พร้อมขึ้นสู่อวกาศแล้ว! THEOS-2 ดาวเทียมสำรวจฝีมือคนไทยดวงแรก

อีกไม่กี่วันนับจากนี้ ประเทศไทยกำลังจะส่งดาวเทียมดวงใหม่ THEOS-2 ขึ้นไปโคจรรอบโลก เพื่อสานต่อภารกิจของดาวเทียมไทยโชต (Thaichote) หรือดาวเทียมธีออส-1 (THEOS-1) ดาวเทียมสำรวจทรัพยากรดวงแรกของไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งดำเนินการโดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ทะยานขึ้นสู่อวกาศไปเมื่อในวันที่ 1 ตุลาคม 2551 และกำลังจะหมดอายุการใช้งาน หลังจากอยู่บนวงโคจรของโลกมานานถึง 15 ปี

ข้อมูลจากเพจไทยคู่ฟ้า เฟซบุ๊กแฟนเพจช่องทางการสื่อสารของรัฐบาลไทย เผยว่าปัจจุบัน “ดาวเทียม THEOS-2” จะเป็นดาวเทียมดวงหลักที่ขึ้นสู่อวกาศเพื่อปฏิบัติภารกิจสำรวจโลก ในเวลานี้ได้สร้างและทดสอบระบบเสร็จสิ้น และ THEOS-2 ได้ถูกขนส่งจากบริษัท Airbus Defence and Space เมืองตูลูส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ถึงท่าอวกาศยานยุโรป เฟรนช์เกียนา ในทวีปอเมริกาใต้แล้ว เตรียมเข้าสู่ขั้นตอนการตรวจสอบในทุกขั้นตอน และประกอบดาวเทียมเข้ากับส่วนหัวของจรวด Rocket Fairing เพื่อส่งขึ้นสู่อวกาศในเดือนตุลาคม 2566

ครงการดาวเทียมธีออส-2 (THEOS-2)

THEOS-2 (Thailand Earth Observation Satellite 2) เป็นดาวเทียมสำรวจโลกดวงแรกของประเทศไทยในระดับ Industrial Grade ที่ได้พัฒนาร่วมกับบริษัท แอร์บัส ดีเฟน แอนด์ สเปซ (Airbus Defence and Space SAS) ในเครือแอร์บัสกรุ๊ป (Airbus Group) ประเทศฝรั่งเศส ที่มีมูลค่าโครงการกว่า 6.9 พันล้านบาท ซึ่งตัวโครงการจะมีดาวเทียม 2 ดวง คือ ดาวเทียมธีออส-2 (THEOS-2) และดาวเทียมธีออส-2เอ (THEOS-2A) โดย THEOS-2 จะเน้นเรื่องของประสิทธิภาพและคุณภาพของการถ่ายภาพของดาวเทียม ส่วน THEOS-2A เน้นการสร้างคน และการสร้างเทคโนโลยีในประเทศไทย

ปัจจุบัน ตัว THEOS-2 ประกอบและทดสอบเสร็จสิ้นแล้ว โดยถูกส่งไปเก็บไว้ภายใต้สภาวะควบคุมสภาพแวดล้อม ณ ท่าอวกาศยานยุโรป เฟรนช์เกียนา ในทวีปอเมริกาใต้ และเตรียมส่งขึ้นสู่อวกาศในวันที่ 19 กันยายน 2566 เวลา 20.00 น. ซึ่งจะตรงกับเวลาในประเทศไทย คือวันที่ 20 กันยายน เวลา 08.00 น.

