“ศักยภาพเทคโนโลยี” ปัจจัยสำคัญในการพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้า

ประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะเผชิญกับความท้าทายในระยะยาว เนื่องด้วยความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากปัญหาช่องว่างทางทักษะ ความล้าหลังในการนำเทคโนโลยีมาใช้ และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผู้นำองค์กรที่มีกลยุทธ์จากภาคอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น โทรคมนาคมและเทคโนโลยี จึงควรมีบทบาทสำคัญในการร่วมยกระดับขีดความสามารถและเร่งผลักดันให้ประเทศเติบโตไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว โดยทรู เตรียมพร้อมรับมือกับความท้าทายนี้ด้วยการสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นระบบทั้งในด้านการศึกษา การส่งเสริมนวัตกรรมดิจิทัล และการจัดการกับปัญหาสภาพภูมิอากาศ ดังที่นายมนัสส์ มานะวุฒิเวช ประธานคณะผู้บริหาร บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้ร่วมแบ่งปันวิสัยทัศน์และมุมมอง ในบทความพิเศษ “Thought Leadership” จัดทำโดยสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นายมนัสส์ มานะวุฒิเวช ดำรงตำแหน่ง ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น

การบ่มเพาะทักษะแห่งอนาคต

ประเทศไทยต้องเร่งลงทุนด้านคน เพื่อยกระดับทักษะและเพิ่มผลผลิตของแรงงานในระยะยาว การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในอนาคตจำเป็นต้องพึ่งพาผู้เชี่ยวชาญที่มีความสามารถด้านเทคโนโลยี อย่างปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์และเครื่องจักรอัตโนมัติ หรือนาโนและไบโอเทค ทักษะเหล่านี้มีความสำคัญทั้งในมิติเศรษฐกิจและสังคม เนื่องจากจะเป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาโซลูชันเพื่อยกระดับความสามารถของประเทศไทยในการปรับตัวและรับมือกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ท่ามกลางการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ขณะที่ประชากรวัยทำงานลดลง
ทรู ได้นำความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีมาสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้แก่สังคมไทย ผ่านการจัดฝึกอบรมทักษะดิจิทัลสำหรับทั้งคนวัยทำงานและนักเรียนนักศึกษา โดย ทรู ดิจิทัล อะคาเดมี ได้จัดการฝึกอบรมทักษะธุรกิจดิจิทัลให้แก่ผู้ที่มีศักยภาพสูง (talent) จำนวนกว่า 30,000 คน ในด้านต่างๆ เช่น ความปลอดภัยทางไซเบอร์ การวิเคราะห์ข้อมูล

และการตลาดออนไลน์ ขณะเดียวกัน โครงการทรูปลูกปัญญา สามารถเข้าถึงนักเรียนจำนวนกว่า 34 ล้านคนทั่วประเทศ โดย trueplookpanya.com คลังความรู้คู่คุณธรรม ยังเป็นเว็บไซต์ด้านการศึกษาอันดับหนึ่งของไทยมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2562
แม้ที่ผ่านมา ทรูจะให้การสนับสนุนด้านการศึกษาแก่เยาวชนในรูปแบบออนไลน์อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ แต่ความพยายามดังกล่าวไม่อาจทดแทนความมุ่งมั่นที่ต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นระบบ อันเป็นวาระจำเป็นเร่งด่วนสำหรับการศึกษาไทย ไม่ว่าจะเป็นการเปิดเผยข้อมูลสถานศึกษาสู่สาธารณะอย่างโปร่งใส การพัฒนาผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้สอน การสร้างวัฒนธรรมแห่งการมีส่วนร่วม การเตรียมความพร้อมด้านดิจิทัล ตลอดจนการส่งเสริมให้เด็กเป็นศูนย์กลาง เสริมสร้างคุณธรรมและความมั่นใจ

ด้วยเหตุนี้เอง ทรู จึงเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์อีดี (CONNEXT ED) ภายใต้ความร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ รวมทั้งพันธมิตรภาครัฐและเอกชนในปี 2563 ซึ่งสร้างผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม จากโรงเรียนจำนวน 5,000 แห่งที่เข้าร่วมโครงการนั้น กว่า 72% สามารถบรรลุเกณฑ์การประเมินคุณภาพในระดับดีถึงดีเลิศ ซึ่งเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญในการช่วยให้โรงเรียนสามารถบรรลุเกณฑ์การประเมินดังกล่าว โดยนอกเหนือจากการส่งมอบคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กจำนวน 6,000 เครื่องให้แก่โรงเรียนภายใต้การดูแลของมูลนิธิฯ แล้ว มูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์อีดี ยังได้ฝึกอบรมผู้นําด้านเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา หรือ ICT talent จำนวนกว่า 5,000 คน เพื่อเดินหน้าปฏิบัติภารกิจในการถ่ายทอดองค์ความรู้ สนับสนุนให้ผู้บริหาร ครู และนักเรียนในโรงเรียนคอนเน็กซ์อีดี นำสื่อและอุปกรณ์ไอซีทีมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ยิ่งไปกว่านั้น โรงเรียนกว่า 1,300 แห่งทั่วประเทศยังได้รับการติดตั้งอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงอีกด้วย
เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่ามูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์อีดี จะสามารถทำหน้าที่ในการสร้างการเปลี่ยนแปลงอันจำเป็นและเร่งด่วนเพื่อพลิกโฉมระบบการศึกษาไทย แรงสนับสนุนจากพันธมิตรในเครือข่ายและความร่วมมือจากภาครัฐ จะเป็นหัวใจสำคัญในการต่อยอดขยายผลความสำเร็จ และช่วยเร่งสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในระดับประเทศได้

การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

หากเราประสบความสำเร็จในการบ่มเพาะและสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีทักษะในการคิดวิเคราะห์ได้เร็ว สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ กล้าคิดกล้าทำ ความท้าทายต่อไป คือการปลูกฝังให้พวกเขาได้ดูแลและส่งต่อโลกที่น่าอยู่ให้กับคนรุ่นถัดไป เกือบ 1 ใน 3 ของแรงงานไทยนั้นประกอบอาชีพในภาคการเกษตร แต่ด้วยอุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องและสภาพอากาศแบบสุดขั้วกำลังเป็นภัยคุกคามต่อระบบนิเวศซึ่งจำเป็นต่อการดำรงชีพของมนุษย์ ส่งผลให้ประเทศไทยกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความเสี่ยงกับการเผชิญการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุด

จุดมุ่งหมายของทรูนั้น คือการนำศักยภาพเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยให้สังคมไทยสามารถรับมือกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ผลวิจัยของ GSMA Intelligence ชี้ว่าการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตมือถือ (mobile connectivity) จะสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในภาคธุรกิจการขนส่ง พลังงาน การก่อสร้าง และการผลิตลงกว่า 40% ได้ภายในปี 2573 และด้วยเครือข่าย 4G ของทรู ที่ครอบคลุมประชากรไทย 99% ในขณะที่ 5G ครอบคลุมมากกว่า 90% ทำให้โครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีของทรู ทำให้เกิดการพัฒนายานยนต์อัจฉริยะ เมืองอัจฉริยะ และโรงงานอัจฉริยะ อันจะนำไปสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงทั่วประเทศ
นอกเหนือจากศักยภาพของการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตมือถือที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้ว ทรู ยังเดินหน้าพัฒนาโซลูชันที่ขับเคลื่อนด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ IoT เพื่อลดการใช้พลังงาน โดยที่ผ่านมา เราสามารถลดการใช้พลังงานทั้งในการดำเนินธุรกิจและในอุตสาหกรรมค้าปลีกได้สูงสุดถึง 15% ในขณะที่ภาคการเกษตร ยังช่วยลดความจำเป็นในการพึ่งพาสารเคมีกำจัดศัตรูพืช การใช้ยาปฏิชีวนะ และปุ๋ยลงอีกด้วย

ความพยายามทั้งหมดดังกล่าวนี้ สามารถลดการใช้พลังงานอย่างมีนัยยะสำคัญ แต่ก็ยังไม่เพียงพอให้เราบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ภายในปี 2573 และยังมีอีกหลายสิ่งที่ยังคงต้องดำเนินการเพื่อให้ บรรลุภารกิจ อันเป็นเหตุผลที่ทำให้ทรูเดินหน้าผลักดันให้เกิดโครงข่ายที่ใช้พลังงานสะอาดในประเทศ โดยยังส่งเสริมให้คู่ค้ากำหนดเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามหลักการ Science Based Targets initiative (SBTi) พร้อมให้การฝึกอบรมเกี่ยวกับกระบวนการและประโยชน์จากการรับมือและบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งนี้ ในฐานะหนึ่งในองค์กรสมาชิกผู้ก่อตั้งสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (Global Compact Network Thailand) ทรู มีส่วนร่วมในการผลักดันให้ผู้นำองค์กรและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน กำหนดแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ


การลงทุนด้านนวัตกรรม

นอกเหนือจากประเด็นด้านการศึกษาและสิ่งแวดล้อมแล้ว อีกหนึ่งความท้าทายของประเทศไทย คือความจำเป็นในการ “ยกระดับขีดความสามารถการผลิตเพื่อรองรับการเติบโตที่ฟื้นตัว” (อ้างอิงจากธนาคารโลก) การผนึกศักยภาพของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) IoT และ 5G จะนำไปสู่โอกาสในการพัฒนาสิ่งใหม่ๆ อีกมากมาย แต่เราจำเป็นต้องเร่งยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันด้านเทคโนโลยีของประเทศ ทั้งในฐานะผู้บริโภคและผู้ผลิต

