ถ้ารู้สึกแย่ก็แค่ร้องไห้ออกมา ประโยชน์ของการหลั่งน้ำตา กลไกที่ซ่อนไว้ภายใต้ความโศกเศร้า

เป็นเรื่องธรรมดาสามัญ ที่มนุษย์ทุกคนจะหลั่งน้ำตาออกมาเมื่อรู้สึกเสียใจ เพราะการร้องไห้ไม่ใช่เรื่องผิด ไม่ใช่ภาษากายที่แสดงถึงความอ่อนแอหรือจิตใจที่ไม่มั่นคง อากัปกิริยาดังกล่าวเป็นเพียงการตอบสนองทางอารมณ์ตามธรรมชาติเท่านั้น แม้กระทั่งชาวกรีกโบราณรวมถึงนักรบญี่ปุ่นในยุคกลางก็ยังเชื่อว่าการร้องไห้เป็นสัญลักษณ์ของความเข้มแข็งและเข้าใจโลก

ที่สำคัญในเชิงวิทยาศาสตร์การร้องไห้ไม่ใช่สิ่งที่แย่ แต่เป็นสิ่งที่ส่งผลดีต่อร่างกายและสภาพจิตใจมากกว่าที่คิด ดังนั้นคอลัมน์ Wisdom ในวันนี้ จึงอยากชวนผู้อ่านมาทำความเข้าใจกันก่อนว่า การร้องไห้ส่งผลดีต่อเราอย่างไร และทำไมเราต้องร้องไห้ออกมาเมื่อรู้สึกเศร้า

หลายศตวรรษที่แล้ว ผู้คนต่างพากันคาดเดาว่าน้ำตามาจากไหน เพราะเหตุใดมนุษย์ต้องหลั่งน้ำตา ซึ่งเท่าที่จะสืบสาวต้นเรื่องมาได้ น้ำตาได้เริ่มปรากฏในพระคัมภีร์ฉบับพันธสัญญาเดิมที่อธิบายว่า น้ำตาเกิดจากการที่เนื้อเยื่อหัวใจอ่อนตัวลง แล้วละลายกลายเป็นน้ำไหลออกมา จนกระทั่งในช่วงปี ค.ศ. 1600 ผู้คนส่วนใหญ่ต่างเชื่อว่าอารมณ์เป็นตัวกระตุ้นทำให้เกิดการร้องไห้ โดยเฉพาะอารมณ์ที่มีสาเหตุมาจาก ‘ความรัก’ หัวใจที่ร้อนระอุจะสร้างไอน้ำออกมา จากนั้นลอยขึ้นไปที่ศีรษะ ควบแน่นบริเวณดวงตา และไหลออกมาเป็นน้ำ ซึ่งแน่นอนว่าแนวคิดเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่ผิดเสียทีเดียว เพราะการร้องไห้ก็เชื่อมโยงกับอารมณ์และจิตใจจริงๆ

นพ.เดวิด ซิลเวอร์สโตน (David Silverstone) ศาสตราจารย์ด้านจักษุวิทยาจาก Yale School of Medicine อธิบายว่า น้ำตามีหลายประเภทและเกิดจากสาเหตุที่ต่างกัน เช่น น้ำตาที่หลั่งออกมาเพื่อให้ความชุ่มชื้นแก่ดวงตาจะมีส่วนประกอบของเกลือและน้ำเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่น้ำตาที่หลั่งออกมาเมื่อคุณหั่นหัวหอมหรือพบฝุ่นควันจะประกอบไปด้วยสารแอนติบอดีที่ช่วยป้องกันสิ่งแปลกปลอม และชะล้างสารเคมีที่ทำให้ระคายเคือง