ส่วนดาวเทียม THEOS-2A เป็นผลงานออกแบบโดยวิศวกรดาวเทียมคนไทย 22 คน ที่ได้ไปฝึกฝน เรียนรู้ และลงมือปฏิบัติจริงอย่างเข้มข้นร่วมกับ Surrey Satellite Technology หรือ SSTL ในสหราชอาณาจักร องค์กรต่างประเทศที่มีความเชี่ยวชาญ ความชำนาญ และมีชื่อเสียงระดับโลกด้านเทคโนโลยีอวกาศ จนกลับมาต่อยอดให้กับบุคลากรในประเทศ ปัจจุบันประกอบและทดสอบแล้วเสร็จ ถูกเก็บไว้ภายใต้สภาวะควบคุมสภาพแวดล้อม ณ อาคารประกอบและทดสอบแห่งชาติ AIT อุทยานรังสรรค์นวัตกรรม (SKP) อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี คาดว่าจะนำส่งขึ้นสู่อวกาศในเดือนตุลาคม 2566 ณ ฐานปล่อยจรวดภายในศูนย์อวกาศสาธิต ธาวัน เมืองศรีหริโคตา ประเทศอินเดีย

ทั้งนี้ ดาวเทียมทั้ง 2 ดวงเป็นของประเทศไทย มีศูนย์กลางการควบคุมและรับสัญญาณดาวเทียม อยู่ที่ศรีราชา จ.ชลบุรี ซึ่งจะสามารถบันทึกภาพได้ครอบคลุมในหลายพื้นที่ทั่วโลก ถือว่าเป็นก้าวใหญ่ของประเทศไทยที่มีดาวเทียมที่มีรายละเอียดสูงมีประสิทธิภาพสูงสุดในภูมิภาคอาเซียน

การดำเนินงานของโครงการดาวเทียม THEOS-2 แบ่งเป็น 3 ส่วนใหญ่ ๆ คือ

  1. ดาวเทียมหลัก (THEOS-2) 1 ดวง และดาวเทียมเล็ก (THEOS-2A) 1 ดวง แล้วเสร็จเรียบร้อย โดยดาวเทียมหลัก (THEOS-2) หรือ Main Satellite มีขนาด 425 กิโลกรัม เป็นดาวเทียมที่สามารถบันทึกภาพรายละเอียดสูง 50 เซนติเมตร เป็นดาวเทียมปฏิบัติการ เพื่อการใช้งานด้านการติดตามพื้นที่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ งานด้านความมั่นคง และการบริหารจัดการเหตุการณ์ภัยพิบัติต่าง ๆ ในภาวะวิกฤติ ส่วนของดาวเทียมเล็ก (THEOS-2A) มีขนาด 100 กิโลกรัม เป็นดาวเทียมสำรวจทรัพยากรดวงแรกที่มีมาตรฐานในระดับ Industrial Grade ที่ออกแบบและพัฒนาโดยทีมวิศวกรดาวเทียมของไทย 22 คน
  2. ศูนย์ทดสอบและประกอบดาวเทียมแห่งชาติ (National Assembly Integration and Test: AIT) ตั้งอยู่ ณ อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ (Space Krenovation Park: SKP) อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เป็นศูนย์ที่มีอุปกรณ์เครื่องมือและห้องปฏิบัติการที่ทันสมัยได้มาตรฐานสากล เพื่อรองรับการพัฒนาชิ้นส่วนอุปกรณ์ สร้าง ประกอบ และทดสอบดาวเทียมตั้งแต่ CubeSat จนถึง SmallSat ในประเทศไทย และใช้ในการทดสอบดาวเทียม THEOS-2A ก่อนนำส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจร
  3. การพัฒนาแอปพลิเคชันภูมิสารสนเทศ เพื่อการใช้งานภูมิสารสนเทศขั้นสูงประกอบการตัดสินใจในระดับนโยบายให้กับรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เน้นการผสมผสานของโซลูชัน (Integrated Solutions) ใน 6 ด้านตามภารกิจสำคัญของประเทศ ได้แก่ ด้านเกษตรและความมั่งคงทางอาหาร ด้านการบริหารจัดการน้ำแบบองค์รวม ด้านการจัดการภัยพิบัติ ด้านทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศ ด้านการวางแผนพัฒนาเขตเมือง และด้านความมั่นคง ที่จะสามารถนำไปร่วมในการขับเคลื่อนและสร้างนโยบายในระดับชาติอย่างมีประสิทธิภาพ

