นักศึกษาวิทยาลัยดุสิตธานีโชว์ไอเดียสดใหม่เพื่ออุตสาหกรรมการบริการในงาน Thailand Tourism Forum 2024

เริ่มต้นปี 2567 ด้วยหนึ่งในงานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดสำหรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการบริการในประเทศไทยอย่าง Thailand Tourism Forum 2024 ซึ่งปีนี้มาในคอนเสปต์ #TimeForGrowth กิจกรรมภายในงานดำเนินออกมาได้อย่างสนุกสนานภายใต้การดูแลของ C9 Hotelworks Hospitality Consulting Group ณ โรงแรม The InterContinental Bangkok

งานนี้ได้รวบรวมบุคลากรจากแวดวงโรงแรมและผู้ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการบริการกว่า 1,000 ชีวิตที่มาตามติดความเคลื่อนไหวปัจจุบันของแวดวงธุรกิจบริการ รวมถึงไอเดียในการแก้ปัญหาในประเด็นต่าง ๆ ที่ได้หยิบยกขึ้นมาภายในงาน ไม่เพียงแค่นั้น บนเวทียังมีวิทยากรมาแบ่งปันความรู้และประสบการณ์มากมายผ่านกรณีศึกษาและเรื่องราวที่ประสบความสำเร็จ

เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมสู่ความท้าทายใหม่ ๆ ที่เข้ามาอย่างต่อเนื่องในยุคสมัยแห่งความเปลี่ยนแปลงนี้ อุตสาหกรรมการบริการจำเป็นต้องสร้างคลื่นลูกใหม่ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยไอเดียและความคิดสร้างสรรค์ที่สร้างแรงบันดาลใจและโอกาสในสงครามการแข่งขันที่เข้มข้น นี่จึงเป็นเหตุผลที่วิทยาลัยดุสิตธานีได้ส่งนักศึกษาทั้ง 11 คนร่วมขึ้นเวทีในช่วงที่มีชื่อว่า “Bang Bang” และให้พื้นที่ปลดปล่อยไอเดียอย่างเป็นตัวของตัวเองในประเด็นต่าง ๆ เป็นภาษาอังกฤษ โดยปีนี้เป็นปีที่ 4 แล้วที่วิทยาลัยดุสิตธานีเป็นสถาบันเดียวที่ได้รับเกียรตินี้

เริ่มที่ประเด็นเรื่อง ‘การจัดการขยะ’ ในโรงแรมและร้านอาหาร นายปวเรศ เคนโต คาไซ จากสาขาวิชาการจัดการโรงแรมและรีสอร์ท หลักสูตรนานาชาติ (ปัจจุบันคือสาขาวิชาการจัดการการบริการ หลักสูตรนานาชาติ) เสนอว่า ต้องนำนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืนมาบังคับใช้ เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสนับสนุนผู้ค้าในท้องถิ่นที่ยึดถือหลักการปฏิบัติอย่างยั่งยืน ในขณะที่ นางสาวณิชารัศม์ รุจิธีระพัฒน์ จากสาขาวิชาเดียวกัน กล่าวถึงการดูแลรักษาบุคลากรที่มีความสามารถไว้กับองค์กรว่าเป็นหัวใจของการดำเนินธุรกิจ ด้วยการให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่ที่ดีและการเติบโตของพนักงาน เพราะความพึงพอใจของลูกค้าย่อมมาจากความสุขของพนักงานที่สะท้อนออกมาในการบริการนั่นเอง     

นายธีธัช รักษา จากสาขาวิชาการจัดการครัวและศิลปะการประกอบอาหาร หลักสูตรไทย กล่าวว่า ความต้องการของผู้บริโภคนั้นมีความหลากหลายมาก ดังนั้นการจะยกระดับการบริการให้ดียิ่งขึ้นไปอีกนั้นอาจต้องสามารถตอบโจทย์กับทุกความต้องการได้อย่างเฉพาะตัว โดยเสริมเอกลักษณ์การบริการที่ไม่เหมือนใครเข้าไป ส่วน นายเจษฎา ธำรงรุ่งโรจน์ นักศึกษาสาขาวิชาการจัดการโรงแรมและรีสอร์ท หลักสูตรนานาชาติ ก็ได้ให้ข้อเสนอแนะในประเด็นกำแพงทางภาษาว่าควรมีการลงทุนที่มากขึ้นในพนักงานที่สามารถสื่อสารได้หลายภาษา รวมทั้งอาจนำดิจิทัลเทคโนโลยีมาช่วยเหลือในการแปลภาษา

