เวทีประกวดนางงามยุคใหม่ ที่ไม่ได้วัดคุณค่าผู้หญิงจากแค่หน้าตา (แต่ก็ต้องสวยก่อนอยู่ดี ถึงจะมีสิทธิร่วม)

และแล้วก็วนกลับมาและสิ้นสุดลงอีกครั้งหนึ่ง กับวาระแห่งชาติที่มีชื่อว่า ‘เทศกาลเชียร์นางงาม’ ช่วงเวลาที่สร้างทั้งความสุขและความเศร้า ความหวังและความผิดหวัง ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวและความแตกแยก ให้กับคนในชาติเป็นประจำทุกปี

หากถามว่าเวทีประกวดนางงามในยุคปัจจุบันเป็นอย่างไร คงไม่มีใครสามารถให้กับคำตอบที่เหมือนกันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์

สำหรับบางคน นางงามคือความบันเทิง ความสนุกสนานจรรโลงโลก บ้างก็ว่านางงามเป็นแบบอย่างและแรงบันดาลใจ ฝั่งหนึ่งว่าเป็นเรื่องล้าสมัย เรื่องเหยียดเพศ เรื่องไร้สาระ ในขณะที่อีกฟากหนึ่งก็บอกว่าเป็นเวทีปลุกพลังเฟมินิสต์ ส่วนคนที่ไม่สนใจก็อาจไม่รู้สึกอะไรกับเวทีประกวดเหล่านี้เลย

แน่นอนว่าหากเป็นเวทีประกวดในยุคแรกเริ่ม ซึ่งไม่ได้แก่นสารอะไรมากมายนอกเหนือไปจากการเปรียบเทียบและตัดสินรูปร่างหน้าตาของผู้เข้าประกวด คำตอบที่ได้คงเป็นเอกฉันท์กว่านี้มาก

แต่เนื่องจากเวทีประกวดนางงามในยุคนี้ เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับ ‘การขับเคลื่อนสังคม’ มากขึ้น จึงก่อเกิดเป็นคำถามว่าปัจจุบัน เวทีนางงามหลุดพ้นจากข้อหาเสริมสร้างค่านิยม ‘เหยียดเพศ’ ‘ชายเป็นใหญ่’ รวมถึง ‘มาตรฐานความงามที่คับแคบ’ แล้วหรือยัง?

ความพยายามที่จะ ‘Modernize’ การประกวดนางงาม

อ้างอิงจากเวทีประกวดนางงามจักรวาล (Miss Universe) เป็นหลัก นอกจากรูปแบบและคุณค่าหลักที่หล่อหลอมคำถามต่างๆ บนเวทีประกวดที่ค่อยๆ วิวัฒนาการไปตามยุคสมัย รวมถึงความหลากหลายทางเชื้อชาติและสีผิวที่เพิ่มมากขึ้นแทบทุกปีแล้ว กฎต่างๆ ยังค่อยๆ ถูกปรับเปลี่ยนให้ครอบคลุม ‘ความหลากหลาย’ มากขึ้น เช่น

– ปี 2012 เป็นปีแรกที่อนุญาตให้หญิงข้ามเพศสามารถเข้าร่วมประกวดได้ แต่ต้องใช้เวลานานถึง 6 ปี จึงจะมีนางงามหญิงข้ามเพศสามารถชนะผ่านรอบประเทศเข้ามาได้ในปี 2018 นั่นคือ แองเจลา ปอนเซ (Angela Ponce) ตัวแทนจากสเปน

– ปี 2019 เป็นปีแรกที่มีนางงามที่ประกาศตนว่าเป็นเลสเบี้ยนอย่างเปิดเผยได้ตั้งแต่ระหว่างการประกวด นั่นคือ ชะเว ชิน เทด (Swe Zin Htet) ตัวแทนจากเมียนมา

– ปี 2021 แคมเปญ ‘Real Size Beauty’ ของ แอนชิลี สก็อต-เคมมิส (Anchilee Scott-Kemmis) ตัวแทนประเทศไทยในปีนั้น ตามมาติดๆ ด้วยนางงาม ‘พลัสไซซ์’ คนแรก เจน ดิปิกา การ์เร็ตต์ (Jane Dipika Garrett) ตัวแทนเนปาลปีล่าสุด

