ผ้าขาวม้า จากผ้าเช็ดเหงื่อไคลจะเฉิดฉายได้หรือไม่ในยุคเศรษฐา ทวีสิน!

ผ้าขาวม้า จุดกำเนิดหรูหรายิ่งกว่าที่คิด

ผ้าขาวม้า ไม่ใช่คำไทยแท้ แต่เป็นภาษาเปอร์เซีย ที่มีคำเต็มว่า "กามาร์บันด์" (Kamar band)

"กามาร์" หมายถึง เอว หรือ ท่อนล่างของร่างกาย "บันด์" แปลว่า พัน รัด หรือ คาด เมื่อนำทั้งสองคำมารวมกัน จึงหมายถึง เข็มขัด ผ้าพัน หรือ คาดสะเอว ซึ่งใช้บอกสถานะของผู้สวมใส่ในยุคโบราณ  "กามาร์บันด์"  ยังมีความหมายถึงผ้ารัดเอว ในชุดทัคซิโด้ (Tuxedo) สุดหรู ซึ่งเป็นชุดสำหรับออกงานราตรีสโมสร โดยปัจจุบันคำว่า กามาร์บันด์ กลายเป็นศัพท์โบราณเพราะไม่มีใครใช้กันแล้ว

คนไทยรู้จักใช้ผ้าขาวม้ามาตั้งแต่ สมัยพุทธศตวรรษที่ 16 ถ้านับเวลาย้อนไป จะตรงกับยุคสมัยเชียงแสน ในสมัยเชียงแสนผู้หญิงมักนุ่งผ้าถุง ส่วนผู้ชายเริ่มใช้ผ้าเคียนเอว (ผ้าขาวม้า) ซึ่งได้วัฒนธรรมมาจากไทยใหญ่ หลักฐานที่แสดงว่าคนไทยเริ่มใช้ผ้าขาวม้าในสมัยเชียงแสน มีปรากฎให้เห็นจากภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ วัดภูมินทร์ จ.น่าน และเมื่อดูการแต่งกายของ หญิง - ชาย ไทยในสมัยอยุธยา จากภาพเขียนในสมุดภาพ "ไตรภูมิสมัยอยุธยา"

ต่อมาราวต้นศตวรรษ ที่ 22 ชาวอโยธยานิยมใช้ผ้าขาวม้าพาดบ่า คาดพุง หรือนุ่งโจงกระเบนแล้วใช้ผ้าขาวม้าคล้องคอตลบห้อยชายทั้งสองข้างไว้ด้านหลัง สมัยรัตนโกสินทร์ชาวไทยทั้งชาย - หญิงนิยมใช้ผ้าขาวม้ามาทำประโยชน์กันมากยิ่งขึ้น โดยไม่จำกัดแต่เพียงเพศชายอย่างเดียวเหมือนในอดีต 

 

 

 

หรือผ้าขาวม้าจะมาจากกัมพูชานะ?

อันที่จริงแม้ผู้รู้หลายคนยืนยันว่าผ้าขาวม้าไทยมาจากอิหร่าน แต่ก่อนหน้านี้มีหลายทฤษฎีเพราะใกล้ๆ เราอย่าง เมียนมา ลาว กัมพูชา หรือแม้แต่ญี่ปุ่นก็มีผ้าที่คล้ายคลึงกับผ้าขาวม้าเหมือนกัน อย่างเช่นชาวญี่ปุ่นเคยมีผ้านุ่งชั้นในเรียกว่า ‘หักขะม้า’ ส่วนในกัมพูชามีผ้าเรียกว่า ‘ผ้ากรรมา’ ใช้เพื่อมอบให้ผู้ใหญ่สำหรับการขอล้างกรรม ซึ่งเมื่อดูที่มาของภาษาไทยว่ามาจากเขมรซะเยอะ ก็มีสิทธิที่ว่าไทยอาจรับเอาผ้าขาวม้ามาจากกัมพูชาโดยการกร่อนเสียงก็เป็นได้ นอกจากนี้ยังมีทฤษฎีที่ว่าผ้าขาวม้าเป็นของไทยแท้ เพราะในช่วงสงกรานต์เราจะมีการ ‘ขอขมา’ ซึ่งใกล้เคียงกับคำว่า ‘ขะม้า’ นั่นเอง  อย่างไรก็ตามผู้รู้ส่วนใหญ่เอนเอียงไปทางที่ว่าไทยรับวัฒนธรรมดังกล่าวมาจากอิหร่านมากกว่า!

