10 ไฮไลต์เที่ยววัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ อารามหลวงแห่งแรกกรุงรัตนโกสินทร์

  • ความแปลกอีกอย่างหนึ่งของวัดมหาธาตุฯ คือ ใบเสมา ที่พบได้ไม่บ่อยนักคือ เป็นเสมาแนบผนังตัวโบสถ์ สลักลวดลายตรงกลางใบเสมาด้วยรูปครุฑยุดนาค
  • วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ เป็นวัดเก่าแก่ที่มีมาก่อนตั้งกรุงรัตนโกสินทร์แห่งนี้ มีส่วนให้บ้านเมืองไทยได้รอดพ้นภัยในช่วงคับขัน

ในเขตเกาะรัตนโกสินทร์ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ดูจะเป็นเพียงจุดที่ใครต่อใครเดินผ่าน ทั้งที่เป็นพระอารามหลวงแห่งแรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ อยู่ในจุดที่ผู้คนสัญจรเดินทางผ่านไปมาคับคั่งพิกัดหนึ่งของพระนคร และกำลังจะเข้าสู่ปีที่ 338 ใน พ.ศ.2566

เชื่อกันว่า วัดมหาธาตุฯ เป็นวัดเก่าแก่ที่มีมาก่อนตั้งกรุงรัตนโกสินทร์แห่งนี้ มีส่วนให้บ้านเมืองไทยได้รอดพ้นภัยในช่วงคับขัน ทั้งยังเป็นสถานที่สังคายนาพระไตรปิฎกครั้งแรกของยุครัตนโกสินทร์ และยังเคยเป็นวิทยาเขตหลักของมหาวิทยาลัยสงฆ์สำคัญ รวมถึงเป็นที่สถิตของสมเด็จพระสังฆราชในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์จำนวนถึง 5 พระองค์ จึงกล่าวได้ว่าวัดมหาธาตุฯ เป็นจุดสำคัญที่สายวัด สายคัลเจอร์ ควรจะได้ไปเช็คอินสักครั้ง ส่วนใครที่ยังไม่เคยไปวัดมหาธาตุฯ เราได้ปัก 10 เช็คลิสต์ไฮไลต์เที่ยว วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ไว้ให้ได้ตามรอยกันแล้ว

01 บวรราชานุสาวรีย์ วังหน้าผู้ร่วมกู้อิสรภาพไทย

นอกจากทางเข้าหลักด้านถนนมหาราชที่เลียบแม่น้ำ วัดมหาธาตุฯยังมีอีกจุดทางเข้าด้านถนนหน้าพระธาตุฝั่งสนามหลวง โดยช่วงกลางวันสามารถเข้าทางอนุสาวรีย์บุคคลสำคัญที่มีคุณูปการต่ออาณาจักรไทย คือ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท พระราชอนุชากับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ที่ทรงเป็นแม่ทัพที่มีบทบาทสูงยิ่งในนานาศึกสงครามช่วงเสียกรุง กรุงธนบุรี และช่วงตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ นอกจากพระองค์ท่านจะได้เป็นพระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ที่มักเรียกตำแหน่งนี้อย่างย่อว่า ‘วังหน้า’ ยังได้ทรงเป็นผู้ก่อสร้างพระราชวังบวรสถานที่กลายเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในปัจจุบัน และทรงบูรณปฏิสังขรณ์อารามต่างๆ มากมาย รวมถึงวัดมหาธาตุฯ

