AI กับวงการบันเทิง หรือวันหนึ่งเราจะไม่จำเป็นต้องใช้นักแสดงที่เป็นคน!
ต้องยอมรับว่าโลกยุคปี 2023 นี้ เป็นยุครุ่งเรืองของเทคโนโลยีที่ไร้ขีดจำกัดจริง ๆ โดยเฉพาะการมาของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่ทำให้โลกใบนี้ก้าวข้ามขีดจำกัดหลาย ๆ อย่างไปโดยสิ้นเชิง หากจะลองประมวลทุกสิ่งทุกอย่างที่ AI สามารถทำได้ในเวลานี้ เราก็คงพอจะเห็นเค้าลางแล้วว่าในอนาคตต่อจากนี้ คงจะไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้ในโลกยุคเทคโนโลยี
การเกิดขึ้นของเครื่องมือ AI หลายอย่างที่ใช้งานได้จริงและให้ผลลัพธ์ที่น่าทึ่ง แสดงให้เห็นว่า AI บนโลกยุคใหม่มีการพัฒนาที่รวดเร็วแบบก้าวกระโดด รวมถึงมีการทำงานที่ซับซ้อนมากขึ้น อีกทั้งยังเพิ่มความสามารถด้านวิชาชีพหรืออาชีพเฉพาะทางชนิดที่สามารถทำลายกรอบความคิดของบางอาชีพที่เคยเชื่อว่า “มีเพียงมนุษย์เท่านั้นที่ทำได้” ไปอย่างสิ้นเชิง นอกจากนี้ ยังทลายกรอบของจรรยาบรรณและศีลธรรมบางอย่างด้วย เมื่อมีการนำเอา AI มาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์กันมากขึ้น
เมื่อวงการบันเทิงก็โดน AI คุกคาม
จริง ๆ มันไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรที่จะใช้เทคโนโลยีในวงการบันเทิง ก่อนหน้าที่ AI จะเข้ามามีบทาบาทในอุตสาหกรรมบันเทิง เรามีเทคโนโลยีด้านคอมพิวเตอร์กราฟิกในการสร้างสรรค์ผลงานทั้งเกมคอมพิวเตอร์ การ์ตูน แอนิเมชัน รวมถึงสื่อภาพยนตร์/โทรทัศน์ เนื่องจากการสร้างสื่อเหล่านี้มักต้องมีการสร้างเอฟเฟกต์หรือองค์ประกอบในภาพเคลื่อนไหวต่าง ๆ เพื่อให้สามารถเล่าเรื่องราวได้อย่างสมจริง ต่อมาก็เริ่มมีหุ่นยนต์เข้ามาแทนที่มนุษย์ในหลาย ๆ ภาคส่วน ทั้งโรงงานอุตสาหกรรม ธนาคาร ร้านอาหาร รวมถึงการใช้หุ่นยนต์แทน “นักแสดง”
ทุกวันนี้ในวงการบันเทิงมีการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างนักแสดงมากขึ้นเรื่อย ๆ จนดูเหมือนว่า “นักแสดง” จะกลายเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่ค่อย ๆ ถูกหุ่นยนต์จากเทคโนโลยี AI คุกคามจนถึงขั้นแย่งงาน ดังที่เราจะเห็นว่าทุกวันนี้มีนายแบบ/นางแบบที่สร้างจาก AI ทำงานอยู่เกลื่อนวงการ มีนักร้อง/ศิลปิน/ไอดอลจาก AI อย่างจริงจัง มีพิธีกร/ผู้ประกาศข่าวที่เป็น AI เช่นกัน
หรืออย่างล่าสุด คือการที่บริษัทบันเทิงยักษ์ใหญ่ของโลกอย่าง Walt Disney ได้มีการตั้งทีมพิเศษขึ้นเพื่อศึกษาเรื่องปัญญาประดิษฐ์และวิธีที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับกลุ่มธุรกิจบันเทิง อย่างไรก็ตาม ด้วยผลที่จะตามมาในภายหลัง ทำให้นักเขียนบทและนักแสดงในวงการฮอลลีวูดออกมาต่อสู้เพื่อจำกัดการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี AI ในอุตสาหกรรมบันเทิง เพราะมันจะเป็นภัยคุกคามต่อการจ้างงาน
