พาลูกไปหาหมออย่างไร ให้เด็กไม่รู้สึกกลัวหมอ
แทบจะพูดได้ว่า “เด็กกับหมอ” เป็นของคู่กัน เพราะกว่าที่เด็กน้อยคนหนึ่งจะเติบโตขึ้นมาแข็งแรงสุขภาพดีได้นั้น พ่อแม่ต้องเทียวเข้าเทียวออกสถานพยาบาล พาลูกไปพบคุณหมอกันอยู่บ่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นการหมั่นไปรับวัคซีนพื้นฐานป้องกันโรคตามอายุหรือตามหมอนัดให้ครบทุกเข็ม หรืออาจเป็นเพราะเด็ก ๆ นั้นมีภูมิคุ้มกันโรคค่อนข้างต่ำ อะไรนิดอะไรหน่อยก็เจ็บป่วยได้ง่าย ๆ พ่อแม่ก็ต้องพาไปตรวจรักษา นอกจากนี้ยังมีโรคภัยไข้เจ็บอีกมากมายที่มีโอกาสก่อโรคร้ายแรงในเด็กได้มากกว่าผู้ใหญ่ด้วย จะเห็นว่าทุกสาเหตุของการพาลูกไปหาหมอล้วนเชื่อมโยงหากันหมด เด็กน้อยยังไม่แข็งแรง ร่างกายไม่มีภูมิกันจึงเจ็บป่วยได้ง่าย และเราจำเป็นต้องสร้างภูมิคุ้มกันโรคให้แก่พวกเขา
แม้ว่าการพาลูกไปหาหมอจะเป็นเรื่องที่พ่อแม่ต้องทำเป็นประจำ แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยใช่ไหมล่ะ เพราะเด็กหลายคนไม่ชอบการไปหาหมอ แค่รู้ว่าพ่อแม่จะพาไปหาหมอก็โยเยงอแงไม่ยอมไป เข้าไปเจอหน้าหมอก็กลัวไม่ยอมมองหน้าหมอ หลบหลังพ่อแม่อย่างเดียว หรือพอหมอจะฉีดยาก็ร้องไห้จ้าดังระงมไปทั่วโรงพยาบาล นี่เป็นเหตุการณ์ที่คนเป็นพ่อแม่ต้องรับมืออยู่เสมอ แต่ถึงอย่างนั้น เคยสังเกตหรือไม่ว่าเด็กวัยเดียวกันบางคนหาหมอง่ายมาก ถึงจะมีอาการตื่นกลัวให้เห็นอยู่บ้าง แต่ก็พยายามใจดีสู้เสือ ไม่ร้องไห้ ไม่งอแง หมอจะทำอะไรก็ยอมให้หมอทำแต่โดยดี การหาหมอจึงจบได้ในช่วงเวลาสั้น ๆ ไม่เสียเวลาหมอ ไม่เสียเวลาพ่อแม่ และเด็กก็ไม่มีภาพจำน่ากลัวในการหาหมอด้วย
ในความเป็นจริงแล้ว พ่อแม่สามารถปลูกฝังเด็ก ๆ ให้ไปหาหมอได้ง่ายขึ้นได้ ขึ้นอยู่กับวิธีการหลอกล่อ เกลี้ยกล่อม และพูดให้เด็กเข้าใจ ต่อไปนี้เป็นคำแนะนำและข้อควรปฏิบัติของพ่อแม่ในการพาลูกไปโรงพยาบาลไม่ให้กลัวหมอ กลัวพยาบาล กลัวเข็ม หรือกลัวเจ็บตัว มาดูกันว่าพ่อแม่ต้องบอกสอนลูกอย่างไร
1. เตรียมตัวให้เด็ก ๆ รู้จักกับคุณหมอและโรงพยาบาล
เป็นธรรมดาที่เด็กจะตื่นกลัวสถานที่ที่ไม่คุ้นเคยและคนแปลกหน้าเยอะ ๆ ดังนั้น ก่อนที่จะพาลูกไปหาหมอ จึงควรสร้างความคุ้นเคยให้ลูกได้รู้จักกับสถานพยาบาลหรืออาชีพหมอและพยาบาลก่อน ด้วยการเล่านิทานที่เกี่ยวกับคุณหมอ หรือหาของเล่นที่เกี่ยวกับหมอมาให้เด็กเล่น เปิดการ์ตูนให้ดูว่าคนที่เป็นหมอจะแต่งตัวแบบนี้นะ พยาบาลแต่งตัวแบบนี้นะ อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่หมอจะใช้กับคนไข้เด็ก ๆ มีอันนี้นะ ไปสถานพยาบาลจะเจอใครบ้าง เป็นต้น รวมถึงชวนพูดคุยถึงเหตุผลที่ว่าทำไมใครต่อใครก็ต้องไปหาหมอ เมื่อพาไปแล้วก็พูดย้ำให้ฟังอีกครั้ง จะช่วยบรรเทาอาการหวาดกลัวได้
