ฟิลิปส์เดินหน้ารณรงค์ให้คนไทยรู้ทันภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน ภัยเงียบที่ไม่ควรมองข้าม เนื่องในวันหัวใจ
วันที่ 29 กันยายน ของทุกปีเป็นวันหัวใจโลกหรือ World Heart Day ได้ถูกตั้งขึ้น เพื่อให้ทุกคนตระหนักรู้และให้ความสำคัญกับโรคหัวใจและหลอดเลือด และเพื่อรณรงค์ให้ประชาชนให้มีความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับอาการ การดูแลรักษา การป้องกันและการรับมือหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดจากภาวะทางโรคหัวใจและหลอดเลือด ถึงแม้คำว่าโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นคำที่คนทั่วไปคุ้นชิน อย่างไรก็ตามจำนวนผู้ป่วยโรคหัวใจในแต่ละปีกลับเพิ่มสูงขึ้น และเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของประชากรทั่วโลกถึง 17 ล้านคนต่อปี และ 40-50% ของจำนวนผู้ที่เสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจมีสาเหตุมาจากหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ดังนั้นภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันจึงถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญด้านสาธารณสุขของหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย
ในฐานะผู้นำด้านเทคโนโลยีเพื่อการดูแลสุขภาพ ฟิลิปส์ตระหนักถึงความสำคัญของอันตรายจากภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน และมีความมุ่งมั่นในการเดินหน้ารณรงค์ถึงอันตรายจากโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงการให้ความรู้ด้านการช่วยชีวิตเบื้องต้นในผู้ป่วยที่เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Arrest: SCA) ที่อาจเกิดขึ้นนอกโรงพยาบาล เพราะสถิติแสดงให้เห็นว่าในหนึ่งวันมีผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากสาเหตุภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันกว่า 1,000 คนต่อวัน
โดยสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย เมื่อภาวะดังกล่าวไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ประชาชนทั่วไปควรมีความรู้พื้นฐานในการช่วยชีวิต เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการลดอัตราการเสียชีวิตด้วยภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน
ความแตกต่างระหว่างภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (SCA) และภาวะหัวใจกำเริบเฉียบพลัน(Heart Attack)
หนึ่งในความเข้าใจผิดเกี่ยวกับภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันของคนทั่วไปคือ ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Arrest : SCA) คือภาวะเดียวกันกับภาวะหัวใจกำเริบเฉียบพลัน หรือ Heart Attack เมื่อหัวใจมีหน้าที่สูบฉีดเลือดเพื่อไปเลี้ยงอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกายให้สามารถทำงานได้ปกติ หัวใจจะทำงานด้วยจังหวะการเต้นอย่างต่อเนื่องตลอดเวลาโดยเฉลี่ย 36-42 ล้านครั้งต่อปี โดยภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน คือภาวะที่หัวใจหยุดทำงานอย่างกระทันหันด้วยความผิดปกติของระบบไฟฟ้าในหัวใจ ทำให้หัวใจห้องล่างมีการเต้นผิดจังหวะอย่างรุนแรงหรือที่เรียกว่าหัวใจห้องล่างเต้นพลิ้ว (Ventricular Fibrillation: VF) ซึ่งจะเกิดขึ้นในทันทีโดยไม่มีสัญญาณของอาการอื่น ๆ เกิดขึ้นล่วงหน้า และเมื่อเกิดภาวะนี้ขึ้นจะทำให้ไม่มีการไหลเวียนเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายจนการทำงานของอวัยวะผิดปกติ โดยเฉพาะเมื่อเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอพอ จะทำให้คนไข้มีอาการหมดสติภายในไม่กี่วินาทีและอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ จึงจำเป็นต้องได้รับการช่วยชีวิตด้วยการ CPR และใช้เครื่อง AED อย่างทันท่วงทีโดยภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันสามารถพบได้ในทุกช่วงอายุ แต่สามารถพบบ่อยในผู้ใหญ่วัยกลางคนที่มีอายุระหว่าง 30-40 ปี และมีสถิติการเกิดภาวะดังกล่าวในเพศชายมากกว่าเพศหญิง 2 เท่า
ในขณะที่ภาวะหัวใจกำเริบเฉียบพลัน (Heart Attack) คือภาวะที่หัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ซึ่งจะมีสัญญาณเตือนล่วงหน้าที่สามารถสังเหตุได้เช่น อาการเจ็บหน้าอก เหงื่อออกเยอะ ใจสั่น หายใจสั่นและรู้สึกหายใจไม่อิ่ม อย่างไรก็ตามทั้ง 2 ภาวะมีความเกี่ยวเนื่องกัน เพราะการเกิดภาวะหัวใจกำเริบเฉียบพลันอาจนำไปสู่การเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันได้ ทำให้ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันคือสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นในผู้ป่วยโรคหัวใจ แต่ในขณะเดียวกันก็สามารถเกิดขึ้นกับผู้ที่ไม่ได้ป่วยโรคหัวใจมาก่อนได้ ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า คนไทยเสียชีวิตจากภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันเฉลี่ยปีละกว่า 54,000 คน หรือประมาณ 6 คนต่อหนึ่งชั่วโมง
สาเหตุการเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน
ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ อาทิ ความผิดปกติของหัวใจโดยกำเนิด หรือในผู้ป่วยที่มีอายุน้อยกว่า 35 ปี อาจเกิดจากโรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาชนิดไม่ทราบสาเหตุหรือภาวะเส้นเลือดหัวใจขาดเลือดในคนอายุน้อย และผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป ความเสี่ยงของภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันอาจเกิดขึ้นจาก โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูงหรือการสูบบุหรี่จัด
นอกจากนี้ยังสามารถพบได้ในกรณีฉุกเฉินเช่น อุบัติเหตุ การออกกำลังกายหนักเกินไป การตกใจหรือพบเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ที่ทำให้หัวใจเกิดการทำงานผิดปกติ ทางเดินหายใจอุดกั้น รวมทั้งอาจเกิดจากการได้รับยาเกินขนาดหรือแพ้ยา จะเห็นได้ว่าภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันนี้สามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลา และกับทุกคน
AED ตัวช่วยสำคัญในการช่วยชีวิตผู้ป่วยภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน
ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันนั้นเมื่อเกิดขึ้นแล้วจำเป็นต้องเริ่มการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานด้วยการนวดหัวใจหรือหากบริเวณนั้นมีเครื่อง Automated External Defibrillator หรือ AED ให้รีบนำเครื่องมาใช้ในทันที เพราะอ้างอิงจากสถิติของสมาคมโรคหัวใจแห่งอเมริกาพบว่า 90% ของผู้ป่วยภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันนอกโรงพยาบาล (Out-of-Hospital Cardiac Arrest: OHCA) มักเสียชีวิตในทันที ดังนั้นจะสังเกตได้ว่าตามสถานที่ต่าง ๆ จึงมีการติดตั้งเครื่อง AED ทั้งในสนามบิน โรงเรียน สนามกีฬา สถานีรถไฟฟ้าหรือแม้แต่ห้างสรรพสินค้าก็ตาม เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที
ห่วงโซ่แห่งการรอดชีวิตของผู้ป่วยภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน
สมาคมโรคหัวใจแห่งอเมริกา ได้กำหนดห่วงโซ่แห่งการรอดชีวิต (Chain of Survival) เพื่อเป็นแนวทางในการช่วยเหลือผู้ป่วยภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันนอกโรงพยาบาลไว้ 6 ขั้นตอน ดังนี้
- ประเมินสถานการณ์และแจ้งหน่วยแพทย์ฉุกเฉินให้เร็วที่สุด (Activation of Emergency Response) หากพบผู้ป่วยหมดสติ หัวใจหยุดเต้น โทรแจ้งที่เบอร์ 1669 และทำการแจ้งอาการเบื้องต้นที่สังเกตได้ ณ ตอนนั้น โดยหากเป็นไปได้ควรระบุเพศและอายุโดยคร่าวๆ ของผู้ป่วยให้ผู้ประเมินสถานการณ์ทราบ
- ทำการนวดหัวใจที่มีคุณภาพทันท่วงที (High Quality CPR) โดยความสำคัญของการทำ CPR อยู่ที่การนวดหัวใจที่ต้องทำให้ถูกต้องและทันเวลา เพราะหากสมองขาดออกซิเจนไปเกิน 4 นาที สมองอาจเสียหายได้ จากสถิติของสมาคมโรคหัวใจแห่งอเมริกาพบว่าการทำ CPR อย่างถูกวิธีสามารถช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิต (Survival Rate) ได้ถึง 3 เท่า โดยเริ่มต้นจากการกระตุ้นด้วยการเรียกผู้ป่วยว่าผู้ป่วยรู้สึกตัวหรือมีการตอบสนองหรือไม่ หากผู้ให้การช่วยเหลือรู้วิธีการคลำชีพจรให้คลำชีพจรเพื่อตรวจสอบ และหากไม่พบชีพจรให้เริ่มทำการกดหน้าอกผู้ป่วยบริเวณตรงกลางซึ่งเป็นตำแหน่งที่อยู่ของกระดูกหน้าอก โดยบริเวณนี้จะมีความปลอดภัยเนื่องจากมีกระดูกรองรับอยู่ โดยให้กดที่ตำแหน่งครึ่งล่างของกระดูกหน้าอก ใช้สันมือหนึ่งข้างในการกดพร้อมกับใช้มืออีกข้างหนึ่งล็อคมือที่ใช้กดหน้าอกไว้ กดหน้าอกให้ลึกลงไปประมาณ 2 นิ้ว และควรระวังไม่ให้ลึกเกิน 4 นิ้ว ซึ่งปกติแรงกดของคนทั่วไปมักไม่เป็นอันตราย จึงควรพยายามกดให้แรงเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการกระตุ้นหัวใจ โดยใช้ความเร็วในการกดหน้าอกที่ 100-120 ครั้งต่อนาที
- ใช้เครื่องคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้า (Defibrillation) ด้วยการช็อกด้วยกระแสไฟฟ้า (Electrical Shock) จากเครื่องมือที่เรียกว่า Defibrillator ซึ่งเมื่อเหตุนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในโรงพยาบาลสามารถใช้เครื่อง AED ที่สามารถใช้งานโดยคนทั่วไประหว่างรอให้หน่วยกู้ชีพฉุกเฉินจะเดินทางมาถึง
- ได้รับบริการการแพทย์ฉุกเฉินขั้นสูง (Advanced Resuscitation)
- การดูแลหลังภาวะหัวใจหยุดเต้น (Post-Cardiac Arrest Care)
- การดูแลพักฟื้นและติดตามอาการ (Recovery)
ความสำคัญของเครื่อง AED ต่อผู้ป่วยภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน
จาก 6 ขั้นตอนห่วงโซ่แห่งการรอดชีวิต (Chain of Survival) จะเห็นได้ว่าในการช่วยชีวิตผู้ป่วยภาวะหัวใจหยุดเต้นในขั้นเบื้องต้นจำเป็นต้องใช้เครื่อง AED ร่วมกับการทำ CPR เนื่องจากผู้ป่วยภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันกว่าร้อยละ 50 เกิดจากภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะในลักษณะของหัวใจห้องล่างเต้นพลิ้วจากระบบไฟฟ้าในหัวใจผิดปกติ หากเกิดภาวะนี้จำเป็นต้องใช้เครื่อง AED เพื่อคืนคลื่นหัวใจด้วยคลื่นไฟฟ้าถ้าไม่มีอุปกรณ์ดังกล่าวอาจส่งผลอันตรายถึงชีวิตจึงถือได้ว่าเป็นอุปกรณ์ที่มีความสำคัญในการช่วยชีวิตเป็นอย่างมาก โดยเครื่อง AED สามารถใช้ได้กับผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นเท่านั้น โดยข้อมูลสถิติจากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติระบุว่า การใช้เครื่อง AED ร่วมกับการทำ CPR ภายใน 3-5 นาที จะช่วยเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตได้ถึง 45%