แต่การร้องไห้เมื่อรู้สึกเศร้า นักวิทยาศาสตร์และนักจิตวิทยาส่วนใหญ่เชื่อว่ามีประโยชน์ในการแสดงออกทางสังคมมากกว่าในเชิงสรีรวิทยา เพราะเป็นผลพลอยได้ที่มาจากการวิวัฒนาการ เพราะการร้องไห้ในรูปแบบนี้ เป็นอีกหนทางหนึ่งในการได้รับความเห็นอกเห็นใจจากเพื่อนมนุษย์ และได้รับการเกื้อหนุนทางสังคม เนื่องจากทุกครั้งที่อารมณ์ของเราแปรปรวน ระบบลิมบิก (Limbic System) หรือบริเวณส่วนกลางของสมองที่ทำหน้าที่ควบคุมอารมณ์จะส่งสัญญาณไปกระตุ้นต่อมน้ำตาให้ผลิตน้ำตาออกมา การหลั่งน้ำตาเมื่อรู้สึกเศร้าจึงประกอบไปด้วยโปรตีนจำนวนมาก ฮอร์โมน และสารประกอบอื่นๆ ที่ไม่พบในน้ำตาทั่วไป อาทิ โพแทสเซียม (Potassium) แมงกานีส (Manganese) และคอร์ติซอล (Cortisol) หรือกลุ่มฮอร์โมนความเครียด การที่น้ำตาประกอบไปด้วยโปรตีนและสารประกอบเป็นจำนวนมากจะทำให้น้ำตาที่ไหลออกมามีลักษณะข้นหนืดกว่าน้ำตาทั่วไป ทำให้สามารถเกาะติดกับผิวหนังได้มากขึ้น และไหลไปตามใบหน้าได้ช้าลง ส่งผลให้ผู้อื่นสามารถมองเห็นและสังเกตน้ำตาที่ไหลออกมาได้ชัดมากขึ้น

และแน่นอนว่านี่ไม่ใช่ประโยชน์เพียงอย่างเดียวของการร้องไห้เมื่อรู้สึกเศร้าหรือเสียใจ

นักคิดและแพทย์ในสมัยกรีกโบราณตั้งข้อสังเกตว่า การร้องไห้ทำหน้าที่เหมือนยาระบายความเครียดทางจิตใจ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดทางจิตวิทยาส่วนใหญ่ที่เชื่อว่า การร้องไห้เป็นกลไกที่ช่วยให้เราระบายความเครียดและความเจ็บปวดทางอารมณ์ เพราะทุกครั้งที่เราร้องไห้ออกมา ร่างกายจะผลิตสารเอ็นดอร์ฟิน (Endophins) หรือฮอร์โมนแห่งความสุขที่ทำหน้าที่ลดระดับความเครียด ปรับสมดุลอารมณ์ และลดความเจ็บปวด ซึ่งสารเคมีที่ถูกส่งผ่านเส้นประสาทนี้จะช่วยบรรเทาความเจ็บปวดทางกายและจิตใจ เพื่อช่วยให้ร่างกายรู้สึกสงบลง

จะเห็นได้ว่าร่างกายของเราพยายามอย่างหนัก เพื่อให้เราสามารถผ่านพ้นวิกฤตทางอารมณ์นี้ไปได้ เซลล์ทุกหน่วยในร่างกาย สารทุกตัวที่ไหลไปตามเส้นเลือด รวมถึงระบบประสาทช่วยกันสร้างกลไกให้เราต่อสู้กับความเศร้าที่เข้ามาทำร้ายจิตใจ

ดังนั้นจำไว้ว่าครั้งหน้าที่คุณอยากจะร้องไห้จงร้องออกมา ไม่ว่าจะเป็นน้ำตาจากความรู้สึกเศร้าที่สุด หรือน้ำตาจากความเจ็บปวด น้ำตาจากความเสียใจ คุณสามารถระบายออกมาได้อย่างเต็มที่ เมื่อน้ำตาหยุดไหล เราจะกลับมายิ้มได้อีกครั้ง เพราะนี่คือเครื่องมือปลอบประโลมที่ดีที่สุดที่ธรรมชาติและร่างกายมอบให้

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.