สถิติ 'เยือนเย็น' แนวคิดใหม่ที่ช่วยสาธารณสุขไทยกว่า 37 ล้าน! โดยไม่มีใครรู้
เราได้คุยถึงที่มาของแนวคิด ‘อยู่สบาย ตายสงบ’ ของวิสาหกิจเพื่อสังคม ‘เยือนเย็น’ ที่รับดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองที่ไม่ใช่แค่การดูแล 2 อาทิตย์ก่อนตาย! เพราะต้องการให้ผู้ป่วยเข้าถึงทางเลือกทางการรักษาดังกล่าวได้ไวที่สุด เพื่อที่จะได้ใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพในทุกช่วงเวลา
อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่ยังไม่ป่วย การคุยกับ ศาสตราจารย์ ดร. นพ.อิศรางค์ นุชประยูร ศาสตราจารย์ของภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้ก่อตั้ง ‘เยือนเย็น’ ทำให้ต้องกลับมาย้อนคิดกับตัวเองกันไปแล้วว่า ‘คิดเห็นอย่างไรกับช่วงชีวิตก่อนตาย’ และที่มากกว่านั้นคือ ‘คิดเห็นอย่างไรกับการเจ็บป่วยที่ไม่มีวันรักษาหาย’ ในยุคปัจจุบัน (อ่านเพิ่มเติม : คุยกับ ‘เยือนเย็น’ การแพทย์บนแนวคิดใหม่ เมื่อเราสามารถเลือกการตายได้ (1) )
การพูดคุยทำให้เราพบว่ามีผู้คนกลุ่มหนึ่งที่มองความเจ็บป่วยเป็นสัจธรรมของชีวิต และต้องการหาวิธีที่จะอยู่กับโรคของตัวเองโดยไม่ทรมานเท่าไหร่นัก เพื่อที่จะใช้ชีวิตในช่วงเวลาสุดท้ายอย่างมีความสุขที่สุด แต่กระนั้นก็ต้องย้ำกับผู้อ่านว่า สิ่งที่เรากำลังพูดถึงนี้คือคนป่วยที่อยู่ในเงื่อนไขว่าต้องเจอกับโรคที่ไม่มีวันรักษาหายและถดถอยไปตามอาการเท่านั้น
นอกจากจะช่วยผู้ป่วยที่ต้องการการดูแลแบบดังกล่าวแล้ว ‘เยือนเย็น’ ยังตั้งอยู่บนหลักการที่มองว่า ด้วยวิสาหกิจขนาดเล็กๆ ที่มีแนวคิดแบบนี้สามารถช่วยแบ่งเบาภาระของระบบสาธารณสุขไทยได้อย่างไรบ้าง โดยเฉพาะกับปัญหาสำคัญคือ จำนวนบุคลากรทางการแพทย์ที่ไม่เพียงพอ ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ต้องประสบกับปัญหาการทำงานหนัก รวมไปถึงทำให้มีเวลาในการวินิจฉัยผู้ป่วยแต่ละรายน้อยลงไปทุกที รวมไปถึงรัฐต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายในระบบค่อนข้างสูง เพราะ ‘การตาย’ เป็นความล้มเหลวของการรักษาในโรงพยาบาล การให้ยาและให้การรักษา รวมถึงการยืดชีวิต จึงต้องทำอย่างเต็มที่ แม้ว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่ก็ตาม
อย่างที่คุณหมอเคยบอกว่า ‘เราไม่ได้อยากจะเปลี่ยนความคิดใคร แต่อยากให้เยือนเย็นเป็นทางเลือกทางการรักษาอย่างหนึ่งสำหรับกลุ่มคนที่ต้องการ’ …