มีตำนานเล่าขานกันว่าครั้งที่พระองค์เป็นมหาดเล็กของสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ ได้ลงเรือโกลนกับเพื่อน 3 คน หนีจากอยุธยา เมื่อถึงเมืองธนบุรีผ่านปากคลองบางกอกใหญ่ เมื่อเห็นข้าศึกมาจวนตัวได้คว่ำเรือโกลนซ่อนตัวใต้น้ำ ตรงจุดที่มองเห็นบนฝั่งว่าเป็นวัดวัดหนึ่ง โดยได้ทรงตั้งจิตอธิษฐานขอพรให้พ้นภัยจากพระประธานในพระอุโบสถ ซึ่งก็สำเร็จผล วัดนั้นคือ “วัดสลัก” ซึ่งเมื่อได้มามีพระราชฐานอยู่ประชิดคราได้เป็นวังหน้าก็กลับมาบูรณะ พระราชทานนามใหม่ว่าวัดนิพพานาราม ยกให้เป็นพระอารามหลวง ทำให้วัดนี้เป็นพระอารามหลวงแห่งแรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ 

02 พระเจดีย์ศรีรัตนมหาธาตุ (พระเจดีย์ทอง)

นบรรดาสิ่งก่อสร้างที่สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาททรงสร้างใน วัดมหาธาตุฯ พระมณฑปสูง 10 วาแห่งนี้ ถือว่ามีความสำคัญสูงสุดอาคารหนึ่ง ซึ่งนอกจากพระบรมสารีริกธาตุที่บรรจุซึ่งเป็นที่มาของชื่อวัด ความเด่นของมณฑปนี้คือการที่สร้างครอบพระเจดีย์สีทองนี้ทรงย่อไม้สิบสองไว้ข้างในที่หาชมได้น้อยที่ นอกจากนี้ตามข้อสันนิษฐานของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพฯ ภายในพระเจดีย์ทองนี้น่าจะมีการบรรจุพระอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก (พระบิดาของรัชกาลที่1และสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทเอง) ทำให้บทบาทของมณฑปนี้มีหน้าที่ประหนึ่งเป็นอาคารประธานของวัด โดยตั้งอยู่ด้านหน้าระหว่างพระอุโบสถและพระวิหาร(ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นโบสถ์เดิมครั้งยังเป็นวัดสลัก)

พระลักษณ์ทรงหนุมานยืน

พระมณฑปหลังนี้ผ่านการความเสียหายบูรณะซ่อมแซมมาหลายหน ทั้งเคยมียอดทั้งอย่างปราสาทและหลังคาโรง จนในสมัยรัชกาลที่ 3 ทรงปรับบูรณะให้ก่ออิฐถือปูนงดงามอย่างในปัจจุบัน จุดน่าศึกษาจุดหนึ่งอยู่ที่หน้าบันไม้ของมณฑปที่แกะสลักปิดทองประดับกระจก ตรงกลางเป็นรูปพระลักษณ์ทรงหนุมานยืนแท่น ตราพระราชลัญจกรของกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ต่างจากหน้าบันของพระอารามหลวงของฝ่ายพระมหากษัตริย์ (วังหลวง) ที่เป็นรูปพระราม

03 พระศรีสรรเพชญ์ พระประธานใหญ่ในพระอุโบสถ

จากเดิมที่มีชื่อตามครั้งสมัยอยุธยาว่าวัดสลักจนได้ชื่อใหม่ “วัดนิพพานาราม” ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกกับสมเด็จพระบวรราชเจ้าฯ ได้อาราธนาสงฆ์ชั้นราชาคณะทำการสังคายนาพระไตรปิฎกในปี พ.ศ. 2331 เลยได้ประทานนามวัดนิพพานรามเสียใหม่ว่า “วัดพระศรีสรรเพชญ์” และในช่วงเดียวกันนั้นมีการบูรณะครั้งใหญ่ พร้อมกับมีการสร้างพระประธานขึ้นใหม่ โดยสมเด็จพระบวรราชเจ้าฯ โปรดเกล้าฯ ให้พระยาเทพรังสรรค์เป็นผู้ปั้น และขนานนามพระพุทธรูปองค์ใหม่นี้ตามชื่อใหม่ของวัดไป รอบพระประธานประจำพระอุโบสถองค์นี้มีรูปพระอรหันต์ 8 องค์ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชี เรียกว่าพระอรหันต์ 8 ทิศ มีชื่อจารึกที่ฐานทุกองค์ และยังมีเครื่องราชูปโภคบางชิ้นที่สมเด็จพระบวรราชเจ้าฯทรงพระราชอุทิศถวายพระอาราม ได้แก่ รูปช้าง 1 เชือก รูปม้า 1 ตัว ประดับประกอบ