– ปี 2023 เปลี่ยนกฎจากเดิมที่ห้ามไม่ให้ผู้หญิงที่เคย ‘ผ่านการแต่งงาน หย่าร้าง คลอดบุตร หรือมีสถานะทางกฎหมายเป็นแม่ของเด็ก’ เข้าประกวด ได้ และหากได้รับตำแหน่ง ‘จะต้องไม่แต่งงานเป็นเวลา 1 ปีจนกว่าจะก้าวลงจากตำแหน่ง’ เป็นให้ผู้หญิงที่ผ่านการแต่งงาน หย่าร้าง มีลูก หรือกำลังตั้งครรภ์ สามารถเข้าร่วมการประกวดได้

– และล่าสุด ปี 2024 เป็นต้นไป ปลดล็อกเพดานอายุเดิม ‘จาก 18 ถึงไม่เกิน 28 ปี’ เปลี่ยนเป็นให้ผู้หญิงวัยผู้ใหญ่ทุกคนสามารถเข้าร่วมประกวดได้โดยไม่จำกัดอายุอีกต่อไป

ที่ยิ่งไปกว่านั้นคือไม่ใช่แค่กองประกวดเท่านั้นที่ต้องปรับตัว แต่แฟนๆ นางงามทั่วโลกเองก็มีพัฒนาการไปในทิศทางเดียวกัน จากทศวรรษก่อนหน้าที่เรามักได้ยินเพียงถกเถียงเรื่องรูปร่างหน้าตา ความสวยงามของชุด จริตจะก้านในการพรีเซนต์ตัวเอง ทุกวันนี้ ทักษะและไหวพริบในการตอบคำถามได้กลายมาเป็นหัวข้อที่ใหญ่พอๆ กับความงามในวงดีเบตบนโซเชียลฯ ว่า นางงามของใครคู่ควรที่จะ ‘มงลง’ มากที่สุด

แต่ไม่ว่าอย่างไร ความรู้ก็ต้องมาคู่กับ ‘ความงาม’ อยู่ดี

แต่ใครกันล่ะที่เป็นคนกำหนดว่า แบบไหนคือความงามที่คู่ควร?

แม้เปลือกนอกของหลักการในการคัดเลือก คือเป้าหมายแสนจะชาตินิยมอย่างการเฟ้นหาผู้หญิงที่จะสามารถเป็น ‘ตัวแทน’ ของหญิงไทยไปแข่งกับนานาชาติ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในกระบวนการเฟ้นหาเหล่านั้น คือการที่กองประกวดจากนานาชาติต่างอ่อนโอนต่ออำนาจการกำหนดเกณฑ์ความงามที่หมุนรอบมาตรฐานของตะวันตก (Eurocentric) 

(หรือที่ในภาษาไทย เราเรียกกันอย่างบ้านๆ ว่างามแบบ ‘สายฝอ’ นั่นแหละ)

มีกฎล่องหนมากมายหลายข้อที่ไม่ระบุอยู่ในเกณฑ์การรับ แต่เป็นที่รู้กันว่าหากนางงามคนใดแหกกฎเหล่านี้ จะมีโอกาสในการเข้ารอบลึกน้อยกว่าชาวบ้าน เช่น

– วิธีการยิ้มและแสดงสีหน้าที่สมบูรณ์แบบตามฉบับของ ‘นางงาม’

– สัดส่วนที่ต้องดูเพรียว ไม่ ‘ตัน’ เพื่อให้พรีเซนต์ชุดที่ใส่ได้เต็มที่ 

– สไตล์การแต่งหน้า (จะเห็นได้ว่าการแต่งหน้าสายเกาหลีหรือญี่ปุ่นไม่เป็นที่นิยมบนเวทีนางงามเท่าสไตล์ตะวันตก?)