คุณสมบัติของ THEOS-2

ข้อมูลจากเพจ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ระบุว่า THEOS-2 เป็นดาวเทียมที่มีรายละเอียดสูง มีน้ำหนัก 425 กิโลกรัม สามารถถ่ายภาพวัตถุที่มีขนาดใหญ่กว่า 50 เซนติเมตรขึ้นไป THEOS-2 ถูกออกแบบให้สามารถใช้งานในอวกาศขั้นต่ำประมาณ 10 ปี โดยวงโคจรของดาวเทียม THEOS-2 มีความสัมพันธ์กับดวงอาทิตย์กล่าวคือมีวงโคจรที่ทำมุมกับดวงอาทิตย์ได้ใกล้เคียงหรือเท่ากันตลอดเวลา

THEOS-2 จะโคจรอยู่สูงจากพื้นโลกประมาณ 621 กิโลเมตร ตำแหน่งการถ่ายภาพของดาวเทียม THEOS-2 จะวนกลับมาที่ตำแหน่งเดิมทุก ๆ 26 วัน แต่ผ่านประเทศไทยทุกวัน สามารถปรับเอียงเพื่อการถ่ายภาพได้ 45 องศา และเข้าถึงได้ทุกพื้นที่ทั่วโลก สำหรับความกว้างในการถ่ายภาพอยู่ที่ 10.3 กิโลเมตร สามารถถ่ายภาพและส่งข้อมูลกลับมายังสถานีภาคพื้นดินได้ไม่ต่ำกว่า 74,000 ตารางกิโลเมตรต่อวัน

ด้วยคุณสมบัติทางเทคนิคต่าง ๆ ของ THEOS-2 ทำให้ข้อมูลที่ได้รับจากดาวเทียมดวงนี้เป็นข้อมูลที่มีคุณภาพสูงและมีข้อมูลที่ทันสมัย (near real-time) สามารถใช้ได้ดีในงานที่ต้องการข้อมูลเชิงพื้นที่หรือแผนที่ที่ความละเอียดสูง งานด้านการจัดการทางการเกษตร การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม งานความมั่นคง การบริหารจัดการที่ดิน การดูการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่การบริหารจัดการน้ำ และอื่น ๆ อีกมากมาย

ส่วน THEOS-2A เป็นดาวเทียมที่มีน้ำหนัก 100 กิโลกรัม และสามารถบันทึกภาพที่มีรายละเอียดประมาณ 1 เมตร ต่อ pixel โคจรรอบโลกวันละ 13-14 รอบ และผ่านประเทศไทย 3-4 รอบต่อวัน ซึ่งดาวเทียมดวงนี้ เป็นดวงที่ทีมผู้เชี่ยวชาญจาก SSTL วิศวกรดาวเทียมคนไทยได้มีโอกาสพัฒนา payload ที่ 3 เองทั้งหมด ควบคู่กับการพัฒนาดาวเทียม ตั้งแต่การเขียนแบบร่าง ออกแบบ พัฒนา และทดสอบ รวมถึงประกอบเข้ากับตัวดาวเทียม THEOS-2A จึงเป็นดาวเทียมสำรวจโลกดวงแรกของไทยที่ทีมวิศวกรดาวเทียมไทยมีส่วนสำคัญในการออกแบบ พัฒนา และมีมาตรฐานระดับ Industrial Grade

