ชวนเที่ยวงาน “101 ปี พระราชวังพญาไท” THE GLORY OF SIAM
เนื่องในโอกาสที่ “พระราชวังพญาไท” มีอายุครบ 101 ปี ทาง “มูลนิธิอนุรักษ์พระราชวังพญาไท” (หรือชมรมคนรักวัง) ในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ได้มีกำหนดจัดงานฉลองงาน “101 ปี พระราชวังพญาไท” THE GLORY OF SIAM ขึ้นในระหว่างวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 ไปจนถึงวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2567 ตั้งแต่เวลา 18.00-21.30 น. ณ พระราชวังพญาไท ถนนถราชวิถี ชวนสัมผัสมิติใหม่ของพระราชวังพญาไทในรูปแบบ “พิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน” (NIGHT MUSEUM) เป็นครั้งแรกในไทย พร้อมกันนี้ ทางผู้จัดยังตั้งเป้าที่จะพัฒนางานฉลองวังสู่งานสมโภชระดับโลก
มีอะไรในงาน “101 ปี พระราชวังพญาไท” THE GLORY OF SIAM
งาน “101 ปี พระราชวังพญาไท” THE GLORY OF SIAM ซึ่งถูกจัดขึ้นในรูปแบบพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืนคืน ผ่านการออกแบบระบบแสงสีเสียงอันเป็นเอกลักษณ์ โดยเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่จะได้สัมผัสศิลปะ 3 มิติ (Mapping Lighting Design) บนอาคารพระราชวัง เพลิดเพลินกับ Art of Light สุดตระการตาไปกับไฟนับล้านดวง จัดแสดงแสงสีเสียงในโลกของพระราชวังโบราณผสานจินตนาการที่ได้รับแรงบันดาลใจจากบทพระราชนิพนธ์ “มัทนะพาธา” ของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็นยอดแห่งบทละครพูดคำฉันท์จากวรรณคดีสโมสร
นอกจากนี้ ยังจะได้พักผ่อนและดื่มด่ำไปกับเครื่องดื่มไทยแท้ ที่ร้านกาแฟนรสิงห์ เป็นร้านคาเฟ่ที่ตั้งอยู่ในอาคารเทียบรถพระที่นั่ง ที่มีอายุเท่ากับพระราชวัง 100 ปี เปิดให้บริการเป็นพิเศษในช่วงเวลา 16.00-20.30 น.
สำหรับผู้มาร่วมงาน “101 ปี พระราชวังพญาไท” THE GLORY OF SIAM จะได้พบกับกิจกรรมน่าสนใจ และไฮไลต์เด็ดใน 2 พื้นที่ 6 โซน ดังนี้
FREE AREA
โซนที่ 1 ARCHITECTURE LIGHTING & PROJECTION MAPPING: การฉายภาพแสง กับงานออกแบบภาพเคลื่อนไหว ภายใต้จุดกำเนิดพระราชวังพญาไท ร่วมกับการแสดงศิลปะสถาปัตยกรรมบนตัวอาคาร พระที่นั่งพิมานจักรี และพระที่นั่งไวกูณฐเทพยสถาน
โซนที่ 2 ARCHITECTURE LIGHTING & INTERIOR LIGHTING: นิทรรศการจัดแสดงแสงไฟเพื่อชื่นชมสถาปัตยกรรมภายในอันงดงาม ณ พระที่นั่งเทวราชสภารมย์
TICKET AREA
LIGHTING INSPIRATIONS พบกับแรงบันดาลใจจากผลงานบทพระราชนิพนธ์ของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 ในการสร้างสรรค์ผลงานไฟที่วิจิตรตระการตาบนพื้นที่ประวัติศาสตร์
โซนที่ 3 PROJECTION MAPPING: ได้รับแรงบันดาลใจในการออกแบบจากบทพระราชนิพนธ์ ของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 ภายในห้องธารกำนัลหรือห้องรับแขก
โซนที่ 4 PROJECTION MAPPING & LIGHTING INSTALLATION: สัมผัสจินตนาการงานศิลปะเคลื่อนไหวในโลกของพระราชวังโบราณผสานจินตนาการของงานจัดแสดงแสง สี เสียงที่น่าอัศจรรย์ พร้อมนำบทพระราชนิพนธ์ “มัทนะพาธา” มาเป็นตัวดำเนินเรื่อง โดยโซนนี้ถือเป็นอีกหนึ่งไฮไลต์ในการจัดแสดงไฟ โดยจะมีการยิง PROJECTION MAPPING เข้าตัวอาคารพระราชวังด้านหลัง ทุก ๆ ครึ่งชั่วโมง
โซนที่ 5 LIGHTING INSTALLATION & MAPPING ON THE BIG GIANT TREE WITH THE GLASS SCREENS: สัมผัสงานอาร์ตกับการจัดแสดงแสงไฟนับพันดวงที่ประดับประดาบริเวณสนามหญ้า และต้นไม้ยักษ์ ตื่นตากับเทคนิค Glass Screens สวยงามมีมิติ
โซนที่ 6 LIGHTING INSTALLATION: เปิดประสบการณ์และดื่มด่ำไปกับความงดงามของดอกบัวนับพันดอก ด้วยเทคนิคไฟย้อมสี ณ เส้นทางเดินไปสักการะ “ท้าวหิรัญพนาสูร” พร้อมพักผ่อน และดื่มด่ำไปกับเครื่องดื่มไทยแท้ที่ร้านกาแฟนรสิงห์ ร้านคาเฟ่ที่ตั้งอยู่ในอาคาร เทียบรถพระที่นั่ง ณ บริเวณด้านหน้าพระที่นั่งพิมานจักรี
สำหรับผู้ที่สนใจเข้าชมงาน สามารถซื้อบัตรเข้าชมทางช่องทางออนไลน์ได้ 3 ช่องทาง คือ Agoda, KKday และ Zip Event นอกจากนี้ ยังสามารถซื้อบัตรเข้าชมได้ที่บริเวณหน้างาน (งดจำหน่ายบัตรหน้างานในวันที่ 16 ก.พ. 2567 เนื่องจากเป็นงาน Grand Opening สำหรับเจ้าหน้าที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง)
การเดินทางไปพระราชวังพญาไท
การเดินทางไปยังพระราชวังพญาไท สามารถเลือกเดินทางได้หลายวิธี อาทิ
รถยนต์ส่วนบุคคล: เดินทางโดยรถยนต์ เลี้ยวเข้าถนนราชวิถีและขับตรงไปประมาณ 500 เมตร จะเห็นโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าอยู่ทางขวามือ โดยมีจุดจอดรถที่ลานจอดรถติดถนนราชวิถี หรืออาคารลานจอดรถโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า
รถโดยสารประจำทางสาย: ใช้รถโดยสารสาธารณะ สาย 8, 12, 14, 18, 28, 92, 97, 108, ปอ.92, 509, 522, 536, ปอ.พ.4
รถไฟฟ้าบีทีเอส: เดินทางโดยรถไฟฟ้า BTS สายสุขุมวิท ลงที่สถานีอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ออกทางออกที่ 3 (ลงฝั่งโรงพยาบาลราชวิถี) ข้ามสะพานลอยไปฝั่งตรงข้ามแล้วเดินทางเท้าตรงมาเรื่อย ๆ ทางแยกตึกชัย จนถึงโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า
รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า Muvmi: ลงรถไฟฟ้า BTS ที่สถานีอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และเรียกตุ๊กตุ๊ก ผ่าน App Muvmi (เสียค่าใช้จ่าย)
ย้อนอดีตพระราชวังพญาไท
ข้อมูลจากเว็บไซต์ พระราชวังพญาไท ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับประวัติของพระราชวังพญาไทยโดยสังเขป ซึ่งแบ่งออกเป็น 5 ช่วง ดังนี้
-
ยุคโรงนา
ปลายถนนซางฮี้ (ที่ต่อมาได้รับพระราชทานชื่อใหม่ว่า “ถนนราชวิถี” ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว) ตอนตัดใหม่ ๆ นั้นเป็นสวนผักและไร่นา มีคลองสามเสนไหลผ่าน พื้นที่ยังโล่งกว้าง อากาศโปร่งสบาย เป็นที่ต้องพระราชอัธยาศัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างมาก ได้โปรดเกล้าฯ ให้ซื้อที่ดินประมาณ 100 ไร่เศษ จากชาวนาชาวสวนบริเวณนั้นเพื่อใช้ทดลองปลูกธัญพืช และเป็นที่ประทับพักผ่อนพระราชอิริยาบถ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงนา และได้พระราชทานนามว่า “โรงนาหลวงคลองพญาไท” พร้อมกับโปรดเกล้าให้ย้ายพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ที่เคยประกอบที่ทุ่งพระเมรุ (ท้องสนามหลวง) มาจัดที่ทุ่งพญาไท
-
พระตำหนัก
พระตำหนักพญาไทสร้างเมื่อ พ.ศ. 2452 เพื่อเป็นที่ประทับสำราญพระราชอิริยาบถเวลาเสด็จพระราชดำเนินที่นาแห่งนี้ หลังการก่อสร้างพระตำหนักเสร็จสมบูรณ์ และมีพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลคฤหมงคล (ขึ้นเรือนใหม่) ในวันที่ 14-15 พฤษภาคม พ.ศ. 2453 แล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จมาประทับที่วังพญาไทบ่อยครั้งขึ้น ครั้งสุดท้ายที่เสด็จประพาสตรงกับวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2453 เพียงหนึ่งสัปดาห์ก่อนเสด็จสวรรคต
หลังสูญเสียสมเด็จพระบรมราชสวามี เป็นเหตุให้สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี ทรงพระประชวร พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงวิตกห่วงใย จึงกราบบังคมทูลแนะนำให้แปรพระราชฐานจากในพระบรมมหาราชวังมาประทับที่วังพญาไทเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมให้ทรงพระสำราญ และเพื่อความสะดวกสำหรับแพทย์และพระประยูรญาติจะได้มีโอกาสเฝ้าเยี่ยม ถวายการรักษาโดยง่าย