ใน พ.ศ. 2347 หนึ่งปีภายหลังจากสมเด็จพระบวรราชเจ้าฯ สวรรคต รัชกาลที่1 โปรดเกล้าฯ เปลี่ยนนามพระอารามเสียใหม่เป็น วัดพระศรีรัตนมหาธาตุฯ ตามประเพณีที่ว่าในราชธานีจะต้องมีวัดสำคัญ 3 วัด คือ วัดมหาธาตุ  วัดราชประดิษฐ์ และวัดราชฎร์บูรณะ

ในกาลต่อมา สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมารสวรรคต รัชกาลที่ 5 พระราชบิดา จึงพระราชทานพระราชทรัพย์ในส่วนของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช อุทิศพระราชทานปฏิสังขรณ์ทั่วทั้งพระอาราม และโปรดให้เติมสร้อยพระนามพระอารามว่า วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ในปี พ.ศ.2443 และใช้ชื่อนี้สืบเนื่องจนปัจจุบัน

04 “หลวงพ่อหิน” พระพุทธรูปศิลาแลง หลักฐานตำนานวัด

หลายวัดมีพระประธานในวิหารที่เป็นที่นิยมสักการะไม่แพ้พระประธานในตัวโบสถ์ ซึ่งพระพุทธรูปศิลาแลงที่นิยมเรียกกันว่า หลวงพ่อหิน ของวัดมหาธาตุฯ คือหนึ่งในนั้น ตำนานความศักดิ์สิทธิ์ส่วนหนึ่งองค์พระพุทธรูปปางมารวิชัยขัดสมาธิราบหน้าตักประมาณ 5 ศอกองค์นี้ว่ากันว่ามาจากอานุภาพที่เคยช่วยให้สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทรอดพ้นภัยมาแล้ว ตั้งแต่ยังเป็นพระประธานในอุโบสถวัดสลัก (ชื่อเดิมของวัดมหาธาตุ)

ศิลาจารึกหลักฐานการสร้างวัด

หลักฐานสำคัญหนึ่งที่ทำให้กำหนดอายุพระพุทธรูปศิลาแลงองค์นี้ได้ก็คือถ้อยคำในศิลาจารึกที่บันทึกว่า “มีการปิดทองหลวงพ่อหินว่าอยู่ในปี พ.ศ. 2228” ซึ่งเป็นจุดที่นำมาสู่ตัวเลขการสมโภชวัดมหาธาตุฯ 338 ปี ในปีนี้ ด้วยความสำคัญของศิลาโบราณหลักนี้ ต่อมาจึงได้ถูกนำไปซ่อนเก็บไว้ในสระทิพยนิภาเป็นเวลากว่าสามทศวรรษ และเป็นที่เลื่องลือในหมู่ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้มาศึกษาที่มหาจุฬาฯ ที่มักนำน้ำในสระมาประพรมหรือดื่มในช่วงสอบไล่ จนเมื่อต้องมีเหตุให้ถมสระเพื่อสร้างอาคารเพิ่มเติมจึงได้มีการงมเอาศิลาขึ้นมา โดยเห็นสมควรกันว่าควรนำไปวางไว้หน้าองค์หลวงพ่อหินที่มีความเก่าแก่พอกัน

05 ตราสัญลักษณ์ “เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ”

