7 เทรนด์ท่องเที่ยวไทยปี 2567 เน้นลุย ลุ้น สำรวจ อร่อย ยั่งยืน!
แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาการเดินทางเป็นหนทางหนึ่งในการหลีกหนีจากชีวิตประจำวันที่วุ่นวาย แต่ผลการสำรวจของ Booking.com แสดงให้เห็นว่าในปี 2567 พบว่าคนไทยมองว่า ชีวิตคือการเดินทาง โดย 89% ของนักท่องเที่ยวชาวไทย (และ 78% ของผู้เดินทางทั่วโลก) เปิดเผยว่าพวกเขารู้สึกมีชีวิตชีวามากขึ้นกว่าเดิมเมื่อได้เดินทาง และ 88% ของนักท่องเที่ยวชาวไทยเชื่อว่าพวกเขาได้เป็นตัวของตัวเองมากที่สุดระหว่างออกท่องเที่ยว
และนี่คือ 7 เทรนด์การท่องเที่ยวของคนไทยใน พ.ศ.หน้า!
1. เป็นตัวเองอย่างเต็มที่ เมื่อออกเดินทาง
ในปี 2567 นักท่องเที่ยวมีแนวโน้มที่จะมองการท่องเที่ยวเหมือนการสร้างตัวตนใหม่ และรู้สึกได้ถึงการเปลี่ยนแปลงในตัวเอง นอกจากนี้ โดยพบว่านักท่องเที่ยวมีบุคลิกที่แตกต่างออกไปจากเดิมเมื่อออกเดินทาง โดยผู้เดินทางชาวไทยสองในสาม (88%) เชื่อว่าพวกเขาได้เป็นตัวของตัวเองมากที่สุดระหว่างออกท่องเที่ยว สามารถหลีกหนีข้อจำกัดต่าง ๆ และเปิดรับบุคลิกภาพใหม่ ๆ ของตนเองได้อย่างเต็มที่
● 74% สร้างเรื่องราวในชีวิตของตัวเองเอาไว้บอกเล่าคนที่ได้พบเจอระหว่างการเดินทาง
● 78% ชอบที่ไม่ต้องเผยตัวตนที่แท้จริงขณะเดินทางและมีโอกาสได้สร้างตัวตนในแบบที่ต้องการ
● 59% ยอมจ่ายเงินเพื่อเช่ารถที่ดีกว่าคันที่ขับอยู่ที่ประจำ เพื่อใช้ชีวิตที่ต่างจากเดิมอย่างมั่นใจยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ สำหรับใครที่ต้องอยู่แต่บ้าน เปิดดูสถานที่ออนไลน์ต่างๆ ผ่านโซเชียลมีเดีย ปีนี้จะเป็นปีที่ทุกคนอยากจะออกเดินทางอีกครั้ง
2. ทริปหนีร้อนไปพึ่งเย็น
สภาพอากาศร้อนทั่วโลกในปัจจุบัน ทำให้นักท่องเที่ยวอยากที่จะเดินทางไปยังสถานที่ๆ มีอากาศเย็นกว่าที่ใช้ชีวิตอยู่ในปัจจุบัน
● 78% ของผู้เดินทางชาวไทย เผยว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะส่งผลต่อการวางแผนการท่องเที่ยวในปีหน้า
● 75% กล่าวว่าจะมองหาสถานที่พักผ่อน หรือออกเดินทางเพื่อไปคลายร้อน เพราะอุณหภูมิแถวบ้านพุ่งสูงขึ้น
● 84% เห็นด้วยว่าการได้พักผ่อนใกล้ชิดกับสายน้ำทำให้รู้สึกผ่อนคลายมากขึ้นได้ทันที ในขณะที่ 40% สนใจการท่องเที่ยวพักผ่อนที่เน้นใกล้ชิดกับน้ำในปี 2567
การดำน้ำ โยคะบนน้ำ การทำสมาธิด้วยเสียงของน้ำ รวมไปถึงการบำบัดและผ่อนคลายที่ใช้ความเย็น หรือสถานที่ต่างๆ ที่มีการใช้กิมมิคความเย็น เช่น โรงแรมใต้น้ำ ธีมโลกใต้ทะเล จะกลายเป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมมากขึ้นในพ.ศ.หน้า
3. ขอให้ได้ลุ้น
นักท่องเที่ยวจะอยากปล่อยใจไปกับเรื่องสุดเซอร์ไพรส์ อยากที่จะออกสำรวจสถานที่หรือวัฒนธรรมที่ไม่รู้จักมาก่อน เปลี่ยนจากการท่องเที่ยวมีมีเช็คลิสต์ เป๊ะ! มาสู่การได้ลุ้นว่าจะได้เจออะไรบ้างโดยไม่ต้องวางแผน เพราะอยากเจอกับประสบการณ์แปลกใหม่
● 61% ของผู้เดินทางชาวไทยสนใจจองการเดินทางสุดเซอร์ไพรส์ในแบบที่ไม่รู้เลยว่าจะได้ไปที่ไหนบ้างจนกว่าจะไปถึง
● 76% ต้องการที่จะไปในจุดหมายปลายทางที่ไม่ค่อยมีใครรู้จัก และ 53% มองหาทริปเดินทางร่วมกับคนแปลกหน้า
