พฤติกรรมเด็กที่เป็นปัญหาสังคม สะท้อนถึงครอบครัวอย่างไร

ทุกวันนี้ อายุเฉลี่ยของอาชญากรที่ก่ออาชญากรรมร้ายแรงนั้นลดน้อยลงเรื่อย ๆ บ่อยครั้งที่เราจะเห็นตามหน้าข่าวว่าผู้ก่อเหตุอาชญากรรมสะเทือนขวัญ ยังใช้คำนำหน้าชื่อว่าเด็กชายหรือเด็กหญิงเท่านั้น นั่นหมายความว่าอาชญากรลงมือตั้งแต่ยังอายุไม่ถึง 15 ปีบริบูรณ์ด้วยซ้ำไป หลายคนในฐานะสมาชิกของสังคม เริ่มมองว่าเรื่องกฎหมายเป็นสิ่งที่ควรจะปรับแก้ได้แล้ว เด็กและเยาวชนจำนวนมากทำตัวเป็นปัญหาสังคมชนิดที่มีข่าวไม่เว้นวัน กฎหมายที่ว่าด้วยเด็กและเยาวชนกระทำผิดไม่ต้องรับโทษหรือรับโทษเพียงเล็กน้อย สร้างความไม่พอใจให้กับคนที่ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมของเด็กพวกนี้

แน่นอนว่าเรื่องของการแก้กฎหมายเด็กและเยาวชนที่กระทำผิดก็สมควรที่ต้องมีการรื้อมาสังคายนากันใหม่อยู่แล้ว เด็กกระทำความผิดโดยเจตนาและไร้ความสำนึกผิด สมควรแล้วหรือที่จะไม่ถูกลงโทษ อย่างไรก็ตาม หากจะลองพิจารณาดูดี ๆ จะพบว่าเรื่องการแก้กฎหมายก็ยังเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุอยู่ดี เด็กลงมือก่ออาชญากรรมไปแล้วถึงจะได้รับโทษ แต่ต้นเหตุจริง ๆ ของปัญหา มันเริ่มต้นมาจาก “สถาบันครอบครัว” ที่ควรจะเป็นสถาบันที่ปลูกฝังให้บุตรหลานโตไปไม่เป็นปัญหาสังคมหรือเปล่า นอกจากนี้ ยังข้อเท็จจริงที่น่าตกใจ ว่าพฤติกรรมการสร้างความวุ่นวายเป็นปัญหาสังคม อาจมีจุดเริ่มต้นมาจากการเลี้ยงดูของสถาบันครอบครัวนี่แหละ

เพราะถ้าหากลองพิจารณาดี ๆ พฤติกรรมที่เด็กเหล่านี้สร้างปัญหาให้กับสังคม สามารถเชื่อมโยงไปถึงภาพเบื้องหลังของครอบครัวเด็กได้เกือบจะทั้งหมดว่าเด็กเหล่านี้โตมาอย่างไร และพ่อแม่ของเด็กเหล่านี้เลี้ยงดูบุตรหลานมาอย่างไรถึงได้มาลงเอยแบบนี้ เด็กไม่มีจิตสำนึกเองก็เป็นเพียงส่วนหนึ่ง แต่อย่าลืมว่าเด็กและเยาวชนที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ต้องอยู่ในความดูแลของผู้ปกครอง และสุดท้ายมันก็จะวนกลับไปหาครอบครัวอยู่ดี ว่าเลี้ยงบุตรหลานมาแบบไหนถึงไม่เคยปลูกฝังให้เด็กรู้จักผิดชอบชั่วดี และรู้จักละอายใจก่อนที่จะก่ออาชญากรรม พฤติกรรมของเด็กจึงสะท้อนให้เห็นว่าครอบครัวของพวกเขาเป็นอย่างไร

1. ครอบครัวไม่ได้ให้ความรักเท่าที่ควร

กลุ่มเด็กวัยรุ่นที่ชอบรวมตัวกันเป็นแก๊งและมีพฤติกรรมชอบสร้างปัญหาให้กับสังคม มักจะมีสิ่งที่คล้ายกันอย่างหนึ่งก็คือ กำลังหนีอะไรบางอย่าง โดยเฉพาะการใช้ชีวิตอยู่ที่บ้าน เด็กกลุ่มนี้รู้สึกไม่อยากอยู่บ้าน จึงออกมารวมตัวกัน ทำตัวมีปัญหาและก่อความวุ่นวายขึ้นเพื่อเรียกร้องความสนใจ อยากมีตัวตนในกลุ่มเพื่อน หรือมีตัวตนในสังคม ซึ่งสิ่งที่พวกเขาเจอและกำลังหนี อาจเป็นความรู้สึกว่าตัวเองไม่มีตัวตน รู้สึกไม่ใช่สมาชิกคนหนึ่งในบ้าน การไม่ได้รับความรัก และอาจรวมถึงการทารุณกรรมในบ้านด้วย ซึ่งในกรณีที่เด็กเคยอยู่ในสถานการณ์ความขัดแย้งในครอบครัวอย่างรุนแรงมาก่อน ก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้เด็กเติบโตขึ้นมาแล้วนิยมใช้ความรุนแรงด้วยเช่นกัน