2. พูดคุยด้วยเหตุผลง่าย ๆ ว่าทำไมเด็ก ๆ ต้องไปหาหมอ
จากข้อที่ผ่านมา เด็กพอจะมีความรู้แล้วว่าใครบ้างที่จะไปโรงพยาบาล เราไปหาหมอกันทำไม มาในข้อนี้ก็เพียงแค่ให้เหตุผลเพิ่มเติมเข้าไปว่าทำไมเด็ก ๆ ถึงต้องไปหาหมอด้วย ควรพูดคุยใช้คำพูดง่าย ๆ ให้เหมาะสมกับช่วงวัย เด็กจะเข้าใจได้ดีขึ้น จะให้เหตุผลเป็นรายครั้งก็ได้ว่าครั้งนี้ไปหาหมอด้วยเหตุผลนี้นะ หมอจะทำอะไรบ้าง ครั้งต่อไปเหตุผลที่ไปอาจไม่เหมือนครั้งที่แล้ว ก็ให้บอกไปตามตรงว่าครั้งนี้ไปหาหมอทำไม และคาดว่าหมอจะทำอะไรบ้าง เจ็บแค่นิดเดียวเดี๋ยวก็หาย เป็นต้น อย่างน้อยก็ให้เด็ก ๆ ได้รู้และเตรียมตัวล่วงหน้า ดีกว่าไปเจอสถานการณ์จริงเลยทีเดียว
3. เตรียมสิ่งของหลอกล่อไปให้พร้อม
ถึงแม้ว่าเด็กจะพูดรู้ความ เข้าใจเหตุผลของการไปหาหมอได้จากการที่พ่อแม่อธิบายให้ฟัง แต่เขาก็ยังเป็นแค่เด็กเท่านั้น บางทีเตรียมตัวมาดี แต่พอสถานการณ์จริงมีอะไรที่ผิดแผนไปนิดหน่อยก็ทำให้เด็กกลัวขึ้นมาได้ ฉะนั้น พ่อแม่ต้องเตรียมสิ่งของจำเป็นในการหลอกล่อและปลอบใจลูกไปด้วย อย่างเช่น ของเล่นหมอที่เคยให้เขาเล่น หรือตุ๊กตาที่เด็กชอบมาก ๆ ให้เด็กได้เอาติดตัวเข้าไปด้วยเวลาเจอหมอ เพื่อให้เขาเพลิดเพลินกับของเล่นที่ชอบจนไม่สนใจสิ่งรอบข้าง ทีนี้คุณหมอก็จะตรวจหรือจะทำอะไรได้ง่ายขึ้น และอย่าลืมพาผู้ที่ทราบอาการเด็กเป็นอย่างดีไปด้วย
4. การพูดปลอบประโลมและชมเชย
บางทีเด็กอาจไม่สนใจของเล่นที่เตรียมไปหลอกล่อ พ่อแม่ก็ต้องใช้วิธีพูดเกลี้ยกล่อมและปลอบประโลมอย่างนุ่มนวล ที่สำคัญคือพ่อแม่ต้องคอยอยู่กับลูกตลอดเวลา เด็กจะได้ไม่รู้สึกว่าตัวเองถูกทอดทิ้ง ปกติหมอจะเข้าใจเด็ก และไม่ให้พ่อแม่ออกไปรอข้างนอกอยู่แล้ว ถ้าเด็กเกิดกลัวและไม่ยอมให้หมอตรวจ พ่อแม่จะได้คอยอุ้ม คอยกอด และพูดปลอบใจ ทำให้เด็กอุ่นใจและรู้สึกปลอดภัยว่าพ่อแม่พร้อมจะปกป้องเขาตลอดเวลา และหากเด็กยอมให้การตรวจผ่านไปได้ด้วยดี อย่าลืมชื่นชมเด็กด้วยว่าเก่งมาก ๆ เพื่อให้เด็กจดจำว่าการไปหาหมอไม่ใช่เรื่องน่ากลัวอะไร
5. อย่าโกหกหรือขู่เด็กให้กลัวการหาหมอ
พ่อแม่ต้องจำให้ดี เพื่อไม่ให้มีเรื่องยากลำบากในตอนหลัง คือไม่ว่าเด็กจะดื้อแค่ไหน อย่าขู่เด็กให้กลัวบุคลากรทางการแพทย์โดยเด็ดขาด เช่น ถ้าไม่เชื่อฟังจะให้หมอจับฉีดยานะ มันจะเป็นการสร้างภาพจำทางลบต่อเด็กในการไปหาหมอโดยทันที และทำให้การไปหาหมอยากยิ่งขึ้นไปอีก รวมถึงอย่าโกหกเด็กเพื่อให้เด็กยอมทำตาม เช่น โกหกว่าเจาะเลือดไม่เจ็บ โกหกว่าฉีดยาไม่เจ็บ โดนเข็มทิ่มยังไงก็เจ็บอยู่แล้ว แต่พ่อแม่ต้องสื่อสารให้เป็น เจ็บก็คือเจ็บแต่มันแค่นิดเดียวเอง หนูเป็นคนเก่งต้องอดทนได้ เดี๋ยวก็หายแล้ว และชมเชยว่าเขาเก่งมาก ๆ เมื่อการตรวจผ่านพ้นไป
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.