ทำความรู้จักโรคสมาธิสั้นในเด็ก พร้อมเช็กอาการอย่างละเอียด
พ่อแม่หลายท่านอาจเคยได้ยินกันมาบ่อยถึงโรคสมาธิสั้นในเด็ก วันนี้เราจะชวนมาทำความรู้จักถึงอาการของโรคดังกล่าวนี้กันค่ะ เพื่อที่อย่างน้อยพ่อแม่สามารถตรวจสอบอาการของลูกๆ ได้ว่ามีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคสมาธิสั้นหรือไม่ เพื่อที่อย่างน้อยจะสามารถรักษาได้ทัน เพื่อที่ลูกจะได้ใช้ชีวิตปกติเหมือนเด็กทั่วๆ ไป
โรคสมาธิสั้นในเด็ก คืออะไร
โรคสมาธิสั้นในเด็ก หรือเรียกว่า ADHD คือโรคที่เกิดจากความผิดปกติในส่วนของการสั่งการของสมองบางส่วน ทำให้เด็กไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ดี ส่งผลต่อการทำให้เด็กซุกซนและอยู่ไม่นิ่ง ตลอดจนส่งผลกระทบในด้านพฤติกรรม อารมณ์ การใช้ชีวิตในแต่ละวัน การเข้าสังคม และการเรียนรู้ด้วย
ตรวจเช็กอาการของโรคสมาธิสั้นในเด็ก
ในส่วนของอาการของสมาธิสั้นในเด็ก จะมีความผิดปกติของพฤติกรรมที่มีความไม่เหมาะสมกับอายุและระดับพัฒนาการ โดยอาการผิดปกติจะแสดงออกก่อนอายุ 7 ปี โดยจะแสดงอย่างต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 6 เดือน สำหรับอาการของโรคสมาธิสั้นในเด็กแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มดังนี้
1.สมาธิสั้น หรือเรียกว่า Inattention
โดยอาการสมาธิสั้นจะสังเกตได้จากการที่เด็กมีความวอกแวกง่าย มีความยากลำบากต่อการตั้งสมาธิ ไม่ค่อยฟังเมื่อมีคนพูดด้วย ทำตามคำสั่งหรือทำกิจกรรมไม่สำเร็จ หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่ต้องใช้ความพยายาม ไม่มีความสามารถในการจัดระเบียบงาน ละเลยรายละเอียด ทำผิดด้วยความเลินเล่อ ชอบทำของหายบ่อย และมักจะลืมกิจวัตรประจำวันที่ต้องทำอย่างสม่ำเสมอ
2.ซุกซนและอยู่ไม่นิ่ง หรือเรียกว่า Hyperactivity
อาการซุกซนและอยู่ไม่นิ่งจะสังเกตได้จากการอยู่นิ่งไม่ได้ ยุกยิกขยับตัวไปมา ซนมากกว่าเด็กในวัยเดียวกัน นั่งไม่ติดกับที่ มักลุกเดินไปมา ชอบปีนป่ายและวิ่งในสถานการณ์ที่ไม่เหมาะสม พูดมากเกินไป และไม่สามารถเล่นเงียบๆ ได้
3.หุนหันพลันแล่น หรือเรียกว่า Impulsiveness
อาการหุนหันพลันแล่นจะสังเกตได้จากการที่เด็กไม่มีความสามารถในการรอคอย มักชอบพูดโพล่งออกไป มีพฤติกรรมชอบขัดจังหวะ และชอบพูดสอดแทรกผู้อื่นเมื่ออยู่ในวงสนทนา
พ่อแม่ที่สงสัยถึงพฤติกรรมผิดปกติของลูกที่คาดว่าอาจจะเสี่ยงหรือเข้าข่ายเป็นโรคสมาธิสั้นในเด็ก ลองพิจารณาถึงอาการต่างๆ ของโรคสมาธิสั้นในเด็กที่เราได้กล่าวไปข้างต้นให้ดี เพราะบางทีอาการผิดปกติที่พ่อแม่สงสัยอาจเป็นเพียงพฤติกรรมซุกซนของลูกที่เกิดขึ้นในวัยของเขาเพียงเท่านั้นก็ได้ แต่หากอาการที่ลูกแสดงออกมีความคล้ายกับอาการของโรคสมาธิสั้นในเด็กโดยเฉพาะ ก็ควรรีบไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้ลูกได้รับการรักษาที่ถูกต้องต่อไป ทั้งนี้เพื่อให้ลูกสามารถกลับมาใช้ชีวิตในวัยเด็กได้เหมือนเด็กทั่วไปนั่นเองค่ะ
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.