การแสดง (Acting) ของดารา นักร้อง นักแสดง มีลิขสิทธ์ไหมนะ ?
เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่กฎหมายไทย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ฉบับแก้ไข ได้บัญญัติถึงการคุ้มครองการแสดงของนักแสดงไว้แล้ว ในมาตรา 44 -53 หมวด สิทธินักแสดง โดยได้นิยามความหมายของนักแสดงไว้ในมาตรา 4 โดยนิยามว่า
“นักแสดง” หมายความว่า ผู้แสดง นักดนตรี นักร้อง นักเต้น นักรำ และผู้ซึ่งแสดงท่าทาง ร้อง กล่าว พากย์ แสดงตามบทหรือในลักษณะอื่นใด
อย่างไรก็ตาม “สิทธินักแสดง” กับ “ลิขสิทธิ์” แยกออกจากกัน แม้ว่าจะบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ก็ตาม เพราะ “สิทธินักแสดง” ถือว่าเป็น “สิทธิข้างเคียง” (neighboring rights) ซึ่งได้รับการคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ 2 สิทธิ คือ
1. สิทธิแต่เพียงผู้เดียว ตามมาตรา 44
มาตรา 44 นักแสดงย่อมมีสิทธิแต่ผู้เดียวในการกระทำอันเกี่ยวกับการแสดงของตน ดังต่อไปนี้
(1) แพร่เสียง แพร่ภาพ หรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งการแสดง เว้นแต่จะเป็นการแพร่เสียงแพร่ภาพหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนจากสิ่งบันทึกการแสดงที่มีการบันทึกไว้แล้ว
(2) บันทึกการแสดงที่ยังไม่มีการบันทึกไว้แล้ว
(3) ทำซ้ำซึ่งสิ่งบันทึกการแสดงที่มีผู้บันทึกไว้โดยไม่ได้รับอนุญาตจากนักแสดง หรือสิ่งบันทึกการแสดงที่ได้รับอนุญาตเพื่อวัตถุประสงค์อื่น หรือสิ่งบันทึกการแสดงที่เข้าข้อยกเว้นการละเมิดสิทธิของนักแสดงตามมาตรา ๕๓
2. สิทธิในการได้รับค่าตอบแทน ตามมาตรา 45
มาตรา 45 ผู้ใดนำสิ่งบันทึกเสียงการแสดงซึ่งได้นำออกเผยแพร่เพื่อวัตถุประสงค์ทางการค้าแล้ว หรือนำสำเนาของงานนั้นไปแพร่เสียงหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนโดยตรง ให้ผู้นั้นจ่ายค่าตอบแทนที่เป็นธรรมแก่นักแสดง ในกรณีที่ตกลงค่าตอบแทนไม่ได้ ให้อธิบดีเป็นผู้มีคำสั่งกำหนดค่าตอบแทน ทั้งนี้ โดยให้คำนึงถึงอัตราค่าตอบแทนปกติในธุรกิจประเภทนั้น
*หากใครมาละเมิดหรือฝ่าฝืนไม่กระทำการตามข้อดังกล่าว ก็ถือว่ามีความผิดตามกฎหมายนี้
หมายเหตุ
(ตามมาตรา 47 และ 48) นักแสดงจะต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรไทย และการแสดงในประเทศไทยหรือประเทศภาคีที่คุ้มครองสิทธิแต่เพียงผู้เดียวตามมาตรา 44 ด้วย
การบัญญัติให้ความคุ้มครองสิทธิข้างเคียง (neighboring rights) จากการรับรองสิทธิตามอนุสัญญากรุงโรม ค.ศ. 1961 ที่กำหนดให้การคุ้มครอง การแสดงของนักแสดง เนื่องจากหากพิจารณางานอันมีลิขสิทธิ์ประเภท ภาพยนตร์ ละคร ดนตรีกรรม นาฎศิลป์ เหล่านี้หากไม่มีนักแสดงก็ไม่สามารถถ่ายทอดงานสร้างสรรค์ออกมาได้ แต่หากเป็นงานประเภทวรรณกรรม สถาปัตยกรรม จิตรกรรม เหล่านี้ไม่จำเป็นต้องมีนักแสดง จึงเป็นเหตุผลให้องค์การด้านทรัพย์สินปัญญาโลก ( WIPO ) ออกข้อกำหนดในอนุสัญญากรุงโรงดังกล่าวเกี่ยวกับสิทธิข้างเคียงขึ้นมา (neighboring rights)
อย่างไรก็ตามอนุสัญญากรุงโรมได้ให้ความคุ้มครอง “สิทธิข้างเคียง” ไว้ถึง 3 ประเภท คือ สิทธินักแสดง , สิทธิผู้ผลิตสิ่งบันทึกเสียง และสิทธิองค์การแพร่ภาพแพร่เสียง แต่ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ของประเทศไทยให้ความคุ้มครองสิทธิข้างเคียงประเภทเดียวคือ “ สิทธินักแสดง”
นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า “สิทธินักแสดง” สิทธิข้างเคียง จะต้องเป็นสิทธิข้างเคียงในงานอันมีลิขสิทธิ์หรือไม่ ? ข้อนี้เลขาธิการองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก ( WIPO ) ได้กล่าวว่า “ขอบเขตของการคุ้มครองสิทธิข้างเคียงไม่ด้อยไปกว่าลิขสิทธิ์หรือไม่ด้อยไปกว่าระบบลิขสิทธิ์และการคุ้มครองสิทธิของนักแสดงก็ไม่ควรต่ำกว่าระบบลิขสิทธิ์ ฉะนั้นเมื่อลิขสิทธิ์และสิทธินักแสดงเป็นอิสระจากกันแล้ว การละเมิดสิทธินักแสดงอาจเกิดขึ้นโดยไม่ต้องละเมิดลิขสิทธิก็ได้” แต่สำหรับกฎหมายไทย การที่บัญญัติเกี่ยวกับสิทธินักแสดงไว้เป็นหมวดหนึ่งของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ ก็ยังเป็นปัญหาที่ต้องตีความว่าสิทธินักแสดงต้องกระทำในงานอันมีลิขสิทธิ์หรือไม่ ยังไม่รวมถึงการบัญญัตินิยามคำว่านักแสดงที่ไม่ชัดเจนกับคำว่า “แสดงในลักษณะอื่นใด” จะตีความกว้างหรือแคบอย่างไร ? ทั้งแนวทางการตีความของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศของไทย ก็ยังไม่ชัดเจน เรื่องนี้จึงต้องติดตามต่อไป
แต่ที่แน่ๆ นักแสดงตามนิยามมาตรา 4 คนไหนไม่ได้รับค่าตอบแทนจากการแสดง (Acting) หรือมีใครเอาการแสดงเราไปแผยแพร่ ทำซ้ำ บันทึก โดยไม่ได้รับอนุญาต ตรงนี้มีความผิด ดำเนินคดีตามกฎหมายได้แน่นอน
ปริม กุญชนิตา กุญชร ณ อยุธยา
Managing Partner STELO Entertainment Law
[email protected]
Page : Stelo Entertainment Law
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.