การแอบถอดถุงยางอนามัยโดยพลการและ ‘พื้นที่สีเทา’ ในระบบกฎหมายอาญาไทย

เวลาเราพูดถึงความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราก็ดี ความผิดฐานกระทำอนาจารก็ดี ภาพสะท้อนถ้อยคำหรือฐานความผิดเหล่านี้ย่อมชัดเจนว่า การกระทำใดเป็นการข่มขืนกระทำชำเรา หรือการกระทำใดเป็นการกระทำอนาจาร อย่างไรก็ตาม เวลาเราพูดถึงการกระทำที่ฝ่ายหนึ่งแอบถอดอุปกรณ์การคุมกำเนิด (ซึ่งต่อไปนี้จะเรียกว่า “ถุงยางอนามัย”) ในขณะการมีเพศสัมพันธ์ (โดยยินยอม) กับคู่นอน โดยที่คู่นอนอีกฝ่ายหนึ่งไม่รู้เห็นหรือไม่ยินยอม ทั้งๆ ที่ทั้งสองฝ่ายตกลงกันไว้แต่แรกแล้วว่า ต้องสวมใส่ถุงยางอนามัยตลอดเวลาที่มีเพศสัมพันธ์ การกระทำดังกล่าวจะมีความผิดหรือไม่ และมีความผิดฐานใด?

การกระทำเช่นว่านี้ เราเรียกว่า ‘การสเตลธิง’ (Stealthing) ซึ่งเป็นประเด็นได้ที่มีการถกเถียงในบริบททางกฎหมายในต่างประเทศ ซึ่งในจัดการกับปัญหาดังกล่าว บางประเทศตรากฎหมายใหม่เพื่อลงโทษผู้กระทำความผิด ได้แก่ ‘ความผิดฐานแอบถอดถุงยางอนามัยโดยที่อีกฝ่ายหนึ่งไม่ยินยอมหรือไม่รู้เห็น’ แต่บางประเทศก็ไม่ได้ตรากฎหมายใหม่ แต่ให้ศาลปรับใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่มีอยู่แทน

บทความนี้ ต้องการที่จะเสนอปัญหาดังกล่าวในเบื้องต้น เพื่อหนึ่ง สร้างความตระหนักรู้ให้แก่นักกฎหมายและผู้อ่านว่า การกระทำดังกล่าวอาจเป็นความผิดได้ และสอง ผู้เขียนต้องการที่จะเปิดประเด็นปัญหาเพื่อให้ผู้ที่สนใจเรื่องนี้สามารถนำไปต่อยอดเพื่อศึกษาได้

1. บทนำ

การสเตลธิงก่อนที่จะถูกเข้าใจอย่างความหมายของทุกวันนี้ เดิมที มันเป็นพฤติกรรมที่เป็น ‘การให้ของขวัญ’ (Gift-giving) อย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นใน ‘ชุมชนเกย์’ ที่ฝ่ายหนึ่งซึ่งมีเชื้อ HIV พยายามจะส่งต่อเชื้อ HIV ให้แก่คู่นอนของตนซึ่งไม่มีเชื้อ HIV โดยปราศจากความรับรู้หรือความยินยอมของฝ่ายนั้น ซึ่งกระทำผ่านกลวิธีต่างๆ เช่น แกล้งทำทีว่าจะสวมใส่ถุงยางอนามัยหลังจากตกลงแล้วว่าจะสวมถุงยางอนามัย เป็นต้น