● 67% ไม่ต้องการแผนหรือเช็คลิสต์ก่อนเดินทางสำหรับทริปในปีหน้า เพื่อจะได้ปล่อยใจไปตามแต่ละโอกาสและสถานการณ์เฉพาะหน้าจะพาไป
● 82% เน้นวางแผนการเดินทางแบบไม่ละเอียดมาก หรือที่สามารถยืดหยุ่นได้ จะได้เปลี่ยนแผนได้ตามอารมณ์ในตอนนั้น
ด้วยเหตุนี้ การท่องเที่ยวที่มีแพ็กเกจยืดหยุ่น ปรับเปลี่ยนได้ตามใจ หรือการใช้เทคโนโลยีที่สามารถช่วยทั้งในเรื่องการยกเลิก เปลี่ยนแผน ซื้อก่อนจ่ายหลังจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น
4. ตามรอยต้นกำเนิดของความอร่อย
นักเดินทางสายกินในปี 2567 ไม่ใช่แค่ต้องการอาหารที่อร่อย แต่อยากจะสำรวจหรือรู้ถึงจุดกำเนิด และรากของวัฒนธรรมอาหารจานเด็ดเหล่านั้นด้วย ทั้งในด้านประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และวัตถุดิบเฉพาะถิ่น นอกจากนี้อาหารแบบต้นตำรับจะได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้น ซึ่งเทรนด์การเดินทางดังกล่าวจะช่วยสร้างความภาคภูมิใจและเป็นการกระจายรายได้ให้กับชุมชนทั่วโลก
● 78% สนใจเรียนรู้ต้นกำเนิดอาหารจานเด็ด และอาหารที่ “ห้ามพลาด” ในจุดหมายปลายทางนั้น ๆ มากกว่าที่เคยเป็นมา
● 92% อยากลิ้มลองอาหารพื้นเมืองมากขึ้นในปีหน้า โดยเน้นค้นหารสชาติอาหารดั้งเดิมที่ปรุงด้วยสูตรลับที่ส่งต่อกันรุ่นสู่รุ่น เพื่อสำรวจและเปิดเผยถึงเรื่องราวด้านวัฒนธรรมที่อาจสูญหายหรือลืมเลือนไปในอีกฟากฝั่งหนึ่งของโลก
5. ผ่อนคลายเพื่อฟื้นพลัง
หลังจากสถานการณ์ย่ำแย่จากวิกฤตที่เกิดขึ้นทั่วโลก ผู้เดินทางจึงหันมาเน้นจองทริปที่เจาะจงแค่การพัฒนาร่างกายและจิตใจแต่เพียงอย่างเดียว เพื่อเยียวยาความรู้สึกและคลายความเครียดให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตในแบบที่ต้องการได้อีกครั้ง เทรนด์ที่น่าสนใจมีดังนี้
● ยุคสมัยของการท่องเที่ยวเพื่อการนอนหลับ (Sleep Tourism) ผู้ประกอบธุรกิจหันมาให้บริการที่ส่งเสริมด้านการนอนหลับและใช้เทคโนโลยีล้ำสมัยที่จะตอบโจทย์ผู้เดินทางชาวไทย (75%) ที่ให้ความสำคัญกับการนอนหลับสนิทแบบไม่มีอะไรมากวนใจสำหรับทริปในปี 2567
● ในขณะที่ 59% จะหาเวลาไปท่องเที่ยวเพื่อหาคู่หรือคนรักใหม่
● ตรงกันข้ามกับ 54% ที่จะเน้นไปยังการท่องเที่ยวพักใจเพื่อลืมคนรักเก่าให้ได้เสียที
● 13% ต้องการกระชับความสัมพันธ์กับคนรักให้แน่นแฟ้น และเน้นเรื่องนี้เป็นหลักในการเดินทางปีหน้า
● สำหรับผู้ที่เผชิญกับปัญหาครอบครัวไม่รู้จบ จะมองหาการพักผ่อนแบบสันโดษหรือไปเที่ยวคนเดียวแบบไม่ยุ่งเกี่ยวกับใคร โดยส่วนใหญ่ (76%) วางแผนเดินทางคนเดียวในปีหน้า แบบไม่พาลูกและคู่ครองของตัวเองไปด้วยเพื่อรีชาร์จพลังชีวิตตัวเอง
6. ยกระดับวันหยุดแบบ A La Carte
วิกฤตการณ์ค่าครองชีพส่งผลให้ผู้เดินทางในปี 2567 จะหันมาหาวิธีเดินทางที่ประหยัดค่าใช้จ่าย แต่ยังต้องการการท่องเที่ยวที่มีความหรูหราแบบ “ตามสั่ง”หรือ “A La Carte” อยู่ โดยเน้นไปที่ทริปสั้น ๆ หรือเลือกที่จะลดค่าใช้จ่ายด้านหนึ่งเพื่อไปเต็มที่กับสิ่งที่ตนเองต้องการมากกว่า เพื่อสัมผัสกับประสบการณ์เหนือระดับแม้จะเป็นเพียงแค่ช่วงเวลาหนึ่งก็ตาม
