รู้จักภาวะ “ผิวหนังติดสเตียรอยด์” เมื่อใช้กับผิวหนังนานเกินไป

หากใช้ผลิตภัณฑ์ประเภทครีมที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์กับผิวหนังนานเป็นปีๆ อาจเสี่ยงภาวะผิวหนังติดสเตียรอยด์ และมีผลกระทบต่อผิวหนังอย่างรุนแรงได้

สเตียรอยด์ คืออะไร?

สเตียรอยด์ หรือสเตอรอยด์ เป็นชื่อเรียกของกลุ่มฮอร์โมนที่ถูกสร้างจากต่อมหมวกไตภายในร่างกายของคนเรา โดยหลักๆ มี 2 ชนิด คือ โคติซอล(Cortisol) และ อัลโดสเตอรอยด์(Aldosterone) นอกจากนี้ เมื่อคนเราอยู่ในภาวะเครียด ร่างกายก็จะหลั่งสารสเตียรอยด์ออกมามากขึ้น 

ต่อมาในวงการแพทย์แผนปัจจุบันจึงสร้างสารสเตียรอยด์สังเคราะห์ขึ้นมาจากสเตียรอยด์ชนิดโคติซอล (Cortisol) ซึ่งเป็นสเตียรอยด์ต้นแบบของร่างกาย เพื่อพัฒนาตัวยาบางชนิดให้ ออกฤทธิ์แรงขึ้นเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาโรคบางชนิด

ยาประเภทใดบ้าง ที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์

ยาแผนปัจจุบันหลายชนิดมีสารกลุ่มสเตอรอยด์เป็นส่วนประกอบ เช่น 

  • ยารักษาโรคภูมิแพ้ 
  • ยารักษาโรคหอบหืดชนิดพ่นสูดทางปาก ได้แก่ เบโดรเมธาโซน และบูเดโซไนด์ 
  • ยาหยอดตา ยาป้ายตา 
  • ยารักษาโรคไตบางชนิด 
  • ยารักษาอาการข้ออักเสบ
  • ยาแก้แพ้

นอกจากนี้ยังมียาอีกหลายตัวที่เป็นสเตียรอยด์ทั้งชนิดยารับประทาน ยาฉีด ยาพ่น ยาทา ซึ่งตัวยาทั้งหมดนี้ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์และเภสัชกร

อันตรายจากการใช้สเตียรอยด์ไม่ถูกวิธี

ส่วนใหญ่แล้วผู้ที่ได้รับผลข้างเคียงจากการใช้สเตียรอยด์มักมาจากการใช้สเตียรอยด์ไม่ถูกวิธี เช่น กิน/ใช้มากเกินไป ทาลงบนผิวหนังในบริเวณกว้างเกินไป กิน/หรือใช้นานเกินไป เป็นต้น

โดยอันตรายจากสเตียรอยด์มีหลายอย่าง ขึ้นอยู่กับประเภทของยาที่ใช้ เช่น หากเป็นยากิน การกินยาไม่ถูกวิธีอาจส่งผลให้

  • ติดเชื้อโรค (ยากดการทำงานของภูมิคุ้มกัน) 
  • เป็นเบาหวาน (ยาเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือด) 
  • มีอาการบวมและความดันโลหิตสูง (ยาทำให้ร่างกายขับน้ำลดลง แต่เพิ่มการสะสมไขมันที่หน้า หลัง และท้อง) 
  • กระดูกพรุน (ยารบกวนสมดุลการสร้างกระดูก)
  • เป็นแผลในทางเดินอาหาร
  • ผิวหนังเหี่ยวย่น บาง
  • ตาเป็นต้อ
  • ต่อมหมวกไตทำงานผิดปกติ
  • รบกวนการเจริญเติบโตในเด็ก

เป็นต้น

สเตียรอยด์ ในยาทาผิวหนังภายนอก

Topical Steroids เป็นยาสเตียรอยด์สำหรับรักษาโรคผิวหนังที่นิยมใช้กันอยู่ทั่วไป เช่น Dermovate, TAcream, Beta cream, Topicort, Prednisil cream โดยมากจะนิยมซื้อมาใช้เป็นยาทาผิวหนังในผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องโรคผิวหนัง เช่น โรคสะเก็ดเงิน โรคเซ็บเดิร์ม หรือโรคผื่นแพ้ต่อมไขมัน โรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ ผิวไหม้แดด เป็นต้น

แต่อาจมีผู้ป่วยบางกลุ่มที่ใช้ยาเหล่านี้แล้วไม่ได้ผล อาจมีสาเหตุมาจากอาการต้านยา ดื้อยา หรือหยุดยาแล้วกลับมาเป็นซ้ำ ซึ่งอาจมาจากการซื้อยาทาเองโดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์ หรือการไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดมากพอ

รู้จักภาวะ “ผิวหนังติดสเตียรอยด์”

หากใช้ยาสเตียรอยด์บนผิวหนังเป็นเวลานาน อาจเกิดการติดยาสเตียรอยด์ (Steroid Addict) เมื่อหยุดยาหน้าจะแดงมีสิวผดเกิดขึ้น ปัญหานี้พบบ่อยมากเนื่องจากมีการใช้สเตียรอยด์เกินความจำเป็นในคลินิกรักษา ผิวหนังและเสริมความงาม

ในต่างประเทศมีการเรียกอาการผิวติดสเตียรอยด์ได้หลายแบบ ขึ้นกับอาการที่แสดงออก เช่น 

  • Red Skin Syndrome (RSS, อาการผิวแดง)
  • Topical Steroid Addiction (TSA, อาการติดสเตียรอยด์)
  • Topical Steroid Withdrawal (TSW, อาการลงแดงหลังหยุดสเตียรอยด์)

สาเหตุของอาการผิวติดสเตียรอยด์

ผิวติดสเตียรอยด์เป็นสภาวะอ่อนแอของผิวที่เกิดมาจาก

  • การใช้สเตียรอยด์ในการรักษาปัญหาผิวบางอย่าง เช่น ผื่นแพ้ สิว
  • การใช้เครื่องสำอางสำหรับทำให้ผิวขาวที่มีส่วนประกอบบางประเภท
  • การทาสเตียรอยด์ให้ผู้อื่นแล้วลืมล้างมือ

อาการของผิวติดสเตียรอยด์

ก่อนหยุดทายาสเตียรอยด์

  • มีความแดงตีกลับระหว่างรอบทายา
  • มีผื่นกระจายไปส่วนอื่นของร่างกาย
  • คันมาก รู้สึกแสบร้อน บางครั้งเหมือนเข็มจิ้ม
  • ต้องการสเตียรอยด์ที่แรงขึ้นเรื่อยๆ เพื่อคงผลรักษาที่ดีไว้ (ทำให้อาการสงบ)
  • อาการระคายเคืองต่อสารที่แพ้รุนแรงขึ้น

หลังหยุดทายาสเตียรอยด์

  • ผิวแดงจัดคล้ายผิวไหม้แดด
  • ผิวลอกอย่างเห็นได้ชัด
  • มีน้ำเหลืองซึม
  • มีอาการบวมในบริเวณที่สัมผัสสเตียรอยด์ทั้งทางตรง และทางอ้อม
  • ไวต่อสิ่งแวดล้อมและกิจกรรมต่างๆ เช่น น้ำ การเคลื่อนไหว เสื้อผ้า อุณหภูมิ หรือแม้แต่ครีมบำรุงทั่วไป
  • ตาแห้ง และระคายเคืองง่าย
  • ผิวหนาย่น และมีสีคล้ำขึ้น คล้ายผิวหนังช้าง

การป้องกันอาการผิวหนังติดสเตียรอยด์

  1. ไม่ซื้อยามาทาเอง ควรได้รับการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ รับยาที่เหมาะสมจากแพทย์ และปฏิบัติตามคำแนะนำจากแพทย์อย่างเคร่งครัด
  2. โดยทั่วไปอาการจะดีขึ้นหลังจากการใช้ยาภายใน 1-2 สัปดาห์ จากนั้นค่อยๆ ลด การใช้ยาลง เช่น เปลี่ยนเป็นชนิดที่อ่อนลง หรือ ลดจำนวนครั้งที่ทา (ทั้งนี้ต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์ด้วย)
  3. หลีกเลี่ยงการทายาบนผิวหนังปกติ ที่ไม่มีอาการใดๆ
  4. ไม่ใช้ยาทามากเกินความจำเป็น เช่น หากแพทย์แนะนำให้ทาวันละ 2 เวลา ก็ควรทาแค่ 2 เวลา การทายาบ่อยกว่าปกติไม่ได้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา แต่อาจทำให้เกิดการดื้อยาได้
  5. หลีกเลี่ยงการใช้ยาทาในกลุ่มฤทธิ์แรงปานกลางและสูง ในปริมาณเกินกว่า 45 กรัมต่อสัปดาห์ใน ผู้ใหญ่และไม่เกิน 15 กรัมต่อสัปดาห์ในเด็ก
  6. หากซื้อยามาทาเอง แล้วอาการของโรคผิวหนังที่เป็นแย่ลงในขณะที่ใช้ยา ควรหยุดยา และรีบไปพบแพทย์ผิวหนัง

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.