงการความร่วมมือระหว่าง 7 มหาวิทยาลัยไทยและ 14 มหาวิทยาลัยสหราชอาณาจักร ด้วยการสนับสนุนจากบริติช เคานซิลและกระทรวง อว โดยโครงการความร่วมมือเหล่านี้เริ่มส่งผลให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว อาทิ โครงการระหว่างคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี อ.ดร.พญ.นัตวรรณ อุทุมพฤกษ์พร ร่วมกับ University College London จัดการศึกษาระดับหลังปริญญาด้านการแพทย์เฉพาะทางด้านการได้ยิน และการทรงตัวได้เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ส่งผลให้ไทยได้เป็นศูนย์กลางการฝึกอบรมของภูมิภาค เป็นการดึงดูดแพทย์จากประเทศอื่น ๆ เข้ามาเรียนที่จุฬา ฯ นอกจากนั้นความร่วมมือนี้ได้นำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมในการรักษาผู้ป่วยขั้นสูงในด้านการได้ยินและการทรงตัว รวมทั้งการดูแลตรวจคัดกรองด้วยตนเองผ่าน Mobile Application โดยปัจจุบันได้เปิดให้ดาวน์โหลดได้ฟรีสำหรับทุกคน

นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี ผู้อำนวยการกองขับเคลื่อนและพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และหัวหน้ากลุ่มภารกิจบริหารยุทธศาสตร์ กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า “การพัฒนาและส่งเสริมอุดมศึกษาถือเป็นกลไกลสําคัญในการขับเคลื่อนความมั่นคงของประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งในปี 2567 ทางอว.มีความพร้อมเดินหน้าปฏิรูปอุดมศึกษาอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อเตรียมความพร้อมและตอบสนองต่อการพัฒนาประเทศได้อย่างเต็มศักยภาพ โดยความร่วมมือกับทางบริติช เคานซิล ซึ่งเป็นองค์กรนานาชาติในการส่งเสริมการศึกษาผ่าน โครงการความร่วมมือระดับอุดมศึกษาระหว่างประเทศไทยและสหราช-อาณาจักร (TH-UK World-class University Consortium) ถือเป็นส่วนหนึ่งบทบาทสำคัญของอว.ในการสนับสนุนและเปิดโอกาสให้สถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทยผ่านการจับคู่กับมหาวิทยาลัยในสหราชอณาจักร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทั้งในด้านระบบการเรียนการสอน ระบบบริหารมหาวิทยาลัยจากความเชี่ยวชาญของสหราชอาณาจักร ตลอดจนพัฒนางานวิจัยขั้นสูงที่มีความสอดคล้องกับความต้องการของโลกที่เปลี่ยนไปในปัจจุบันและมีความเชื่อมโยงในระดับสากล อาทิ ด้าน EV-AI Soft Power รวมถึงทางการแพทย์เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้ สมรรถนะในเชิงการแข่งขันของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยให้ทัดเทียมมหาวิทยาลัยชั้นนำในระดับนานาชาติ นำไปสู่การผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพสูง เพื่อเป็นบุคลากรชั้นแนวหน้าที่พร้อมขับเคลื่อนและสร้างความแข็งแกร่งอย่างยั่งยืนให้แก่ประเทศชาติในอนาคตต่อไป”

ด้าน รศ.ดร.รัฐชาติ มงคลนาวิน ประธานคณะทำงานส่งเสริมและยกระดับสถาบันอุดมศึกษาให้มีคุณภาพและมาตรฐานในระดับสากล กล่าวเสริมว่า “ความร่วมมือไทย – สหราชอาณาจักร ผ่านโครงการดังกล่าวนอกจากจะเป็นการจับคู่ความร่วมมือและสนับสนุนการทำงานในรูปแบบเครือข่ายของสถาบันอุดมศึกษาไทยกับนานาชาติแล้ว ยังสอดคล้องกับทิศทางแนวนโยบายด้านการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย (Re-inventing University) ในการพัฒนาปรับปรุงระบบนิเวศของสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทยแบบองค์รวมทั้งในด้านการปฏิรูประบบบริหารจัดการ ปรับเปลี่ยนหลักสูตรและการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นการสร้างความเป็นเลิศให้กับมหาวิทยาลัยที่สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล เพื่อเสริมสร้างศักยภาพสถาบันอุดมศึกษาสู่เวทีการแข่งขันในระดับนานาชาติ โดยได้มีการจัดกลุ่มสถาบันอุดมศึกษาเพื่อปฏิรูประบบอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาประเทศและพัฒนาความเป็นเลิศตามความเชี่ยวชาญของแต่ละมหาวิทยาลัย โดยได้จัดแบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มพัฒนาการวิจัยขั้นสูงสู่ระดับนานาชาติ 2.กลุ่มพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ 3.กลุ่มพัฒนาชุมชนท้องถิ่นเพื่อการเข้าถึงการร่วมมือ 4.กลุ่มพัฒนาด้านหลักศาสนาเพื่อเสริมสร้างจริยธรรมและปัญญา 5.กลุ่มผลิตและพัฒนาทักษะเฉพาะด้านเพื่อผลิตบุคลากรวิชาชีพและสาขาเฉพาะทาง”