การปรากฏตัวขึ้นของกลุ่มนักเคลื่อนไหวสิทธิความเป็นชาย ครั้นกระแสสิทธิสตรีนิยมเข้าสู่ช่วงคลื่นลูกที่สอง (ค.ศ. 1970) ที่ทำให้ผู้หญิงปรากฏตัวมากขึ้นในบริบทของสังคมที่ผู้ชายเชื่อว่า มันได้ทำลายโอกาสต่างๆ ที่เดิมเคยผูกขาดไว้กับผู้ชาย อันส่งผลให้ผู้ชายหลายคนสูญเสียโอกาสทางด้านการศึกษาและการงานนั้น ได้ทำให้ประเด็นการสเตลธิงขยายเข้ามาสู่การรับรู้ใน ‘ชุมชนรักต่างเพศ’ โดยกลวิธีหนึ่งของผู้ชายในการลุกขึ้นปฏิเสธและต่อสู้กับกระแสสตรีนิยม รวมถึงต่อต้านอุดมการณ์ที่มองผู้หญิงเป็นจุดศูนย์กลาง ได้แก่ การนำข้อเสนอสิทธิความเป็นชาย และปัญหาต่างๆ ของผู้ชายเข้าไปสู่ในพื้นที่แห่งโลกออนไลน์ ทั้งนี้ ด้วยความมุ่งหมายที่จะโจมตีกระแสสตรีนิยมที่สำหรับพวกเขาเป็นเรื่องที่ ‘เหยียบย่ำวัฒนธรรมสมัยใหม่’ และยืนยัน ‘หลักการที่ผู้ชายควรอยู่เหนือผู้หญิง’ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าว ได้แก่ กระดานสนทนาในโลกออนไลน์ที่เรียกว่า ‘มโนสเฟียร์’ (Manosphere)

ในกระดานสนทนาหนึ่งภายใต้หัวข้อ ‘I Remove the Condom Without Them Knowing During ‘Stealth’ Sex’ ใน The Experience Project ซึ่งเป็นมโนสเฟียร์หนึ่งที่ปัจจุบันได้ปิดตัวไปแล้ว ได้มีสมาชิกหลายคนซึ่งเคยกระทำการสเตลธิงได้เข้ามาเขียนและเผยแพร่ข้อมูลและคำแนะนำต่างๆ เกี่ยวกับการเสตลธิง เพื่อสนับสนุนให้ผู้ชายกระทำการสเตลธิงกับคู่นอนของพวกเขา เช่น ประสบการณ์และความรู้สึกของตัวเองเกี่ยวกับการสเตลธิง กลวิธีในทำการสเตลธิงโดยคู่นอนไม่สามารถจับได้ เหตุผลที่พวกเขารวมถึง ‘ผู้ชายทุกคน’ ต้องทำการสเตลธิง ความชอบธรรมของผู้ชายในการสเตลธิง เป็นต้น ซึ่งล้วนแต่เป็นชุดของถ้อยคำที่ประกอบไปด้วยเหตุผลที่รับฟังไม่ได้และเห็นแก่ตัว เช่น “เพราะรู้สึกดีกว่าใส่ถุงยางอนามัย” “เพราะมันเป็นสิทธิของผู้ชายที่จะสามารถหลั่งน้ำอสุจิในช่องคลอดของผู้หญิง” “เพราะพวกเขาเกิดมาเพื่อทำสิ่งนี้” “ผู้หญิงสมควรที่จะต้องตั้งครรภ์” เป็นต้น

ถึงขั้นที่มีสมาชิกหนึ่งพยายามทำให้การสเตลธิงเป็นการกระทำที่ชอบธรรมและมีเหตุผล ด้วยการอ้างอย่างหยาบคายว่า “มันเป็นสัญชาตญาณของผู้ชายและเป็นสิทธิโดยกำเนิดของผู้ชาย” หรืออ้างว่า “เพราะมันเปรียบเสมือนเป็นศิลปะที่ทำให้พวกเขาได้เพิ่มเติมความพึงพอใจทางเพศ ได้รู้สึกตื่นเต้นจากการได้รอดพ้นการกระทำที่เสี่ยงที่จะถูกจับ และเพื่อให้สิ่งที่ผู้หญิงควรจะได้” โดยจากชุดถ้อยคำข้างต้นนี้จึงทำให้ Alexandra Brodsky เชื่อว่า พฤติกรรมการสเตลธิงเกิดมาจากความเกลียดชังต่อผู้หญิง และยังเป็นการเชิดชูและส่งเสริมอุดมการณ์ที่ผู้ชายควรเป็นใหญ่ (Male Supremacy)

