ดูแลแม่น้ำแบบยุคใหม่! ให้สิทธิตามกฎหมาย แม่น้ำฟ้องมนุษย์ได้!
ก่อนจะเอ่ยถึงเรื่องของสิทธิแม่น้ำตามกฎหมาย ต้องขอกล่าวว่าสาเหตุที่ต้องพูดถึงเรื่องนี้เนื่องจากวันนี้เป็นเทศกาลลอยกระทง
.
.
อย่างที่รู้กันว่า ลอยกระทง คือ วัฒนธรรมที่มีพื้นฐานมาจากการขอขมาต่อพระแม่คงคา แนวคิดที่ว่าตามธรรมชาติมีสิ่งศักดิ์สิทธิสิงสถิตอยู่นั้น เกิดขึ้นมาร่วมหลายร้อยปี และปรากฎอยู่บ่อยครั้งในวัฒนธรรมของชาวเอเชีย ซึ่งส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมดังกล่าวนั้นมีรากเหง้ามาจากความต้องการที่จะให้มนุษย์ได้เคารพต่อธรรมชาติ และช่วยกันรักษาธรรมชาติเอาไว้ให้ดี อย่างเช่นที่เราขอขมาต่อพระแม่คงคา แม้ว่าในปัจจุบัน การลอยกระทงได้เน้นไปที่การสะเดาะเคราะห์เสียมากกว่า คือเชื่อว่าลอยกระทงเพื่อขอพร หรือปล่อยสิ่งไม่ดีออกไปจากชีวิต หรือเพื่อเสริมสร้างมงคลให้แก่ชีวิต!
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันได้มีวิธีการที่จะร่วมกันรักษาแม่น้ำให้ใสสะอาดผ่านวิธีการต่างๆ มากมาย นอกจากจะใช้กุศโลบายทางประเพณีและวัฒนธรรม
อย่างหนึ่งที่น่าสนใจ แต่ไม่ได้เกิดในประเทศไทย นั่นคือการให้สิทธิตามกฎหมายแก่แม่น้ำ โดยมองว่าแม่น้ำมีความเท่าเทียมเท่ากับมนุษย์คนหนึ่ง ซึ่งการเคลื่อนไหวนี้เป็นไปตามกระแสการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่เริ่มต้นขึ้นในปี 2011 ซึ่งออกมาตะโกนว่า ‘มนุษย์ควรยอมรับในสิทธิของธรรมชาติ’ โดยศาลประจำจังหวัดในเอกวาดอร์กลายเป็นศาลแรกที่รับรองสิทธิของธรรมชาติอย่างถูกกฎหมาย เมื่อพวกเขาตัดสินให้แม่น้ำ Vilcabamba ต่อต้านการก่อสร้างถนนที่สร้างความเสียหาย
และในปี 2017 แม่น้ำวางกานุยบนเกาะเหนือของนิวซีแลนด์เป็นแม่น้ำแห่งแรกในโลกที่ได้รับสิทธิเป็นบุคคลตามกฎหมาย ส่วนในปี ค.ศ.2018 ได้มีการให้สิทธิทางกฎหมายแก่แม่น้ำแอมะซอน ซึ่งเป็นแม่น้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลก ส่วนแม่น้ำที่เกิดขึ้นเร็วๆ นี้ในปี 2021 คือแม่น้ำแม็กพาย ( Magpie River ) ในประเทศแคนาดา
ทำไมแม่น้ำถึงได้รับสิทธิเท่าเทียมมนุษย์
แม่น้ำแห่งนี้รู้จักกันดีในหมู่นักล่องแก่ง แต่จริงๆ แล้วแม่น้ำแห่งนี้ยังมีสถานะสำคัญอีกประการหนึ่งนั่นคือ เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิสำหรับชนเผ่าพื้นเมืองของประเทศแคนาดาที่ชื่อว่าอินนู (Innu) อย่างไรก็ตามในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แม่น้ำแห่งนี้ถูกคุกคามจากการสร้างเขื่อน หรือประโยชน์ด้านพลังงานหมุนเวียนมากกว่า ด้วยการขับเคลื่อนของกลุ่มชนเผ่าที่เข้มแข็งในประเทศแคนาดา พวกเขาร่วมกับเทศบาลในเขตดังกล่าวได้ประกาศให้แม่น้ำแห่งนี้ได้รับสิทธิทางกฎหมายเหมือนเช่นบุคคล ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประเทศแคนาดา
หลายฝ่ายมองว่าการให้สิทธิแก่แม่น้ำนั้น เป็นการกลับมุมมองของชาวตะวันตกที่มีต่อธรรมชาติอย่างสิ้นเชิง จากเดิมที่เคยมองว่ามนุษย์เป็นเจ้าของโลกใบนี้ จึงใช้ประโยชน์ตามอำเภอใจ แต่สำหรับชาวพื้นเมืองมองว่าธรรมชาติเท่าเทียม หรือในบางที่ก็คือต้องให้ความเคารพเป็นดั่งบรรพบุรุษ ( อย่างเช่นที่บ้านเราต้องทำพิธีลอยกระทงนั่นเอง ) โดยคณะกรรมการที่สนับสนุนสิทธิทางกฎหมายของแม่น้ำแม็คพายมองว่า แม่น้ำสายนี้ได้ทอดตัวอยู่มาอย่างยาวนานและควรได้รับสิทธิเยี่ยงสิ่งมีชีวิตเช่นกัน
โดยสิทธิของแม่น้ำสายนี้ในปัจจุบันมีอยู่ 9 ข้อได้แก่
- สิทธิในการไหลของแม่น้ำ
- สิทธิที่ต้องเคารพวัฎจักรของแม่น้ำ
- สิทธิในเรื่องของวิวัฒนาการตามธรรมชาติ
- สิทธิที่จะรักษาความหลากหลายทางชีวภาพตามธรรมชาติ
- สิทธิที่จะทำหน้าที่ที่จำเป็นเพื่อระบบนิเวศของตัวเอง
- สิทธิที่จะรักษาความสมบูรณ์
- สิทธิที่จะปลอดภัยจากมลภาวะ
- สิทธิที่จะได้รับการฟื้นฟู
- สิทธิที่จะฟ้องร้อง (ซึ่งเป็นข้อที่สำคัญที่สุด)
โดยจะมีการแต่งตั้ง ‘ผู้พิทักษ์สายน้ำ’ เพื่อให้แน่ใจว่าสิทธิเหล่านั้นได้รับการคุ้มครองอย่างแท้จริง
การที่แม่น้ำสายนี้ได้สิทธิดังกล่าว ทำให้โครงการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำบนลำน้ำนี้ที่มีข่าวลือแพร่สะพัดไม่อาจเกิดขึ้นได้อีกต่อไป นับว่าเป็นก้าวสำคัญของชาวพื้นเมืองแห่งนี้ที่ได้ต่อสู้เพื่อป้องกันการสร้างเขื่อนมาอย่างต่อเนื่อง และตัดสินใจเลือกใช้กลยุทธ์ดังกล่าวนี้ หลังจากที่เห็นความสำเร็จที่เกิดขึ้นกับแม่น้ำวางกานุยนั่นเอง
การเคลื่อนไหวดังกล่าวถูกที่ถูกเวลาด้วย เพราะหากย้อนไปในอดีตและเอ่ยเรื่องนี้ขึ้นก็คงไม่ใช่เรื่องที่ใครจะยอมรับได้ง่ายนัก และแน่นอนว่าคงไม่สามารถผลักดันเป็นกฎหมายได้ แต่หลายคนมองว่าความสำเร็จที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่การปฏิวัติทางกฎหมายที่จะให้สิทธิแก่ธรรมชาติเท่าเทียมกับมนุษย์ แต่เริ่มจากการปรับเปลี่ยนแนวคิดของมนุษย์ที่มีต่อธรรมชาติอย่างที่กล่าวไปจึงทำให้เรื่องดังกล่าวเป็นผลสำเร็จ
ในปัจจุบันมีการเคลื่อนไหวเรื่องของ ‘สิทธิธรรมชาติ’ อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าเมื่อเปรียบกับความเชื่อที่สะท้อนออกมาในเทศกาลลอยกระทงของบ้านเรา ซึ่งมีพื้นฐานไม่ต่างกัน คือการเคารพธรรมชาติ และไม่มองว่าธรรมชาติเป็นสิ่งที่มนุษย์เป็นเจ้าของและสามารถกระทำได้ตามอำเภอใจ .. แต่วิธีการปฏิบัตินั้นอาจจะแตกต่างกันไป จะมองว่าเทศกาลลอยกระทงก็คือ การใช้ Soft power ส่วนการกระทำตามกฎหมายเป็น Hard power ก็คงไม่ผิดนัก .. แต่ใจความสำคัญนั้นเหมือนกัน คือ ธรรมชาติ-มนุษย์ เท่าเทียมกัน.
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.