ทำความเข้าใจใหม่ หยุดความเชื่อผิดๆ สิ่งที่ห้ามทำเวลาถูกงูกัด

ถูกงูกัด ต้องเอาเชือกรัด ต้องทำขันชะเนาะ เอาปากดูดพิษออกมา หากคุณยังมีความคิดแบบนี้อยู่ในหัวหรือถูกสอนมาแบบนี้ หยุดคิดแบบนี้เลยนะทุกคน เพราะถ้าคิดแล้วทำแบบนั้นไปจะต้องเกิดอันตรายมากๆต่อตัวผู้ถูกกัดและตัวคุณเอง ว่าแต่วิธีที่ถูกต้องนั้นจะต้องทำอย่างไร วันนี้ทีม INN ได้หาคำตอบมาให้แล้ว เตรียมตัวไว้ เข้าใจถูกต้อง เพิ่มโอกาสรอดชีวิต ไปอ่านกันได้เลย

ความเชื่อผิดๆ

  • ปรับพื้นฐานกันสักนิด งูนั้นแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือมีพิษกับไม่มีพิษ แต่สำหรับประชาชนทั่วไปแบบเราๆ ไม่ว่าจะถูกงูชนิดไหนกัด ก็ควรที่จะรับการรักษาเหมือนกันเพื่อความปลอดภัยมากที่สุด
  • ความเชื่อที่เราได้ยินกันมานั้นคือให้ทำการเอาเชือกรัดเหนือแผลที่ถูกงูกัดหรือขันชะเนาะ หลังจากนั้นดูดพิษออกเพื่อกันพิษแล่นสู่หัวใจ ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิด เพราะการรัดนอกจากจะไม่ช่วยอะไรแล้ว หากรัดแน่นเกินไปอาจทำให้เกิดเนื้อเน่าตายได้
  • ส่วนการดูดพิษออกก็เป็นอันตรายต่อผู้ที่ดูดอาจจะได้รับพิษ ส่วนผู้ที่ถูกดูดอาจจะติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น

ควรทำอย่างไร

ข้อมูลจากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยแนะนำว่า

  • เมื่อถูกงูกัดให้ตั้งสติ
  • สังเกตลักษณะของงู หรือถ่ายรูปงูถ้าทำได้
  • ขอความช่วยเหลือ
  • ไม่แนะนำให้ขันชะเนาะ (เพิ่มเติมข้อมูล ใช้น้ำสะอาดล้างบริเวณที่ถูกกัด)
  • รีบพาไปที่โรงพยาบาลให้เร็วที่สุด ขยับส่วนที่ถูกกัดให้น้อย (เพิ่มเติมข้อมูล อาจจะใช้วิธีดามเพื่อลดการขยับ) เพื่อลดการดูดซึมของพิษงู
  • หากงูเห่าพ่นพิษเข้าตา ล้างตาด้วยน้ำสะอาดปริมาณมาก

สรุปถ้าหากถูกงูกัดนั้นต้องห้ามขันชะเนาะหรือเอาปากดูดพิษ สิ่งแรกที่ต้องทำคือให้ตั้งสติ สังเกตงู ถ่ายรูปงู ล้างน้ำแผลด้วยน้ำสะอาด และส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด โทรสายด่วน 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือ และสุดท้ายในช่วงที่ฝนตกแบบนี้ก็ขอให้ระวังเพราะงูมักจะมาหลบตามบ้านเรือน

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.