สำหรับ payload ที่ 3 ที่ว่าไปก่อนหน้า ก็คือ “ระบบเซนเซอร์และกล้องถ่ายภาพ” ประกอบด้วย กล้องถ่ายภาพโลก กล้องถ่ายภาพดาวเทียม อุปกรณ์วัดสนามแม่เหล็กโลก อุปกรณ์วัดการเคลื่อนไหว อุปกรณ์วัดความเข้มของแสงอาทิตย์ และอุปกรณ์จีพีเอส โดยเน้นการสาธิตระบบการทำงานของอุปกรณ์ที่เป็น commercial off the shelf ที่มีราคาเหมาะสมและคุ้มค่า เพื่อนำไปต่อยอดในการพัฒนาดาวเทียมในอนาคต ดังนั้น ผู้ประกอบการในไทยจึงมีส่วนร่วมที่สำคัญมาก ๆ กับการผลิตชิ้นส่วนสำหรับดาวเทียม THEOS-2A ดวงนี้ ซึ่งถือเป็นการส่งเสริม เพิ่มศักยภาพ ยกระดับขีดความสามารถเพื่อเข้าสู่ Space Value Chain และแข่งขันได้ในระดับสากล

เราได้อะไรโครงการดาวเทียมธีออส-2 (THEOS-2)

THEOS-2 เป็นดาวเทียมปฏิบัติการ เพื่อใช้งานติดตามสถานการณ์เชิงพื้นที่ทั้งในและต่างประเทศ ช่วยพัฒนาและยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ 4 ส่วนหลัก ได้แก่ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีอวกาศ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศ และการพัฒนาบริการด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ รวมถึงยกระดับการให้บริการด้านภูมิสารสนเทศ 6 ด้าน ดังนี้

1. ด้านการเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร

เพื่อสนับสนุนการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรที่ครอบคลุมพืชเศรษฐกิจหลัก ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ตลอดจนการคาดการณ์ผลผลิตล่วงหน้าที่มีประสิทธิภาพ จะเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้แก่ครอบครัวเกษตรกร และคุณภาพชีวิตของประชาชน

2. ด้านการจัดการภัยพิบัติ

เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกัน แจ้งเตือน อพยพ และบรรเทาผลกระทบที่เกิดจากภัยธรรมชาติ เพื่อให้ประชาชนมีความปลอดภัยสูงขึ้นและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

3. ด้านการจัดการเมือง

เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของชาติ อาทิ โครงการเครือข่ายรถไฟความเร็วสูง การเชื่อมโยงเขตอุตสาหกรรมเดิมเข้ากับโครงสร้างพื้นฐาน โครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคของเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจสำหรับ 10 กลุ่มอุตสาหกรรมอนาคต เป็นต้น ซึ่งจะเป็นการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงระบบบริการสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสาธารณสุข การศึกษา การเดินทาง แหล่งทรัพยากรน้ำ

4. ด้านการบริหารจัดการน้ำแบบองค์รวม

เพื่อบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค การจัดการน้ำทุ่งเพื่อสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้แก่ครอบครัวเกษตรกร และการจัดการน้ำภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดี ลดมลพิษและผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและระบบนิเวศ

5. ด้านทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศ

เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าไม้รวมไปถึงเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันการบุกรุกป่า เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการป่าชุมชนบนฐานความสมดุลของการอยู่ร่วมกันระหว่างป่าและชุมชน การจัดการมลพิษทางทะเลและการกัดเซาะชายฝั่ง

6. ด้านความปลอดภัยทางสังคมและความมั่นคงของชาติ

เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเฝ้าระวังพื้นที่ยุทธศาสตร์และบริเวณชายแดนของประเทศ รวมไปถึงพื้นที่ทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อการบริหารจัดการความมั่นคงชายแดนและชายฝั่งทะเล และรักษาความมั่นคงของฐานทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเล

นอกจากนี้ THEOS-2 ยังเป็นก้าวสำคัญในการขยายโอกาสจากโครงการไปสู่การพัฒนาบุคลากรในวงการ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของอุตสาหกรรม เสริมสร้างให้คนในประเทศมีองค์ความรู้ ต่อยอดจากรุ่นสู่รุ่นผ่านโครงการอบรม พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ยกระดับอุตสาหกรรม เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการในประเทศเป็นส่วนหนึ่งของการผลิตดาวเทียม เพื่อให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาและสร้างดาวเทียมได้เองในประเทศ ทั้งหมดนี้ต่อยอดไปสู่การพัฒนาทั้งระบบนิเวศของอุตสาหกรรม นับเป็นก้าวสำคัญของวงการเทคโนโลยีอวกาศไทย

