สิ่งที่ควรรู้ บริโภคสมุนไพรร่วมกับยาแผนปัจจุบัน
ผู้ป่วยที่รับประทานผลิตภัณฑ์สมุนไพรและยาแผนปัจจุบันพร้อมกัน โดยขาดความรู้ความเข้าใจ อาจเกิดเป็นอันตรายจากการเกิด “อันตรกิริยาระหว่างสมุนไพรกับยาแผนปัจจุบัน” ซึ่งเป็นได้ทั้งการเสริมและต้านฤทธิ์กันของยาทั้ง 2 ขนาน
รองศาสตราจารย์ ดร.เภสัชกรหญิงณัฏฐินี อนันตโชค หัวหน้าสำนักงานข้อมูลสมุนไพร (Medicinal Plant Information Center) และอาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชวินิจฉัย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึง งานจัดทำฐานข้อมูลอันตรกิริยาระหว่างสมุนไพรกับยาแผนปัจจุบัน (Herb-Drug Interaction Database) ซึ่งนับเป็นหนึ่งในก้าวสำคัญของ สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะ “สำนักงานข้อมูลสมุนไพรแห่งแรกของประเทศไทย” ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานถึง 44 ปี นับตั้งแต่ได้รับการก่อตั้งอย่างไม่เป็นทางการเมื่อปี พ.ศ. 2522 ในสมัยท่านคณบดี อาจารย์เภสัชกรประดิษฐ์ หุตางกูร
โดยฐานข้อมูลดังกล่าวได้รับทุนวิจัยจากกองทุนภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข เพื่อรวบรวมบทความและรายงานการศึกษาวิจัยทั้งในคน และสัตว์ทดลอง โดยใช้หลักการวิเคราะห์ที่เกี่ยวข้องต่า งๆ อาทิ เภสัชจลนศาสตร์ (Pharmacokinetic Interactions) และเภสัชพลศาสตร์ (Pharmacodynamic Interactions) ฯลฯ
ตัวอย่างการเกิดอันตรกิริยาระหว่างยาสมุนไพรกับยาแผนปัจจุบันของโรคกลุ่ม NCDs ได้แก่ “โสมเกาหลี” และ “ผักเชียงดา” กับยาแผนปัจจุบันที่ใช้รักษาโรคเบาหวาน หากรับประทานร่วมกันจะยิ่งเป็นการ “เสริมฤทธิ์” ให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดต่ำเกินไป ในขณะที่ “ชะเอมเทศ” เมื่อรับประทานร่วมกับยาแผนปัจจุบันที่ใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูง อาจ “ต้านฤทธิ์” จนทำให้การรักษาด้วยยาไม่ได้ผล เนื่องจาก “ชะเอมเทศ” มีผลทำให้โซเดียมและน้ำในร่างกายสูงขึ้น จนทำให้ความดันโลหิตไม่ลดลง เป็นต้น
ทั้งนี้ อันตรกิริยาระหว่างสมุนไพรกับยาแผนปัจจุบันส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นเมื่อรับประทานสมุนไพรในรูปแบบ “ยาสมุนไพร” หรือ “ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร” ร่วมกับ “ยาแผนปัจจุบัน” อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน หากเป็นการรับประทานสมุนไพรที่อยู่ในรูปของ “อาหาร” เป็นครั้งคราว อาจไม่มีผลแต่อย่างใด
นอกจากฐานข้อมูลอันตรกิริยาระหว่างสมุนไพรกับยาแผนปัจจุบัน (Herb-Drug Interaction Database) ที่เปิดให้บริการประชาชนทั่วไปได้สืบค้นที่เว็บไซต์ของ สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (https://medplant.mahidol.ac.th) พร้อมทั้งข้อมูลสมุนไพรในรูปแบบบทความและอินโฟกราฟิกที่อ่านแล้วเข้าใจง่าย และช่องทาง “ถาม-ตอบ” ไว้คอยดูแลและเป็นที่พึ่งให้กับประชาชนอย่างยั่งยืน ด้วย “ปัญญาของแผ่นดิน” ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดล
นอกจากนี้ สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ยังได้พัฒนาฐานข้อมูลสมุนไพรเพื่อการใช้ประโยชน์ทางเครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์สมุนไพรสำหรับใช้ภายนอก หรือ CosmeHerb (https://cosmeherb.nbt.or.th) ร่วมกับศูนย์ NANOTEC กับ NBT ในสังกัดสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
ข้อมูลจากมหาวิทยาลัยมหิดล www.mahidol.ac.th
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.