ส่วนในการพัฒนาการเรียนการสอนผู้ช่วยศาสตราจารย์ดร.ภัทรียา กิจเจริญ รองคณบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งได้ดำเนินโครงการร่วมกับ University of Reading มาเป็นเวลากว่า 3 ปี ได้เล่าถึงความสำเร็จในการพัฒนาหลักสูตรนานาชาติสองปริญญา (Double Degree) ด้านการออกแบบและพัฒนาสังคม (Society Design Development Programme) มุ่งผลิตผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change Agents) ที่จะได้มีโอกาสได้ความรู้และวุฒิการศึกษาจากทั้งมหาวิทยาลัยมหิดลและ University of Reading ของสหราชอาณาจักร

โดยศาสตราจารย์ ดร.ศุภจิตรา ชัชวาลย์จากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งได้ดำเนินงานความร่วมมือร่วมกับ The University of Liverpool ได้กล่าวเสริมถึงประโยชน์ในการเข้าร่วมโครงการ ฯ ว่าได้ช่วยให้เกิดการพัฒนางานวิจัยร่วมกันระหว่างนักวิจัยและคณาจารย์จากทั้งสองมหาวิทยาลัย โดยเป็นการใช้ความชำนาญของบุคลากรทั้งสองฝ่ายในการทำโจทย์วิจัยที่มีความสนใจร่วมกัน ทำให้ได้ผลงานวิจัยที่มีความลึกซึ้งยิ่งขึ้น นอกจากนั้นการพัฒนาด้านการวิจัยดังกล่าวมีนิสิตเข้าร่วมในโครงการผ่านหลักสูตรปริญญาเอกสองปริญญา Dual PhD Programme ทำให้เกิดการพัฒนานักวิจัยรุ่นใหม่ร่วมด้วยในโครงการดังกล่าว ซึ่งจะเป็นกำลังคนรุ่นใหม่ในด้านการวิจัยที่เกี่ยวข้องในอนาคต โดยนักวิจัยรุ่นใหม่ของไทยในหลักสูตรได้เริ่มมีการส่งผลงานตีพิมพ์ร่วมกันกับนักวิจัยของสหราชอาณาจักรด้วย

โดยในปีนี้ 2567 นี้โครงการได้ก้าวเข้าสู่ปีที่ 4 แล้ว โดยบริติช เคานซิลและกระทรวง อว ยังคงผสานความร่วมมือกับ 7 สถาบันอุดมศึกษาของไทย ใน 15 สาขาวิชา ได้แก่ 1. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวน 7 สาขา (สาขาวิชาสถาปัตยกรรม สาขาวิศวกรรมเคมี สาขาวิทยาศาตร์ชีวภาพ สาขาแพทย์ศาสตร์ 2 โครงการ สาขาภูมิศาสตร์ สาขาพัฒนศาสตร์) 2. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จำนวน 1 สาขา (สาขาวิชาเกษตรศาสตร์และป่าไม้) 3.มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จำนวน 1 สาขา (วิชาแพทยศาสตร์) 4. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จำนวน 1 สาขา (สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ) 5. มหาวิทยาลัยมหิดล จำนวน 3 สาขา (สาขาวิชาวิทยาศาตร์ชีวภาพ สาขาแพทย์ศาสตร์ และสาขาพัฒนศาสตร์) 6. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จำนวน 1 สาขา (สาขาวิชาพัฒนาศาสตร์) 7. มหาวิทยาลัยนเรศวร จำนวน 1 สาขา (สาขาวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์)

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.