วิธีการใช้เครื่อง AED เบื้องต้น
เครื่อง AED เป็นเครื่องที่ถูกออกแบบมาให้มีระบบการทำงานที่ไม่ซับซ้อนเพื่อทำให้บุคคลทั่วไปที่ไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์สามารถใช้ได้เมื่อจำเป็นต้องให้การช่วยเหลือผู้ป่วยภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน โดยกดเปิดเครื่องและฟังตามคำแนะนำของเครื่องในแต่ละขั้นตอน เริ่มจากถอดเสื้อผู้ป่วย นำแผ่นแพด (Pad) ในเครื่องติดบริเวณหน้าอกผู้ป่วยตามตำแหน่งที่แนะนำในเครื่องโดยติดให้แนบสนิท โดยต้องแน่ใจว่าหน้าอกผู้ป่วยแห้ง ไม่เปียกน้ำหลังจากนั้นเครื่อง AED จะทำการประเมินจังหวะการเต้นของหัวใจ เพื่อตรวจสอบว่าจำเป็นต้องทำการช็อตหัวใจหรือไม่ หากต้องทำการช็อตเครื่องจะสั่งการให้ผู้ช่วยเหลือทำการกดปุ่มช็อตหัวใจ ซึ่งระหว่างกดปุ่มช็อตห้ามโดนตัวผู้ป่วยเด็ดขาด อย่างไรก็ตามเพื่อให้สามารถทำตามขั้นตอนได้อย่างถูกต้องเมื่อเจอเหตุการณ์ไม่คาดฝันคณะกรรมการมาตราฐานการช่วยชีวิต (Thai Resuscitation Council) ได้เปิดการอบรมหลักสูตรการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานสำหรับประชาชนทั่วไป สำหรับผู้ที่สนใจสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://thaicpr.org/?mod=course
เนื่องในโอกาสวันหัวใจโลก 2023 นี้ ฟิลิปส์ มุ่งมั่นในการให้ความรู้และรณรงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้กับสังคมไทย ถึงอันตรายจากภาวะต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากความผิดปกติของหัวใจและหลอดเลือด เพราะถึงแม้ว่าในปัจจุบันเครื่อง AED จะมีการติดตั้งในที่สาธารณะเพิ่มมากขึ้น แต่จำนวนของเครื่อง AED ที่สามารถเข้าถึงได้นั้นยังคงมีไม่เพียงพอ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ควรได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการติดตั้งเครื่อง AED โดยกรมสุขภาพจิตเผยว่าเมื่อมีผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันหรือหัวใจล้มเหลวเครื่อง AED สามารถช่วยกระตุ้นหัวใจให้กลับมาเต้นปกติได้ถึง 70% ในทางกลับกันหากไม่มีเครื่อง AED อัตราการฟื้นกลับมาของผู้ป่วยจะเหลือเพียง 50% เท่านั้น ซึ่งภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันนั้นเป็นอาการหัวใจหยุดเต้นที่จำเป็นต้องใช้เครื่องกระตุ้นหัวใจไฟฟ้าให้กลับมาเต้นอีกครั้ง
นอกจากนี้อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ควรได้รับความสนใจจากประชาชนทั่วไปมากขึ้นคือการเข้ารับการฝึกอบรมการทำ CPR และวิธีการใช้เครื่อง AED อย่างถูกต้อง โดยอ้างอิงจากผลสำรวจ YouGov ของประชากรในประเทศไทยกว่า 2,000 คน พบว่า 39% ของผู้ตอบแบบสำรวจทั้งหมดไม่ทราบวิธีการกู้ชีพขั้นพื้นฐานที่ถูกต้อง ในขณะที่ 2 ใน 3 ของผู้ตอบแบบสำรวจไม่ทราบวิธีการใช้เครื่อง AED ที่ถูกต้อง และ 54% ระบุว่า ไม่เคยพบเห็นเครื่อง AED ในพื้นที่สาธารณะ
ดังนั้นหากมีการติดตั้งเครื่อง AED ในที่สาธารณะและประชาชนมีความสนใจเข้ารับการอบรมการทำ CPR และการใช้เครื่อง AED เพิ่มมากขึ้นจะสามารถช่วยลดอัตราเสี่ยงการเสียชีวิตของผู้ป่วยภาวะหัวใจหยุดเต้นฉับพลันให้ลดลงได้
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.