• 64% วางแผนที่จะเลือกจุดหมายปลายทางที่ค่าครองชีพถูกกว่าเมืองตัวเองอยู่ เพื่อใช้จ่ายได้อย่างเต็มที่มากขึ้น
• 64% ระบุว่าการเดินทางใกล้บ้านเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ เนื่องจากพวกเขากำลังค้นหาทริปวันหยุดพักผ่อนที่สามารถให้ความรู้สึกใกล้เคียงตัวเลือกที่หรูหรา แต่มีราคาไม่แพง เพื่อลดค่าใช้จ่าย
• 65% ยินดีจ่ายค่าบัตรผ่านรายวันเพื่อเข้าใช้สิ่งอำนวยความสะดวกในโรงแรมห้าดาว แทนการเข้าพักจริง
• 65% วางแผนให้ลูกหลานลาเรียน แล้วออกเดินทางนอกฤดูท่องเที่ยวเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายตอนออกเดินทาง
ผู้เดินทางที่ต้องการยกระดับการท่องเที่ยวให้มีความหรูหราแบบ “ตามสั่ง” หรือ “A La Carte” นี้ต้องการสัมผัสประสบการณ์เดินทางเหนือระดับ และต้องการให้การพักผ่อนเป็นไปอย่างผ่อนคลาย ฉีกจากชีวิตจริงที่ต้องใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง แต่เบื้องหลังของการเดินทางในรูปแบบนี้ผู้เดินทางในปัจจุบันต้องการมี AI เป็นตัวช่วยสำหรับการวางแผนเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย ซึ่งเป็นเครื่องมือหรือระบบที่ช่วยนำเสนอข้อมูลเชิงลึกและรวบรวมเคล็ดลับสำหรับการเดินทางแบบคุ้มค่าคุ้มราคาที่สุด รวมทั้งข้อเสนอจากผู้ให้บริการ และบริการเสริมต่าง ๆ ที่ช่วยยกระดับประสบการณ์ท่องเที่ยวได้อย่างมีแบบแผนมากยิ่งขึ้น
7. สุนทรียศาสตร์ของการเดินทางแบบยั่งยืน
ในอดีตคำว่าความยั่งยืนกับความทันสมัยไม่ใช่คำที่ไปด้วยกันได้เสมอไป หากได้ยินคำว่า “การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์” หลายคนคงเห็นภาพลานกางเต็นท์ที่เรียบง่ายและติดดินแต่ในปี 2567 ความสำคัญของการออกแบบ นวัตกรรม เข้ามามีบทบาทในประเด็นของความยั่งยืนมากขึ้น จึงทำให้เกิดตัวเลือกการท่องเที่ยวที่ใส่ใจและรับผิดชอบแบบใหม่และสร้างสรรค์ เพราะนักท่องเที่ยวปัจจุบันไม่ได้ต้องการเพียงแค่ทริปท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์แบบสั้น ๆ เท่านั้น แต่ผู้เดินทางในปัจจุบันต้องการนำความตั้งใจเหล่านี้มาเป็นหลักในการดำเนินชีวิตประจำวัน เพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายของการมีส่วนช่วยลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม และสร้างผลเชิงบวกต่อชุมชนและสังคมเพิ่มมากขึ้น
● 78% กำลังมองหาที่พักที่มีนวัตกรรมด้านความยั่งยืนที่ดูตื่นตาตื่นใจ
● 83% อยากเห็นการดำเนินการเพื่อความยั่งยืนที่เป็นรูปธรรม ในขณะที่ 65%ต้องการเห็นที่พักตกแต่งภายในด้วยพื้นที่สีเขียวและประดับด้วยต้นไม้ราวกับอยู่กลางธรรมชาติ
● ผู้เดินทางจำนวนมากสนใจแพลตฟอร์มสำหรับการเดินทางแบบยั่งยืนที่มีตัวเลือก หรือ ข้อเสนอให้สามารถปลดล็อกสมนาคุณได้ (84%) เช่น อยากให้นำเสนอประสบการณ์ทดลองใช้ชีวิตกับคนในชุมชนท้องถิ่นหรือจุดหมายที่ไม่คุ้นเคย (47%) หรือ ข้อเสนอเป็นทริปการเดินทางไปยังพื้นที่ห่างไกลที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่อาจจะยังเข้าไม่ถึง (44%)
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.