รับมือเมื่อลูกมีพฤติกรรมก้าวร้าว ทำตัวไม่น่ารัก
ปัญหาลูกทำตัวไม่น่ารัก เหวี่ยงวีน อาละวาด ก้าวร้าว ดื้อ ซน เอาแต่ใจ เมื่อไรที่ไม่ได้ดั่งใจจะต้องร้องไห้กระจองอแง หรือลงไปชักดิ้นชักงอที่พื้น โดยอาการจะหนักขึ้นเมื่อพ่อแม่พาออกไปนอกบ้าน น่าจะเป็นปัญหาอันดับต้น ๆ สำหรับผู้ปกครองเกือบทุกบ้านที่สร้างความหนักอกหนักใจเสมอมา เพราะปัญหาที่ว่าไม่ใช่เรื่องเล็ก นอกจากจะสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้แก่ผู้อื่นแล้ว หากผู้ปกครองไม่มีวิธีกำราบที่ถูกต้องและเหมาะสม พฤติกรรมไม่น่ารักแบบนี้จะติดตัวเด็กไปจนโต และเติบโตไปเป็นคนที่ “พ่อแม่ไม่สั่งสอน” ได้ในที่สุด
ด้วยความที่เด็กนั้นยังไร้เดียงสา ยังไม่รู้ว่าอะไรควรทำอะไรไม่ควรทำ รวมถึงการที่เด็กต้องการความสนใจจากพ่อแม่ จึงทำอะไรตามใจที่ตัวเองอยากจะทำ ซึ่งการที่เด็กอยากจะลองทำทุกอย่างถือเป็นกระบวนการเรียนรู้อย่างหนึ่ง เมื่อทำแล้วได้รับปฏิกิริยาตอบสนองในแบบที่ตัวเองต้องการ เด็กก็จะทำพฤติกรรมที่ว่าจนติดเป็นนิสัย ในส่วนของการเรียนรู้นี้ ผู้ปกครองมีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง อย่างแรก พ่อแม่ต้องควบคุมลูกให้ได้ และอย่างต่อมา การเรียนรู้ของเด็กแต่ละคนจะแตกต่างกันไปตามสภาพแวดล้อมที่โตมา การเลี้ยงดู การดูแลเอาใจใส่ของพ่อแม่ผู้ปกครอง ดังนั้น หากผู้ปกครองสามารถแนะนำ ชี้แนะ หรือเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเด็กได้ เด็กก็จะเรียนรู้ และซึมซับพฤติกรรมที่พึงประสงค์นั้นมาเพื่อเติบโตเป็นคนที่มีคุณภาพได้อย่างแน่นอน
เด็กก้าวร้าวแสดงออกอย่างไร
เด็กแต่ละวัยมีวิธีการแสดงออกความก้าวร้าวที่ไม่เหมือนกัน ในเด็กวัยทารก จะแสดงออกเมื่อไม่ได้รับการตอบสนองความต้องการทางร่างกาย เช่น เมื่อรู้สึกหิว หงุดหงิด หรือรู้สึกไม่สบายตัว เด็กก็จะร้องไห้ทันที ในเด็กวัยเตาะแตะ จะแสดงความต่อต้านโดยการลงไปนอนดิ้นกับพื้น ทุบตีพ่อแม่ ทำร้ายตัวเอง ส่วนในวัยอนุบาล เด็กจะเริ่มแสดงความก้าวร้าวออกมาทางคำพูด อาจมีคำพูดหยาบคาย คำพูดทำให้พ่อแม่เสียใจ เช่น ไม่รักพ่อแม่แล้ว ไล่พ่อแม่ไปไกล ๆ ไม่ว่าเด็กในวัยไหนจะแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวออกมายังไง พ่อแม่ก็ควรต้องรู้ว่าทำไมลูกถึงมีพฤติกรรมไม่น่ารัก ต้องมีวิธีการจัดการ และต้องหยุดพฤติกรรมนี้ของเด็กให้ได้ เพื่อช่วยปรับพฤติกรรมของเด็กให้ดีขึ้น
กลไกของพฤติกรรมไม่น่ารักในเด็กเกิดจากอะไร
- เกิดจากการเลียนแบบพฤติกรรมทั้งจากบุคคลในครอบครัว โรงเรียน สังคมใกล้ชิด และสื่อต่าง ๆ
- เกิดจากการขาดการเรียนรู้และฝึกฝนให้ควบคุมอารมณ์โกรธด้วยวิธีที่เหมาะสม
