ญี่ปุ่นผุด ‘หน้าต่างแปลภาษา’ ช่วยต่างชาติไม่หลงทางในโตเกียว

ญี่ปุ่นที่เป็นเจ้าแห่งเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมือนหลุดมาจากการ์ตูนยอดนิยมของวัยเด็กหลายคนอย่างโดราเอมอน แนวคิดล่าสุด คือ หน้าต่างแปลภาษาอัตโนมัติ ที่จะช่วยอาสาแก้ปัญหาหลงทางและคลายอุปสรรคในการสื่อสารระหว่างชาวญี่ปุ่นและนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ไม่มากก็น้อย

ในขณะที่การท่องเที่ยวของญี่ปุ่นกำลังฟื้นตัวหลังจากการเกิดโรคระบาดใหญ่ บริษัทเซบุ เรลเวย์ (Seibu Railway) ของญี่ปุ่นก็กำลังทดสอบหน้าต่างแปลภาษาอัตโนมัติเพื่อช่วยนำทางชาวต่างชาติที่ไม่รู้ทิศทางในการเดินทางจากศูนย์กลางการคมนาคมที่ซับซ้อนที่สุดแห่งหนึ่งของกรุงโตเกียว

หน้าต่างแปลภาษาอัตโนมัติ หรือ “VoiceBiz” ซึ่งได้รับการพัฒนาขึ้นโดยบริษัทการพิมพ์ Toppan นี้ ช่วยให้ผู้โดยสารสามารถพูดคุยกับผู้ดูแลสถานีผ่านไมโครโฟนได้ โดยคำพูดเหล่านั้นจะปรากฏขึ้นบนหน้าต่างช่องจำหน่ายตั๋วซึ่งเป็นหน้าจอกึ่งโปร่งใสเป็นภาษาญี่ปุ่นและภาษาอื่น ๆ อีก 11 ภาษา

เมื่อเดือนมิถุนายน มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเยือนญี่ปุ่นมากกว่า 2 ล้านคน ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่มากที่สุดนับตั้งแต่เกิดโรคระบาดใหญ่ในปี 2019

นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวจากสหรัฐฯ และยุโรปที่เดินทางมาที่ญี่ปุ่นยังมีจำนวนมากกว่าตอนก่อนการเกิดโรคระบาดใหญ่ เนื่องจากค่าเงินเยนที่อ่อนค่า ลงทำให้ค่าใช้จ่ายในการเดินทางถูกที่สุดในรอบหลายทศวรรษ

เควิน คานิ (Kevin Khani) หนึ่งในนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่หลงทางอยู่ที่สถานีรถไฟ เซบุ-ชินจูกุ เมื่อไม่นานมานี้ พบว่าหน้าต่างแปลภาษา VoiceBiz สามารถช่วยเขาได้มากเลยทีเดียว

ชายหนุ่มชาวเยอรมันวัย 30 ปีที่ทำงานที่อาลีบาบาผู้นี้กล่าวว่า VoiceBiz สามารถแปลภาษาได้อย่างถูกต้อง และว่า "มันอาจจะฟังดูแปลก ๆ สักหน่อย แต่คุณจะรู้สึกปลอดภัยทันทีเพราะสามารถมองเห็นเจ้าหน้าที่อยู่ที่อีกฝั่งหนึ่งผ่านกระจกใส ดังนั้น ให้ค่อย ๆ อธิบาย แล้วเจ้าหน้าที่ก็จะเข้าใจในสิ่งที่คุณต้องการ"

บริษัทเซบุ เรลเวย์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มบริษัทเซบุ โฮลดิงส์ (Seibu Holdings) ได้ติดตั้งหน้าต่างแปลภาษาที่สถานีรถไฟเซบุ-ชินจูกุ ซึ่งเป็นสถานีปลายทางของสายรถไฟสายหนึ่งในใจกลางกรุงโตเกียวในเดือนกรกฎาคม เพื่อทดลองใช้เป็นเวลา 3 เดือนก่อนที่จะพิจารณาขยายการใช้งานในวงกว้างขึ้น

ที่สถานีรถไฟเซบุ-ชินจูกุนี้ มีผู้โดยสารใช้เดินทางประมาณวันละ 135,000 คน ซึ่งรวมถึงชาวต่างชาติจำนวนมากที่เดินทางระหว่างจุดท่องเที่ยวยอดนิยม เช่น สวนสนุกแฮรี่ พอตเตอร์แห่งใหม่ของกรุงโตเกียว

อิซซาเบล และมาร์ค ริโกว (Isabelle and Marc Rigaud) นักท่องเที่ยวชาวฝรั่งเศสที่อิดโรยจากเที่ยวบินที่มาถึงตอนตี 1 ใช้หน้าต่างแปลภาษาเพื่อที่จะเดินทางจากสถานีเซบุไปยังสถานีรถไฟกลาง แต่พวกเขาก็ยังต้องขอความช่วยเหลือจากผู้คนแถว ๆ นั้นอยู่ดี

ทั้งนี้ ย่านชินจูกุคือสนามทดสอบที่ดีที่สุดสำหรับเทคโนโลยีค้นหาเส้นทางนี้ เพราะเป็นย่านที่มีเส้นทางรถไฟหลายสาย โดยมีทั้งสายที่เชื่อมต่อกัน และไม่ได้เชื่อมต่อกัน อีกทั้งยังมีสถานีขนส่งขนาดใหญ่อีกด้วย

ที่ฝั่งตรงข้ามถนนจากสถานีรถไฟเซบุ ก็คือสถานีรถไฟกลางของญี่ปุ่น (JR) ซึ่งเป็นสถานีที่พลุกพล่านที่สุดในโลก โดยมีผู้คนเดินทางผ่านสถานีนี้ประมาณวันละ 3.6 ล้านคน นอกจากนี้ยังมีอุโมงค์ที่เชื่อมต่อสถานีรถไฟกลางกับรถไฟสายอื่น ๆ ตลอดจนรถไฟใต้ดินหลายสายที่ดำเนินการโดยบริษัทอื่น ๆ อีกด้วย

อะยาโนะ ยาจิมะ (Ayano Yajima) หัวหน้าฝ่ายขายและการตลาดของบริษัทเซบุ เรลเวย์ กล่าวว่า เป้าหมายของบริษัทในการนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ ก็คือการพัฒนาการสื่อสารให้มีความราบรื่นยิ่งขึ้น โดยการที่ผู้โดยสารและเจ้าหน้าที่สามารถมองหน้ากันผ่านกระจกใสได้

นอกจากนี้แล้ว อุปกรณ์ดังกล่าวยังถูกนำไปทดลองใช้ที่สนามบินนานาชาติคันไซเมื่อต้นปีนี้ และ Toppan ยังมีเป้าหมายที่จะจำหน่ายนวัตกรรมนี้ให้กับภาคธุรกิจและหน่วยงานราชการต่าง ๆ ในญี่ปุ่นเพื่อใช้ในการลดช่องว่างทางภาษาทั้งกับนักท่องเที่ยวและผู้อพยพต่างชาติที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.