2. การถูกปฏิเสธหรือถูกทอดทิ้งจากครอบครัว

นอกจากจะไม่ได้รับความรักจากครอบครัว ยังสามารถสะท้อนให้เห็นว่าเด็กอาจถูกปฏิเสธจากคนในครอบครัว ปฏิเสธการมีตัวตนในสังคม หรือถูกทอดทิ้ง สังเกตง่าย ๆ คือ พ่อแม่ผู้ปกครองที่ไม่เคยจะสนใจว่าดึกดื่นค่ำมืดแล้วแต่ลูกตัวเองอยู่บ้านหรือเปล่า ถ้าไม่อยู่แล้วเด็กไปอยู่ที่ไหน การไม่แยแสว่าลูกตัวเองทำอะไรอยู่ที่ไหน ไม่ได้ต่างอะไรกับการทอดทิ้งให้เด็กต้องเติบโตตามยถากรรมตามลำพัง ในเมื่อที่บ้านไม่มีใครสนใจอยู่แล้วว่าจะไปเป็นตายร้ายดีที่ไหน เด็กจึงมั่วสุมอยู่กับกลุ่มเพื่อนที่ทำให้พวกเขามีตัวตน ความรักเพื่อนพ้องแบบไปไหนไปกัน ไม่ได้ถูกทิ้งไว้ตามลำพัง และการสร้างปัญหาสังคมก็ทำให้ตัวเองได้แสง มีซีน ถึงจะไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม แต่เพื่อน ชอบใจ สังคมสนใจ

3. ปรากฏการณ์พ่อแม่รังแกฉัน เมื่อลูกฉันเป็นเด็กดี

อีกประเภทของครอบครัวที่ทำให้เด็กเสียผู้เสียคน คือพ่อแม่ที่เลี้ยงลูกแบบสปอยล์จนเกินไป ตีลมด่าพื้นเวลาที่ลูกหกล้ม มันคือการเลี้ยงลูกแบบ “พ่อแม่รังแกฉัน” รักลูกแบบผิด ๆ ไม่ว่าอะไรลูกฉันถูกเสมอ ทำผิดไม่เคยสั่งสอนให้รู้ผิดชอบชั่วดี ไม่เคยลงโทษ และปล่อยให้เด็กเข้าใจว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้คือดีอยู่แล้ว ถ้าใครว่าลูกตัวเองผิดก็จะออกรับแทน เคลียร์ทางให้ทุกอย่าง เข้าข้างแบบไม่ลืมหูลืมตา แม้แต่การกล้าที่จะเอ่ยคำว่า “ลูกฉันเป็นเด็กดี” ลูกฉันไม่ผิด ลูกฉันไม่มีทางเป็นเด็กไม่ดี การให้ท้ายกับการกระทำทุกอย่าง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะไม่อาจจะยอมรับได้ว่าการเลี้ยงลูกของตัวเองนั่นแหละที่มีปัญหา จึงหลอกตัวเองว่าตัวเองเลี้ยงลูกดีแล้ว จึงไม่มีทางที่เด็กจะทำผิด ทำไม่ดี

4. ครอบครัวเป็นจุดเริ่มต้นของความรุนแรง

เด็กจำนวนไม่น้อยที่ซึมซับความรุนแรงต่าง ๆ จากในครอบครัวมาใช้กับคนอื่นในสังคม การอยู่กับความรุนแรงทั้งทางกาย วาจา ใจ มาตั้งแต่จำความได้ มันทำให้เด็กรู้สึกกลัวในแค่ช่วงแรก ๆ เท่านั้น แต่พอนานวันเข้า เด็กจะชินชากับวิธีปฏิบัติของพ่อแม่ที่แสดงออกเมื่อไม่พอใจพวกเขา ทำให้เด็กซึมซับวิธีการเหล่านี้มาโดยไม่รู้ตัว ถ้าพวกเขาไม่พอใจกับใคร ก็จะแสดงออกด้วยความรุนแรงแบบเดียวกันกับที่ตัวเองเคยเจอ ด้วยเข้าใจว่าความรุนแรงเป็นวิธีปฏิบัติที่ทำได้ทั่วไป ถึงแม้ว่าพอโตแล้วจะรู้เรื่องว่าความรุนแรงเป็นสิ่งไม่ดี แต่เนื่องจากพวกเขาไม่เคยเจอวิธีปฏิบัติที่ดี และไม่เคยได้รับการอบรมสั่งสอนอะไรนอกเหนือจากการใช้ความรุนแรง พวกเขาก็จะใช้ความรุนแรงกับคนอื่น ๆ ต่อไป

5. ครอบครัวทำให้เด็กมีปม

เด็กที่ถูกทอดทิ้ง ถูกทารุณกรรม ทั้งทางร่างกายและทางวาจา หรือมีอคติจากการถูกบูลลี่ ต่าง ๆ ถูกเหยียด ถูกแสดงความรังเกียจจากครอบครัว ด้วยความเจ็บปวด อับอาย ทำให้เด็กเติบโตมาแบบมีปมบางอย่างที่อาจก่อเป็นความรู้สึกเคียดแค้น ในหลายคนที่พ่วงด้วยปัญหาสุขภาพจิต ขาดสำนึกรู้ผิดชอบชั่วดี มีแนวโน้มที่เด็กเหล่านี้จะก่ออาชญากรรมด้วยความรู้สึกว่ากำลังแก้แค้นทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำให้พวกเขาเจ็บปวด โดยเฉพาะครอบครัว การแสดงการแก้แค้นด้วยความรุนแรงหรือก่ออาชญากรรม เป็นเหมือนกำแพงที่พวกเขาจะสร้างขึ้นมาเพื่อปิดบังปมด้อยที่ทำให้ตัวเองรู้สึกอับอายเอาไว้ ทำเหมือนว่าตัวเองเป็นคนที่ตัดสินโทษทุกอย่างได้ เพื่อปิดบังความอ่อนแอในใจ

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.