"งูสวัด" โรคผิวหนังจากไวรัสที่ไม่ควรมองข้าม
โรคงูสวัดเป็นโรคที่พบได้บ่อยโดยเฉพาะผู้สูงอายุที่จะมีอาการรุนแรงและยาวนานกว่าคนที่อายุน้อย ถ้าหากละเลยไม่มาพบแพทย์อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ เช่น การติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังจนเกิดเป็นแผลเป็น งูสวัดขึ้นตา และมีอาการปวดเส้นประสาทตลอดเวลา นานหลายเดือนหลังจากผื่นหาย
แพทย์หญิงบุณยพัต ลิ้มทองกุล แพทย์ประจำศูนย์ผิวหนังและความงาม โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวว่า โรคงูสวัดเกิดจากการติดเชื้อไวรัส Varicella Zoster Virus (VZV) ซึ่งเป็นเชื้อตัวเดียวกับที่ทำให้เกิดโรคอีสุกอีใส โดยคนที่เคยเป็นโรคอีสุกอีใส เชื้อจะไปซ่อนตัวอยู่ในปมประสาทของร่างกายโดยไม่มีอาการใดๆ แต่เมื่อร่างกายอ่อนแอ เช่น มีความเครียด ไม่สบาย พักผ่อนไม่เพียงพอ และอายุที่มากขึ้น ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ไวรัสกำเริบ ก่อให้เกิดการอักเสบของเส้นประสาท ทำให้มีอาการแสดงตามแนวผิวหนังที่เลี้ยงโดยเส้นประสาท โดยจะมีผื่นลักษณะตุ่มแดง มีตุ่มน้ำเล็กๆขึ้นตามมา ซึ่งมักขึ้นบริเวณข้างเดียวของร่างกาย และอาจมีอาการปวดร้าวหรือแสบร้อนร่วมด้วย
โรคงูสวัดเป็นโรคติดต่อผ่านการสัมผัสกับตุ่มน้ำใสที่มีเชื้อไวรัส varicella zoster ซึ่งหากคนที่ยังไม่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสเมื่อได้รับเชื้อไวรัสงูสวัดจะเป็นโรคอีสุกอีใสแทน ส่วนผู้ที่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคงูสวัดทุกคน โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ที่จะเกิดผลข้างเคียงจากโรคมากกว่าผู้ป่วยในวัยอื่น เพราะภูมิต้านทานของร่างกายที่ลดลง เช่น การติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน เกิดรอยโรคหลายบริเวณ และมีอาการปวดเส้นประสาท เป็นต้น
การรักษาโรคงูสวัด แพทย์จะให้ยาต้านไวรัส ซึ่งควรจะกินยาต้านไวรัสภายใน 2-3 วันหลังเกิดอาการ เพื่อลดความรุนแรง และช่วยให้หายเร็วขึ้น โดยหลังจากที่ผื่นโรคงูสวัดหายแล้ว อาจมีอาการปวดบริเวณรอยโรคอยู่นานหลายสัปดาห์ถึงหลายเดือน แต่อาการปวดนี้ สามารถรักษาได้ด้วยการรับประทานยา หรือทายาแก้ปวดบางชนิด
สำหรับการป้องกันโรคงูสวัดสามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันงูสวัดที่ผ่านการรับรองจากองค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา โดยแนะนำการฉีดวัคซีนดังกล่าวในผู้ป่วยอายุ 50 ปีขึ้นไป, ผู้ที่อายุ 18 ปีขึ้นไปที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง, ผู้ที่เคยได้รับวัคซีนงูสวัด ชนิด Zostavax มาก่อน และผู้ที่เคยเป็นโรคงูสวัดมาก่อน โดยการฉีดวัคซีนจะฉีดเข้าใต้ผิวหนัง 1 เข็ม สามารถลดอัตราการเกิดโรคงูสวัด การเกิดรอยโรครุนแรง และลดการเกิดอาการปวดแสบร้อนปลายประสาทภายหลังการติดเชื้อได้
แพทย์หญิงบุณยพัต ลิ้มทองกุล
แพทย์ประจำศูนย์ผิวหนังและความงาม โรงพยาบาลเวชธานี
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.