เครื่อง AED อุปกรณ์ช่วยชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉิน ที่ควรมีในทุกพื้นที่สาธารณะ

“โรคหัวใจ” มีด้วยกันหลายชนิด โดยอาการของโรคหัวใจแต่ละชนิดก็จะแตกต่างกันไป สถิติสาธารณสุขของประเทศไทยปี 2564 พบว่าโรคหัวใจขาดเลือด เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทยมากที่สุดเป็นอันดับ 4 รองจากโรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดในสมอง และปอดบวม โดยคร่าชีวิตคนไทยปีละประมาณ 20,000 คน ส่วนในปี 2565 พบว่าคนไทยเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดมากถึง 70,000 ราย เฉลี่ยชั่วโมงละ 8 คน และคาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี

ส่วนภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ก็เป็นปัญหาด้านสุขภาพที่สำคัญสุดประเด็นหนึ่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยประชากรกว่า 16 ล้านคนทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ และมีผู้ป่วยรายใหม่มากกว่า 1.4 ล้านคนต่อปี โดยมีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2593 จะมีผู้ป่วยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะในเอเชียแปซิฟิกมากถึง 72 ล้านคน มากเป็น 2 เท่าของจำนวนผู้ป่วยในทวีปยุโรปและอเมริกาเหนือรวมกัน

หน้าที่สำคัญของหัวใจ ก็คือ การสูบฉีดเลือดไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย โดยทำงานตลอด 24 ชั่วโมง ไม่มีวันหยุดตลอดชีวิตของเรา หากหัวใจต้องทำงานหนักมาก ๆ จะนำไปสู่ภาวะหัวใจวายจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยอาการหัวใจวาย คืออาการที่สามารถเกิดขึ้นได้แบบไม่เลือกเวลา ไม่เลือกสถานที่ และหากได้รับการช่วยเหลือที่ไม่ทันท่วงที อาจทำให้อันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ ถือเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินที่สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย

เนื่องจากสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้โดยไม่คาดคิดและอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต และในชีวิตจริง เราอาจจะไปพบเข้ากับคนที่ประสบสถานการณ์ฉุกเฉินต่อชีวิตเมื่อไรก็ได้ การให้ความช่วยเหลือต่อผู้ประสบสถานการณ์ฉุกเฉินถือเป็นสิ่งสำคัญพื้นฐานในการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน และอีกสิ่งที่จำเป็นต่อการช่วยเหลือผู้ประสบสถานการณ์ฉุกเฉินที่หมดสติหรือหัวใจวาย คือเครื่อง AED ซึ่งเครื่องที่ว่านี่สำคัญและจำเป็นมากต่อการช่วยชีวิต

เครื่อง AED คืออะไร จำเป็นแค่ไหน

เครื่อง AED หรือเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ (Automated External Defibrillator: AED) เป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบพกพาชนิดหนึ่ง มีประโยชน์มากในการเป็นอุปกรณ์ช่วยชีวิตฉุกเฉินสำหรับผู้ป่วยที่หมดสติจากอาการทางหัวใจ เป็นเครื่องที่สามารถวินิจฉัยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะที่เป็นอันตรายถึงชีวิตได้โดยอัตโนมัติ อ่านและวิเคราะห์คลื่นไฟฟ้าหัวใจของผู้ป่วยได้อย่างแม่นยำ และสามารถให้การรักษาด้วยการปล่อยคลื่นไฟฟ้าไปกระตุ้นหัวใจที่เต้นผิดจังหวะให้กลับมาทำงานปกติอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม โอกาสรอดชีวิตของผู้ป่วยจะขึ้นอยู่กับผู้ที่ทำการช่วยชีวิต ว่าสามารถใช้เครื่อง AED ร่วมกับทำการปฐมพยาบาลพื้นฐานได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพเพียงใด

เนื่องจากเครื่อง AED ถือเป็นอุปกรณ์สำหรับช่วยชีวิตฉุกเฉิน โดยเราจะใช้เครื่อง AED นี้กับผู้ป่วยที่มีอาการที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคหัวใจกำเริบ หรือภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันได้ในกรณีฉุกเฉิน อย่างผู้ป่วยที่มีอาการแน่นหน้าอก ไม่รู้สึกตัว หมดสติ เพื่อช่วยกู้ชีวิตเบื้องต้นระหว่างที่รอหน่วยแพทย์มาถึง ยิ่งช่วยได้เร็วเท่าไร ผู้ป่วยก็จะยิ่งมีโอกาสรอดชีวิตได้มากขึ้นเท่านั้น หรือในอีกทางหนึ่ง การช่วยเหลือผู้ป่วยช้าลงทุก ๆ 1 นาที จะทำให้โอกาสรอดชีวิตลดลงถึง 10 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว

ด้วยเหตุนี้ ในทางการแพทย์จึงแนะนำให้ใช้เครื่อง AED กับผู้ป่วยทันที และให้ใช้ภายใน 4 นาทีหลังจากที่เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้น เพราะหากช้ากว่านี้ จะทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสรอดชีวิตเพียงแค่ 50 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ เป็นตายเท่ากัน และจะแย่ลงไปจนถึงขั้นที่ไม่สามารถประเมินโอกาสรอดชีวิตได้

เครื่อง AED กับการติดตั้งในพื้นที่สาธารณะ

ทุกวินาทีของผู้ประสบสถานการณ์ฉุกเฉินมีผลต่อชีวิต ซึ่งเราเองก็ไม่อาจจะทราบได้เลยว่าชีวิตของเราหรือคนที่เรารักจะตกอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉินเช่นนี้เมื่อใด เนื่องจากอาการหัวใจวายสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ทุกที่ ทุกเวลา ซึ่งมันน่าจะดีไม่น้อยถ้าในพื้นที่สาธารณะทั่วไปหรือสถานที่ที่มีคนพลุกพล่านมีเครื่อง AED ติดตั้งไว้ เพื่อลดความเสี่ยงในการสูญเสีย และเพิ่มโอกาสรอดชีวิตให้แก่ผู้ป่วย ที่สำคัญ เครื่อง AED ก็เป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็ก ที่สามารถเคลื่อนย้ายได้สะดวก ด้วยออกแบบมาให้ใช้งานง่าย และบุคคลทั่วไปสามารถใช้งานได้ตามคำแนะนำของเครื่อง AED

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขเองก็ได้เล็งเห็นความสำคัญของการช่วยชีวิตของผู้ป่วยฉุกเฉิน ก่อนหน้านี้จึงมีการติดตั้งเครื่องกระตุกหัวใจด้วยไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ (Automated External Defibrillator: AED) ไว้ตามพื้นที่สาธารณะสำคัญต่าง ๆ อาทิ สนามบิน ห้างสรรพสินค้า แหล่งท่องเที่ยว โรงแรม ส่วนราชการ รถไฟฟ้าใต้ดิน อาคารสำนักงาน พื้นที่ชุมชน หรือแม้แต่ในบ้านและที่พักอาศัย เผื่อที่เวลาเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน พบเห็นผู้ที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันขึ้นมา ก็จะสามารถใช้สำหรับช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินได้ทันที

นอกจากนี้ ประเด็นเรื่องการติดตั้งเครื่อง AED ในพื้นที่สาธารณะ ถือเป็น “กฎหมาย” คือ พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ส. 2522 กำหนดให้อาคารสูงและอาคารขนาดใหญ่พิเศษที่เป็นอาคารสาธารณะ ต้องจัดให้มีพื้นที่หรือตำแหน่งในการติดตั้งเครื่อง AED เนื่องจากเป็นอุปกรณ์สำคัญในการกู้ชีพ ณ ที่เกิดเหตุ โดยผู้ที่ช่วยเหลือไม่จำเป็นต้องมีความรู้ในการใช้งาน AED มาก่อน เนื่องจากคนทั่วไปก็สามารถใช้งานได้ง่าย เพียงทำตามคำแนะนำของเครื่อง AED ซึ่งสามารถประเมินสถานการณ์ของผู้ป่วยได้อัตโนมัติและช่วยกระตุ้นการทำงานของหัวใจได้อย่างทันท่วงที แต่ก็จะดีกว่าถ้าผู้ที่ช่วยเหลือมีความรู้ในการปฐมพยาบาล

เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2564 ประกาศจากราชกิจจานุเบกษา ออกกฎกระทรวงฉบับที่ 69 เพิ่มข้อ 29/2 ซึ่งเป็นการควบคุมอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษ ที่เป็นอาคารสาธารณะ ต้องจัดให้มีพื้นที่ หรือตำแหน่งเพื่อติดตั้งเครื่อง AED ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2564 เป็นต้นไป โดยมีรายละเอียดของเครื่อง AED ทั้งจำนวน ตำแหน่ง และระบบการติดตั้ง ให้เป็นไปตามมาตรฐานการปฏิบัติการฉุกเฉินที่คณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน (กพฉ.) ประกาศกำหนด

ตามประกาศคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน เรื่อง มาตรฐานการปฏิบัติการฉุกเฉินในการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานนอกสถานพยาบาล พ.ศ. 2564 ได้กำหนดรายการละเอียดของเครื่องกระตุกหัวใจด้วยไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ (Automated External Defibrillator: AED) เอาไว้ดังนี้

  • ตัวเครื่องมีลักษณะการทำงานแบบอัตโนมัติ หรือกึ่งอัตโนมัติ และมีปุ่มสำหรับปล่อยพลังงานไฟฟ้า
  • ตัวเครื่องสามารถให้พลังงานไฟฟ้าได้เองอัตโนมัติ โดยมีพลังงานไฟฟ้าที่เหมาะสมสำหรับเด็ก 50 จูล และสำหรับผู้ใหญ่ไม่น้อยกว่า 120 จูล
  • ตัวเครื่องพร้อมทำการปล่อยพลังงานไฟฟ้า ภายหลังการเริ่มวิเคราะห์คลื่นไฟฟ้าหัวใจในระยะเวลาไม่เกิน 10 วินาที
  • ตัวเครื่องสามารถรองรับการใช้งานได้ทั้งภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษ
  • ตัวเครื่องสามารถรองรับการใช้งานได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่
  • ตัวเครื่องมีมาตรฐานเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องมือแพทย์

อย่างไรก็ตาม หากประเมินด้วยสายตา เราอาจจะเห็นว่าตามที่สาธารณะต่าง ๆ ในเมืองไทยนั้นยังติดตั้งเครื่อง AED ไว้อยู่ค่อนข้างน้อยมาก ทั้งยังไม่สามารถเห็นได้ทั่วไปอีกด้วย (เพราะเครื่อง AED จำเป็นต้องเข้าถึงได้ง่าย หยิบฉวยมาใช้ได้ทันที) ที่สำคัญ การติดตั้งเครื่อง AED ยังไม่ทั่วถึงครอบคลุมทั้งประเทศด้วย ต้องไม่ลืมว่าผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ไม่ได้ประสบกับสถานการณ์ฉุกเฉินได้เฉพาะในเมืองหลวงเท่านั้น จึงน่าจะเพิ่มพื้นที่การติดตั้งเครื่อง AED ให้มากกว่านี้ นอกจากนี้ ยังเคยเกิดกรณีที่มีมือดีขโมยเครื่อง AED เพื่อนำไปขายต่อด้วย จึงจำเป็นต้องมีการป้องกันในเรื่องนี้อย่างรัดกุม เพื่อที่จะได้มีเครื่อง AED ใช้ในสถานการณ์ที่จำเป็นจริง ๆ

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.