ครั้นเมื่อ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี เสด็จสวรรคตใน พ.ศ. 2462 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้ทรงพระราชดำริที่จะสร้างพระราชมณเฑียรสถานขึ้นใหม่ เพื่อเป็นที่ประทับในวังพญาไท และได้โปรดเกล้าฯ ให้ยกวังพญาไท ขึ้นเป็นพระราชวังพญาไท เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบรมชนกนาถและพระบรมราชชนนี
-
ที่ประทับองค์พระมหากษัตริย์
เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริที่จะสร้างพระราชมณเฑียรสถานขึ้นใหม่เป็นที่ประทับ ในชั้นต้น จึงโปรดฯ ให้รื้อย้ายพระตำหนักที่ประทับของสมเด็พระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี ไปปลูกสร้างเป็นหอเรียนวิทยาศาสตร์ ที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวงหรือโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัยในปัจจุบัน คงเหลือเพียงท้องพระโรงหน้า ซึ่งโปรดฯ ให้สร้างถวายสมเด็จพระบรมราชชนนี เมื่อตอนต้นรัชกาลเพียงองค์เดียว
จากนั้นได้โปรดฯ ให้สร้าง พระตำหนักอุดมวนาภรณ์ หรือที่ได้พระราชทานนามให้ใหม่ในเวลาต่อมาว่า พระตำหนักเมขลารูจี ขึ้นเป็นองค์แรก พร้อมกันนั้นก็ได้โปรดฯ ให้สร้างพระราชมณเฑียรสถานขึ้นแทนที่พระตำหนักเดิม เป็นหมู่พระที่นั่ง 3 องค์ พร้อมด้วยพระราชอุทยานซึ่งจัดเป็นสวนรูปแบบเรขาคณิต ตามแบบสถาปัตยกรรมอิตาเลียนสมัย “เรอเนสซองส์” แต่เรียกกันว่า “สวนโรมัน” รวมทั้งได้โปรดให้ย้าย “ดุสิตธานี” เมืองจำลอง ที่ทรงมีเจตนาสร้างขึ้นเพื่อฝึกหัดสั่งสอนวิธีการปกครองท้องถิ่นในระดับเทศบาล ตามรูปแบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ณ พระราชวังดุสิตมายังพระราชวังพญาไทเป็นการถาวร
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินมาประทับที่พระราชวังพญาไทเกือบจะเป็นการถาวรตลอดระยะเวลา 6 ปีต่อมา กระทั่งต้นเดือนตุลาคม พ.ศ. 2468 ได้เสด็จแปรพระราชฐานชั่วคราวไปประทับในพระบรมมหาราชวัง เพื่อประกอบพระราชพิธีจองเปรียง สะเดาะพระเคราะห์ตามพิธีพราหมณ์ ประจวบกับใกล้จะถึงวันพระราชพิธีฉัตรมงคล และพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ทรงพระครรภ์ใกล้จะครบถึงวันจะมีพระพระประสูติกาล จึงเสด็จเข้าประทับในพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน อันเป็นพระมหามณเฑียรองค์สำคัญเพื่อความเป็นสิริมงคล
แต่เหตุการณ์อันไม่มีใครคาดคิดก็เกิดขึ้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเกิดพระอาการประชวรขึ้นอย่างรุนแรงและรวดเร็ว จนถึงกับสวรรคตลง เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 เวลา 1.45 น. ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา ภายหลังพระประสูติกาลของพระราชธิดาเพียง 1 วัน
-
โฮเทลพญาไท
ตอนปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชปรารภเป็นการส่วนพระองค์กับพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงกำแพงเพชรอัครโยธิน ผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวงในเวลานั้น ว่า ระราชวังพญาไทเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ใหญ่โต มีบริเวณกว้างขวางมากต้องสิ้นเปลืองพระราชทรัพย์จำนวนมากในการบำรุงรักษา หากปรับปรุงเป็นโรงแรมชั้นหนึ่ง เพื่ออำนวยความสะดวกสบายให้แก่ชาวต่างประเทศที่เข้ามาเยี่ยมเยี่ยน และติดต่อธุรกิจในประเทศสยามแล้ว ค่าบำรุงรักษาก็คงจะรวมอยู่ในงบของโรงแรมได้ แต่ยังมิทันได้ดำเนินการอย่างใดก็ประจวบกับทรงพระประชวรและเสด็จสวรรคตเสียก่อน
เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติสืบสนององค์สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมรถไฟหลวงปรับปรุงพระราชวังพญาไท เป็นโรงแรมชั้นหนึ่งชื่อ “Phya Thai Palace Hotel” และได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิด “โฮเทลพญาไท” เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2468
โฮเทลพญาไท ได้รับเกียรติเป็นสถานที่จัดประชุมก่อตั้งสโมสรโรตารีกรุงเทพฯ ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2473 และในปีเดียวกันนั้นเอง พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน เสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม ทรงเปิดการส่งวิทยุกระจายเสียงจาก “สถานีวิทยุกระจายเสียงกรุงเทพฯ ที่พญาไท” ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ที่พระที่นั่งไวกูณฐเทพยสถาน ในบริเวณโฮเทลพญาไท
โดยอัญเชิญกระแสพระราชดำรัชตอบเนื่องในการพระราชพิธีฉัตรมงคลของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยถ่ายทอดจากท้องพระโรงพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย มาตามสายแล้วเข้าเครื่องส่งกระจายเสียงสู่พสกนิกรเป็นปฐมฤกษ์ เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2473 นับเป็นครั้งแรกที่ได้มีการถ่ายทอดเสียงทางวิทยุในประเทศไทย
ต่อมาภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 โฮเทลพญาไทประสบภาวะขาดทุนอย่างมาก ประกอบกับกระทรวงกลาโหมต้องการใช้สถานที่เป็นที่ตั้งกองเสนารักษ์ คณะกรรมการราษฎรหรือคณะรัฐมนตรีในขณะนั้น จึงได้มีมติให้เลิกกิจการโฮเทลพญาไท พร้อมกับให้ย้ายสถานีวิทยุกระจายเสียงกรุงเทพฯ ไปตั้งรวมกับสถานีเครื่องส่งโทรเลขที่ศาลาแดง
-
ยุคโรงหมอ
กองเสนารักษ์จังหวัดทหารบกกรุงเทพฯ ได้ย้ายเข้ามาอยู่ที่พระราชวังพญาไท เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2475 ต่อมาในปี พ.ศ. 2489 ได้มีการพัฒนากองเสนารักษ์มณฑลทหารบกที่ 1 เป็นโรงพยาบาลทหารบก โดยใช้เขตพระราชฐานทั้งหมด เนื่องจากพระราชวังพญาไทเคยเป็นพระราชฐานที่ประทับ ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติของพระองค์ กองทัพบกจึงได้ขอพระราชทานนามโรงพยาบาลทหารบกใหม่ว่า โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ซึ่งได้ประกอบพิธีเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2495 อันเป็นวันคล้ายวันเสด็จสวรรคต โดยในปี พ.ศ. 2512 โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ได้ย้ายที่ทำการไปอยู่ ณ อาคารหลังใหม่ในบริเวณใกล้เคียงกับพระราชวังพญาไท และใช้พระราชวังเป็นที่ทำการของกรมแพทย์ทหารบกเป็นเวลา 20 ปี
กระทั่ง พ.ศ. 2532 กรมแพทย์ทหารบกได้ย้ายได้ย้ายไปยังอาคารที่ทำการใหม่ ณ บริเวณถนนพญาไท เขตราชเทวี โดยมีศูนย์อำนวยการแพทย์พระมงกุฎเกล้า ย้ายที่ทำการมาอยู่แทนในพระราชวังเป็นการชั่วคราว โดยมีโครงการที่จะย้ายออกเมื่อสถานที่แห่งใหม่พร้อมเช่นกัน ซึ่งหลังจากนั้น พระราชวังพญาไทจึงกลายเป็นพิพิธภัณฑ์สำหรับให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าชม โดยกรมศิลปากร ได้ประกาศขึ้นทะเบียนพระราชวังพญาไท เป็นโบราณสถานที่สำคัญของชาติ ตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2522 ดังปรากฏในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 96 ตอนที่ 15 ลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2522
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.