2. การสเตลธิงและคำพิพากษาของศาลในต่างประเทศ

บทความวิชาการที่สำคัญที่บุกเบิกประเด็นสเตลธิงและเปิดประตูสู่พื้นที่สีเทาที่ใหม่และท้าทายในปริมณฑลของกฎหมาย ได้แก่ บทความเรื่อง ‘Rape-Adjacent’: Imaging Legal Responses to Nonconsensual Condom Removal (2017) ของ Alexandra Brodsky โดยบทความดังกล่าวได้มีการสัมภาษณ์บุคคลหลายคนที่เคยตกเป็นเหยื่อของการสเตลธิง โดยนอกจากข้อค้นพบเกี่ยวกับความกังวลใจ ความหวาดระแวง และความกลัวของผู้เสียหายในเรื่องโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และ/หรือการตั้งครรภ์โดยไม่สมัครใจ รวมตลอดถึงความรู้สึกว่าถูกละเมิดสิทธิในร่างกาย ถูกทรยศหลอกลวงเพราะมีการละเมิดเงื่อนไขการมีเพศสัมพันธ์ และถูกทำลายความไว้เนื้อเชื่อใจแล้ว สิ่งที่ค้นพบคือ ความไม่รู้ของผู้เสียหายหลายคนถึง ‘ชื่อ’ ของการกระทำนั้น

ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะในเวลานั้น ยังไม่เคยมีคดีขึ้นมาสู่การพิจารณาและพิพากษาของศาลในสหรัฐอเมริกา ซึ่งความไม่รู้นี้เองได้ทำผู้เสียหายหลายคนไม่คิดที่จะแจ้งความร้องทุกข์กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพราะพวกเขาคิดว่า การสเตลธิงไม่ใช่การกระทำที่เป็นความผิดต่อกฎหมาย ซึ่งหลังจากที่บทความของ Brodsky ได้เผยแพร่ไป ผู้เสียหายหลายคนได้ตระหนักว่า ตัวเองเป็นเหยื่อที่รอดจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศ และได้เริ่มเข้ามาแบ่งปันเรื่องราวและประสบการณ์ของตัวเองที่ต้องตกเป็นเหยื่อ

ในการจัดการกับการสเตลธิง รัฐมีสองทางเลือก ได้แก่ ตรากฎหมายใหม่ หรือมิฉะนั้น ต้องบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่ โดยปล่อยให้เป็นหน้าที่ของศาลในการตีความกฎหมายที่มีอยู่ ซึ่งในที่นี้ ผู้เขียนจะกล่าวแต่เฉพาะในกรณีหลัง โดยหยิบยกคำพิพากษาที่เกิดขึ้นในต่างประเทศบางส่วน ได้แก่ ประเทศเยอรมัน ประเทศนิวซีแลนด์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และสหราชอาณาจักร เพื่อให้สอดคล้องกับที่ประเทศไทยเองก็ยังไม่มีการตรากฎหมายใหม่เช่นกัน ซึ่งข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ได้แก่ การที่บุคคลสองคนตกลงร่วมกันถึงเงื่อนไขว่า อีกฝ่ายหนึ่งต้องสวมใส่ถุงยางอนามัยตลอดเวลาที่มีเพศสัมพันธ์ แต่ฝ่ายนั้นกลับฝ่าฝืนหรือทำลายเงื่อนไขนั้นด้วยการถอดถุงยางอนามัยออก โดยที่อีกฝ่ายหนึ่งไม่ได้ยินยอม

สำหรับประเทศเยอรมัน เดิม จำเลยถูกฟ้องด้วยข้อหาพยายามข่มขืนกระทำชำเรา แต่จำเลยต้องคำพิพากษาว่ามีความผิดฐานละเมิดทางเพศ (sexual assault) และถูกลงโทษจำคุก 8 เดือน แต่ให้รอการลงโทษไว้ พร้อมกับถูกปรับ 3,000 ยูโร และต้องชดใช้เงิน 96 ยูโรให้แก่ผู้เสียหายสำหรับค่าตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

ประเทศนิวซีแลนด์ ศาลแห่งประเทศนิวซีแลนต์ได้พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยในความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา (rape) เป็นระยะเวลา 3 ปี กับ 9 เดือน

ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ คดีหนึ่ง เดิม ศาลได้พิพากษาจำเลยให้ความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา (rape) ตามประมวลกฎหมายอาญาสวิส มาตรา 190 โดยถูกลงโทษจำคุก 12 เดือน แต่ให้รอการลงโทษไว้ แต่ต่อมา ศาลอุทธรณ์พิพากษา แม้จะพิพากษายืนในโทษเดิม แต่ศาลได้พิพากษาแก้ฐานความผิดเป็นการกระทำผิดเกี่ยวกับเพศต่อบุคคลที่ไม่สามารถตัดสินใจได้หรือไม่สามารถขัดขืนได้ (sexual acts with persons incapable of judgement or resistance) ตามมาตรา 191 แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ ปรากฏว่ามีอีกสองคนที่เกิดขึ้น แต่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ต่างพิพากษายกฟ้องโดยเห็นว่า การสเตลธิงไม่เป็นความผิดต่อกฎหมายอาญา และก็ไม่ใช่กรณีขัดขืนไม่ได้ เพราะความผิดฐานนี้ไม่ใช่บังคับกับกรณีที่การขัดขืนไม่ได้เกิดจากความตกใจ และผู้เสียหายยังสามารถขัดขืนได้อยู่ แต่ศาลฎีกาก็เห็นว่า การกระทำของจำเลยในคดีทั้งสองอาจเป็นความผิดฐานล่วงละเมิดทางเพศ/คุกคามทางเพศ (sexual harassment) จึงมีพิพากษาให้ศาลล่างดำเนินการพิจารณาและพิพากษาต่อไป ซึ่งหากมีความผิดฐานนี้ จำเลยก็จะต้องเพียงโทษปรับเท่านั้น (มาตรา 198)

สำหรับคดีที่เกิดขึ้นในสหราชอาณาจักร ศาลได้ตัดสินให้ลงโทษจำคุก 12 ปี ด้วยความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา (rape)

จากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เราจะเห็นว่า คดีที่เกิดขึ้น จำเลยจะถูกฟ้องด้วยข้อหาข่มขืนกระทำชำเรา แม้การลงโทษจะแตกต่างกันออกไป แต่สำหรับคดีที่ศาลพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรานั้น เราได้เห็นหลักฐานชิ้นดีที่สะท้อนว่า การสเตลธิง นอกจากเป็นความผิดอาญาที่เกี่ยวกับเพศแล้ว การกระทำดังกล่าวยังสามารถกลายเป็นการข่มขืนกระทำชำเราได้

การทำความเข้าใจคำพิพากษานี้อยู่ตรงที่การตีความ ความยินยอมของศาลในคดีดังกล่าว โดยในต่างประเทศ อย่างเช่น คดีที่เกิดขึ้นในสหราชอาณาจักร มีแนวคิดที่เรียกว่า ‘ความยินยอมแบบมีเงื่อนไข’ (Conditional Consent) ซึ่งเป็นแนวคิดที่ใช้เพื่อวินิจฉัยตอบปัญหาว่า ความยินยอมที่ให้ไว้เพื่อกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งยังคงมีอยู่หรือไม่ หากมีการกระทำอันเป็นฝ่าฝืนเงื่อนไขอันเป็นที่มาแห่งความยินยอมนั้น ดังที่ถูกใช้ในคดี Assange v. Swedish Prosecution Authority (2011)

ด้วยเหตุนี้เอง เมื่อความยินยอมในการมีเพศสัมพันธ์มีเงื่อนไขว่า ฝ่ายหนึ่งต้องสวมใส่ถุงยางอนามัยตลอดเวลาที่มีเพศสัมพันธ์ แต่ฝ่ายนั้นทำลายเงื่อนไขด้วยการแอบถอดถุงยางอนามัยออก จึงต้องว่า ความยินยอมนั้นถูก ‘ยกเลิก’ ไป กล่าวอีกนัยหนึ่ง เราต้องเข้าใจว่า หากฝ่ายนั้นไม่ยอมใส่ถุงอนามัยแต่แรก อีกฝ่ายหนึ่งก็คงไม่ให้ความยินยอมที่จะมีเพศสัมพันธ์ด้วยนั่นเอง

3. ปัญหาและความท้าทายในระบบกฎหมายไทย

สำหรับประเทศไทยที่ยังไม่มีกฎหมายเฉพาะ จากการศึกษาในเบื้องต้น ผู้เขียนพบกับปัญหาดังนี้ หนึ่ง ด้านการกำหนดฐานความผิด และสอง ด้านกฎหมายลักษณะพยานหลักฐาน

ในประเด็นแรก ในการกำหนดฐานความผิดนั้น ประเด็นอยู่ที่การตีความการกระทำนี้ โดยศาลมีสองทางเลือก ได้แก่ หนึ่ง ตีความ ‘ความยินยอม’ ในระบบกฎหมายไทยว่ามีความหมายเพียงใด หรือสอง การสเตลธิงเป็นการข่มขืนกระทำชำเราโดยการหลอกลวงหรือไม่

