แคสเปอร์สกี้แนะเคล็ดลับ 7 ข้อลดความป่วน พร้อมดูแลเด็กๆ ให้ปลอดภัยออนไลน์-ออฟไลน์

ภาคการศึกษาแรกของประเทศไทยสิ้นสุดในช่วงเดือนตุลาคม และจะเริ่มเรียนภาคเรียนที่สองช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน สำหรับเด็กๆ แล้วการปิดเทอมคือสวรรค์ที่เด็กๆ จะได้เพลิดเพลินกับกิจกรรมทั้งในร่มและกลางแจ้ง และไม่ต้องสงสัยเลยว่าในยุคดิจิทัลเช่นนี้ งานอดิเรกสุดโปรดของเด็กๆ ก็คือการเล่นสมาร์ตโฟน และติดอยู่หน้าจอเกือบตลอดเวลา เชื่อมต่อโซเชียลเน็ตเวิร์ก ดูสื่อต่างๆ บน YouTube และเล่นเกมออนไลน์

แต่สำหรับผู้ปกครองแล้วสถานการณ์นั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง พ่อแม่ส่วนใหญ่อยากให้ลูกไปโรงเรียนทุกวัน เพราะในช่วงปิดเทอม พ่อแม่ต้องใช้เวลาดูแลบุตรหลานเพิ่มขึ้น หรือหาคนมาช่วยดูแลเพราะพ่อแม่ต้องทำงาน ผู้ปกครองต้องวางแผนกิจกรรมเพื่อเด็กๆ เพิ่มเติม รวมถึงพาครอบครัวท่องเที่ยว เพื่อไม่ให้เด็กๆ เบื่อการอยู่ในบ้านและเริ่มอาละวาดงอแง ผู้ปกครองจำนวนมากทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ยังใช้วิธีเดิม ๆ คือยื่นสมาร์ตโฟนให้เด็กๆ อยู่กับหน้าจอเพื่อต่อเวลาความสงบเงียบที่บ้านสักสองสามนาที หรือระหว่างการเดินทางอันยาวนาน

ทั้งนี้ การดูแลเด็กๆ ให้ปลอดภัยทางออนไลน์ถือเป็นประเด็นสำคัญสำหรับผู้ปกครอง จากการสำรวจเด็กไทยและความเสี่ยงทางออนไลน์ที่จัดทำโดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม 2565 พบว่าเด็กไทยอายุ 9 - 18 ปีจำนวน 81% มีแท็บเล็ตหรือสมาร์ตโฟน เด็กจำนวน 85% ใช้โซเชียลมีเดียเป็นประจำทุกวันหรือเกือบทุกวัน และเด็ก 75% เล่นเกมทางอินเทอร์เน็ต

ผลการสำรวจสำคัญที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงทางอินเทอร์เน็ตอื่น ๆ ได้แก่

  • 54% ดูสื่อลามก
  • 36% เคยจีบกันทางออนไลน์
  • 26% เคยเปิดวิดีโอคอลทางเพศ
  • 26% ถูกรังแกทางออนไลน์
  • 12% ถูกล่อลวงทางออนไลน์ (กรูมมิ่ง)
  • 11% ถูกล่วงละเมิดทางเพศ
  • 11% เคยเข้าเว็บไซต์ที่ผิดกฎหมายหรือเป็นอันตราย
  • 7% เล่นการพนันออนไลน์

ดังนั้น การสอดส่องดูแลและสร้างความตระหนักรู้ด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ให้กับเด็ก ๆ ถือเป็นความรับผิดชอบอย่างสูงของผู้ปกครอง เพื่อส่งเสริมพฤติกรรมทางดิจิทัลที่ดีของบุตรหลานและดูแลเด็ก ๆ ให้ปลอดภัยจากภัยคุกคามออนไลน์

นางสาวเบญจมาศ จูฑาพิพัฒน์ ผู้จัดการประจำประเทศไทยของแคสเปอร์สกี้ กล่าวว่า “การวิจัยของแคสเปอร์สกี้นั้นชัดเจนว่าทุกคนมีความเสี่ยงต่อการหลอกลวงและภัยคุกคามออนไลน์ ผู้ก่อภัยคุกคามไม่สนใจว่าคุณจะอายุเท่าไร หรือเป็นใครมาจากไหน ทุกคนคือเหยื่อในเกม วิธีเดียวที่จะหยุดยั้งการตกเป็นเหยื่อภัยออนไลน์ได้คือ การให้ความรู้การศึกษาที่ดีขึ้นที่มากยิ่งขึ้น เพื่อให้คนทุกวัยรู้จักสังเกตและหลีกเลี่ยงกลโกงการหลอกลวงที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันได้”