แน่นอนว่าการจะบรรลุเป้าหมายนี้ได้ต้องอาศัยเงินลงทุนมหาศาล คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนของประเทศไทยได้ตั้งเป้าดึงดูดเงินลงทุนให้ได้ 2 ล้านล้านบาทภายในปี 2573 จากภาคอุตสาหกรรมต่างๆ อาทิ ยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และเทคโนโลยีสีเขียว อย่างไรก็ดี แม้ประเทศไทย จะสามารถบรรลุเป้าหมายนี้ได้สำเร็จ และการที่บริษัทเทคโนโลยีและผู้ผลิตระดับโลกจะเข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย ก็ไม่ได้เป็นเครื่องรับรองว่าในที่สุดแล้ว เราจะประสบความสำเร็จในการสร้างบริษัทเทคโนโลยีสัญชาติไทยเสมอไป
นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทรูมุ่งมั่นเข้ามามีบทบาทสำคัญในการร่วมพัฒนาบริษัทเทคโนโลยีสัญชาติไทย ซึ่งเป็นทั้งผู้นำบริษัทโทรคมนาคม-เทคโนโลยีที่เปี่ยมด้วยวิสัยทัศน์ และผู้ขับเคลื่อนให้ระบบนิเวศด้านนวัตกรรมของประเทศไทยนั้นทำงานอย่างสอดประสานกัน นวัตกรรมของทรู ได้รับการจดทะเบียนสิทธิบัตรถึง 120 ฉบับ และเรามีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย 50 แห่งในการสนับสนุนงานวิจัยในด้านต่างๆ นอกจากนี้ เรายังได้ก่อตั้งทรู ดิจิทัล พาร์ค ศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีและสตาร์ทอัพที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขนาด 230,000 ตารางเมตร ซึ่งเป็นแหล่งรวมผู้ประกอบการสัญชาติไทย บริษัทเทคโนโลยีระดับโลก นักลงทุน โครงการส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัพ และหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ไว้ด้วยกัน

ปัจจุบัน มีสตาร์ทอัพเกือบ 3,000 รายที่อยู่ในระบบนิเวศของเรา และโปรแกรมบ่มเพาะสตาร์ทอัพ ทรู อินคิวบ์ สามารถระดมเงินทุนกว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อเป็นกองทุนสนับสนุนสตาร์ทอัพไทย (Venture Capital Funds) อย่างไรก็ดี เราเล็งเห็นว่ายังคงต้องมีการลงทุนอีกมา และเรามีแผนที่จะสร้างความร่วมมือเชิงกลยุทธ์เพื่อเปิดตัวกองทุนสนับสนุนสตาร์ทอัพมูลค่าอย่างน้อย 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเราหวังว่าสิ่งนี้จะเป็นแรงบันดาลใจให้องค์กรชั้นนำในอุตสาหกรรมต่างๆ หันมาร่วมมือกับเรา หรือก่อตั้งกองทุนของตนเองขึ้น เพื่อเร่งสร้างการเติบโตด้านดิจิทัลของประเทศไทยอย่างก้าวกระโดด
แม้ว่าประเทศไทยจะเผชิญกับโจทย์ท้าทายในด้านการศึกษา การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการเปลี่ยนผ่านสู่ภาคเศรษฐกิจดิจิทัล แต่ผมยังเชื่อมั่นว่าเราจะสามารถก้าวข้ามความท้าทายนี้ไปได้ ด้วยการผนึกกำลังกันระหว่างภาครัฐ ภาคประชาสังคม และพันธมิตรภาคเอกชน เมื่อเราร่วมมือกัน เราจะสามารถสร้างสรรค์โซลูชันนวัตกรรมเพื่ออนาคตที่ปลอดภัย แข็งแกร่ง และยั่งยืนยิ่งขึ้น และทรู คอร์ปอเรชั่น มีเจตนารมณ์แรงกล้าที่จะขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนี้

ปัจจุบัน นายมนัสส์ มานะวุฒิเวช ดำรงตำแหน่ง ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น ซึ่งเป็นบริษัทโทรคมนาคม-เทคโนโลยีชั้นนำของประเทศไทย นายมนัสส์เป็นผู้มากประสบการณ์ในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม และมีความมุ่งมั่นในการนำศักยภาพการเชื่อมต่อมาสร้างประโยชน์สูงสุด เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในสังคมไทย
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของบทความตอนพิเศษที่จัดทำขึ้นโดยสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเชิญผู้นำทางความคิดและผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาต่างๆ จากทั่วโลก มาร่วมแบ่งปันวิสัยทัศน์มุมมองเกี่ยวกับการพลิกโฉมระบบที่ตนเองมีส่วนเกี่ยวข้อง สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.sasin.edu/content/insights/sasin-collaborative-thought-leadership-transforming-our-critical-systems    

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.