ซึ่งการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมอวกาศ (Space Industry) เป็น 1 ใน 10 New S-Curve หรืออุตสาหกรรมใหม่แห่งอนาคตของประเทศไทย ที่รัฐบาลส่งเสริมและสนับสนุนอย่างเต็มที่เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ส่งผลต่อการกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างการกระจายรายได้ และสร้างความมั่นคงทางสังคม

ทั้งนี้ นอกจากการขับเคลื่อนโครงการดาวเทียม THEOS-2 แล้ว รัฐบาลยังได้มีการดำเนินงานในภารกิจสำคัญอื่น เช่น การจัดทำร่างพระราชบัญญัติกิจการอวกาศเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านเทคโนโลยีอวกาศและดำเนินกิจกรรมอวกาศระหว่างประเทศ และการส่งเสริมการลงทุนด้านอุตสาหกรรมการบินและอวกาศในพื้นที่ EEC อีกด้วย

แผนสร้าง THEOS-3 กำลังมา

THEOS-3 เป็นโครงการล่าสุดของวงการอวกาศไทย ที่ได้เริ่มดำเนินการขึ้นแล้วในปี 2023 นี้ โดยเป็นนวัตกรรมขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจอวกาศใหม่ (New Space Ecosystems) ก้าวใหม่ในอุตสาหกรรมการบินและอวกาศไทย ต่อเนื่องมาจากการที่เรามีวิศวกรดาวเทียมของไทยจำนวน 22 คน ที่ถูกส่งไปฝึกฝน เรียนรู้ และลงมือปฏิบัติจริงอย่างเข้มข้นที่สหราชอาณาจักร หรือก็คือการพัฒนากำลังคนเพื่อรองรับการเติบโตของกิจการด้านอวกาศ ภายใต้โครงการ THEOS-2 นั่นเอง THEOS-3 จึงเป็นหมุดหมายครั้งใหม่ของไทยในการเดินหน้าสู่ความท้าทายในการสร้างดาวเทียมดวงใหม่ด้วยฝีมือคนไทย 100 เปอร์เซ็นต์

โดยหลังจากที่สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ได้จัดสัมมนา “การสร้างความต่อเนื่องการพัฒนาระบบนิเวศเศรษฐกิจอวกาศจากดาวเทียม THEOS-3” ก็ได้ข้อมูลของดาวเทียม THEOS-3 ที่มีแผนเตรียมสร้างว่าต้องการให้เป็นดาวเทียมสำรวจข้อมูลด้านไหน ข้อสรุปเป็นไปในทิศทางเดียวกันว่าต้องการข้อมูลด้านการเกษตร เช่น ความชื้นในดิน คาร์บอนเครดิต ทรัพยากรธรรมชาติ น้ำ เป็นต้น

แผนการคร่าว ๆ ก็คือดาวเทียมสำรวจโลก THEOS-3 จะเป็นดาวเทียม Micro satellite ขนาดประมาณ 120 กิโลกรัม วงโคจรแบบ Sun-synchronous และมีแผนจะนำขึ้นสู่อวกาศภายในปี 2569-2570 โดย THEOS-3 จะเป็นการต่อยอดประสบการณ์ความรู้จากการออกแบบดาวเทียม THEOS-2A ภายใต้โครงการ THEOS-2 ที่ไทยเราได้พัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับการเติบโตของกิจการด้านอวกาศภายใต้โครงการ THEOS-2 มาแล้ว โดยการสร้างดาวเทียม THEOS-3 จึงเป็นการให้ความสำคัญกับการสร้างเทคโนโลยีเองในประเทศ ลดการพึ่งพาจากต่างประเทศ

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.