แคสเปอร์สกี้ขอแนะนำเคล็ดลับเพื่อสร้างความสงบสุขในครอบครัวช่วงปิดเทอม และช่วยให้เด็กๆ ลดการพึ่งพาหน้าจอสมาร์ตโฟนเพื่อความบันเทิงและลดความเสี่ยงออนไลน์ ดังนี้

  1. กำหนดขีดจำกัด – สร้างกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนเกี่ยวกับการใช้เวลาอยู่หน้าจอและปฏิบัติตามกฎเหล่านั้น เช่น จำกัดเวลาไว้สองถึงสามชั่วโมงต่อวัน
  1. ส่งเสริมกิจกรรมทางเลือก – แนะนำให้เด็ก ๆ รู้จักกับกิจกรรมออฟไลน์อื่น ๆ มากมายที่สามารถสร้างความสนุกสนานเพลิดเพลินได้ ส่งเสริมงานอดิเรก เช่น อ่านหนังสือ วาดรูป เล่นเครื่องดนตรี หรือทำกิจกรรมออกกำลังกาย เช่น กีฬาหรือเกมกลางแจ้ง
  1. ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง – แสดงให้บุตรหลานเห็นว่า ผู้ปกครองก็ยินดีที่จะแยกตัวออกจากหน้าจอเช่นกัน สร้างเวลาคุณภาพร่วมกันในครอบครัวโดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ใดๆ เช่น เล่นเกม หรือไปเที่ยวสวนสาธารณะ
  1. สร้างโซนปลอดเทคโนโลยี - กำหนดให้บางพื้นที่ในบ้านของคุณ เช่น ห้องนอนหรือห้องรับประทานอาหาร เป็นโซนปลอดเทคโนโลยี ซึ่งจะช่วยสร้างขอบเขตที่ดีและส่งเสริมการสื่อสารระหว่างกันในครอบครัว
  1. จัดหาทางเลือกอื่นเพิ่มเติม – เสนอแหล่งความบันเทิงทางเลือกอื่น ๆ เช่น เกมกระดาน เกมปริศนา อุปกรณ์ศิลปะและงานฝีมือ หรือหนังสือที่สอดคล้องกับความสนใจของบุตรหลานของคุณ
  1. มีส่วนร่วมในกิจกรรมร่วมกัน – การเข้าร่วมกิจกรรมที่ลูกชื่นชอบจะช่วยกระชับความสัมพันธ์ในครอบครัว และเปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ได้สัมผัสกับความสุขที่ไม่ใช่ดิจิทัล
  1. ส่งเสริมการเล่นกลางแจ้ง - ส่งเสริมให้บุตรหลานใช้เวลานอกบ้าน เช่น ขี่จักรยาน เล่นในสวนสาธารณะ หรือร่วมทีมแข่งขันกีฬา

ทั้งนี้โปรดจำไว้ว่า สิ่งสำคัญคือการสื่อสารกับบุตรหลานถึงเหตุผลในการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เหล่านี้ และให้เด็กๆ ได้มีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจ ผู้ปกครองควรอดทนและให้กำลังใจเด็กๆ ในการเปลี่ยนแปลงนี้

“ตอนนี้เราอยู่ในสังคมที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล เด็ก ๆ คืออนาคตของเรา และยังมีอีกหลายสิ่งที่ผู้ใหญ่ต้องทำทั้งที่โรงเรียนและที่บ้าน เพื่อสอนเด็กๆ ถึงวิธีการออนไลน์อย่างปลอดภัย ถึงแม้ว่าเด็กๆ มักจะเชื่อว่าตนนั้นมีความรู้และทักษะเพียงพอในการป้องกันตัวเอง แต่แท้จริงแล้ว เด็กและเยาวชนก็ยังคงตกเป็นเหยื่อของกลโกงฟิชชิงที่ง่ายที่สุด และเนื่องจากข้อมูลของผู้ใช้ในโลกออนไลน์มีมากขึ้น ภัยคุกคามจึงมีความซับซ้อนมากขึ้นเช่นกัน” นางสาวเบญจมาศกล่าวเสริม

ท่านสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องป้องกันตนเองทางออนไลน์ทั้งเด็กและผู้ใหญ่จากภัยคุกคามความปลอดภัยทางไซเบอร์ โปรดเข้าเว็บไซต์ Kaspersky Safe Kids

รายงานฉบับเต็มของแคสเปอร์สกี้เรื่อง Overconfident and over exposed: Are Children Safe Online? โปรดเข้าที่ลิงก์นี้

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.