 

ผ้าขาวม้า เห็นแล้วรู้ว่าใช่ แต่อธิบายยังไงดี?

จนถึงปัจจุบัน จากจุดกำเนิดของผ้าคาดเอวในเปอร์เซีย ผ้าขาวม้ากลายเป็นผ้าที่ถูกใช้ในครัวเรือนต่อมาอีกหลายยุคหลายสมัย ถือว่าเป็นผ้าอเนกประสงค์ที่ใช้ได้หลายแบบ

คำว่า ‘ผ้าขาวม้า’ ดูจะเป็นคำที่ไม่ได้เจาะจง ลายผ้าบางที่แตกต่างกันสิ้นเชิง แต่ทุกคนก็เรียกว่าผ้าขาวม้า เพราะมีลักษณะร่วม เช่น สีสันที่จัดจ้านหลากหลาย ลวดลายตารางที่ตรงเป๊ะตั้งแต่แนวนอนและแนวตั้ง เป็นผ้าที่ทนทานยิ่งซักยิ่งนุ่ม แห้งง่ายใช้ได้สารพัดประโยชน์ และเป็นผ้าที่ใช้ได้หลายประเภท เอาเป็นว่าคนไทยเห็น จะเรียกผ้าแบบผ้าขาวม้าอย่างอัตโนมัติ เพราะผ้าขาวม้าได้อยู่ในชีวิตคนไทยมาเนิ่นนาน

 

 

ผ้าขาวม้ากระจายไปทั่วภูมิภาคของประเทศไทย และเมื่อมันเข้ามานับหลายศตวรรษแล้ว จึงมีการพัฒนาตามแต่ละภูมิภาคเรื่อยๆ ตั้งแต่รายละเอียดลวดลาย  ลักษณะการทอ เนื้อผ้า ซึ่งแต่ละที่ก็แตกต่างกันและพัฒนาไปไม่เท่ากัน ..  บางจังหวัดอาจจะผสมผสานกับวัฒนธรรมท้องถิ่นและชนเผ่า เน้นสร้างการทอที่เป็นเอกลักษณ์ และยกระดับคุณภาพมากขึ้น  ยกตัวอย่างเช่น ผ้าขาวม้าฝ้ายแฉล้ม ซึ่งมีประวัติตั้งแต่ก่อสร้างพระธาตุพนม ชาวบ้านนัดหมายกันว่าจะไปร่วมก่อสร้าง ถ้าเป็นชายให้ผูกผ้าขาวม้าไว้ที่เอวผู้หญิงให้ห่มสไบ แต่เมื่อไปถึงองค์พระธาตุได้สร้างเสร็จแล้ว ชาวบ้านจึงตั้งถิ่นฐานอยู่ที่หมู่บ้านกุดครอง และทุกครัวเรือนได้สืบทอดการทอผ้าขาวม้าจากรุ่นสู่รุ่นจนถึงปัจจุบัน ก็จะเห็นว่ามีลวดลายต่างกับผ้าบ้านห้วยทราย ซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น จากการทอใช้ในครัวเรือนและกลายเป็นโอท็อประดับ 4 ดาว โดยใช้วิธีการทอด้วยกี่โบราณ เป็นต้น

นี่อาจเป็นส่วนหนึ่งของเสน่ห์ผ้าขาวม้า เพราะเนื่องจากเป็นผ้าที่เติบโตมาจากประชาชนทั่วไปใช้ จึงไม่มีใครเคลมลิขสิทธิ์ตั้งแต่แรก ทำให้ผ้าขาวม้าแพร่กระจายออกไป และเกิดการพัฒนาที่แตกต่างกันในแต่ละภูมิภาค ทำให้ได้ผ้าขาวม้าที่มีความหลากหลายทั้งสีสันและลวดลาย  อย่างไรก็ตาม มีผู้รู้แบ่งรูปแบบของผ้าขาวม้าได้ 4 รูปแบบคือ