ทางเลือกที่เป็นที่ต้องการมากขึ้นเรื่อยๆ
เมื่อเราถามว่า ‘มีคนที่ต้องการวิธีนี้ในช่วงชีวิตสุดท้ายของตัวเองจริงหรือ’
หลายคนเมื่ออ่านบทความ และแนวคิดที่ผ่านมา ก็อาจจะตั้งคำถามนั้นเพราะ
‘ทุกคนก็อยากที่จะใช้ชีวิตให้ยาวนานที่สุดไม่ใช่เหรอ แม้จะมีเปอร์เซนต์น้อยแค่ไหนก็ตาม’
แต่จากสถิติหลังจากที่คุณหมอเปิดตัวเยือนเย็นตั้งแต่ 5 ปีก่อน พบว่าจำนวนคนที่ขอใช้บริการเยือนเย็นมากขึ้นถึงเกือบ 8 เท่าภายในระยะเวลา 5 ปี จากเดิมที่คุณหมอดูแลตามลำพังกับผู้ช่วยเพียงไม่กี่คน และผู้ป่วยเพียง 51 ราย ในปีที่ผ่านมาสถิติผู้ที่ขอรับบริการจากเยือนเย็น พุ่งสูงถึง 393 ราย ส่วนในปีนี้คาดว่าจะสูงถึง 600 รายเลยทีเดียว และเนื่องจากประเทศไทยอยู่ในช่วงของการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ตัวเลขของผู้ใช้บริการจึงสูงขึ้นเรื่อยๆ และเป็นที่ต้องการ
คุณหมอเล่าให้ฟังว่า ผู้สูงอายุบางคน ใช้ชีวิตมาจนคุ้มมากแล้ว พอไปโรงพยาบาลก็ไม่ชอบ ทั้งต้องเดินทางไป รอนานบ้าง อยู่ที่โรงพยาบาลก็ไม่เหมือนที่บ้านบ้าง พอต้องรักษาบางคนก็ต้องเจ็บ ทรมาน ฉีดยาไม่รู้จะกี่ครั้งต่อกี่ครั้ง ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าจะหายหรือไม่ การได้ใช้ชีวิตที่บ้าน อยากกินอะไรก็ได้กิน เป็นสิ่งที่เขาเลือกว่าช่วงชีวิตสุดท้ายต้องการใช้ชีวิตแบบไหน และจากไปอย่างไม่ทรมาน
‘ ผมไม่ได้รับการส่งต่อจากหมอนะ แต่คนไข้จะติดต่อกับผมโดยตรง คนไหนอยากได้ติดต่อโดยตรง .. ถ้ารอติดต่อจากหมอบางที อีก 2 อาทิตย์ตายแบบนี้ แต่ที่ผมดูแล 5 ปีก็มี มีคนไข้จำนวนมากที่เป็นมะเร็งระยะลุกลามก็อยู่ได้มากกว่า 1 ปี แต่ว่าเวลาไม่ใช่ประเด็น ประเด็นคือเราเข้าถึงเขาได้รวดเร็ว’
เมื่อเปิดสถิติก็พบว่าในผู้ป่วยบางรายสามารถอยู่ได้ด้วยการรักษาแบบประคับประคองยาวนานถึง 5 ปี และเป็น 5 ปีที่ได้ทำทุกอย่างที่ตนเองต้องการ และเยือนเย็นสามารถทำให้ช่วงเวลาสุดท้ายชีวิตของผู้ป่วยได้จากไปที่บ้าน ล้อมด้วยผู้เป็นที่รักอย่างที่พวกเขาต้องการมากกว่า 74% ของผู้รับบริการ ส่วนที่เหลือที่ไม่สามารถทำได้ส่วนใหญ่ คือ ญาติพาไปโรงพยาบาลกะทันหัน และจบชีวิตที่โรงพยาบาล
เราถามว่าคำขอส่วนใหญ่ของผู้ป่วยเป็นอะไรได้บ้าง เพราะอยากรู้ว่า ‘คุณภาพชีวิต’ ในบั้นปลายที่รู้ว่าจะไม่ได้อยู่บนโลกใบนี้คืออะไร คุณหมอตอบว่า
‘คำขอส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องเล็กๆ กิน เที่ยว หรืออยากเจอลูกๆ คนรู้จัก’
เท่านั้น..