– ส่วนสูงที่ไม่ควรต่ำกว่า 170 เซนติเมตร เพื่อไม่ให้ดู ‘จม’ เมื่อยืนขนาบข้างกับนางงามชาวตะวันตก

ฯลฯ

หากพิจารณาตัวแทนมิสยูนิเวิร์สประเทศไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จะพบว่าไม่มีนางงามจักรวาลคนใดสูงน้อยกว่า 170 เซนติเมตรเลยแม้แต่คนเดียว ทั้งที่ส่วนสูงเฉลี่ยของหญิงไทยทั้งประเทศอยู่ที่ 158-161 เซนติเมตรเท่านั้น

นอกจากนี้ เกือบทั้งหมด (8 ใน 10 คน) ยังเป็นนางงามลูกครึ่งตะวันตกอีกด้วย

ไม่มีใครกล้าปฏิเสธว่าผู้หญิงทุกคนที่มีชื่ออยู่ในตารางข้างต้น ต่างอาศัยความสามารถ มันสมอง ความตระหนักรู้ในประเด็นต่างๆ และพัฒนาการของตนเองอย่างมากมาย ในการเดินทางมาสู่จุดที่พวกเธออยู่ในปัจจุบัน

ทั้งแอนชิลีที่โปรโมตแคมเปญ Real Size Beauty อย่างหนักแน่นตลอดการประกวด ฟ้าใส ปวีณสุดาที่รับศึกหนักตอบคำถามวัดใจ ‘Privacy VS Security’ ในตำนาน มารีญาที่ยังคงเคลื่อนไหวประเด็นสิ่งแวดล้อมอยู่จนถึงปัจจุบัน รวมถึงแอนโทเนีย โพซิ้ว ผู้เข้าแข่งขันประจำปีนี้ที่ทำหน้าที่ได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง จนได้รับตำแหน่งรองอันดับหนึ่งมาครอง

กระนั้นก็ตาม นั่นไม่ได้เปลี่ยนแปลงความจริงรสขมที่ว่า เวทีประกวดนางงามที่มีอยู่ทั้งหมด ยังคงตั้งอยู่บนพื้นฐานของการเปรียบเทียบรูปลักษณ์ของผู้หญิงคนหนึ่งกับผู้หญิงอีกคน ผ่านดุลพินิจของคนจำนวนเพียงหยิบมือ

สวยแค่ภายนอกอย่างเดียว ชนะเวทีประกวดนางงามไม่ได้หรอก ต้องสวยจากภายในด้วย

อาจจริงดังว่า แต่อย่าลืมว่านั่นย่อมหมายความว่า หากภายนอกคุณมีความงามที่ไม่ต้องตามมาตรฐาน ต่อให้ภายใน (จิตใจ? หรือมันสมอง?) ของคุณจะงามสักเพียงใด ก็จะไม่มีกรรมการคนใดในกองอยากรับคุณเข้ามาเป็นผู้ประกวดด้วยซ้ำ

แถมตลอดการถ่ายทอดสดเวทีประกวดหลายชั่วโมง ยังมีนางงามเพียงแค่หยิบมือเดียวที่มีโอกาสได้แสดงวิสัยทัศน์ คือนางงามที่ ‘งามคู่ควร’ กับโอกาส โดยตัดสินจากการเดินโชว์ตัวในชุดว่ายน้ำ ชุดประจำชาติ และชุดราตรี 

เวทีประกวดนางงามได้เปิดพื้นที่ให้กับผู้หญิงมากมายในการแสดงความสามารถและเข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนสังคม

ประโยคนี้เป็นความจริงทุกประการ แต่คำถามสำคัญคือ เช่นนั้นแล้ว ตอนนี้เรากำลังจำกัดพื้นที่ในการแสดงความสามารถและขับเคลื่อนสังคมเอาไว้ให้ใคร? 

ผู้หญิงที่ผอมพอเท่านั้น?

ผู้หญิงที่ตัวสูงพอเท่านั้น? 

ผู้หญิงชนชั้นกลางขึ้นไปที่เข้าใจภาษาอังกฤษเท่านั้น?

ผู้หญิงที่หน้าตาฝรั่ง หรือสไตล์ถูกจริตฝรั่งมากพอเท่านั้น? 

อ้างอิง

https://www.aljazeera.com/opinions/2022/9/23/beauty-pageants-say-theyre-changing-dont-believe

https://www.nytimes.com/2023/01/23/learning/are-beauty-pageants-still-relevant.html

https://www.news24.com/life/arts-and-entertainment/celebrities/news/does-height-matter-at-miss-universe-20210114

https://the-peak.ca/2021/10/beauty-pageants-are-a-harmful-entertainment-tradition/

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.