ประวัติ พันท้ายนรสิงห์ ทำไมโดนพระเจ้าเสือฟันคอ ใน “พรหมลิขิต”

ประวัติ พันท้ายนรสิงห์ ที่พุดตานพูดถึงในละคร พรหมลิขิต ทำไมโดนพระเจ้าเสือฟันคอ

พรหมลิขิต EP.3 ดำเนินมาถึงตอนที่ตัวละครใหม่ พุดตาน (การะเกดมาเกิดใหม่) ต้องมนต์กฤษณะกาลี และได้ย้อนมาในยุคกรุงศรีอยุธยา เมื่อพุดตานพยายามถามยายกุย ผู้ที่รับพุดตานมาดูแลจากคำขอของพระอาจารย์ชีปะขาว ว่าในยุคนี้เป็นสมัยของกษัตริย์องค์ใด ได้ความว่าเป็นยุคของขุนหลวงท้ายสระ หลังสิ้นยุคของพระเจ้าเสือ พุดตานรื้อฟื้นความรู้ประวัติศาสตร์ไทยของตัวเอง แล้วพูดถึงพันท้ายนรสิงห์ที่ถูกพระเจ้าเสือลงโทษด้วยการฟันคอ แต่ทุกคนในที่นั่นไม่รู้เรื่อง

  • เรื่องเล่าหรือตำนาน? "พระอาจารย์ชีปะขาว" ผู้สยบปืนไฟ 500 กระบอก "บุพเพสันนิวาส-พรหมลิขิต"
  • เปิดประวัติ "พระเจ้าเสือ" หลวงสรศักดิ์ กษัตริย์อยุธยาผู้มีนิสัยไม่ธรรมดา "พรหมลิขิต"

Sanook ขอเล่าประวัติของ พันท้ายนรสิงห์ ให้เข้าใจกันพอสังเขป ดังนี้

ประวัติ พันท้ายนรสิงห์

พันท้ายนรสิงห์ เป็นนายท้ายเรือในรัชสมัยพระเจ้าเสือ หรือสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 2 แห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง ตอนปลายอาณาจักรอยุธยา โดยพันท้ายนรสิงห์เป็นผู้มีชื่อเสียงด้านความซื่อสัตย์ แต่สุดท้ายถูกพระเจ้าเสือลงโทษด้วยการฟันคอ

พันท้ายนรสิงห์ เดิมมีนามว่า สิน เป็นชาวบ้านนรสิงห์ แขวงเมืองวิเศษชัยชาญ (ปัจจุบัน คือ อำเภอป่าโมกข์ จังหวัดอ่างทอง) มีภรรยาชื่อว่า ศรีนวล ต่อมา ได้มีโอกาสรับราชการเป็นนายท้ายเรือพระที่นั่งเอกชัยของสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 หรือพระเจ้าเสือ แห่งกรุงศรีอยุธยา

ทำไมพันท้ายนรสิงห์โดนพระเจ้าเสือฟันคอ

ใน พ.ศ. 2246-2252 ครั้งที่สมเด็จพระเจ้าเสือ เสด็จโดยเรือพระที่นั่งเอกไชย จะไปประพาสเพื่อทรงเบ็ด ณ ปากน้ำเมืองสาครบุรี ขณะเรือพระที่นั่งถึงตำบลโคกขาม ซึ่งเป็นคลองคดเคี้ยว และมีกระแสน้ำเชี่ยวกราก พันท้ายนรสิงห์ซึ่งถือท้ายเรือพระที่นั่งมิสามารถคัดแก้ไขได้ทัน ทำให้หัวเรือพระที่นั่งชนกิ่งไม้ใหญ่หักตกลงไปในน้ำ ซึ่งพันท้ายนรสิงห์รู้ว่า ความผิดครั้งนี้มีโทษถึงประหารชีวิตตามโบราณราชประเพณี ที่กำหนดว่า “ถ้าผู้ใดถือท้ายเรือพระที่นั่งให้หัวเรือพระที่นั่งหัก ผู้นั้นถึงมรณะโทษให้ตัดศีรษะเสีย” พันท้ายนรสิงห์จึงกราบบังคมทูลพระเจ้าเสือให้ประหารชีวิตตามกฎมณเฑียรบาล

พระราชทานอภัยโทษถึง 3 ครั้ง

พันท้ายนรสิงห์ไม่ได้รับโทษในครั้งแรก เพราะพระเจ้าเสือทรงพิจารณาเห็นว่าอุบัติเหตุครั้งนี้เป็นการสุดวิสัยมิใช่ความประมาท จึงพระราชทานอภัยโทษให้ แต่พันท้ายนรสิงห์ยืนกรานขอให้ตัดศีรษะตนทุกครั้ง เพื่อรักษาขนบธรรมเนียมในพระราชกำหนดกฎหมาย แต่เมื่อเกิดเหตุครั้งที่สอง พระเจ้าเสือโปรดให้ฝีพายทั้งปวงปั้นมูลดินเป็นรูปพันท้ายนรสิงห์ แล้วให้ตัดศีรษะรูปดินนั้นเพื่อเป็นการทดแทนกัน จนท้ายสุดครั้งที่ 3 แม้พระเจ้าเสือจะทรงอาลัยรักน้ำใจพันท้ายนรสิงห์เพียงใด ก็ทรงจำฝืนพระทัยปฏิบัติตามพระราชกำหนด ดำรัสสั่งให้เพชฌฆาตประหารพันท้ายนรสิงห์ เพื่อป้องกันมิให้ผู้ใดครหาติเตียนพระเจ้าอยู่หัวได้ว่า ทรงละเลยพระราชกำหนดของแผ่นดิน และเพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างสืบไป

รำลึกถึงความดีงามของพันท้ายนรสิงห์

พระเจ้าเสือโปรดให้ตั้งศาลสูงประมาณเพียงตา นำศีรษะพันท้ายนรสิงห์กับหัวเรือพระที่นั่งเอกไชยซึ่งหักนั้น ขึ้นพลีกรรมไว้ด้วยกันบนศาลพันท้ายนรสิงห์  (ปัจจุบันตั้งอยู่ ตำบลพันท้ายนรสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร) เพื่อเป็นการรำลึกถึงพันท้ายนรสิงห์ข้าหลวงเดิมซึ่งเป็นคนซื่อสัตย์ มั่นคง ยอมเสียสละชีวิตโดยไม่ยอมเสียพระราชประเพณี และพระองค์พระราชทานเงินทองสิ่งของจำนวนมากแก่ภรรยาลูกเมียพันท้ายนรสิงห์

ขุดคลองโคกขาม กำเนิดคลองสนามไชย-คลองมหาชัย-คลองด่าน

ภายหลังพระเจ้าเสือได้ทรงให้สมุหนายกเกณฑ์ไพร่พลจำนวน 30,000 คน ให้พระยาราชสงครามเป็นแม่กอง ทำการขุดคลองลัดคลองโคกขามที่คดเคี้ยว ไปออกที่บริเวณแม่น้ำท่าจีน กว้าง 5 วา ลึก 6 ศอก ขุดเสร็จในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ พ.ศ. 2252 ได้พระราชทานนามคลองนี้ว่า คลองสนามไชย ต่อมาเรียกเป็น คลองมหาชัย ซึ่งเป็นที่มาของชื่อเมืองมหาชัย แต่ชาวบ้านเรียกว่า คลองถ่าน ปัจจุบันชาวบ้านฝั่งธนบุรี เรียกชื่อว่า คลองด่าน

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.