  1. ลายตาหมากรุก หรือลายตามะกอก ลายตารางใหญ่ ลักษณะของลายผ้าตารางสี่เหลี่ยมจัตุรัสแบบกระดานหมากรุก มีสีสลับกัน ในอดีตเป็นที่นิยมมาก สีที่นิยมคือ สีแดง เขียว ดำ ขาว
  2. ลายตาเล็ก ลักษณะคล้ายลายตาหมากรุกแต่มีขนาดเล็กกว่า
  3. ลายไส้ปลาไหล ลักษณะเป็นลายตารางในแนวยาว
  4. ลายตาหมู่ เป็นการผสมผสานลายตาเล็กและลายไส้ปลาไหลเข้าด้วยกัน

 

 

ผ้าขาวม้าไว้เช็ดสิ่งปฏิกูล - สู่ชุดบนเวทีรันเวย์

ได้มีการวิเคราะห์ถึงความนิยมที่ลดลงของผ้าขาวม้าในสังคมไทยไว้ว่า ผ้าขาวม้าแต่เดิมคือใช้สำหรับทำความสะอาด เช็ดเหงื่อไคล เช็ดตัว เป็นผ้าที่ช่วยทำความสะอาดร่างกาย และไม่ได้ใช้เพื่อเสริมความงามมานานนับศตวรรษ บางทีผ้าขาวม้าก็ถูกมองว่าเป็นผ้าสำหรับชนชั้นแรงงาน ลองกลับไปดูหากมีละครสักเรื่องที่มีนักแสดงเป็นกรรมกรบางอย่าง ก็ต้องมีผ้าขาวม้าพาดคอ! นอกจากนี้ยังแสดงถึงความเป็น 'คนบ้านนอก' มานาน .. อีกทั้งการอาบน้ำทุกวันนี้ก็เลือกใช้ผ้าขนหนูเสียมากกว่า และมีชนิดผ้าให้เลือกสรรเยอะขึ้น อีกอย่างการนำไปพัฒนานั้นก็ยาก เพราะคนไทยติดภาพผ้าขาวม้ามานาน! 

การที่จะเพิ่มมูลค่าให้ผ้าขาวม้าจึงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่มีใครเคยทำ  ตลอดระยะเวลาเป็นศตวรรษ มีหลายคนอยากที่จะพัฒนาผ้าขาวม้าให้เฉิดฉายมานักต่อนักเพื่อขยายฐานลูกค้า นอกจากการเป็นสินค้าโอท็อปประจำตำบลหมู่บ้านต่างๆ เรายังเคยเห็นดีไซน์เนอร์ชั้นนำ ยกตัวอย่างเช่นบนรันเวย์ Amazon Fashion Week Tokyo 2017 ที่โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ดีไซเนอร์ชื่อดังอย่าง ลินดา เจริญลาภ ก็เคยทำงานร่วมกับชาวบ้านในหลายจังหวัดเพื่อที่จะนำผ้าลายขาวม้าแปรเปลี่ยนเป็นเสื้อผ้าคอลลเลกชั่นพิเศษ แต่ก็มีการปรับให้เส้นใยและคัทติ้งสมัยใหม่มากขึ้น

 

 

นอกจากนี้ในงาน Sustainability Expo 2022 ซึ่งหนึ่งในไฮไลต์งานคือ ผ้าขาวม้าทอใจ 2565 เกิดจากการร่วมมือของชุมชนและมหาวิทยาลัย รวมถึงสโมสรฟุตบอล ภายใต้โครงการผ้าขาวม้าท้องถิ่น หัตถศิลป์ไทย ได้นำผ้าขาวม้าที่ยกระดับปรับโฉมเป็นรูปแบบใหม่ๆ มาอวดโฉมบนเวที ทั้งในรูปแบบของชุดเดรส ชุดกีฬา Casual Wear ฯลฯ โดยเป็นการเดินแบบพร้อมกัน ทั้งนางแบบนางแบบที่เป็นคนจริงๆ และนายแบบนางแบบที่เป็น Avatar บน Metaverse ซึ่งโครงการดังกล่าวสามารถสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนทอผ้าได้กว่า 185 ล้านบาท! เลยทีเดียว