จากนั้น นางสาวจิรดา กล้วยไม้งาม จากสาขาวิชาศิลปะการประกอบอาหารอย่างมืออาชีพ หลักสูตรนานาชาติ กล่าวถึงการขาดนวัตกรรมและความอ่อนแอของอิทธิพลทางด้านวัฒนธรรมว่า เราควรส่งเสริมความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมในหมู่วัยรุ่นและสร้างสิ่งแวดล้อมที่อุ้มชูนวัตกรรม การคิดนอกกรอบ และการทดลองลงมือปฏิบัติเพื่อให้ได้ประสบการณ์ในแบบของตัวเอง ขณะที่นายนีโอ สัจเทพ นักศึกษาสาขาวิชาศิลปะการประกอบอาหารอย่างมืออาชีพ หลักสูตรนานาชาติ ตอบคำถามเกี่ยวกับการอิ่มตัวของตลาดว่า ธุรกิจบริการต้องระบุความต้องการของนักท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่มให้ได้ชัดเจนขึ้น และต้องสร้างพันธมิตรที่สามารถช่วยขยายโอกาสในการแข่งขัน

นายบรูซ ศรัณย์ ไอด์ นักศึกษาสาขาวิชาการจัดการโรงแรม หลักสูตรไทย แสดงความเห็นว่า การสื่อสารจากเจ้าหน้าที่ภาครัฐที่ดีขึ้น การออกมาตรการที่สนับสนุนอุตสาหกรรมการบริการมากขึ้น และการเพิ่มระดับความปลอดภัยให้สูงขึ้น จะช่วยยกระดับประสบการณ์การท่องเที่ยวในประเทศไทยได้ ในขณะที่ นายก้องภพ กาญจนะวีระ จากสาขาวิชาการจัดการครัวและศิลปะการประกอบอาหาร หลักสูตรไทย ได้เสนอให้ธุรกิจบริการอาหารและเครื่องดื่มผนวกวิธีปฏิบัติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยการนับสนุนเกษตรกรท้องถิ่นที่ทำการเกษตรแบบออร์แกนิกเพื่อจะลดค่าใช้จ่าย ลดการขนส่ง และลดช่องว่างในการเข้าถึงผู้ค้าของ SME

นักศึกษาอีกคนจากสาขาวิชาการจัดการครัวและศิลปะการประกอบอาหาร หลักสูตรไทย นายณชชนน ชูไพบูลย์ พูดถึงประเด็นแรงกดดันที่เด็กรุ่นใหม่ต้องเผชิญในการปรับตัวให้เข้ากับองค์กร ทำให้ไอเดียผลิตนวัตกรรมของเด็กรุ่นใหม่ลดลง จึงเสนอให้มีพื้นที่เปิดกว้างสำหรับแบ่งปันไอเดียระหว่างรุ่นพี่ที่มีประสบการณ์กับเด็กยุคใหม่ที่มีความคิดแปลกใหม่เพื่อสำรวจความเป็นไปได้ที่จะทำให้เกิดขึ้นจริง ด้านนางสาวไพลิน แบรดเดล จากสาขาวิชาการจัดการโรงแรม หลักสูตรไทย ก็ได้แสดงมุมมองเกี่ยวกับ AI ในอุตสาหกรรมการบริการว่า แรงงานส่วนใหญ่กังวลว่าเทคโนโลยีจะเข้ามาแทนที่มนุษย์ แต่ AI ก็สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของงานบริการในหลายแง่มุม ดังนั้นจึงควรนำ AI มาช่วยพัฒนาอุตสาหกรรม แทนที่จะปฏิเสธนวัตกรรม

คนสุดท้ายเป็นนักศึกษาหลักสูตร ป.โท นางสาวพนิดา แหยมทองคำ ได้นำประสบการณ์การทำงานในสายการบินมาเสนอเป็นทางออกสำหรับประเด็นความยั่งยืนของอุตสาหกรรมการบินว่า ต้องหาทางใช้พลังงานทางเลือก เช่น เชื้อเพลิงชีวภาพ เชื้อเพลิงไฮโดรเจน และพลังงานไฟฟ้า รวมถึงลดการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ได้เพียงครั้งเดียวแล้วทิ้งในเที่ยวบินอีกทั้งควรให้ความรู้เกี่ยวกับ Carbon Footprint กับพนักงานและผู้โดยสารด้วย

ในฐานะที่เป็นสถาบันการศึกษาที่มุ่งเน้นด้านธุรกิจบริการโดยตรง วิทยาลัยดุสิตธานี สนับสนุนให้นักศึกษามีความกล้าที่จะแสดงออกในการช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมการบริการ โดยให้อิสระในความคิดเห็นที่แตกต่าง พร้อมกับส่งเสริมให้นักศึกษาพบปะกับผู้คนในอุตสาหกรรมบริการเพื่อเชื่อมพวกเขาไปสู่เส้นทางอาชีพในอนาคต

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.