ในประเด็นที่สอง เราจะพบว่า หากเราดำเนินตามแนวทางเดียวกับการพิสูจน์ความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา พยานหลักฐานที่จะทำให้ศาลเชื่อน่าจะเชื่อว่า มีการข่มขืนกระทำชำเราจริงต้องประกอบไปด้วย

  • หนึ่ง มีการแจ้งความกับเจ้าหน้าที่หรือบอกกับบุคคลใกล้ชิดให้เร็วที่สุด
  • สอง ต้องมีร่องรอยบาดแผลที่เกิดจากการขัดขืน
  • สาม การข่มขืนกระทำชำเราต้องเกิดจากคนแปลกหน้า

แต่การพิสูจน์ความผิดเกี่ยวกับการสเตลธิงเป็นสิ่งที่ยากยิ่งกว่าการพิสูจน์ความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราข้างต้นนี้อีก แม้ชุดของพยานหลักฐานจะไม่พ้นไปจากเรื่องของน้ำอสุจิ การตั้งครรภ์ ใบรับรองจากแพทย์ว่าได้ติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ หรือประวัติการทำแท้ง แต่ก็ปรากฏตามข่าวข้างต้นที่จำเลยมักจะยกข้อแก้ตัวหรือข้ออ้างได้ว่า ถุงยางอนามัยขาดหรือหลุดออกโดยไม่ได้ตั้งใจ

สุดท้ายแล้ว ถ้าไม่มีพยานหลักฐานประกอบอื่น เช่น บทสนทนาระหว่างผู้กระทำกับเหยื่อหรือบุคคลที่เหยื่อไปเล่าให้ฟัง ก็คงเหลือแต่เพียง ‘คำเบิกความของเหยื่อที่อ้างตัวเองเป็นพยาน’ ความยากในการพิสูจน์นี้เองจึงทำให้ไม่น่าแปลกใจที่บางประเทศ เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา รัฐแคลิฟอร์เนียจะออกกฎหมายใหม่กำหนดให้เป็นความผิดในทางแพ่งเท่านั้น ทั้งนี้ เพราะว่า มาตรฐานในการพิสูจน์ความผิดของจำเลยในคดีแพ่งแตกต่างกันอย่างมากเมื่อเทียบกับมาตรฐานในการพิสูจน์ในคดีอาญา

เราต้องยอมรับว่า ปรากฏการณ์นี้เป็นสิ่งที่เกี่ยวพันกับกฎหมายอย่างมาก และเหยื่อหรือผู้เสียหายสมควรที่จะได้รับความคุ้มครองจาก ‘การกระทำที่เป็นพิษ’ นี้ ซึ่งไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม หากปราศจากความยินยอมอันบริสุทธิ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันแล้ว มนุษย์คนหนึ่งก็ไม่ควรละเมิดร่างกายมนุษย์อีกคนหนึ่ง และในขณะเดียวกัน บุคคลคนนั้นก็ไม่ควรบดขยี้ความไว้เนื้อเชื่อใจที่ฝ่ายหนึ่งได้ให้ไว้ในรูปแบบของเงื่อนไขแห่งการมีเพศสัมพันธ์ เพียงเพราะฝ่ายนั้นเข้าใจไปเองหรือหลงคิดไปเองว่า ‘ตนมีสิทธิกระทำได้’ ซึ่งความจริง เขาไม่ได้มีสิทธิเช่นนั้น

สุดท้ายนี้ แม้ผู้เขียนจะยังไม่มีข้อสรุปในสองคำถามข้างต้น เพราะเป็นสิ่งที่จะต้องมีการทำการค้นคว้าวิจัยและผลิตสร้างความรู้ต่อไปในภายภาคหน้า แต่ผู้เขียนก็หวังว่า บทความนี้จะช่วยให้นักวิจัยในทางกฎหมาย รวมถึงผู้อ่าน ได้เปิดมิติหรือมุมมองใหม่ ๆ ที่ทำให้ต้องตระหนักว่า การสเตลธิงเป็นเรื่องที่ท้าทายและน่ากังวลในทางกฎหมายและสังคม

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.