- เด็กที่ต้องเผชิญกับความรุนแรงบ่อย ๆ จะเกิดความกลัว จึงพยายามต่อสู้เพื่อป้องกันตัวเอง และใช้ความก้าวร้าวในการแก้ปัญหา
วิธีจัดการเด็กมีพฤติกรรมไม่น่ารัก สำหรับเด็กวัยเตาะแตะ
- พ่อแม่ต้องสงบสติอารมณ์ตัวเองให้ได้ก่อน ไม่ควรจัดการปัญหาขณะมีอารมณ์โกรธเพราะจะยิ่งทำให้สถานการณ์แย่ลง หากยังระงับอารมณ์ตนเองไม่ได้ ให้แยกตัวออกมาจากสถานการณ์ตรงหน้าก่อน เมื่อควบคุมอารมณ์ของตนเองได้ดีแล้วจึงค่อยจัดการปัญหา ไม่ควรลงโทษเด็กขณะกำลังร้องอาละวาด
- หาวิธีเบี่ยงเบนความสนใจของเด็ก หรือชวนเด็กไปทำกิจกรรมอื่นแทน เด็กเล็กจะยิ่งเบี่ยงเบนได้เร็วและง่ายขึ้น
- ใช้การเพิกเฉย ในกรณีที่เด็กอาละวาดไม่รุนแรง เช่น ร้องไห้ เตะขา กรีดร้อง พูดหยาบคาย หรือมีคำพูดที่ทำให้ไม่สบายใจ ให้พ่อแม่ยืนดูเฉย ๆ อยู่ใกล้ ๆ ไม่ต้องพูดอะไร รอจนกว่าเด็กจะสงบจึงเข้าไปกอด ปลอบและพูดคุยถึงสิ่งที่เกิดขึ้นและวิธีแก้ไขหากมีครั้งต่อไป หลีกเลี่ยงการให้ความสนใจทั้งทางบวกและทางลบ
- หยุดพฤติกรรมทันทีเมื่อมีการทำร้ายตัวเอง ทำร้ายคนอื่น หรือทำลายข้าวของ พ่อแม่ช่วยล็อกตัวเด็ก โดยจับแขนของเด็กไพล่หลัง เอาหลังเด็กชนกับหน้าอกของพ่อแม่ ล็อกไว้จนกว่าเด็กจะสงบ หรืออาจใช้วิธีเข้ามุมในเด็กโต
- หลีกเลี่ยงการตามใจเพื่อหยุดการร้องอาละวาด เพราะเด็กจะเรียนรู้ว่าวิธีนี้ทำให้ตนเองได้สิ่งที่ต้องการ
- ควรทำด้วยความสม่ำเสมอ ไม่ลังเลกับคำสั่ง/กฎที่พ่อแม่ตั้งไว้ เพราะจะทำให้เด็กสับสนว่าอะไรทำได้หรือทำไม่ได้
วิธีจัดการเด็กมีพฤติกรรมไม่น่ารัก สำหรับเด็กอนุบาลและเด็กวัยเรียน
- ยอมรับอารมณ์ความรู้สึกของเด็ก แต่ไม่ยอมรับพฤติกรรมก้าวร้าว ฝึกให้เด็กรู้จักควบคุมอารมณ์โกรธ หรือไประบายออกทางอื่นอย่างเหมาะสม
- สอนเด็กให้รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา รู้จักสิทธิของตนเองและผู้อื่น ว่าถ้าตัวเองโดนแบบนี้บ้างจะรู้สึกอย่างไร
- รับฟังเมื่อเด็กเล่าเหตุการณ์หรือแก้ตัวโดยยังไม่ด่วนสรุป
- ไม่ใช้คำพูดที่ก่อให้เกิดปมด้อยกับเด็ก เช่น “ดื้อ ซน นิสัยเสีย อันธพาล” ควรเน้นที่พฤติกรรมที่เด็กทำผิดเท่านั้น
- ให้เด็กรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่ทำลงไป เช่น ถ้าอาละวาดทำลายข้าวของ ก็ให้เด็กเก็บกวาด
- ให้เด็กมีกิจกรรมที่ฝึกการควบคุมตนเอง เช่น การเล่นกีฬา การรับผิดชอบงานบ้าน การเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น
- คอยสังเกตและป้องกันเหตุการณ์ที่คาดว่าเด็กจะแสดงอาการก้าวร้าว
- ชมเมื่อเด็กคุมอารมณ์ตนเองได้และแสดงพฤติกรรมเหมาะสม
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.