เปิดประวัติ "พระเจ้าเสือ" หลวงสรศักดิ์ กษัตริย์อยุธยาผู้ได้ชื่อเรื่องความดุร้าย "พรหมลิขิต"

ละคร พรหมลิขิต ภาคต่อของละคร บุพเพสันนิวาส พาคนดูกลับสู่กรุงศรีอยุธยาอีกครั้ง และแน่นอนว่านอกจากเรื่องราวในละครจะมีความสนุกสนานน่าติดตามแล้ว ยังมีตัวละครสำคัญในเรื่องที่มีตัวตนอยู่จริงในประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยาอยู่ ออกมาให้คนดูได้ทำความรู้จัก จนอยากรื้อฟื้นความรู้ทางประวัติศาสตร์ช่วงสมัยกรุงศรีฯ ในสมัยนั้นอีกทาง

 

อีกหนึ่งตัวละครที่มีอยู่จริงในประวัติศาสตร์ หลวงสรศักดิ์ หรือ พระเจ้าเสือ ผู้ที่มีความดุร้ายเด็ดขาดสมชื่อ รับบทโดย ก๊อต จิรายุ นักแสดงมากฝีมือที่เล่นบทดีหรือร้ายก็ตีบทแตกกระจุย ในเรื่องนี้รับบทเป็น พระเจ้าเสือ กษัตริย์อยุธยาผู้ได้ชื่อเรื่องความดุร้ายมีบทบาทสำคัญเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 29 แห่งอาณาจักรอยุธยา และเป็นพระองค์ที่สองแห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง ราชวงศ์สุดท้ายของอาณาจักรอยุธยา

  • เปิดประวัติ "ท้าวทองกีบม้า" ราชินีขนมไทยใน "บุพเพสันนิวาส" จากสูงสุดสู่จุดต่ำสุดในชีวิต
  • เปิดประวัติ "พระเพทราชา" พระเอกหรือผู้ร้าย? "บุพเพสันนิวาส"

 

หลวงสรศักดิ์ หรือ พระเจ้าเสือ

สมเด็จพระเจ้าสุริเยนทราธิบดี หรือ หลวงสรศักดิ์ มีพระนามเดิมว่า "เดื่อ" ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงวินิจฉัยพระนามว่าเป็น สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 29 แห่งอาณาจักรอยุธยา และเป็นพระองค์ที่สองแห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง ราชวงศ์สุดท้ายของอาณาจักรอยุธยา ทรงครองราชย์ พ.ศ. 2246 - พ.ศ. 2251

สมเด็จพระเจ้าสุริเยนทราธิบดี หรือ หลวงสรศักดิ์ หรือ สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 29 แห่งอาณาจักรอยุธยา และเป็นพระองค์ที่สองแห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง ราชวงศ์สุดท้ายของอาณาจักรอยุธยา ทรงครองราชย์ พ.ศ. 2246 - พ.ศ. 2251 บุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยา พระชาติกำเนิดของสมเด็จพระเจ้าเสือนั้น เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กับพระสนมพระองค์หนึ่ง คาดว่าเป็นพระราชธิดาพระเจ้าเชียงใหม่ ต่อมาสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระราชทานพระโอรสแก่พระเพทราชาเลี้ยงดู

ประชาชนในสมัยพระองค์มักเรียกขานพระองค์ว่า พระเจ้าเสือ เพื่อเปรียบว่าพระองค์มีพระอุปนิสัยโหดร้ายดังเสือ พระองค์ทรงมีพระปรีชาด้านมวยไทย โดยทรงเป็นผู้คิดท่าแม่ไม้มวยไทย ซึ่งมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ปรากฏชัดเจน และได้มีการถ่ายทอดเป็นตำราให้ชาวไทยรุ่นหลังได้เรียนรู้ฝึกฝนจนถึงปัจจุบัน

พระองค์มีชื่อเสียงในฐานะกษัตริย์ของอยุธยาที่ดุร้ายและมักมากในกามคุณ แต่ก็เป็นกษัตริย์ที่ทรงมีความเป็นสามัญชนมากที่สุดของอยุธยา โปรดปรานการเสด็จออกประพาสโดยไม่ให้ราษฎรรู้ว่าเป็นพระเจ้าแผ่นดิน เช่น การประพาสตกปลา ชกมวย เป็นต้น

ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช สมเด็จพระเจ้าเสือได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กรับราชการเป็นที่ โปรดปรานของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ต่อมาได้ตำแหน่งเป็นหลวงสรศักดิ์ สมัยสมเด็จพระเพทราชา หลวงสรศักดิ์ให้รับสถาปนาเป็นพระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล และได้ขึ้นครองราชสมบัติต่อจากสมเด็จพระเพทราชา พระนาม สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8

พระเจ้าเสือ ทรงมีส่วนสำคัญผลักดันให้พระเพทราชายึดอำนาจตั้งตนเป็นกษัตริย์ และสถาปนาราชวงศ์ใหม่คือราชวงศ์บ้านพลูหลวงในการปฏิวัติ พ.ศ. 2231 พระองค์ได้กำจัดผู้ที่มีสิทธิ์สืบราชสมบัติ 3 รายคือพระอนุชา 2 องค์ของพระเจ้าแผ่นดินในสมัยนั้น คือเจ้าฟ้าอภัยทศและเจ้าฟ้าน้อย รวมทั้งโอรสบุญธรรมคือพระปีย์ พระเจ้าเสือยังได้รับกำลังสนับสนุนนอกเหนือจากกรมช้างของพระบิดาแล้ว ก็มีพระสงฆ์จำนวนหนึ่งที่ไม่พอใจบาทหลวงคริสต์ศาสนาเข้าร่วม รวมทั้งกองกำลังจากทหารมอญที่เข้ามารับราชการอยู่ในเมืองไทย

เมื่อพระเพทราชาได้ราชสมบัติ พระเจ้าเสือก็ได้รับการสถาปนาเป็นอุปราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) มีฐานะคล้ายเป็นกษัตริย์องค์ที่ 2 ของอยุธยา แต่เมื่อพระเพทราชาประชวรจะสวรรคตในปี พ.ศ. 2246 ก็เกิดปัญหาการสืบราชสมบัติขึ้นอีก พระเจ้าเสือประหารเจ้าพระขวัญซึ่งเป็นอนุชาต่างมารดาของพระองค์ แต่เป็นอนุชาที่พระเพทราชาโปรดจะให้สืบราชสมบัติแทน พระเพทราชาทรงไม่พอพระทัยจึงยกราชสมบัติให้พระราชนัดดาคือเจ้าพระพิไชยสุรินทร์

แต่ว่าเมื่อพระเพทราชาสวรรคต เจ้าพระพิไชยสุรินทร์ไม่กล้ารับราชสมบัติ พระเจ้าเสือจึงได้ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แทน พระเจ้าเสืออยู่ในราชสมบัติในระยะเวลาค่อนข้างสั้นคือ 6 ปี สันนิษฐานว่าเป็นรัชสมัยที่ค่อนข้างจะไม่มีปัญหาทางการเมืองทั้งภายในและภายนอกนักไม่เหมือน 2 รัชสมัยที่ผ่านมา คือสมัยพระนารายณ์และสมัยพระเพทราชา 

ในสมัยพระเจ้าเสือจะมีเรื่องของการขุดคลอง พระองค์ทรงให้ขุดคลองมหาชัยเชื่อมระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำท่าจีนซึ่งเป็นผลงานที่สำคัญในด้านการเชื่อมแม่น้ำสายสำคัญในภาคกลาง ทำให้การคมนาคมสะดวกติดต่อกันได้ การขุดคลองนี้เป็นราชกิจที่มีมาแต่สมัยต้นอยุธยามีทั้งการขุดคลองลัดเพื่อให้เส้นทางสั้นขึ้น ตลอดจนการขุดคลองเพื่อเชื่อมแม่น้ำสายสำคัญต่างๆ ซึ่งการขุดคลองดังกล่าวไม่ถือว่าเป็นเรื่องของการชลประทานแต่เพื่อประโยชน์ในการคมนาคม การค้าและการสงครามมากกว่า แต่ก็มีผลพลอยได้ในการเปิดที่ดินใหม่เพื่อการเกษตรกรรมอย่างมหาศาล 

พระเจ้าเสือสวรรคตในปีพ.ศ. 2252 เมื่อพระชนมายุได้ 45 พรรษา และพระโอรสก็ขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระเจ้าท้ายสระ โดยไม่มีปัญหาการแย่งราชสมบัติดังเช่นในหลายรัชกาลที่ผ่านมา

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.