และไม่ใช่แค่ Walt Disney เท่านั้น เพราะ Netflix เองก็ประกาศจ้างทีมงานใหม่เข้ามาดูแลระบบ AI โดยมีการเสนอรายได้สูงถึงปีละ 9 แสนดอลลาร์สหรัฐ หรือ 30.8 ล้านบาท ซึ่ง AI ดังกล่าวจะถูกใช้เพื่อวางแผนและประเมินการลงทุน รวมถึงดูแลอัลกอริทึมแทนพนักงานที่เป็นมนุษย์ ทั้งนี้ทั้งนั้น Netflix ยืนยันว่า AI จะไม่เข้ามาแทนที่ในส่วนของกระบวนการที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ แต่ทีมงานสตันต์แมนและนักแสดงของ Netflix ในฮอลลีวูด ก็ยังร่วมกันประท้วงหยุดงาน เพื่อเรียกร้องปัญหาค่าจ้างที่ไม่เป็นธรรม และต่อต้านการนำ AI เข้ามาทำงานในวงการบันเทิง
เทคโนโลยี AI ถูกประยุกต์ใช้ในวงการบันเทิงอย่างไร
เนื่องจากมนุษย์เราพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นมาก็เพื่อแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นที่ตัวเราไม่สามารถแก้ไขได้ หรือเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานต่าง ๆ ทำให้เทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมบันเทิงมากขึ้นเรื่อย ๆ และเริ่มขยับจากงานเบื้องหลังสู่งานเบื้องหน้า จากที่เรามักจะเห็นในภาพยนตร์ที่ใช้เทคโนโลยี “AI” และ “Deepfake” เข้ามาช่วยแต่งเติมรูปร่างหน้าตาของนักแสดงให้ออกมาตามต้องการ ด้วยหลาย ๆ กรณีไม่ได้ใช้นักแสดงตัวจริงมาแสดงโดยที่เทคโนโลยีดังกล่าวสามารถเปลี่ยนหน้าตาของนักแสดงเป็นเด็กก็ได้ เป็นหนุ่มสาวก็ได้ หรือจะเป็นวัยชราก็ยังได้
หรืออาจจะเป็นการใช้เสียงของบุคคลหนึ่งพูดข้อความต่าง ๆ โดยที่บุคคลนั้นไม่จำเป็นต้องพูดข้อความนั้น ๆ ก็ได้ ซึ่งการใช้เทคโนโลยีที่มีความสามารถในการเรียนรู้มาช่วยเรียนรู้ จดจำ และถอดรูปแบบเสียงของนักแสดงคนหนึ่ง แล้วนำมาผ่านกระบวนการให้เปล่งเสียงออกมาเป็นคำพูดตามบท ทำให้เราสามารถสร้างนักแสดงตัวปลอมขึ้นมาโดยใช้หน้าและเสียงของนักแสดงจริงได้ ถ้าทำออกมาดี ๆ จะเห็นว่านักแสดงตัวปลอมที่สร้างขึ้นจาก AI นี้ มีลักษณะเหมือนบุคคลจริง ๆ จนแทบดูไม่ออกเลยทีเดียว
เมื่อวงการบันเทิงนำเอาเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้งานมากขึ้น จะทำให้เราสามารถเห็นหรือได้ยินเสียงนักแสดงหลายคนที่เสียชีวิตไปแล้วหรือลาวงการไปแล้ว กลับมาโลดเล่นในบทเดิมได้ หรือนักแสดงคนเดียวสวมบทเป็นตัวละครในวัยต่าง ๆ โดยที่เราเห็นนั้นจะเป็นหุ่นยนต์ตัวปลอมที่ใส่หน้าและเสียงที่มีการดัดแปลงให้เป็นวัยต่าง ๆ ของนักแสดงคนนั้น ๆ ได้ และที่สำคัญ คือการลดต้นทุนการผลิตจากค่าตัวนักแสดงได้ด้วย เพียงแค่ซื้อลิขสิทธิ์เสียงและหน้าตาของนักแสดงคนนั้นมาปรากฏตัว โดยที่เจ้าตัวไม่จำเป็นต้องมาถ่ายทำแต่อย่างใด
นอกจากที่เราต้องนั่งดูตัวละครในละครหรือในภาพยนตร์แบบที่ไม่ใช่คนจริง ๆ แล้ว อีกปัญหาที่ตามมาก็คือ มันจะมีขอบเขตที่ตรงไหน หากอุตสาหกรรมบันเทิงจะนำเอาใบหน้าและเสียงของคนคนหนึ่งมาใช้ร่วมกันกับเทคโนโลยีเพื่อหากินตลอด โดยที่เจ้าตัวอาจไม่รู้ตัวว่าใบหน้าและเสียงของตนเองถูกนำมาใช้ซ้ำ หรืออาจไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าตัว และที่สำคัญก็คือ เอาใบหน้าและเสียงของเขาไปใช้เชิงพาณิชย์โดยที่เจ้าตัวไม่ได้ค่าจ้างใด ๆ