 

 

หรือนี่จะเป็นจุดเปลี่ยนผ้าขาวม้า - ผ้าขาวม้าพันคอนายกเศรษฐาฯ

แม้จะยังไม่รู้ว่าผลจะเป็นอย่างไร แต่การมองเห็นคุณค่าของผ้าขาวม้าโดยผู้ที่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสูงสุดในประเทศ ก็นับเป็นเรื่องดี เพราะผ้าขาวม้าคือสินค้า OTOP ที่มีอยู่มากมายหลายพื้นที่ ในแต่ละจังหวัดล้วนมีลายผ้าของตัวเองนับหลายสิบลาย ใครเป็นสายสะสมก็คงสนุกและเพลิดเพลินไม่น้อย บวกกับวิธีการทอ วิธีการย้อมผ้า ซึ่งคนไทยก็ไม่แพ้ชาติใดในโลกอยู่แล้ว ก็อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ..

 

 

แต่ที่ต้องมองว่าเป็นจุดเริ่มต้นก็เพราะว่า การจะทำให้ผ้าขาวม้าเป็นสินค้าที่ใครก็อยากซื้อนั้นคงต้องใช้แรงผลักดัน และการประชาสัมพันธ์อีกมากโดยเฉพาะในตลาดต่างประเทศ  การที่หลายฝ่ายออกมาตอบรับก็เป็นเรื่องดี แต่เรื่องนี้จะสำเร็จได้ ไม่ใช่แค่การนำขายในห้างหรูแล้วผ้าขาวม้าจะเพิ่มมูลค่าได้เสร็จสรรพ หรือไม่ใช่แค่ขายในห้างแล้ว จะทำให้มีคนอยากที่จะใส่เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด! 

เช่นเดียวกับ Soft Power ในเรื่องอื่นๆ การเปลี่ยนต้นทุนทางวัฒนธรรมให้เป็นสินค้าที่มีมูลค่า ย่อมต้องการการสร้างแบรนด์ เริ่มจากให้ชาวไทยชื่นชอบและเห็นคุณค่าเสียก่อน  แล้วคนไทยกว่า 70 ล้านคน ซึ่งเป็นนักโซเชียลมีเดียอันดับหนึ่งไม่น้อยกว่าชาติใดในโลก (ยกตัวอย่างความสำเร็จของไอดอลไทย ที่ก็ต้องมองว่าพลังของโซเชียลเป็นตัวจุดประทัดความดังพลุแตกหลายต่อหลายกรณี) ก็ย่อมจะช่วยกันสื่อสารออกไปด้วย 70 ล้านช่องทาง .. แค่เรื่องนี้ก็ยากไม่น้อยว่าจะสามารถเอาชนะภาพจำของคนไทยที่มีต่อผ้าขาวม้าได้อย่างไรบ้าง

นอกจากนี้ก็ยังต้องสร้างการรับรู้ให้ชาวต่างชาติ การวาง Position ของผ้าขาวม้าว่าจะขายใคร ขายอย่างไร มันนำไปสู่การวางแผนพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อให้ตอบโจทย์ และนั่นจึงนำมาซึ่งการสร้างมูลค่าเพิ่มต่อมา โดยเฉพาะในรัฐบาลนี้ที่เร่งผลักดันเรื่อง Soft Power ให้ออกมาเป็นรูปธรรมก็คงต้องทำการบ้านกันอย่างหนัก หลังจากที่หลายฝ่ายจับตามองเป็นอย่างมากว่างบประมาณด้านนี้จะเกิดผลอย่างไร?

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.