ประวัติ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (เจ้าฟ้าพร) ยุครุ่งเรืองยุคสุดท้ายของอยุธยาใน “พรหมลิขิต”
ประวัติ เจ้าฟ้าพร หรือ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ รัชสมัยต่อจาก สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ (เจ้าฟ้าเพชร) ในละคร พรหมลิขิต ที่เป็นยุครุ่งเรืองยุคสุดท้ายของอยุธยา
ดำเนินเรื่องมาอย่างเข้มข้น จนมาถึงช่วงเปลี่ยนผ่านรัชสมัยของแต่ละกษัตริย์ สำหรับละครโรแมนติกคอเมดี้อิงประวัติศาสตร์ พรหมลิขิต ภาคต่อจาก บุพเพสันนิวาส ดัดแปลงจากบทประพันธ์ของ รอมแพง ที่ใน EP.3 จะเล่าถึงเรื่องราวในยุคของสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ หรือ สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 9 หรือ พระเจ้าภูมินทราชา หรือ พระเจ้าบรรยงก์รัตนาสน์ (รับบทโดย เกรท-วรินทร ปัญหกาญจน์) โดยมีพระอนุชาเป็น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ หรือ เจ้าฟ้าพร (รับบท อ้วน-เด่นคุณ งามเนตร) ที่ในอนาคตก็จะขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ไทยรัชกาลที่ 31 แห่งอาณาจักรอยุธยา และเป็นพระองค์ที่ 4 ในราชวงศ์บ้านพลูหลวงในเวลาต่อมา
- เปิดประวัติ "ขุนหลวงท้ายสระ" พระมหากษัตริย์ไทยรัชกาลที่ 30 แห่งอาณาจักรอยุธยา "พรหมลิขิต"
ประวัติ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (เจ้าฟ้าพร) ยุครุ่งเรืองยุคสุดท้ายของอยุธยาใน “พรหมลิขิต”
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศหรือ สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชที่ 2 (พ.ศ. 2223 – 7 เมษายน พ.ศ. 2302) เป็นพระมหากษัตริย์ไทยรัชกาลที่ 31 แห่งอาณาจักรอยุธยา และเป็นพระองค์ที่ 4 ในราชวงศ์บ้านพลูหลวง เรียกกันอย่างสามัญชนว่า ขุนหลวงบรมโกษฐ หรือ พระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกษฐ
รัชสมัยของพระองค์เป็นยุครุ่งเรืองยุคสุดท้ายของกรุงศรีอยุธยาก่อนที่อาณาจักรจะล่มสลายหลังจากพระองค์เสด็จสวรรคต 9 ปี โดย 25 ปีในรัชสมัยของพระองค์มีความสำคัญคือ เป็นยุคสงบสุขยุคสุดท้ายของอยุธยาเป็นยุคที่วรรณกรรม ศิลปกรรม เฟื่องฟู
ก่อนครองราชย์
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ มีพระนามเดิมว่าเจ้าฟ้าพร เสด็จพระราชสมภพเมื่อ พ.ศ. 2223 ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 (พระเจ้าเสือ) มีพระเชษฐาคือเจ้าฟ้าเพชร พระองค์ได้รับการสถาปนาเป็นพระบัณฑูรน้อยในรัชสมัยสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 และเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลในรัชสมัยสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 9 (พระเจ้าท้ายสระ)
ปราบดาภิเษก
ภายหลังการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 9 ได้เกิดการสู้รบกันระหว่างพระองค์กับพระราชโอรสของพระเจ้าท้ายสระคือ เจ้าฟ้าอภัย และ เจ้าฟ้าปรเมศร์ อันเนื่องมาจากพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศในขณะนั้นทรงดำรงพระอิสริยยศที่กรมพระราชวังบวรสถานมงคล มีสิทธิที่จะขึ้นครองราชสมบัติสืบต่อพระเชษฐาอย่างถูกต้อง แต่เมื่อพระเจ้าท้ายสระใกล้สวรรคตกลับตัดสินพระทัยยกราชสมบัติให้แก่เจ้าฟ้านเรนทร พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ แต่เจ้าฟ้านเรนทรไม่รับสืบราชสมบัติเพราะเห็นว่ามีกรมพระราชวังบวรฯ ซึ่งสมควรได้สืบราชสมบัติมากกว่า พระเจ้าท้ายสระจึงยกราชสมบัติให้แก่เจ้าฟ้าอภัย (พระราชโอรสองค์รอง) เป็นเหตุให้เกิดการต่อสู้แย่งชิงราชบัลลังก์จนกลายเป็นสงครามกลางเมือง กินระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 1 ปี
คำให้การชาวกรุงเก่า ระบุว่าภายหลังเหตุการณ์สงบแล้ว กรมพระราชวังบวรสถานมงคลจึงได้ขึ้นครองราชย์เฉลิมพระนามว่าพระมหาธรรมราชา (แต่ในบัญชีพระนามเจ้านายว่าพระเจ้าบรมราชา) และสำเร็จโทษเจ้าฟ้าอภัย และ เจ้าฟ้าปรเมศร์
พระอุปนิสัย
จากพระราชพงศาวดารกรุงสยาม จากต้นฉบับของบริติชมิวเซียม ระบุว่า เป็นกษัตริย์ที่ละเว้นจากปาณาติบาต (การฆ่าสัตว์ตัดชีวิต และทำลายชีวิตมนุษย์) “ทรงประพฤติกุศลสุจริตธรรม สมณพราหมณาประชาราษฎร มีแต่สโมสรเป็นสุขสนุกทั่วหน้า” นอกจากนี้ยัง “ทรงพระราชศรัทธากระทำทานแก่สมณพราหมณา กระยาจกวณิพก เดียรฉานต่าง ๆ ทุกอย่างสิ้น”
นอกจากนี้ จากจดหมายเหตุของวิละภาเดทะระ เรื่อง คณะทูตลังกาเข้ามาประเทศสยาม ระบุว่า “ทรงมีพระจริยาวัตรอันดีงาม ทรงกอปร์ด้วยความเอมอิ่มแห่งคุณธรรมนานาประการ พระองค์ทรงปลุกจิตใจของสัปบุรุษ” และ “พระองค์ทรงเป็นเอกในบรรดาผู้ที่ผูกพันอยู่ในการสนับสนุนความผาสุขของทั่วโลก ทรงเป็นผู้จรรโลงนครศรี–กานตะ และพระองค์ทรงเยี่ยมยอดในการทั้งปวง”
ระหว่างครองราชย์
ระหว่างที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศครองราชย์ มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นมากมาย ทั้ง เสด็จประพาสล้อมช้าง ณ เมืองลพบุรี (พ.ศ. 2277) กบฏจีนนายก่าย (พ.ศ. 2277) กรุงกัมพูชานำช้างเผือกมาถวาย (พ.ศ. 2277) เสด็จสมโภชพระพุทธชินราช เมืองพิษณุโลก (พ.ศ. 2283) พม่าหนีมาพึ่งกรุงศรีอยุธยาและการเจริญสัมพันธไมตรีกับกรุงอังวะ (พ.ศ. 2287) และ ส่งสมณทูตฟื้นฟูศาสนาพุทธ ณ กรุงลังกา (พ.ศ. 2294)
ระหว่างครองราชย์ ในยุคของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศครองราชย์ เป็นยุครุ่งเรืองยุคสุดท้ายของกรุงศรีอยุธยา ที่ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข ศิลปวัฒนธรรม โดยเฉพาะศาสนาพุทธเฟื่องฟู พระองค์ได้ทรงพระราชนิพนธ์โครงต่างๆ ทั้ง โคลงชะลอพระพุทธไสยาสน์วัดป่าโมก โคลงพาลีสอนน้อง โคลงราชสวัสดิ โคลงทศรถสอนพระราม โคลงประดิษฐ์พระร่วง และโคลงราชานุวัฒ ในยุคของพระองค์เอาไว้ด้วย
สวรรคต
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศจึงเสด็จสวรรคตด้วยอาการประชวรเมื่อวันพุธที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2301 สิริพระชนมายุ 78 พรรษา พระองค์อยู่ในราชสมบัติรวม 26 พรรษาถ้วน
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.