สำหรับตัวพระวิหารเองนั้นนอกจากสัณฐานที่คล้ายกันกับจนเกือบจะเป็นอาคารแฝดกับพระอุโบสถ ตรงหน้าบันยังมีความน่าสนใจคือ รูปตราสัญลักษณ์ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร มีอักษรย่อว่า “ร.จ.บ.ต.ว.ห.จ. ( เราจะบำรุงตระกูลวงศ์ให้เจริญ)” แอบอยู่ในมุมเฉพาะที่ต้องคอยชะเง้อมอง รวมถึงในห้องปีกทั้งสองข้างของพระวิหาร ห้องด้านหนึ่งได้เก็บสิ่งของล้ำค่า ทั้งพระพุทธรูปงาม โบราณวัตถุ พัดยศ เครื่องถ้วยชามจีน และอื่นๆ ราวกับเป็นพิพิธภัณฑ์ขนาดย่อม โดยไม่เก็บค่าเข้าชมแต่ประการใด ส่วนอีกด้านหนึ่งก็เป็นคลังเก็บพระคัมภีร์พระสูตรสำคัญ 

06 ศรีมหาโพธิ์กว่าสองร้อยปี หน่อต้นครั้งพุทธกาล

ต้นโพธิ์ลังกาอายุกว่า 205 ปี ต้นนี้ เชื่อกันว่าอยู่ในรุ่นแรกเดียวกับอีก 2 ต้นที่ พระสมณทูตไทยได้นำหน่อต้นพระศรีมหาโพธิ์ เมืองอนุราธปุระ ศรีลังกา มาปลูกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อปี พ.ศ.2361 พร้อมกันกับที่วัดสระเกศ และที่วัดสุทัศน์ บริเวณที่ตั้งของต้นโพธิ์ศักดิ์สิทธิ์นี้อยู่ในสวนอันร่มรื่นด้านหลังพระบวรราชานุสาวรีย์สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทฝั่งสนามหลวง มีถวายผ้าห่มแก่ต้นศรีมหาโพธิ์เสมือนถวายผ้าห่มแด่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตามความเชื่อของพุทธศาสนิกชน โดยไม่ไกลกันมีวิหารโพธิ์ลังกาที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดให้สร้างขึ้นตรงที่ตั้งพระตำหนักเดิมของพระองค์ท่านช่วงที่ทรงผนวชเสด็จประทับอยู่ที่นี่

07 “ตึกแดง” สถาปัตยกรรมสำคัญของอาคารก่ออิฐถือปูนสมัยรัชกาลที่ 5

อีกหนึ่งจุดที่หลายคนเห็นจนชินตา เป็นภาพจำของสนามหลวง แต่ไม่เคยได้เข้าไปเลยก็คือ “ตึกแดง” ซึ่งแบ่งพื้นที่เป็น ตึกถาวรวัตถุ และหอสมุดวชิราวุธ ความโดดเด่นคือที่นี่เป็นสถาปัตยกรรมสำคัญของกลุ่มอาคารก่ออิฐถือปูนที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 ทั้งยังมีพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร มกุฎราชกุมารพระองค์แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ด้านหลังตึกแดงเป็น อาคารเบญจมราชวรานุสรณ์ (สถานปฏิบัติธรรม ศูนย์วิปัสสนานานาชาติ) จัดสร้างในสมัยรัชกาลที่ 9 ส่วนตัวตึกแดงเองนั้นเดิมทีเคยใช้สำหรับเก็บหนังสือในหอพระสมุดสำหรับพระนครในสมัยรัชกาลที่ 6 ปัจจุบันปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงนิทรรศการ “ตู้ลายทองโบราณ” หนึ่งเดียวในไทย

08 พระแสงราวเทียน พระแสงดาบคู่พระทัยที่สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท

ในงานสมโภช 338 ปี วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ในปี 2566 นี้มีข่าวสำคัญก็คือการค้นพบ พระแสงราวเทียน ซึ่งเป็นพระแสงดาบคู่พระทัยที่สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทที่เคยสูญหายไปและมีการนำส่งคืนให้เป็นสมบัติแก่ทางวัด โดยการค้นพบครั้งนี้มีจุดเริ่มจากการที่ อาจารย์ปริญญา สัญญะเดช นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญศาสตราวุธ ซึ่งเคยบวชที่วัดมหาธาตุฯ ได้รับทราบข้อมูลและรูปพรรณของพระแสงราวเทียน จากอัลบั้มเก่าร่วมด้วยการบอกเล่าของพระพรหมวชิราธิบดี อธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุฯ จึงได้มีการพยายามสืบเสาะค้นหาพระแสงสำคัญองค์นี้มาเป็นเวลานาน ระทั่งไม่นานมานี้มีผู้รู้แจ้งเบาะแสให้ตามไปพบ และเมื่อพิจารณาจนมั่นใจในลักษณะ รูปทรงดาบ เนื้อโลหะ และการประดับตกแต่งติดตั้งราวเทียน จึงได้มีการนำกลับคืนสู่วัด

พระแสงราวเทียน คือพระแสงดาบคู่พระทัยที่ สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ทรงใช้ทำการศึก และด้วยความผูกพันศรัทธายาวนานที่ทรงมีต่อวัดมหาธาตุฯ ที่เคยเป็นจุดหลบภัย หลังจากทรงสถาปนาวัดมหาธาตุฯ เป็นพระอารามหลวงแห่งแรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ก็ทรงบรรพชาที่วัดนี้ และเมื่อคราวประชวรหนักช่วงปลายพระชนม์ชีพ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ได้เสด็จพระราชดำเนินจากวังหน้ามากราบลาสักการะพระประธานในพระอุโบสถใหญ่ พร้อมน้อมถวายพระแสงทำเป็นราวเทียนเพื่อเป็นพุทธบูชา หลังจากนั้นไม่นานก็เสด็จสวรรคต

สำหรับลักษณะของ พระแสงราวเทียน นี้เป็นดาบญี่ปุ่นที่ผลิตในสมัยเอโดะ นิยมใช้ในการสู้รบ เนื่องจากมีความคมแกร่ง เรียกว่า “ดาบมังกร” เมื่อจะทำให้เป็นราวเทียนบูชาได้มีการลบปลาย ลบคม และถอดด้ามออก ตกแต่งเป็นเศียรและหางนาคตามพระราชนิยมจากนั้นจึงถวายเป็นพุทธบูชาเรียก “พระแสงราวเทียน”

09 พิพิธภัณฑ์ประจำวัด

ในวิหารของวัดนอกจากจะประดิษฐานหลวงพ่อหินแล้ว ยังเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ประจำวัดที่ไม่ใหญ่มาก แต่อัดแน่นด้วยของเก่าล้ำค่าโดยเฉพาะในหมวดเครื่องเคลือบและคำภีร์ใบลานที่ยังมีผ้าห่อทอเก่าห่อใบลานอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ โดยในส่วนของเครื่องเคลือบ เครื่องกระเบื้องนั้นเป็นของเก่าตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 สามารถเดินเข้าไปชมได้

10 เสมาแนบผนังตัวโบสถ์ รูปแบบเฉพาะรัชกาลที่ 1

 

ความแปลกอีกอย่างหนึ่งของวัดมหาธาตุฯ คือ ใบเสมา ที่พบได้ไม่บ่อยนักคือ เป็นเสมาแนบผนังตัวโบสถ์ สลักลวดลายตรงกลางใบเสมาด้วยรูปครุฑยุดนาค และขอบรอบใบเสมาคือตัวนาค นอกจากนี้ยังพบใบเสมาแนบผนังภายในพระอุโบสถ โดยสลักเป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑอีกด้วย โดยใบเสมาแนบผนังแบบนี้เป็นรูปแบบเฉพาะของเสมาในสมัยรัชกาลที่ 1 ได้รับอิทธิพลมาจากสมัยอยุธยาตอนปลาย ใครแวะไปไหว้พระในพระอุโบสถอย่าลืมมองหาใบเสมากันด้วย

 

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.