เปิดสถิติเยือนเย็น ลดภาระให้แก่ระบบสาธารณสุขไทยไปแล้วกว่า 37 ล้านบาท
แน่นอนว่าการรักษาแบบประคับประคองที่บ้าน มีค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่าการรักษาแบบ ‘สู้ตาย’ ที่ทำทุกวิถีทางเพื่อยื้อชีวิต .. คุณหมอบอกว่าบางคนรักษาแบบสู้ตาย แต่พอผู้ป่วยจากไป ภาระก็ไปตกที่ลูกหลาน นี่คือข้อเท็จจริง
สำหรับผู้ป่วยที่เข้าระบบของ สปสช. ก็สามารถเบิกจากรัฐได้ แต่ก็อาจจะไม่ได้ครอบคลุม หากอยากจะใช้ยาหรือทำหัตถการที่ไม่ได้อยู่ในระบบของ สปสช. .. ส่วนการรักษากับโรงพยาบาลเอกชนก็แน่นอนว่าค่าใช้จ่ายจะสูงกว่า
เมื่อดูจากสถิติในปี 2015 พบว่า มีจำนวนประชากร 133,744 รายที่เป็นมะเร็งและต้องเสียงชีวิต โดยเฉลี่ยแล้ว ผู้ป่วยจะต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล 2.77 ครั้งใน 6 เดือนสุดท้ายของชีวิต และใช้เวลาในช่วง 6 เดือนสุดท้ายที่โรงพยาบาลกว่า 19.77 วัน
ส่วนในเดือนสุดท้ายจะมีค่าใช้จ่ายทางการรักษาอยู่ที่ 41,630 ราย (ในกรณีโรงพยาบาลที่อยู่ในระบบของรัฐเท่านั้น) และมีผู้ป่วยเพียง 20% เท่านั้นที่ถูกส่งต่อมายังการรักษาแบบประคับประคอง
หากดูจากสถิตินี้แล้ว คุณหมอบอกว่าในระยะเวลา 5 ปี ‘เยือนเย็น’ จะสามารถช่วยลดการเข้าโรงพยาบาลได้กว่า 2,066 ครั้งต่อปี และช่วยระบบสาธารณสุขไปแล้วกว่า 37.2 ล้านบาท
นี่คือข้อเท็จจริง!
.
.
แต่เมื่ออ่านจนถึงบรรทัดนี้ หลายคนอาจจะรู้สึกต่างกันออกไป ..
.
.
ความรัก ความหวัง จะเข้ามาถล่มข้อเท็จจริงเหล่านี้ และบางคนก็เลือกที่จะสู้ให้ถึงที่สุด มีกำลังพอที่จะจ่าย นั่นก็เป็นสิ่งที่ทำได้เช่นกัน .. แต่อย่างที่คุณหมอย้ำอยู่เสมอว่า ความต้องการของผู้ป่วยสำคัญที่สุด
‘ ผมคิดว่าเราไม่ต้องเปลี่ยนความคิดใคร เราต้องเคารพทัศนคติที่หลากหลาย และเปลี่ยนไปตามกาลเวลาด้วย แค่มองว่าคนไหนอยากได้ เรามีทัศนคติตรงกันก็ไปด้วยกันได้ แต่บางคนอยากจะสู้ตายเขาก็ไม่เลือกเส้นทางนี้อยู่แล้ว ก็เป็นสิทธิของเขา .. ผมคิดแค่ว่ามีคนที่คิดแบบนี้อยู่ที่ไหน เราจะได้เข้าถึงได้รวดเร็วที่สุด ไม่ต้องส่งต่อไปที่โรงพยาบาล ผมแค่พยายามจะสร้างบริการทางสุขภาพที่เหมาะกับพวกเขาเท่านั้น’
หากใครสนใจและอยากทำความรู้จักมากขึ้น
ณ เวลานี้ ‘เยือนเย็น’ อยากที่จะเข้าถึงผู้ที่มีความต้องการการบริการทางสุขภาพในแบบเดียวกันมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เยือนเย็นจึงได้ทำสร้างระบบคัดกรองซึ่งเข้าไปใช้ได้ง่าย ๆ ผ่านทาง Line Application โดยเมื่อเข้าไปแล้วผู้ใช้งานจะได้เจอกับคำถามคัดกรองต่างๆ เพื่อพาตัวเองเข้าไปอยู่ในระบบได้ง่ายมากขึ้นผ่านทาง
https://lin.ee/yS0FfDv
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.