เมื่อการใช้เทคโนโลยีแทนคนแสดง เกิดปัญหาในเชิงจรรยาบรรณและศีลธรรม
จากประเด็นนี้ ทำให้เหล่านักแสดงจำนวนหนึ่งออกมาเคลื่อนไหว เนื่องจากมันไม่ยุติธรรมสำหรับพวกเขาเลย หากอุตสาหกรรมบันเทิงจะสามารถใช้เทคโนโลยี AI สร้างใบหน้าและเสียงเลียนแบบนักแสดง โดยที่ทางนายจ้างจะได้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ใบหน้าและเสียงนั้นตลอดไป เพื่อที่จะได้ไม่ต้องจ่ายค่านักแสดงเพิ่ม เมื่อมีการถ่ายทำละครหรือภาพยนตร์เรื่องใหม่ ก็นำเอาใบหน้าและเสียงนั้นมาผ่านกระบวนการสร้างเป็นนักแสดงขึ้นมา ซึ่งมันเป็นการหากินจากใบหน้าของนักแสดงได้โดยไม่รู้จบ โดยที่นักแสดงคนนั้นได้ค่าตอบแทนเพียงครั้งเดียวจบ
คำถามคือ ในเมื่อเทคโนโลยีสามารถสร้างนักแสดงคนหนึ่งขึ้นมาได้เช่นนี้ แล้วอาชีพนักแสดงในอนาคตจะยังมีพื้นที่เหลือให้มนุษย์อยู่หรือไม่ นี่คือสิ่งที่น่าขบคิด ในเมื่อเทคโนโลยีสามารถสร้างตัวตนเสมือนทดแทนนักแสดงได้จริง ๆ ได้ คนที่ประกอบอาชีพนักแสดงก็อาจจะไม่ได้จำเป็นขนาดนั้นอีกต่อไปแล้วก็ได้
อย่างไรก็ตาม หากจะพูดกันจริง ๆ ในทุกวันนี้ การผลิตสื่อบันเทิงก็ยังจำเป็นต้องพึ่งพาความสามารถของนักแสดงเป็นหลักอยู่ ด้วยการแสดงจำเป็นต้องมีการตีความบทละครออกมาให้สมบทบาท ซึ่งมันยังจำเป็นต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์และทักษะทางการแสดงของนักแสดงในการถ่ายทอดออกมาอยู่ เพื่อให้ละครหรือภาพยนตร์มีมิติและสมบูรณ์แบบมากขึ้น ในส่วนนี้ยังมั่นใจได้ว่ามันเป็นศิลปะชั้นสูงที่ AI ยังทำไม่ได้
นอกจากนี้ ยังมีอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้วงการบันเทิงยังจำเป็นต้องใช้นักแสดงจริง ซึ่งมันก็คือตัวตน ชื่อเสียง และภาพลักษณ์ประจำตัวของนักแสดง นักแสดงทั้งหลายล้วนมีแฟนคลับ และตัวตนของนักแสดงก็ยังคงเป็นสิ่งที่ดึงดูดผู้คนและสร้างความนิยมให้กับตัวนักแสดงเอง ที่ต่อให้วงการบันเทิงจะสร้างนักแสดงเสมือนขึ้นมาแบบที่คัดลอกทุกอย่างจากตัวจริงไป แต่ความนิยมที่เกิดจากตัวตนของมนุษย์ก็ยังลอกเลียนแบบกันได้ยาก ตัวเสมือนที่สร้างขึ้นจากเทคโนโลยีไม่มีทางจะมาแทนที่ตัวจริงที่เป็นต้นฉบับได้ ถ้าละครหรือภาพยนตร์ต้องการขายความนิยมของนักแสดง ก็จำเป็นต้องมีนักแสดงคนนั้น ๆ จริง ๆ
แต่ตรรกะดังกล่าวอาจใช้ไม่ได้กับ “นักแสดงประกอบ” เพราะในวันที่อุตสาหกรรมบันเทิงสามารถใช้เทคโนโลยีแทนนักแสดงได้ “นักแสดงตัวประกอบ” จะกลายเป็นองค์ประกอบที่ไม่จำเป็นต้องใช้คนจริง ๆ อีกต่อไปแล้ว เพราะนักแสดงประกอบไม่ได้ออกกล้องโดดเด่นเท่านักแสดงหลัก และส่วนใหญ่ก็ไม่ได้จำเป็นต้องแสดงความสามารถทางการแสดงใด ๆ ให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ด้วย เพราะเป็นบทประกอบที่บางทีก็แค่เดินผ่านไปผ่านมาเท่านั้น รวมถึงนักแสดงประกอบหลายคนไม่ได้เป็นที่รู้จักถึงขั้นที่ผู้สร้างต้องเรียกตัวจริงมาใช้งาน เพื่อสร้างความนิยมให้มีคนดูมาติดตาม
เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นจริงแล้วเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีประเด็นขนาดย่อม ๆ ในโซเชียลมีเดีย ที่เอ่ยถึงค่ายหนังใหญ่ระดับโลกอย่าง Disney ที่ใช้เทคโนโลยี AI สร้างคนขึ้นมาเป็นนักแสดงประกอบอยู่ท่ามกลางฝูงชน แต่การใช้ AI เป็นนักแสดงสมทบแทนคนจริง ๆ ดังกล่าวก็ถูกจับโป๊ะอย่างง่ายดาย ใคร ๆ ที่ได้ชมก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่เนียนเป็นอย่างมาก สามารถดูออกได้ตั้งแต่แว่บแรก และหลายต่อหลายคนก็บอกว่ามันออกจะน่ากลัวและหลอนพอสมควร
หรือก่อนหน้านี้ ก็เคยมีนักแสดงประกอบฉากจากซีรีส์เรื่อง Wanda Vision ที่ออกมาเผยว่าเธอโดน Disney สแกนหน้าและร่างกายเพื่อนำไปใช้สร้างตัวเธอในรูปแบบดิจิทัลโดยที่เธอไม่ได้รับค่าตอบแทน และไม่ทราบเลยว่า Disney จะนำสแกนร่างกายของเธอไปใช้ทำอะไรบ้าง ซึ่งถ้า Disney สร้างเธอซ้ำแล้วซ้ำเล่าในผลงานใหม่ ๆ อย่างไม่รู้จบ มันจะมีผลกระทบต่อคนที่ทำอาชีพนักแสดงประกอบอย่างแน่นอน เพราะพวกเขาจะไม่ได้รับค่าตอบแทนอะไรเลย
ปัจจุบัน ในวงการบันเทิงมีการสแกนดิจิทัลรูปร่างหน้าตาของนักแสดงประกอบเพื่อมาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์กันอย่างแพร่หลายมากขึ้น หลายแห่งไม่จ่ายค่าจ้างหรือไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของหน้าตาตัวจริงเลยด้วยซ้ำ บทบาทของ AI ที่สามารถเนรมิตอะไรขึ้นมาบนหน้าจอก็ได้ โดยเฉพาะการใช้ใบหน้าและเสียงของคนที่มีตัวตนจริง ๆ มาใช้ในเชิงพาณิชย์โดยที่เจ้าตัวไม่ได้อะไรเลย แถมยังเป็นการละเมิดสิทธิในอัตลักษณ์บุคคลด้วย จนหลายคนก็เริ่มตั้งคำถามถึงจรรยาบรรณในการทำงานและศีลธรรมที่สร้างความไม่เป็นธรรมให้แก่นักแสดงตัวประกอบ
เพราะจากที่เมื่อก่อน จำเป็นต้องจ้างนักแสดงประกอบเพื่อเข้าฉาก แต่ทุกวันนี้กลายเป็นว่าเรียกนักแสดงประกอบมาสแกนร่างกายทั้งตัวแล้วให้ค่าจ้างเพียงแค่ 1 คิวเท่านั้น โดยที่สตูดิโอสามารถนำอัตลักษณ์บุคคล (personal identity) ไปใช้หาผลประโยชน์ได้ไม่จำกัดจนเกิดความไม่เป็นธรรมขึ้นกับเจ้าของอัตลักษณ์บุคคล คำถามต่อมาคือ ถ้าในวันที่เทคโนโลยีล้ำหน้าไปมากกว่านี้อีกขั้น วันที่ AI สามารถสร้างตัวตนที่เป็นต้นฉบับของตัวเอง พัฒนาจนมีความสามารถทางการแสดงที่ใกล้เคียงมนุษย์ ซึ่งแม้จะไม่เทียบเท่า แต่ก็ทำให้มนุษย์หลงใหลได้ ต่อไปเราอาจไม่จำเป็นต้องมีนักแสดงที่เป็นคนจริง ๆ แล้วก็เป็นได้นะ
และที่สำคัญ มันทำให้เราเห็นว่า AI ที่ว่าน่ากลัว จริง ๆ “คนที่ใช้ประโยชน์จาก AI อย่างเห็นแก่ตัว” นั้นน่ากลัวกว่า
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.